หนุ่มอำนาจเจริญ เลี้ยงกระต่ายลูกผสม เท็ดดี้แบร์-วู้ดดี้ทอย รายได้ดี

กระต่าย สัตว์เลี้ยงตัวเล็กน่ารักของใครหลายคน มีมากมายหลายสายพันธุ์ แต่ละสายพันธุ์มีความโดดเด่นที่แตกต่างและเหมือนกันอยู่ก็มาก แต่ใครจะเลี้ยงสายพันธุ์ใดก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้เลี้ยง เช่น คุณวานิตย์ บุญภาย หรือ น้องเจ เด็กหนุ่มที่เพิ่งจบการศึกษาด้านสาธารณสุขศาสตร์ หลงใหลการเลี้ยงกระต่าย ถึงขั้นมีจำนวนมากจนต้องทำเป็นฟาร์มกระต่ายเล็กๆ ไว้รองรับ

คุณวานิตย์ บุญภาย หรือ น้องเจ

ก่อนหน้าคุณวานิตย์ ทำฟาร์มสุนัขปอมเมอเรเนียนและและพันธุ์ชิวาวา กระทั่งได้งานทำในเมือง ทำให้ไม่มีเวลาดูแล จึงต้องเลิกกิจการไปโดยถาวร เมื่อมีโอกาสจึงกลับมาเลี้ยงสัตว์ตามความถนัดอีกครั้ง แต่ครั้งนี้เลือกเลี้ยงกระต่าย

“ผมเลือกพันธุ์เท็ดดี้แบร์ และพันธุ์วู้ดดี้ทอย เพราะน่ารักดี ทั้งสองสายพันธุ์ขนยาวและตัวไม่ใหญ่มาก ตั้งใจเลี้ยงไว้เป็นเพื่อนเล่น แต่เห็นความน่ารักของทั้งสองสายพันธุ์จึงอยากลองเอามาผสมเข้าด้วยกันดู คิดว่าน่าจะได้ลูกกระต่ายที่น่ารักแน่ๆ”

สำหรับกระต่ายพันธุ์เท็ดดี้แบร์ เป็นกระต่ายที่พัฒนาขึ้นโดยคนไทยจนมีสายพันธุ์นิ่ง และสามารถถ่ายทอดลูกออกมาเช่นเดียวกับพ่อแม่ ไม่เป็นหมัน ไม่มียีนแคระ และมีขนยาวที่สวยงาม ตอนเล็กๆ กระต่ายสายพันธุ์นี้ขนจะยังไม่ยาวมากนัก เมื่ออายุ 2 เดือนจะเริ่มเห็นขนยาวฟูที่ชัดเจน และจะฟูเต็มที่เมื่ออายุ 5-8 เดือน ขนาดตัวไม่โตมากนัก น้ำหนักประมาณ 1.8 กิโลกรัม อาจมีจนที่หูหรือไม่มีก็ได้ แต่ความยาวขนเมื่อโตเต็มที่ต้องมากกว่า 3 นิ้ว จึงจะได้รับการยอมรับ

ออกลูกครั้งละ 3-6 ตัว ขนขึ้นฟูเห็นชัดเจนเมื่ออายุประมาณ 20 วัน บางตัวขนอาจไม่ฟูเมื่ออายุน้อย และจะฟูขึ้นเรื่อยๆ เมื่ออายุมากขึ้น ผลัดขนทุกปี ปีละ 1-2 ครั้ง

กระต่ายสายพันธุ์นี้ได้รับความนิยมมาก เนื่องจากหน้าตาน่ารัก ขนฟูฟ่อง สามารถพาไปไหนมาไหนได้ง่าย และราคาไม่สูงมากนัก มีสีมากมายหลายสี

ส่วนกระต่ายพันธุ์วู้ดดี้ทอย มีลักษณะคล้ายพันธุ์เท็ดดี้แบร์ เพราะเป็นการพัฒนาสายพันธุ์ต่อจากพันธุ์เท็ดดี้แบร์ โดยทำให้มีขนาดเล็กลงไปอีก แต่ไม่มียีนแคระ

พันธุ์วู้ดดี้ทอย เป็นกระต่ายขนาดค่อนข้างเล็ก มีขนนุ่มฟูกระจายไปทั่วตัว คล้ายๆ เท็ดดี้แบร์ แต่จะตัวเล็กกว่า มีหลายสี ขนมีสองชั้น คือ ขนชั้นในและขนชั้นนอก ขนชั้นนอกควรยาวกว่าขนชั้นใน ขนมีลักษณะตกทิ้งลงข้างลำตัว ขนไม่พันกัน ความยาวของขนไม่ควรต่ำกว่า 2 นิ้ว เพศผู้หนักประมาณ 0.8-1.1 กิโลกรัม เพศเมียหนักประมาณ 0.9-1.2 กิโลกรัม

เมื่อโตเต็มที่แล้วหน้าจะเหมือนพันธุ์เท็ดดี้แบร์ แต่หูสั้นกว่า มองเห็นคล้ายรูปสามเหลี่ยมด้านเท่า หากนำมาเทียบกับพันธุ์เท็ดดี้แบร์ พันธุ์วู้ดดี้ทอยตัวจะเล็กกว่าเกือบครึ่งเลยทีเดียว

ด้วยความคล้ายกัน ทำให้คุณวานิตย์ ตั้งใจนำมาผสมกัน และเรียกว่าวู้ดดี้ทอยผสมเท็ดดี้แบร์

ลูกกระต่ายที่ออกมา บ้างขนยาว บ้างขนสั้น บ้างตัวเล็ก บางตัวโต เช่น คอกแรกที่ได้เป็นลูกกระต่าย 4 ตัว ทุกตัวไม่มีความเหมือนกันเลย

หลังจากได้กระต่ายคอกแรก คุณวานิตย์ หาพ่อพันธุ์มาเพิ่ม เมื่อได้ลูกกระต่ายคอกถัดมา จึงนำออกสู่ตลาดด้วยการนำไปฝากขายไว้กับร้านสัตว์เลี้ยงในจังหวัดอำนาจเจริญ ผลตอบรับค่อนข้างดี ลูกกระต่ายหมดในเวลาอันรวดเร็ว เพราะความใหม่ของกระต่ายลูกผสม

การเลี้ยงดูกระต่าย ไม่ใช่เรื่องยาก แม้ว่าจะเคยได้ยินว่ากระต่ายเป็นสัตว์ขี้ตกใจ และอาจตายได้ถ้าได้ยินเสียงดังเกินไป เรื่องนี้ คุณวานิตย์ ให้ข้อมูลว่า แท้จริงแล้วกระต่ายโดยทั่วไปมีนิสัยขี้กลัว ขี้ตกใจ อะไรแปลกๆ ก็ตกใจ แต่ถ้าคลุกคลีใกล้ชิดจะรู้ว่า กระต่ายเป็นสัตว์ที่มีความเชื่อง มีความนุ่มนวล และนิ่งเมื่ออยู่กับเจ้าของ นอกจากนี้ ยังขึ้นกับการเลี้ยงดู หากเลี้ยงกระต่ายไว้ในที่สงบเงียบมากเกินไป เมื่อเกิดเสียงดังที่ทำให้กระต่ายเกิดความกลัวมาก โอกาสที่กระต่ายจะช็อกตายจากความตกใจกลัวก็เกิดขึ้นได้

“ผมทำเฉพาะกระต่ายลูกผสมวู้ดดี้ทอยผสมเท็ดดี้แบร์ การให้ลูกไม่เกิน 5 ตัว ที่ผ่านมา การผสมจะเน้นที่ความพร้อมของกระต่าย ไม่ได้ต้องการจำนวนเพื่อขายในเชิงพาณิชย์”

การผสม เพศเมียควรมีอายุไม่ต่ำกว่า 8 เดือน หรือดูจากอวัยวะเพศที่มีความสมบูรณ์พร้อมผสมพันธุ์ เช่น แดง บวม ก็สามารถผสมได้เช่นกัน หรือลูบหลังกระต่ายแล้วกระต่ายหันหลังให้พร้อมกับยกก้นขึ้น แสดงว่ามีความพร้อมในการผสมพันธุ์

ในการผสมสามารถทำโดย นำเพศผู้ไปใส่ในกรงเพศเมีย หรือนำเพศเมียไปใส่ในกรงของเพศผู้ ได้เช่นกัน รอให้ผสมก่อน เมื่อผสมแล้วให้จับแยกออกมาพักไว้ 10-15 นาที จากนั้นนำเข้ากรงเพื่อให้ผสมใหม่ ทำเช่นนี้จนกว่าจะผสมได้ 3 ครั้ง จึงแยกทั้งคู่

แม้ว่าจะสังเกตการผสมตลอดเวลาก็ตาม แต่การผสมที่ผ่านมา อัตราการติดลูกอยู่ที่ 70 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น โดยปัจจัยที่ทำให้ติดลูกมากน้อยขึ้นกับกระต่ายเพศเมีย หากสมบูรณ์หรืออ้วนเกินไป เปอร์เซ็นต์ติดลูกค่อนข้างน้อย

หลังการผสม 15 วัน ควรคลำท้องแม่กระต่ายเบาๆ สัมผัสดูว่ามีก้อนๆ ภายในท้องหรือไม่ หากมีนั่นหมายถึงมีลูกกระต่ายที่ได้รับการผสมแล้วอยู่ หรือสังเกตจากรูปร่างลักษณะของแม่กระต่ายที่เริ่มอ้วนหรือมีเนื้อมากขึ้น และท้องเริ่มขยาย น้ำหนักเพิ่มขึ้น ระยะเวลาการตั้งท้อง 30-35 วัน หลังแน่ใจว่ากระต่ายตั้งท้อง ควรแยกออกจากฝูงไว้ในกรงส่วนตัว ควรทำรังคลอดไว้ให้ คล้ายที่นอน และใส่ฟางลงไปในกรง เพื่อให้กระต่ายคุ้นเคยกับธรรมชาติ ควรระวังไม่ให้กระต่ายคลุกดิน เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคได้ง่าย

ก่อนคลอด กระต่ายจะเริ่มกัดขนตัวเองไปไว้ในรังนอนที่ทำไว้ให้ กรณีที่กระต่ายไม่กัดขนตัวเอง โอกาสที่ลูกคลอดออกมาแล้วตายมีสูง เพราะจะไม่มีช่องให้ลูกกินนม ซึ่งลูกกระต่ายหากไม่ได้กินนมนานเกินไปจะทำให้เกิดภาวะขาดน้ำตาลและตายในที่สุด

“กระต่ายที่นี่จะปล่อยให้คลอดธรรมชาติเอง คอยสังเกตอยู่ห่างๆ ซึ่งที่ผ่านมา การเลี้ยงกระต่ายพยายามให้สอดคล้องกับธรรมชาติมากที่สุด ทำให้กระต่ายที่นี่สามารถคลอดเองและเลี้ยงลูกเองได้ โดยไม่ต้องเข้าไปช่วย”

ลูกกระต่ายหลังคลอด ประมาณ 15 วัน จะเริ่มเห็นพัฒนาการการเจริญเติบโตของลูกกระต่าย ประมาณ 20 วัน ลูกกระต่ายจะเริ่มออกจากรังคลอด และเริ่มกินอาหารเม็ดตามแม่กระต่ายได้

อาหารที่ให้เป็นอาหารเม็ดสำเร็จรูปทั่วไป และเสริมด้วยหญ้า ซึ่งบริเวณโดยรอบเป็นทุ่งนาและปลอดสารเคมี การเก็บหญ้าจากธรรมชาติและปลอดสารเคมีมาให้กระต่ายกิน ก็เป็นอาหารเสริมที่ดีอย่างหนึ่ง

โรคที่อาจเกิดขึ้นในกระต่าย คุณวานิตย์ บอกว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้กระต่ายป่วยได้ง่ายคือ ลูกกระต่ายไม่ได้กินนมแม่ เพราะนมแม่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในลูกกระต่ายได้ดีเหมือนคน และถ้าแยกลูกกระต่ายจากแม่ก่อนอายุ 45 วัน อาจทำให้ลูกกระต่ายช็อกตายโดยไม่รู้สาเหตุได้ นอกจากนี้ โรคที่อาจพบได้ในกระต่ายคือ โรคแท้งในกระต่าย ซึ่งเกิดจากการป่วยในช่วงที่กระต่ายท้อง เมื่อแท้ง โอกาสที่กระต่ายตายก็พบได้สูง รวมถึงโรคแขนขาอ่อนแรง ที่ไม่สามารถบอกได้ว่าจะเกิดขึ้นกับกระต่ายตัวใด อีกทั้งอาการจะแสดงออกต่อเมื่อกระต่ายโตเต็มวัย ซึ่งสามารถรักษาโรคนี้ได้แต่ไม่หายขาด ดังนั้น การเลี้ยงกระต่ายให้คุ้นชินกับธรรมชาติ ดูแลความเป็นอยู่ให้ใกล้ชิดกับธรรมชาติที่สุด จึงเป็นเรื่องดี

ปัจจุบัน คุณวานิตย์ มีพ่อพันธุ์กระต่ายจำนวน 5 ตัว และแม่พันธุ์กระต่ายอีก 15 ตัว

ช่วงระยะเวลา 2 ปีที่เปิดเป็นฟาร์มกระต่ายเล็กๆ คุณวานิตย์ มีกระต่ายส่งไปยังบ้านลูกค้าแล้วไม่ต่ำกว่า 100 ตัว ซึ่งถือเป็นจำนวนที่ไม่มาก เพราะการผสมโดยไม่เน้นเชิงพาณิชย์ แต่ต้องการคุณภาพของลูกกระต่ายที่ได้มากกว่า

ตลาดกระต่ายเป็นตลาดที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยกระต่ายสีล้วน เช่น ดำ เทา ขาว เป็นสีของกระต่ายที่ลูกค้าต้องการมาก

สำหรับราคาซื้อขาย คุณวานิตย์ บอกว่า ราคาจำหน่ายลูกกระต่ายผสมอยู่ที่ตัวละ 250 บาท ขึ้นกับฟอร์ม อายุ และสี ของกระต่าย แต่ทั้งนี้ การซื้อขายไม่มีส่งทางโลจิสติกส์ใดๆ ยกเว้นนัดรับหรือนำไปส่งให้ในจังหวัดใกล้เคียง เช่น อุบลราชธานี ยโสธร ทำให้ข้อจำกัดทางการตลาดไม่กว้างเท่าที่ควร อย่างไรก็ตาม คุณวานิตย์ ไม่กังวล เพราะต้องการให้กระต่ายได้รับความปลอดภัยในการเดินทางไปยังลูกค้าจริงๆ

หากสนใจการเลี้ยงกระต่ายท่ามกลางธรรมชาติ สามารถติดต่อขอเข้าไปเยี่ยมชมการเลี้ยงได้ที่ คุณวานิตย์ บุญภาย โทรศัพท์ (097) 192-0572 หรือติดตามผ่านเฟซบุ๊กเพจ ฟาร์มกระต่ายอำนาจเจริญ ยโสธร จำหน่ายลูกกระต่าย ได้ตลอดเวลา