ซันคอนัวร์ สีสวยสด บาดใจ คนรักนก

กับบางคน การได้นั่งฟังเสียงสัตว์เลี้ยงแสนรัก ส่งเสียงหรือเยื้องกรายให้ได้ยินได้เห็น ก็เป็นสิ่งที่ช่วยผ่อนคลายความเครียดได้เป็นอย่างดี

คุณพิศิษฐ์ เหล่าอิทธิพร ก็เช่นกัน

คุณพิศิษฐ์ เป็นเจ้าของธุรกิจค้าขายวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างเล็กๆ ภายในที่พักของตนเอง และมีบ้านหลังเล็กอีกหลังที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงบนพื้นที่โล่งและกว้างพอจะกวาดสายตาได้ทั่วถึง ในทุกเช้าและระหว่างวัน คุณพิศิษฐ์ต้องพาตัวเองมาที่นี่ เพราะเขาเลี้ยงนกซันคอนัวร์ไว้จำนวนหนึ่ง ที่แม้ไม่ได้มากสักเท่าไร แต่ก็เป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่ให้ลูกดก และผันไปเป็นรายได้เสริมที่เรียกได้ว่าเป็นกอบเป็นกำ ไม่แพ้กิจการที่ต้องรับผิดชอบทุกวัน

ธรรมชาติของนกซันคอนัวร์ จะตื่นตัวตลอดเวลา ขี้เล่น ซุกซน เป็นนกที่เข้ากับคนได้ดี สามารถนำมาฝึกให้เชื่องได้ โดยเฉพาะเมื่อเริ่มเลี้ยงตั้งแต่เล็ก เสียงร้องค่อนข้างดังและต่อเนื่อง

นกซันคอนัวร์ จัดอยู่ในกลุ่มของนกปากขอขนาดกลาง ความยาวจากหัวถึงหางประมาณ 30 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 100-120 กรัม มีถิ่นกำเนิดแถบอเมริกากลางและอเมริกาใต้ พบมากในป่าของที่ราบสูงกิอานา ประเทศเวเนซุเอลา และบางส่วนของประเทศบราซิล

แรกเริ่มเลี้ยงนกซันคอนัวร์ของคุณพิศิษฐ์ เริ่มจากความประทับใจเล็กๆ ขณะเดินเล่นในโซนสัตว์เลี้ยงของตลาดนัดจตุจักร ด้วยสีสันและความสวยสดของนกซันคอนัวร์ ทำให้คุณพิศิษฐ์ตัดสินใจซื้อมาเลี้ยงเล่นเพียง 1 คู่ ราว 4 ปีก่อน โดยไม่คิดถึงมูลค่านกในอนาคต

“ผมเลี้ยงแบบปล่อย ไม่ได้ใส่ห่วงขา เขาก็คุ้นชินกับผมดี บินไปบินมาภายในอาคารพาณิชย์ที่ทำธุรกิจ ผ่านไป 1 ปี ผมได้ลูกนก ลูกนกที่ได้เกิดตามธรรมชาติ ผมปล่อยให้นกผสมพันธุ์ ออกไข่ กกไข่ ฟักไข่ จนได้ลูกนก หลังจากนั้นทุกๆ 3 เดือน นกก็ให้ไข่อีก ผมจึงลองหัดเลี้ยงลูกป้อน เพื่อสังเกตความแตกต่าง แต่ธรรมชาติของนกซันคอนัวร์เขาชินกับคนเลี้ยง แม้เราจะไม่ได้เริ่มเลี้ยงตั้งแต่ลูกป้อน แต่คลุกคลีอยู่กับเขาบ่อยๆ เขาก็จะชินกับเรา ไปไหนก็ไม่ห่างเรา ปล่อยไปก็จะบินกลับมา”

Advertisement

หลังจากได้ลูกนกไม่กี่ครอก คุณพิศิษฐ์ก็ให้ความสำคัญกับการเลี้ยงซันคอนัวร์อย่างจริงจัง นับย้อนหลังไปราคาซื้อขายนกซันคอนัวร์ก็ไม่เคยตก แม้จะลดลงมาบ้าง แต่ก็จัดอยู่ในกลุ่มนกราคาสูง นั่นจึงเป็นตัวจุดประกายให้คุณพิศิษฐ์มองหาซื้อนกซันคอนัวร์พ่อพันธุ์และแม่พันธุ์มาเลี้ยง

คุณพิศิษฐ์ ให้รายละเอียดว่า นกซันคอนัวร์ควรมีอายุ 2 ปีขึ้นไป จึงจะเริ่มให้ไข่ แต่หลังจากให้ไข่ในครั้งแรก ก็จะให้ไข่ในทุก 3 เดือน การไข่แต่ละครั้งจะให้ไข่เฉลี่ย 3-5 ฟอง และหากพ่อพันธุ์แม่พันธุ์สมบูรณ์ดี อาจให้ไข่ได้มากถึง 7 ฟอง

Advertisement

จำนวนไข่ที่มาก ไม่ได้หมายความว่าลูกนกจะแข็งแรงทุกตัว แม้จะปล่อยให้แม่นกฟักเองตามธรรมชาติ เพราะลูกนกที่ฟักออกจากไข่จะฟักออกมาไม่พร้อมกัน ทำให้ลูกนกตัวที่ฟักออกมาทีหลังเสียเปรียบลูกนกที่ฟักออกมาก่อน โอกาสได้อาหารจากพ่อนกแม่นกมากกว่า การเจริญเติบโตจึงไม่เท่ากันในคอกเดียวกัน ดังนั้น ผู้เลี้ยงควรช่วยพ่อนกแม่นก ด้วยการนำลูกนกที่ขนาดเล็กกว่าออกมาป้อน ที่เรียกกันว่า “ลูกป้อน”

และจำนวนไข่ที่มาก ก็ไม่ได้หมายความว่าจะฟักออกมาเป็นลูกนกทุกใบ เพราะโอกาสได้ไข่ลม เป็นไข่ไม่มีเชื้อสูง ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ด้วย

แม้จะเลี้ยงโดยไม่ได้คล้องโซ่ไว้ที่ขานก เพื่อปล่อยให้นกบินได้ตามธรรมชาติ แต่ก็จำเป็นต้องนำนกไปตรวจเช็กเพศและจดบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับนกทุกตัวไว้ และใช้รหัสเป็นตัวบอกรายละเอียดเกี่ยวกับนก ทั้งเพศ เจ้าของ วันเดือนปีเกิด โดยใส่ไว้ในรูปของห่วงขานก

“เมื่อเราเลี้ยงปล่อยให้บินตามธรรมชาติ แม้นกจะรู้ว่าจะต้องกลับมาหาเจ้าของ แต่โอกาสที่นกจะหลุดหรือบินไปแล้วไม่กลับมาก็มีสูง ในบางครั้งบินออกไปข้างนอกเจอฝูงนกชนิดอื่น อาจพลัดหลงไปและกลับมาไม่ถูก หรือบินออกไปข้างนอกแล้วตกใจกับเสียงสภาพแวดล้อมขณะนั้น ทำให้หลงทิศไป หากนกตกไปอยู่กับใคร เราก็จะแสดงความเป็นเจ้าของของนกได้”

การเจาะเลือดนกเพื่อเช็กเพศเป็นสิ่งจำเป็น ในกรณีที่จับคู่ให้นก หรือเพื่อการค้า เพราะผู้เลี้ยงส่วนใหญ่ต้องการทราบว่า นกที่ซื้อไปนั้นเป็นเพศผู้หรือเพศเมีย

การจับคู่ในนก คุณพิศิษฐ์ปล่อยให้นกเลือกคู่เอง หลังจากลูกนกอายุ 1 ปี จะเริ่มจับคู่กัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า การจับคู่กันจะทำให้ได้ลูกนก เพราะนกบางตัวก็เป็นหมัน

คุณพิศิษฐ์ บอกว่า ในการเจาะเลือดนกที่อุ้งเท้าเพื่อส่งตรวจยังห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ครั้งแรก ก็เพื่อทราบเพศนกเท่านั้น แต่หากนกจับคู่แล้ว ผ่านมาเป็นระยะนานกว่า 1 ปี แม่นกยังไม่ให้ไข่ ก็ควรนำนกไปตรวจซ้ำอีกครั้ง เพื่อเช็กดูว่านกเป็นหมันหรือไม่

การดูแลนกลูกป้อน ควรนำออกจากรังเมื่ออายุประมาณ 30 วัน การป้อนทำโดยการนำอาหารเหลวดูดเข้าไซริงจ์แล้วฉีดเข้าไปทางปากของลูกนก ความถี่ขึ้นอยู่กับอายุของลูกนก ในลูกนกป้อนใหม่ 2-3 ชั่วโมง ต่อครั้ง และระยะห่างต่อการป้อน 1 ครั้ง จะห่างชั่วโมงออกไปเรื่อยๆ

“การดูแลนกลูกป้อน ไม่ได้ทำได้ง่ายนัก เพราะนกก็เหมือนเด็กทารก หิวก็ร้อง อิ่มก็หลับ เมื่อไรที่ร้องแสดงว่าหิว และการกินอาหารลงไปก็จะไม่มีการเก็บไว้เหมือนนกโต อาหารเหลวจะลงท้องไป เมื่อย่อยหมดก็จะร้องเพื่อต้องการอาหารอีก ฉะนั้น คนเลี้ยงนกลูกป้อนจะเข้าใจว่าต้องใส่ใจทุกรายละเอียดและเหนื่อยมากแค่ไหน”

เมื่อถามถึงการจับคู่นก ว่าผู้เลี้ยงสามารถจับคู่ให้นกเองได้หรือไม่ คุณพิศิษฐ์ใช้ประสบการณ์ตอบคำถามตรงนี้ว่า สามารถทำได้ทั้ง 2 แบบ คือ ให้นกจับคู่เอง หรือจับคู่ให้นกตามความต้องการของผู้เลี้ยง แต่โอกาสที่นกที่ถูกจับคู่ให้อาจไม่ชอบกันเองก็มี ดังนั้น หากสังเกตพฤติกรรมเห็นว่า นกทั้งคู่ที่จับคู่ให้ไม่ชอบกัน ก็ควรแยกออกจากกันและปล่อยให้นกเลือกเองจะดีที่สุด

คุณพิศิษฐ์ไม่ได้เลี้ยงนกเพื่อธุรกิจ เพราะจากการสังเกตพบว่า เขาเลี้ยงนกจำนวนไม่มากนัก เพราะมีอาชีพประจำที่ต้องดูแลธุรกิจร้านค้า จึงมีเวลาว่างเป็นระยะเท่านั้น ทำให้คุณพิศิษฐ์เลือกเลี้ยงเฉพาะพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่เขาคัดแล้วว่าสวยและดูแลให้มีความสมบูรณ์ในตัวนกสูง เพราะเมื่อปล่อยให้ผสมพันธุ์กันแล้วได้ลูกนกออกมา การได้ลูกนกที่สมบูรณ์แข็งแรงก็มีสูงเช่นกัน ตามที่คุณพิศิษฐ์บอกว่า ต้องการเลี้ยงนกซันคอนัวร์ให้มีคุณภาพ เพื่อให้ได้ลูกนกมีคุณภาพ เมื่อลูกค้าซื้อไปเลี้ยงก็จะไม่ผิดหวัง

“ทุกวันผมให้อาหารเพียงครั้งเดียวตอนเช้า อาหารหลักเน้นที่ข้าวโพด เมล็ดทานตะวัน ผลไม้ตามฤดูกาล เช่น มะละกอ แอปเปิ้ล แตงโม หรือจะเป็นผักสวนครัวนกซันคอนัวร์ก็ชอบ เช่น พริก กะเพรา โหระพา ตะไคร้ และผักสวนครัวเหล่านี้ช่วยให้นกไม่ป่วยเป็นหวัดได้ง่ายด้วย ส่วนอาหารเสริมอยู่ในกลุ่มวิตามิน ผสมในน้ำให้กับนก รวมถึงแคลเซียมที่สามารถผสมน้ำให้นกกินไปในคราวเดียวกันได้เลย”

คุณพิศิษฐ์ ให้ข้อมูลว่า นกซันคอนัวร์ที่มีสีเหลืองสดทั้งตัวจะได้รับความนิยมดี และราคาซื้อขายค่อนข้างสูง แต่นกที่เกิดใหม่เมื่อขนเริ่มขึ้นเต็ม อายุประมาณ 7-8 เดือน สีจะเริ่มเห็นชัด ระยะนั้นจะมีสีเขียวเข้ามาปน และเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลืองในบางจุด อาจจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองไม่ทั้งตัว คงเหลือสีเขียวไว้บ้าง หรือเปลี่ยนเป็นสีเหลืองทั้งตัว นกซันคอนัวร์ที่มีสีเหลืองทั้งตัว ราคาซื้อขายอยู่ที่ตัวละไม่ต่ำกว่า 20,000 บาท

ราคาถูกสุดของการซื้อขายนกซันคอนัวร์คือ ไข่นก ใบละ 1,700-2,000 บาท

นกลูกป้อน อายุ 30 วัน ราคาประมาณ 2,500-3,500 บาท

นกลูกป้อน อายุ 45 วัน ราคาประมาณ 3,500-4,000 บาท

ลูกนก อายุ 6 เดือน ราคาประมาณ 5,000 บาท

ลูกนก อายุ 7 เดือน ราคาประมาณ 8,000 บาท เป็นต้น

หากมือใหม่ต้องการเลี้ยงนกซันคอนัวร์ คุณพิศิษฐ์ แนะนำว่า ควรเลี้ยงนกให้ใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด แม้ว่านกซันคอนัวร์จะเป็นนกที่เลี้ยงง่าย แต่การดูแลเรื่องความสะอาด เปลี่ยนน้ำ อาหาร และรังนอน ก็เป็นสิ่งจำเป็น เพราะหากละเลยเชื้อโรคก็จะเข้าหาสัตว์เลี้ยงได้ง่าย อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงนกซันคอนัวร์ที่ปล่อยบินเป็นอิสระภายในบ้านก็ควรมีรังนอนให้นก โดยขนาดกรงที่เหมาะสมต่อนก 2 ตัว คือ กว้าง 1 เมตร ยาว 70 เซนติเมตร และสูง 70 เซนติเมตร ยกเว้นผู้เลี้ยงมีพื้นที่มาก ก็สามารถเพิ่มพื้นที่กรงเลี้ยงให้มากขึ้นอีกก็เป็นการดี เพียงเท่านี้โอกาสได้ลูกนก 3-4 คอก ต่อปี ก็เกิดขึ้นได้

ในแต่ละปีของการเลี้ยงนกซันคอนัวร์ คุณพิศิษฐ์ได้ลูกนกจากการผสมพันธุ์ของพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ตามธรรมชาติ 3-4 ครั้ง ต่อปี แต่ละครั้งได้ไข่นก 3-5 ฟอง และได้ลูกนก 1-3 ตัว ต่อครั้ง

หากจะให้แนะนำเรื่องการซื้อนกซันคอนัวร์ คุณพิศิษฐ์ บอกว่า ควรทราบแหล่งที่มาของนก ไม่ควรซื้อตามร้านขายสัตว์เลี้ยงทั่วไป ยกเว้นเป็นร้านที่มีที่มาของนก เพราะนกทุกตัวจะต้องมีเอกสารระบุวันเดือนปีเกิด เพศนก และชื่อเจ้าของ เมื่อซื้อนกไปเลี้ยงแล้วเกิดปัญหาใดก็ตาม สามารถติดต่อเจ้าของเดิมได้แน่นอน

สำหรับคุณพิศิษฐ์ แม้จะไม่ได้ทำในลักษณะของฟาร์มนกขนาดใหญ่ แต่ก็มีที่มาที่ไปให้ผู้สนใจเข้าไปเยี่ยมชมชิดติดขอบกรง ขอให้นัดแนะกันก่อนล่วงหน้าเท่านั้น ติดต่อได้ที่ คุณพิศิษฐ์ เหล่าอิทธิพร ซอยด่านสำโรง ตำบลสำโรงเหนือ อำเภอสำโรง จังหวัดสมุทรปราการ โทรศัพท์ (089) 994-8484 ยินดีรับทุกสาย