ไก่แจ้ขึ้นฟาร์ม จากไก่วัด สู่ไก่สวยงาม

ชมรมไก่แจ้ทวารวดี เป็นชมรมไก่แจ้ที่รวมเกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มของ คนเลี้ยงไก่แจ้สวยงามทุกเพศ ทุกวัย และสมาชิกคนรักไก่แจ้ รวมถึงผู้เลี้ยงไก่แจ้ในหลายจังหวัด โดยมี คุณธรรมรัตน์ สมเสร็จ หนุ่มใหญ่วัย 39 ปี เป็นประธานชมรม ทั้งยังก่อตั้งฟาร์มเล็กๆ ที่รวบรวมสายพันธุ์มาตรฐานไก่แจ้ขึ้น ใช้ชื่อว่า ไก่แจ้ “น้ำพักน้ำแรง” บ้านคุณธรรมรัตน์ เพื่อเพาะและขยายพันธุ์ไก่แจ้ให้เป็นที่รู้จักกว้างขวางมากขึ้น

คุณธรรมรัตน์ บอกว่า ปัจจุบันไก่แจ้ถูกจัดให้เป็นไก่สวยงาม เมื่อมีเวทีประกวดจะดูที่ความสวยงามเป็นหลัก ซึ่งเมื่อพิจารณาจากรูปร่างลักษณะแล้ว ไก่แจ้สายพันธุ์ต่างประเทศจะได้เปรียบ เพราะมีคุณลักษณะที่สวยงามกว่า ส่วนไก่แจ้สายพันธุ์ไทยจะได้เปรียบเรื่องของสีสัน

คุณธรรมรัตน์ สมเสร็จ เจ้าของบ้านไก่แจ้ “น้ำพักน้ำแรง” คุณธรรมรัตน์

เพราะความชอบเลี้ยงสัตว์เป็นงานอดิเรกในวัยเยาว์ ไก่แจ้ นก และปลา จึงเป็นสัตว์ที่คุณธรรมรัตน์เลือกมาเลี้ยงและให้ความสนใจเป็นพิเศษ เพราะมีขนาดเล็ก จับต้องได้ โดยก่อนหันมามุ่งมั่นกับการขยายพันธุ์ไก่แจ้อย่างจริงจัง คุณธรรมรัตน์มีไก่แจ้ที่เลี้ยงไว้ดูเล่นหลายร้อยตัว กระทั่งปี 2540 ถูกชักชวนให้เข้าวงการไก่แจ้ เริ่มจากการเป็นสมาชิกชมรมอนุรักษ์ไก่แจ้แห่งประเทศไทย จังหวัดนครปฐม ซึ่งถือเป็นก้าวแรกของคุณธรรมรัตน์ ที่ก้าวเข้าสู่การเลี้ยงและขยายพันธุ์ไก่แจ้ และในปี 2546 ไก่แจ้ที่คุณธรรมรัตน์เลี้ยงไว้ ถูกส่งลงสนามประกวดไก่แจ้สวยงามครั้งแรก และได้รับรางวัลถึง 3 รางวัลในคราวเดียวกัน

ปัจจุบัน ไก่แจ้ในพื้นที่เลี้ยงของคุณธรรมรัตน์ มีประมาณ 20 สายพันธุ์ เป็นสายพันธุ์ไก่ไทย และไก่สากล เป็นไก่ไทย 8 สี ไก่สากล 12 สี ซึ่งก่อนหน้าการระบาดของไข้หวัดนกในปี 2547 คุณธรรมรัตน์มีไก่ไทยจำนวน 12 สี ซึ่งถือว่าครบทุกสี แต่เมื่อนับรวมจำนวนเป็นตัวแล้วมีมากเกือบ 1,000 ตัว

ในกรงอนุบาล 1

ข้อแนะนำสำหรับผู้สนใจเลี้ยงไก่แจ้มือใหม่ คุณธรรมรัตน์ บอกว่า ให้เริ่มเลี้ยงไก่แจ้ตั้งแต่เป็นลูกเจี๊ยบ เพราะเป็นการฝึกพื้นฐาน ซึ่งการดูแลไก่แจ้เล็กก็เหมือนการเลี้ยงไก่ทั่วไป ให้อาหาร ให้น้ำผสมวิตามิน ให้ความอบอุ่น กรงควรมีมุ้งกันยุง ให้วัคซีนตามวัยที่กรมปศุสัตว์กำหนด หลังจาก 1 เดือน การดูแลใกล้ชิดก็ไม่จำเป็น แต่ควรเพิ่มขนาดพื้นที่กรงให้เหมาะสมก็พอ ส่วนไก่รุ่นหรือไก่ใหญ่สามารถปล่อยเลี้ยงตามธรรมชาติได้ แต่ควรมีที่ให้อาศัยหลบฝนหรือแดด โดยเฉพาะไก่ใหญ่ ควรมีที่นอน มีคอนให้เกาะนอน สำหรับป้องกันฝนหรือแดด ซึ่งการเลี้ยงไก่แจ้ของคุณธรรมรัตน์ใช้วิธีกึ่งเลี้ยงกึ่งปล่อย และใช้หัวอาหารไก่ไข่หรือไก่พื้นเมืองเป็นอาหาร

ลูกไก่แจ้บาร์ทองรุ่นแรก

สำหรับการผสมพันธุ์ไก่แจ้ตามธรรมชาติ ใช้ไม่ได้กับการเลี้ยงไก่แจ้แบบฟาร์ม เพราะปัจจุบันไก่แจ้ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์และได้รับการผสมโดยมนุษย์ อาหารจึงเป็นตัวเร่งให้ไก่เป็นหนุ่มเป็นสาวไว อายุของ ไก่แจ้เพียง 5-6 เดือน จะมีไข่หรือมีเชื้อ ทำให้เริ่มผสมพันธุ์ได้

การเก็บไข่ไก่แจ้ โดยธรรมชาติของไก่จะออกไข่ครั้งละฟอง หากทิ้งไว้ให้ไข่และฟักเองจะได้ไข่ประมาณ 6-8 ฟอง แต่ถ้าเก็บไข่ทุกวันอาจเก็บไข่ได้มากถึง 24 ฟองในไก่แม่เดียว เพราะหลังจากเราเก็บไข่มาแล้ว ไก่จะเข้าใจว่ายังไม่ได้ไข่จึงไข่ออกมาอีกเรื่อยๆ ซึ่งหลังจากเก็บมาแล้วควรนำมาเก็บรวมกันไว้ก่อนนำเข้าตู้ฟัก เพื่อให้ไข่ฟักออกมาพร้อมกัน

หลังจากเก็บไข่จากแม่ไก่มาแล้ว ระหว่างรอนำไปเข้าตู้ฟัก ควรวางไข่ด้วยการนำด้านป้านของไข่ขึ้นด้านบน ให้ด้านแหลมของไข่ลงต่ำ คุณธรรมรัตน์อธิบายถึงเหตุที่ไม่ควรนำด้านป้านของไข่ขึ้น เพราะบริเวณด้านป้านของไข่ภายในจะมีฟองอากาศอยู่ หากวางไม่ถูกลักษณะอาจทำให้ไข่หรือเชื้อภายในไข่ตายได้ ทั้งนี้ทุกครั้งที่เก็บไข่มาเรียงก่อนนำเข้าตู้ฟัก ควรทำสัญลักษณ์ที่ไข่ เพื่อให้ทราบว่าเป็นไข่ของไก่ตัวไหน อย่างไรก็ตาม หากพบว่าไข่ที่เก็บมาฝ่อ ไม่มีเชื้อ สามารถนำไข่ไก่นั้นๆ มาต้มให้สุกคลุกกับอาหารให้ไก่แจ้อื่นกินได้ เป็นการประหยัดต้นทุนค่าอาหารไก่ได้ส่วนหนึ่ง

ตู้ฟัก

หลังไข่ฟักแล้ว ลูกเจี๊ยบอายุตั้งแต่แรกเกิดถึง 1 สัปดาห์ จะแยกเลี้ยงในห้องอนุบาล 1 เป็นห้องที่ต้องให้ความอบอุ่นด้วยแสงสว่างจากหลอดไฟ จากนั้นนำเข้ากรงอนุบาล 2 ซึ่งเป็นลูกเจี๊ยบอายุ 1-6 สัปดาห์ ที่ยังคงต้องให้ความอบอุ่นด้วยแสงสว่างจากหลอดไฟ และหลังจากนั้นย้ายเข้ากรงอนุบาล 3 ที่ไม่จำเป็นต้องให้ความอบอุ่นด้วยแสงสว่างจากหลอดไฟแล้ว แต่ควรอยู่ในกรงปิดที่ไม่มีลมพัดผ่าน เพราะอาจทำให้ไก่หนาวตายได้ อายุของไก่ในชั้นอนุบาล 3 ระหว่าง 6 สัปดาห์ถึง 3 เดือน

ลูกเจี๊ยบที่อยู่ระหว่างอนุบาล จะเริ่มทำวัคซีนตามที่กรมปศุสัตว์กำหนด ซึ่งคุณธรรมรัตน์แนะว่า ผู้ที่ควรทำวัคซีนให้ถูกต้องคือ กลุ่มผู้เลี้ยงในปริมาณมาก ส่วนผู้เลี้ยงเพื่อความสวยงามในปริมาณน้อย ไม่จำเป็นต้องทำวัคซีนก็ได้ เพราะโอกาสภูมิคุ้มกันบกพร่องเกิดขึ้นได้ไม่มาก

ไข่ไก่แจ้ ขนาดเท่าผลมะปราง เมื่อเทียบกับไข่เป็ด

ปัญหาที่ควรระวังในการเลี้ยงไก่แจ้ ไม่แตกต่างจากการเลี้ยงไก่โดยทั่วไปคือ ไม่ควรปล่อยให้ไก่ร้อนจัดหรือหนาวจัด เพราะจะทำให้ไก่เป็นหวัด ซึ่งหากพบว่าไก่เป็นหวัด ควรให้ยาสามัญของไก่ หรือให้กินสมุนไพร ผัก และหญ้า ช่วยลดอาการหวัดได้

กรงไก่ โดยทั่วไปจะต่อเป็นชั้นๆ คล้ายคอนโดฯ แบ่งเป็นช่อง ส่วนขนาดแต่ละช่องขึ้นกับขนาดไก่ โดยขนาดมาตรฐานกรงไก่อยู่ที่ กว้าง 1 เมตร ยาว 1 เมตร และสูง 90 เซนติเมตร สามารถเลี้ยงไก่ได้จำนวน 3 ตัว หากให้แนะนำควรเป็นเพศผู้ 1 ตัว และเพศเมีย 2 ตัว หรือจะเลี้ยงน้อยกว่านี้ก็ได้ แต่ไม่ควรเลี้ยงไก่ตัวเดียว เพราะไก่แจ้เป็นสัตว์ชอบสังคม

อยากรู้ อยากดู อยากศึกษา คุณธรรมรัตน์ยินดีให้คำแนะนำ หรือจะเยี่ยมชมการเลี้ยงไก่แจ้ได้ที่ บ้านไก่แจ้ “น้ำพักน้ำแรง” คุณธรรมรัตน์ เลขที่ 1/6 ซอย 3 หมู่ที่ 6 ตำบลบ่อพลับ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม หรือโทรศัพท์สอบถามเส้นทางกันก่อนได้ที่ โทร. 087-821-4803

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก