‘ซันฟิช’ ปลาประหลาด ผู้มีชีวิตแสนเศร้า

“ซันฟิช” เป็นปลาขนาดใหญ่ที่ทั้งรูปลักษณะและวิถีชีวิตประหลาดที่สุดในบรรดาสิ่งมีชีวิตในท้องทะเลทั้งหลาย เดิมทีเข้าใจกันว่ามีอยู่เพียง 3 ชนิด หรือ 3 สปีชีส์ ทำให้มีตัวอย่างให้ศึกษาวิจัยกันน้อยมาก จน แมรีแอนน์ เนย์การ์ด นักศึกษาปริญญาเอกทางชีววิทยาของมหาวิทยาลัยเมอร์ดอค ประเทศออสเตรเลีย ต้องใช้เวลานานถึง 4 ปีกว่าจะยืนยันได้ด้วยการตรวจสอบทางพันธุกรรมว่ามีสปีชีส์ใหม่ที่ถูกตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ว่า “โมลา เทคตา” พบในน่านน้ำประเทศชิลี และมีชื่อสามัญว่า “ฮูดวิงเกอร์ ซันฟิช”

ทุกอย่างเกี่ยวกับซันฟิชดูประหลาดไปทั้งหมด ปากของมันมีลักษณะเหมือนปากนกแก้ว แต่อ้าค้างอยู่ตลอดเวลา มีฟันที่เหมือนเป็นส่วนหนึ่งของจะงอยปาก มีครีบในแนวดิ่ง 2 ครีบ ที่มีลักษณะเหมือนกระโดง 2 ด้าน บน-ล่าง ที่ถูกจับแปะไว้หยาบๆ ส่วนหางไม่มีครีบหางเหมือนปลาทั่วไป บริเวณก้นของมันมีหนังที่หนาผิดปกติ แต่แผ่ออกมาเล็กน้อยจนดูเหมือนเป็นครีบหางเทียม

ที่น่าสนใจก็คือ ซันฟิช ตัวโตมาก ตัวใหญ๋ที่สุดเท่าที่เคยพบ มีน้ำหนักถึง 2,268 กิโลกรัม วัดจากปลายปากถึงปลายสุดด้านหลังได้ 3 เมตร และวัดจากปลายสุดของกระโดงด้านบนจรดกระโดงล่าง ได้ 4.2 เมตร ทั้งๆ ที่ตอนเป็นลูกปลา มีขนาดเพียง 2.5 เซนติเมตร เท่านั้น

ลักษณะของซันฟิชประหลาดเสียจนนักชีววิทยาบางคนบอกว่า เหมือนปลาที่เหลือแค่ครึ่งเดียว หรือไม่ก็เหมือนรูปลาซึ่งเด็ก 2 ขวบวาดไว้แต่ยังไม่เสร็จ ในภาษาเยอรมัน ไม่เรียกมันว่าซันฟิช แต่เรียกว่า “ชวิทเมนเดอร์ คอร์ปฟ์” ซึ่งแปลความได้ตรงกับลักษณะมากกว่า “หัวที่ว่ายน้ำได้”

ซันฟิชว่ายโดยอาศัยการโบกครีบหรือกระโดงของมันไปมาช้าๆ และอาศัยแผ่นหนังที่เป็นหางเทียมในการบังคับทิศทาง แน่นอนว่ามันว่ายน้ำไม่ได้เร็วมากมายนัก เหมือนค่อยๆ กระเพื่อมไปมากกว่า

นอกจากจะมีลักษณะประหลาดแล้ว ซันฟิชยังมีรูปแบบชีวิตประหลาดๆ อีกด้วย มันเป็นปลาที่ใช้ชีวิตอยู่ในน้ำค่อนข้างลึก โดยอยู่ในน้ำได้ลึกถึงกว่า 600 เมตร แต่ก็ชอบขึ้นมาใช้เวลาบริเวณผิวน้ำเช่นเดียวกันเมื่ออยู่บนผิวน้ำ มันจะพลิกเอาด้านข้างขึ้น แผ่ลอยอยู่เหนือน้ำนานๆ นักชีววิทยาเชื่อว่าเป็นเพราะต้องการความอบอุ่นจากแสงแดด และให้เวลากับนกทะเลลงมาเกาะจิกกินเพรียงหรือปรสิตอื่นๆ ที่เกาะกินอยู่ตามผิวหนังนั่นเอง

เมื่ออยู่ใกล้ผิวน้ำ กระโดงของมันทำให้คนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นฉลาม แต่จริงๆ แล้วซันฟิชเป็นปลาใหญ่ที่ไม่มีอันตรายใดๆ ชอบใช้ชีวิตอยู่ตามลำพังตัวเดียว ซึ่งทำให้มันกลายเป็นเหยื่อของศัตรูได้ง่าย

ศัตรูหลักของซันฟิชคือ แมวน้ำและสิงโตทะเล ซึ่งชอบฉีกทึ้งกระโดงออกจากตัวซันฟิช โดยที่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่แน่ใจนักว่า เป็นเพราะมันชอบเนื้อส่วนนั้น หรือเป็นเพราะต้องการ “เล่นสนุก” กับการทึ้งปลาประหลาดชนิดนี้กันแน่

ที่แน่ๆ ก็คือ แมวน้ำหรือสิงโตทะเลมักทึ้งกระโดงซันฟิชออกมา แล้วปล่อยตัวมันทิ้งไว้อย่างนั้น ซันฟิชที่ยังไม่ตายจะค่อยๆ จมลงไปเรื่อยๆ ไม่มีปัญญาจะว่ายไปไหนมาไหนได้อีก เมื่อถึงก้นทะเล มันจะค่อยๆ กลายเป็นเหยื่อโอชะของสัตว์ทะเลอีกหลากหลาย และจบชีวิตเศร้าๆ ลงที่นั่น

ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน