ม.พะเยา ค้นพบกบสายพันธุ์ใหม่ของโลก ‘กบหัวโตหลงชวน- กบหนองเล็กเชียงใหม่’

“อ๊อบ อ๊อบ” เสียงกบร้องขึ้นมาเมื่อใดหลายคนอาจมองว่าฝนกำลังจะตก แต่สำหรับนักวิจัย มหาวิทยาลัยพะเยา นำโดย ว่าที่ร้อยตรีฉัตรมงคล สุวรรณภูมิ อาจารย์สาขาการประมง คณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ แล้ว เสียงดังกล่าวนำไปสู่ผลงานวิจัยการค้นคว้าต่อแวดวงการศึกษา และประโยชน์ต่อเกษตรกร ทรัพยากรธรรมชาติของไทย

ครั้งแรกของโลกที่ทางนักวิจัยของไทย ได้ค้นพบ “กบหัวโตหลงชวน (Longchuan big-headed frog)” ซึ่งเป็นกบสายพันธุ์ใหม่ที่มีความแตกต่างทั้งลักษณะทางสัณฐานวิทยาและทางพันธุกรรม สำหรับแหล่งที่อยู่อาศัย ทางคณะวิจัย ได้ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างได้จากลำห้วยในป่าเขตเมืองหลงชวน อยู่ทางทิศตะวันตกของมณฑลยูนาน ประเทศจีน โดยการกระจายพันธุ์สามารถพบในตะวันตกของมณฑลยูนาน ประเทศจีน และชายแดนระหว่างประเทศจีนและประเทศพม่า

ว่าที่ร้อยตรีฉัตรมงคล

ว่าที่ร้อยตรีฉัตรมงคล กล่าวว่า ลักษณะของกบหัวโตหลงชวน เป็นการทำงานวิจัยร่วมกันของนักวิจัยประเทศไทยและนักวิจัยจาก Kunming Institute of Zoology (CAS) ประเทศจีน ซึ่งเป็นการจำแนกตามลักษณะพันธุกรรมและเสียงของกบ ที่แสดงถึงความแตกต่างของกบแต่ละชนิด หากดูด้วยตาเปล่าอาจจะมองว่าเหมือนกบในสกุล Limnonectes ทั่วๆไป แต่ด้วยลักษณะทางพันธุกรรมที่โดดเด่น ซึ่งเป็นความพิเศษและบ่งบอว่ากบดังกล่าว เป็นชนิดใหม่และครั้งแรกที่มีการค้นพบ

การค้นพบดังกล่าว มีส่วนสำคัญในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับกบ ที่จะนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มทางการเกษตร และทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงทางเศรษฐกิจของประเทศ

กบหัวโตหลงชวน ค้นพบในประเทศจีน แต่กบที่ค้นพบครั้งแรกในประเทศไทย ได้แก่ กบหนองเล็กเชียงใหม่ (Chiang Mai Rain-Pool Frog) เป็นกบที่มีความแตกต่างกับกบชนิดอื่นๆในสกุล Fejervarya ทั้งลักษณะทางสัณฐานวิทยา พันธุกรรม และ เสียงร้อง สำหรับแหล่งที่อยู่อาศัย ของกบชนิดนี้ในหนองน้ำหรือพื้นที่ทำเกษตรกรรม ในปัจจุบันเราพบการกระจายพันธุ์เฉพาะ บ้านม่อนจอง อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ เท่านั้น ซึ่งกบชนิดนี้แม้จะยังไม่มีการศึกษาทางด้านคุณค่าทางเศรษฐกิจเท่าที่ควร แต่มีคุณค่าต่อแวดวงการศึกษาอย่างมาก เพราะสามารถนำไปสู่การเรียนรู้ทางทรัพยากรธรรมชาติ เกษตรกรได้

ปัจจุบัน “กบหัวโตหลงชวน” และ “กบหนองเล็กเชียงใหม่” เป็นกบที่ชาวบ้านท้องถิ่นใช้รับประทาน และดูลักษณะภายนอกเหมือนกบชนิดทั่วไป แต่ด้วยลักษณะเสียงร้องและพันธุกรรม สามารถแยกชนิดได้ โดยเฉพาะสิ่งมีชีวิตในโลกนี้ มีชนิดที่ลักษณะภายนอกที่มีความคลุมเครือ (Cryptic species) ต้องใช้ลักษณะอื่นในการจำแนก

กบทั้ง 2 สายพันธุ์ใหม่ ปัจจุบันยังไม่ได้ศึกษาเพื่อนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ เพราะยังไม่ได้มีการเพาะเลี้ยง แต่ชุมชนสามารถใช้ในการบริโภคเป็นแหล่งโปรตีนในท้องถิ่น ซึ่งสิ่งที่ต้องทำโดยเฉพาะในส่วนของกบหนองเล็กเชียงใหม่ พบแถวหนองน้ำ และพบในบริเวณฟาร์มต่างๆ อาจจะได้รับสารพิษจากสารเคมี และยาฆ่าแมลง ที่เกิดจากกิจกรรมของชาวบ้านในชุมชนซึ่งมีความเสี่ยงอย่างมากต่อการสูญพันธุ์ของกบสายพันธุ์นี้ในประเทศไทย ดังนั้น ต้องให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับกบสายพันธุ์นี้ในแง่มุมของการใช้ประโยชน์ควบคู่กับการอนุรักษ์ต่อไปเช่นกัน

“กบ 2 สายพันธุ์ใหม่ครั้งแรกของโลก แม้จะยังไม่มีการนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์ แต่ถือเป็นองค์ความรู้ด้านการศึกษา ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อมที่บ่งบอกถึงความอุดมศึกษาของประเทศ รวมถึงยังทำให้ได้มีศึกษาพันธุกรรมสัตว์ใหม่ๆ อีกด้วย ซึ่งการค้นพบเหล่านี้ มีประโยชน์ต่อวงการศึกษาไทย งานวิจัยของไทย รวมถึงพัฒนาเป็นแหล่งโปรตีนต่อยอดไปสู่การเกษตร และการส่งเสริมรายได้ อาชีพให้แก่คนไทย อย่างไรก็ตาม งานวิจัยครั้งนี้ ได้มีการลงวารสารเป็นที่เรียบร้อยแล้ว”ว่าที่ร้อยตรีฉัตรมงคล กล่าว

ต้องปรบมือดังๆ ให้แก่นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยพะเยา ที่ได้ค้นพบ กบ 2 สายพันธุ์ใหม่ครั้งแรกของโลก แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของนักวิจัยไทยที่ไม่แพ้ชาติใดในโลก