เต่าอัลลิเกเตอร์ ชีวิตดึกดำบรรพ์ที่เหลืออยู่!!

วันที่ 17 พฤษภาคม นายจรัญ หลีหมัน เจ้าหน้าที่ประมงน้ำจืด สำนักงานศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดสตูล ตำบลกำแพง อำเภอละงู จังหวัดสตูล ได้พาผู้สื่อข่าวไปดูเต่าอัลลิเกเตอร์ ในบ่อเลี้ยงเต่าในศูนย์ฯ โดยเต่าอัลลิเกเตอร์ นอนเงียบๆอยู่ในน้ำจืด โดยลักษณะเต่าอัลลิเกเตอร์ แตกต่างเต่าไทยและตัวอื่นๆอย่างมาก ซึ่งมีสภาพคลายสัตว์ดึกดำบรรพ์

นายจรัญ กล่าวว่า เต่าอัลลิเกเตอร์ เป็นการส่งต่อมาจากเจ้าหน้าที่ระหว่างชายแดนที่ผู้รู้นำเข้ามาเลี้ยงในประเทศไทย แต่ไม่ผ่านในเรื่องนำเข้าจึงได้นำมาเลี้ยงดูแลต่อที่ศูนย์วิจัยแห่งนี้ โดยประชาชนจะเข้ามาดูศึกษาได้ทุกวันจันทร์ – ศุกร์ในช่วงเวลาราชการ ซึ่งอาหารที่ให้เต่ากินนั้นจะเป็นปลาสด

เต่าชนิดนี้เป็นเต่าน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นวงศ์วานในกลุ่มสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่ยังมีลมหายใจให้คนรุ่นเราได้เห็นกันในปัจจุบันด้วย เต่าอัลลิเกเตอร์ หรือ เต่าอัลลิเกเตอร์ สแนปปิ้ง อยู่ในวงศ์เต่าสแนปปิ้ง ในสกุล Macrochelys ซึ่งสัตว์ส่วนใหญ่ในสกุลนี้สูญพันธุ์ไปแล้วตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ดังนั้นการให้ฉายาเจ้าเต่าอัลลิเกเตอร์ว่าเป็นซากชีวิตดึกดำบรรพ์ที่เหลืออยู่

เต่าอัลลิเกเตอร์มีอาวุธ คือ พลังกรามกัดชนิดดุเดือดและรุนแรง โดยประมาณว่าเต่าขนาดตัว 1 ฟุต จะมีอัตราแรงกัดมากถึง 1,000 ปอนด์ ด้วยแรงขนาดนี้เมื่อจัดอันดับสารพัดสัตว์ในโลกถือว่ามีแรงกัดเป็นอันดับ 3 ของโลกเป็นรองจากจระเข้น้ำเค็ม และไฮยีน่า การกัดของอัลลิเกเตอร์ จะกัดแล้วล็อก

ลักษณะรูปร่างของเต่าอัลลิเกเตอร์ มีหัวใหญ่ตัน ขากรรไกรเหมือนจะงอยปาก ส่วนกระดองยาวหนามีสันแหลม สีกระดองเป็นสีเทาเข้ม น้ำตาล หรือดำ บางทีอาจจะพบสีเขียวมะกอกเข้ม หลายครั้งอาจจะพบมีตะไคร่น้ำเกาะกระดอง เป็นวิธีการพรางตัวอย่างหนึ่งของเต่า ตัวผู้มีขนาดใหญ่กว่าตัวเมีย ตัวผู้จะมีน้ำหนักมากสุดได้ 80 กิโลกรัม ส่วนตัวเมียจะมีน้ำหนักประมาณ 23 กิโลกรัม สามารถแยกเพศของเต่าได้จากการสังเกตความหนาของโคนหาง ที่ตัวผู้จะมีโคนหางหนากว่าตัวเมีย