ที่มา | หน้า 7 นสพ.มติชน |
---|---|
ผู้เขียน | ชุติมา นุ่นมัน |
เผยแพร่ |
สถานการณ์นกน้ำ นกป่าชายเลนหลายชนิดมีสถานภาพที่น่าเป็นห่วงไม่น้อย สาเหตุหนึ่งคือ พื้นที่อาศัยเดิมเปลี่ยนไป ความเจริญก้าวหน้าทางของเทคโนโลยีเข้ามา เมืองเปลี่ยนไป บั่นทอนต่อการดำรงอยู่ ส่งผลให้จำนวนประชากรลดลงอย่างรวดเร็ว
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และองค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ร่วมกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (Global Environment Facility: GEF) ให้ดำเนินโครงการอนุรักษ์ถิ่นอาศัยของพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ที่มีความสำคัญระดับโลกในพื้นที่ภาคการผลิต (Conserving Habitats for Globally Important Flora and Fauna in Production Landscapes)
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการอนุรักษ์ชนิดพันธุ์และถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดพันธุ์ที่มีความสำคัญระดับโลก และอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ โดยให้ความสำคัญกับชนิดพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์จำนวนรวม 3 ชนิด ได้แก่ นกชายเลนปากช้อน (Spoon-billed Sandpiper) พลับพลึงธาร (Water Onion) และนกกระเรียนพันธุ์ไทย (Eastern Sarus Crane)
ปัจจัยหลักที่ทำให้ประชากรนกชายเลนปากช้อนลดลงอย่างรวดเร็วมาจากการสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งผสมพันธุ์และวางไข่ พื้นที่แวะพักระหว่างการอพยพในฤดูหนาว ประกอบกับการรบกวนที่อยู่อาศัย การล่าสัตว์ และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ล้วนมีผลต่อการลดลงของประชากรนกชายเลนปากช้อน
ในขณะที่ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายใดๆ คุ้มครองนกชายเลนปากช้อนเป็นการเฉพาะ และด้วยจำนวนประชากรของนกชายเลนปากช้อนที่ลดลงอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วจาก 2,000-2,800 คู่ ในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2513-2522 จนมาเหลือเพียง 150-250 คู่ ในปี พ.ศ.2551
องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature: IUCN-ไอยูซีเอ็น)จัดให้นกชายเลนปากช้อนอยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically Endangered) เมื่อปี พ.ศ.2555 โครงการอนุรักษ์ถิ่นอาศัยของพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ที่มีความสำคัญระดับโลกในพื้นที่ภาคการผลิต (Conserving Habitats for Globally Important Flora and Fauna in Production Landscapes Project)
มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์ความหลากหลายของพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ที่มีความสำคัญระดับโลก ในพื้นที่ภาคการผลิต หรือพื้นที่นอกเขตอนุรักษ์ตามกฎหมาย โดยให้ความสำคัญกับการจัดการถิ่นที่อยู่อาศัย ตลอดจนการสร้างความร่วมมือและการบูรณาการจากทุกภาคส่วน ทั้งระดับจังหวัด ท้องถิ่น และชุมชน เพื่อนำไปสู่แนวทางการอนุรักษ์และฟื้นฟูชนิดพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์
โดยอาศัยการมีส่วนร่วมจากชุมชน มุ่งเน้นความสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชนในพื้นที่ เช่น การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การส่งเสริมอาชีพเสริมสำหรับชุมชน รวมทั้งให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน
ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินกิจกรรมภายใต้โครงการดังกล่าวเป็นไปตามวัตถุประสงค์และบรรลุถึงเป้าหมายของโครงการ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงจัดกิจกรรมเปิดตัวโครงการขึ้น เพื่อให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องใน จ.สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และเพชรบุรี ได้มีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการและเผยแพร่ไปสู่ชุมชน
มีรายงานนกชายเลนอพยพชนิดอื่นๆ ที่ถูกคุกคามในระดับโลกซึ่งพบในพื้นที่อ่าวไทยตอนใน ประกอบด้วยนกทะเลขาเขียวลายจุด (Nordmann’s Greenshank) เป็นนกชายเลนอีกชนิดที่มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ ในระดับโลก
ปัจจุบันคาดว่า ทั่วโลกเหลือไม่ถึง 1,200 ตัว มีถิ่นทำรังวางไข่อยู่รอบๆ ชายฝั่งทะเลโอคฮอตซค์ (sea of Okhotsk) และบนเกาะซัคคาลิน (Sakhalin Island) ของประเทศรัสเซีย ในช่วงฤดูหนาวจะอพยพลงมาหากินอยู่ตามชายฝั่งในหลายประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งก็รวมถึงประเทศไทยด้วย นกชนิดนี้มีรายงานพบเห็นได้เป็นประจำทุกปีในพื้นที่อ่าวไทยตอนใน โดยเฉพาะพื้นที่นาเกลือ ต.แหลมผักเบี้ย อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี และพื้นที่หาดเลน ปากแม่น้ำท่าจีน จ.สมุทรสาคร
นกนอตใหญ่ (Great Knot)ถึงแม้ช่วงฤดูหนาวในพื้นที่อ่าวไทยตอนในจะมีการพบเห็นนกชนิดนี้ในจำนวนมาก แต่ประชากรในระดับโลกกลับลดลงเหลืออยู่ประมาณ 48,500-60,000 ตัว ในปัจจุบันไอยูซีเอ็นได้จัดสถานภาพให้นกชนิดนี้เป็นนกที่ใกล้สูญพันธุ์ ประเทศไทยเองเป็นหนึ่งในพื้นที่อาศัยสำคัญในฤดูหนาวของนกชนิดนี้
มีรายงานพบทั้งตามชายฝั่งของภาคตะวันออก ภาคใต้ และสามารถพบนกนอตใหญ่หากินได้เป็นประจำตามพื้นที่ริมชายฝั่งของอ่าวไทยตอนใน มีประชากรรวมกันประมาณ 5-10% หรือประมาณ 2,500-5,000 ตัวของประชากรทั่วโลก
นกซ่อมทะเลอกแดง (Asian Dowitcher) เป็นหนึ่งในนกชายเลนที่มีสถานภาพใกล้ถูกคุกคาม (near threatened) ในระดับโลก ทั่วโลกมีประชากรเหลืออยู่ราว 23,000 ตัว ประชากรส่วนใหญ่บินอพยพผ่านประเทศไทย โดยมีแหล่งพักอาศัยช่วงฤดูหนาวในแถบชายฝั่งของเกาะสุมาตราและหมู่เกาะของประเทศอินโดนีเซีย
แต่มีประชากรของนกชนิดนี้บางส่วนที่เข้ามาใช้พื้นที่อ่าวไทยตอนในตลอดช่วงฤดูหนาวด้วยเช่นกัน ซึ่งบริเวณที่พบนกชนิดนี้ได้บ่อยครั้งในอ่าวไทยตอนในมีหลายพื้นที่ ได้แก่ อ่าวมหาชัย พื้นที่นาเกลือบางแห่งใน จ.สมุทรสาคร ชายฝั่งคลองตาหรุ จ.ชลบุรี และนาเกลือ แหลมผักเบี้ย-ปากทะเล อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี
นกยางจีน (Chinese Egret) มีรายงานพบว่า นกในกลุ่มนกยาง (egret) บางชนิดที่มีความสำคัญระดับโลกเข้ามาอาศัยในพื้นที่แห่งนี้ด้วยเช่นกัน เช่น นกยางจีน ซึ่งนกชนิดนี้ถูกจัดสถานภาพไว้ที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (vulnerable) ในระดับโลก
ประชากรทั่วโลกเหลือเพียง 2,600-3,400 ตัว นกยางชนิดนี้พบอาศัยอยู่ตามหาดทรายและหาดเลนริมชายฝั่ง สามารถพบได้เป็นประจำทุกปีในพื้นที่หาดทรายริมชายฝั่งใน ต.แหลมผักเบี้ย จ.เพชรบุรี
นกหัวโตมลายู (Malaysian Plover) นกหัวโตมลายูเป็นนกที่มีถิ่นอาศัยค่อนข้างจำเพาะต่อพื้นที่ชายหาดที่ปราศจากการรบกวน เนื่องจากนกชนิดนี้สร้างรังอยู่บนหาดทราย ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ชายหาดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว และเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าวเป็นจำนวนมาก จึงถือว่าเป็นปัจจัยคุกคามต่อนกหัวโตมลายูด้วยเช่นกัน ในระดับโลก
นกชนิดนี้มีสถานภาพใกล้ถูกคุกคาม (near threatened) เนื่องด้วยประชากรของมันถูกคุกคามจากโครงการพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงสภาพหาดทราย ชายฝั่งทะเล จนประชากรโดยรวมมีแนวโน้มลดจำนวนลง
ปัจจุบันเหลือพื้นที่ชายหาดเพียงไม่กี่แห่งในอ่าวไทยตอนในที่ยังสามารถพบนกชนิดนี้อาศัยอยู่ได้ เช่น พื้นที่ชายหาดของ ต.แหลมผักเบี้ย ซึ่งเป็นหาดทรายที่เงียบสงบและมีการรบกวนน้อย
นกหัวโตหน้าขาว (White-faced Plover) ทำรังวางไข่ทางตอนใต้ของประเทศจีน ช่วงฤดูหนาวจะอพยพมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ประเทศไทยมีรายงานการพบนกชนิดนี้ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 และในเดือนมกราคมปี พ.ศ.2551 มีรายงานการพบนกชนิดนี้อีก 3 ตัว บริเวณหาดทรายแหลมผักเบี้ย โดยพบว่า นกหัวโตหน้าขาวจะหากินตามหาดทรายหรือทรายปนเลน ซึ่งมักมีนกหัวโตมลายูอาศัยอยู่ด้วย นกชนิดนี้แยกออกมาเป็นชนิดใหม่ ไม่นานมานี้ยังคงมีข้อมูลด้านการกระจายพันธุ์ ปัจจัยคุกคาม แนวโน้มของประชากรอยู่น้อยมาก
นกอีก๋อยตะโพกสีน้ำตาล (Far Eastern Curlew) พื้นที่อ่าวไทยตอนในยังเป็นแหล่งพักพิงของนกชายเลนอพยพผ่านหายาก (rare passage migrant) คือ นกอีก๋อยตะโพกสีน้ำตาล โดยนกชนิดนี้มีพื้นที่อาศัยหลักช่วงฤดูหนาวในประเทศออสเตรเลีย
มีรายงานการพบนกอีก๋อยตะโพกสีน้ำตาล 1-3 ตัว รวมอยู่ในฝูงของอีก๋อยใหญ่ (Eurasian Curlew) บริเวณบ่อน้ำระหว่างบ้านปากทะเล และแหลมผักเบี้ย ระหว่างช่วงเดือนพฤศจิกายนจนถึงกุมภาพันธ์
นอกจากนี้เรายังสามารถพบมันได้ตามหาดเลน นาเกลือ และแนวชายฝั่งทะเลด้วย นกชนิดนี้มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ (endangered) เนื่องมาจากถิ่นอาศัยช่วงฤดูหนาวถูกทำลายหรือเปลี่ยนสภาพไป (habitat loss and degradation) จนทำให้จำนวนประชากรของนกชนิดนี้มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
นกปากช้อนหน้าดำ (Black-faced Spoonbill) นกชนิดนี้จัดอยู่ในจำพวกนกน้ำขนาดใหญ่ เป็นชนิดที่มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ (endangered) ในระดับโลก มีประชากรเหลืออยู่เพียง 1,600 ตัว ซึ่งคาดว่าจำนวนประชากรจะลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องด้วยสูญเสียถิ่นอาศัยจากโครงการพัฒนาอุตสาหกรรม การเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ รวมถึงมลพิษที่ปนเปื้อนในระบบนิเวศ นกชนิดนี้อพยพเข้ามาหากินตามบริเวณนากุ้งร้าง นาเกลือ และบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำของอ่าวไทยตอนใน
นกกระสาปากเหลือง (Milky Stork) พื้นที่อ่าวไทยตอนในยังเป็นแหล่งอาศัยของนกน้้ำขนาดใหญ่ที่ใกล้สูญพันธุ์ (endangered) อย่างนกกระสาปากเหลือง (Milky Stork) ซึ่งพบได้เพียง 1-4 ตัว/ปี บริเวณนาเกลือบ้านปากทะเล อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี มีสถานภาพเป็นนกอพยพนอกช่วงฤดูผสมพันธุ์ พบในช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม มันหากินทั้งในน้ำจืดและน้ำเค็ม กินปลา กุ้ง ปู เป็นอาหารหลัก บางครั้งพบรวมฝูงกับนกกาบบัว (Painted Stork)
นกกระสาปากเหลืองเป็นหนึ่งในนกกระสาที่ถูกคุกคามของเอเชีย โดยในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา ประชากรหลักในประเทศมาเลเซียลดจำนวนลงอย่างมากจากการล่านกและลูกนกในแหล่งสร้างรังวางไข่ การรบกวนและเปลี่ยนสภาพพื้นที่ชายฝั่งทะเล ไอยูซีเอ็นได้จัดสถานภาพการอนุรักษ์ให้นกชนิดนี้ใหม่ จากเดิมมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ เป็นใกล้สูญพันธุ์
ในอนาคตอันใกล้นี้ หากมีโครงการพัฒนาขนาดใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทยตอนใน อาจจะทำให้แหล่งอาศัยหลักช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์ลดน้อยลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อนกชายเลนอพยพชนิดอื่นๆ ด้วย
เพราะนกชายเลนหากินสัตว์หน้าดินขนาดเล็กที่อาศัยอยู่ตามหาดเลนหรือหาดทราย ได้แก่ ไส้เดือนทะเล ปลาวัยอ่อน กุ้ง ปู แมลง และตัวอ่อนแมลงเป็นอาหาร ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงสภาพ หรือการพัฒนาขนาดใหญ่ในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งในช่วงระยะก่อสร้างและดำเนินโครงการอาจมีการเปลี่ยนแปลงการไหลเวียนของน้ำทะเล หรือฝุ่นตะกอนที่อาจปนเปื้อนในระบบนิเวศหาดเลน หาดทราย ย่อมส่งผลต่อจำนวนประชากรของนกชายเลนอพยพเหล่านี้ทั้งสิ้น