หนุ่มอุทัยธานี เพาะปลากัดยักษ์ขาย รายได้ไม่เป็นรองใคร

ปลากัด จัดว่าเป็นปลาที่มีความทนทานต่อทุกสภาพแวดล้อมอย่างดีเยี่ยม เลี้ยงง่าย ตายยาก หากใครคิดจะเลี้ยงปลาแบบไม่มีเวลาดูแลมากนัก มักจะนึกถึงปลากัด แท้จริงแล้ว จากการพูดคุยกับนักเลี้ยงปลากัดหลายต่อหลายท่านที่ผ่านมา เอ่ยเป็นเสียงเดียวกันว่า เลี้ยงง่าย ตายยาก จริง แต่ต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมด้วย หากสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย โอกาสที่ปลากัดจะเลี้ยงยากและตายเร็วก็มีเหมือนกัน

คุณราเชนทร์ มะแม้น

คุณราเชนทร์ มะแม้น หนุ่มวัยสร้างครอบครัว จบการศึกษาทางด้านรัฐศาสตร์ มีโอกาสทำงานในสายงานที่เรียนมา 7-8 ปี กระทั่งความคิดอยากทำงานอิสระที่ไม่ต้องเป็นลูกจ้างใครเกิดขึ้น จึงมองพื้นฐานความชอบของตนเองก่อนเป็นอันดับแรก และเขาก็คิดถูก เพราะเมื่อรู้ว่าความชอบของตนเองคืออะไร ก็เริ่มศึกษาและเริ่มทดลอง เพื่อก่อร่างสร้างฝันให้เป็นจริง

“ผมชอบปลาสวยงาม คิดง่ายๆ ว่าเลี้ยงแล้วเพาะขาย แต่พอทำจริงๆ มันไม่ใช่ เพราะปลาเป็นสิ่งมีชีวิต ต้องใส่ใจ”

คุณราเชนทร์ เริ่มต้นจากปลาหางนกยูง แต่เมื่อศึกษาจริงจังแล้วพบว่า ข้อจำกัดในการเพาะปลาหางนกยูงมีมาก โดยเฉพาะคุณภาพน้ำที่ใช้ เมื่อหันกลับมามองแหล่งกำเนิดของน้ำที่บ้าน แน่นอนว่า ไม่มีโอกาสเลี้ยงปลาหางนกยูงแน่นอน จึงมองหาปลาสวยงามที่สามารถอยู่ได้ แม้คุณภาพของระบบน้ำไม่ดีมากก็ตาม ในที่สุดก็มาจบที่ “ปลากัด”

ถังสีสำหรับแยกปลาอายุ 2 เดือนขึ้นไป

แหล่งกำเนิดปลากัดอยู่ใกล้มาก เช่น จังหวัดนครสวรรค์ จึงเข้าไปหาความรู้ถึงฟาร์มใหญ่ๆ หลายแห่ง แต่ก็พบข้อจำกัดในการเพาะปลากัด คือ ลูกไรแดง ที่เป็นอาหารหลักของลูกปลากัด ไม่มีแหล่งใหญ่ คุณราเชนทร์ จึงพยายามหาแหล่งลูกไรแดง เพื่อรองรับ เพราะปลากัดเป็นปลาสวยงามเพียงชนิดเดียวที่เหมาะสมมากที่สุด

ปลากัด ก็ยังเป็นปลาชนิดเดียวที่คุณราเชนทร์ วิเคราะห์แล้วว่าเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่เขาอาศัยอยู่มากที่สุด แต่ทั้งนี้ ปลากัดสวยงามเองก็มีหลายชนิด การเลือกเพียงชนิดเดียว เพื่อทำให้ดีที่สุด ก็เป็นสิ่งที่คุณราเชนทร์ตัดสินใจ เขาจึงเลือกเพาะปลากัดยักษ์

“ปลากัดมีคนทำเยอะ แต่ปลากัดยักษ์มีคนทำน้อย” เหตุผลง่ายๆ เพียงเท่านี้ ก็ทำให้คุณราเชนทร์ มองเห็นตลาดขายปลาที่ค่อนข้างจะมีโอกาสขายได้สูง

ส่วนนี้เป็นถังแยกปลาเช่นกัน

คุณราเชนทร์ บอกว่า ก่อนเลี้ยงก็พยายามไปศึกษายังฟาร์มใหญ่หลายแห่ง เพื่อเก็บประสบการณ์นำมาเป็นความรู้ในการทำฟาร์มด้วยตนเอง โดยเฉพาะเรื่องของการซื้อขาย ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะเมื่อเพาะปลาออกมาได้ ก็ต้องขายออก หากขายไม่ได้ก็ควรเปลี่ยนช่องทางอาชีพใหม่ ซึ่งคุณราเชนทร์เรียนรู้มาว่า เมื่อเพาะปลากัดได้แล้ว จะมีพ่อค้ามารับซื้อถึงที่ ไม่จำเป็นต้องวิ่งออกไปขายที่ไหน เขาจึงเริ่มต้นเพาะจริงจัง เมื่อได้ลูกปลาตามอายุที่ตลาดต้องการ จึงแจ้งพ่อค้าให้มารับซื้อ แต่ในที่สุด ปัญหาก็เกิด เมื่อพ่อค้าไม่มารับซื้อตามข้อตกลง หรือมารับซื้อแต่ให้ราคาต่ำมาก

ปัจจัยดังกล่าว ทำให้คุณราเชนทร์ เริ่มคิดและมองในมุมมองใหม่

เมื่อโลกออนไลน์เข้าถึงคนทุกกลุ่ม คุณราเชนทร์ จึงเลือกช่องทางออนไลน์ในการขาย เพื่อให้เข้าถึงลูกค้า และคิดว่า จะเพาะปลากัดขายโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางที่ถูกกดราคาและไม่ทำตามข้อตกลง เป็นอิสระในการขาย เพียงแค่ต้องทำคุณภาพปลากัดให้ดี และ บริหารช่องทางการตลาดผ่านโลกออนไลน์ให้เป็นเท่านั้น

บ่อเพาะลูกไรแดง

การถ่ายรูปปลาให้สวย ถ่ายภาพเคลื่อนไหวของปลา เพื่อให้เห็นสรีระของปลาทุกท่วงท่าของการว่าย แล้วโพสลงเฟซบุ๊ก เพียงวันแรก ก็มีลูกค้าจากต่างประเทศติดต่อเข้ามาขอซื้อปลากัดยักษ์ และทำให้มีลูกค้าต่อเนื่องอย่างถาวรมาถึงปัจจุบัน

ส่วนปัญหาที่แรกเริ่มเป็นข้อกังวลมาก คือ ลูกไรแดง ที่เป็นอาหารหลักของลูกปลากัด เมื่อคิดจะเพาะขยายพันธุ์ปลากัดเองนั้น คุณราเชนทร์ โชคดีที่มีญาติทำฟาร์มหมูอยู่ไม่ไกลจากบ้านนัก จึงไปช้อนลูกไรแดงมาจากฟาร์มหมู เพราะเป็นแหล่งลูกไรแดงชั้นดี แต่ก็ยังไม่จำนวนไม่เพียงพอ จึงเริ่มเพาะลูกไรแดงด้วยตนเอง เพื่อให้ได้อาหารลูกปลากัดที่เพียงพอไปพร้อมๆ กัน

การเพาะปลากัด ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ก็ไม่ได้ง่าย เพราะต้องอาศัยประสบการณ์ในการคัดเลือกปลา การสังเกตและความเอาใจใส่

อายุยังไม่ถึง 2 เดือน ยังเลี้ยงรวมกัน

ทุกครั้งเมื่อต้องการเพาะลูกปลา คุณราเชนทร์จะดูความสมบูรณ์ของพ่อปลาและแม่ปลา ซึ่งพ่อและแม่ปลาควรมีอายุอย่างน้อย 4 เดือน โดยพ่อปลาจะเป็นตัวกำหนดสีสัน ส่วนแม่ปลาจะเป็นตัวกำหนดโครงสร้าง ความสวยงามของรูปร่าง เมื่อทั้งพ่อและแม่มีความสมบูรณ์พร้อม โดยพ่อปลาพิจารณาจากหวอดที่เกาะกันแน่นและมีจำนวนมาก ส่วนแม่ปลาจะดูที่ท้อง ควรมีขนาดใหญ่ เปล่ง และมีเม็ดไข่ติ่งห้อยที่ใต้ท้อง ยิ่งเห็นเม็ดไข่ชัดมากเท่าไหร่หมายถึงความพร้อมของแม่ปลาตัวนั้นมีสูง จากนั้นให้นำพ่อปลาและแม่ปลามาเทียบกัน เพื่อให้เกิดความคุ้นเคย ประมาณ 1 สัปดาห์

หากไม่นำมาเทียบให้เกิดความคุ้นเคย โอกาสที่ปลาตัวผู้จะกัดปลาตัวเมียตายมีสูง

เมื่อแน่ใจว่า พ่อและแม่ปลาที่เลือกไว้มีความคุ้นเคยกันแล้ว ให้นำใส่ไว้ที่สถานที่เดียวกัน เช่น กะละมัง ถังสี หรือบ่อขนาดใหญ่

สีแฟนซี

คุณราเชนทร์ บอกว่า สถานที่เพาะจะเล็กหรือใหญ่ก็ได้ แต่ควรใช้น้ำใบหูกวางเป็นน้ำเลี้ยง เพราะน้ำใบหูกวางมีสารแทนนินที่ช่วยให้ปลามีสุขภาพแข็งแรง หรืออาจใช้ใบกล้วยแห้งแทนก็ได้

“เราปล่อยพ่อและแม่ปลาอยู่ด้วยกันในช่วงเย็น จากนั้นบ่ายวันรุ่งขึ้นก็แยกแม่ปลาออกได้ เพราะระยะเวลาเหมาะสำหรับการผสมเรียบร้อยแล้ว หากไม่แยกแม่ปลาออก โอกาสที่พ่อปลาจะกัดแม่ปลาตายมีสูง เพราะสัญชาติญาณของปลากัดนั้น พ่อปลาจะเลี้ยงลูก และหวงลูกมาก ดังนั้น เมื่อแยกแม่ปลาออกมาแล้ว ก็ไม่ควรรบกวนพ่อปลาเลยอย่างน้อย 1 สัปดาห์ จึงเริ่มนำลูกไรแดงไปให้เป็นอาหารของลูกปลา”

หลังจาก 1 สัปดาห์ หรือเมื่อเห็นพ่อปลาว่ายออกมาห่างจากหวอด ก็สามารถให้อาหารเม็ดกับพ่อปลาได้ และหมั่นสังเกตลูกปลากัดเรื่อยๆ ว่าเจริญเติบโตดีหรือไม่ โดยให้ลูกไรแดงไม่ให้ขาด

ควรปล่อยลูกปลาและพ่อปลาไว้ด้วยกันอย่างนั้นนาน 2 เดือน แล้วจึงเริ่มแยกพ่อปลาออก และคัดลูกปลากัดแยกเพศ ความสวย ซึ่งในจำนวนลูกปลาทั้งหมด อัตรารอดเป็นลูกปลากัดมากถึง ครอกละ 400 ตัว แต่ในจำนวน 400 ตัว อาจคัดได้ตัวสวยๆ เพียง 40-100 ตัว และอาจขายได้ราคาไม่เท่ากันทุกตัว ขึ้นกับความสวยและโครงสร้างเมื่อปลากัดโตขึ้น ส่วนปลากัดที่เหลือ แม้ว่าจะขายได้เป็นเม็ดเงินเหมือนกัน แต่คุณราเชนทร์เลือกไม่ขาย แต่นำไปปล่อยยังแหล่งน้ำธรรมชาติแทน เพราะคิดว่าไม่คุ้มกับเวลาที่ใช้ในการดูแลปลาเหล่านั้น อีกทั้งไม่ต้องการให้ปลากัดเพศเมีย ซึ่งเป็นปลาที่เกิดจากการผสมและต้องการคัดสายพันธุ์ไว้หลุดออกไป

สีแฟนซี

คำว่า ปลากัดยักษ์ คุณราเชนทร์ ย้ำว่า ต้องยักษ์จริงๆ และต้องสวย จึงจะเรียกว่าปลากัดยักษ์

ขนาดของปลากัดยักษ์ ที่เข้าข่ายว่ายักษ์จริงๆ ควรมีความยาวจากหัวถึงปลายหาง 3 นิ้ว เป็นอย่างน้อย

สีของปลากัดยักษ์ มีหลายสีเช่นเดียวกับปลาชนิดอื่น ได้แก่ ซุปเปอร์ เรด ซุปเปอร์ แบล็ค ซุปเปอร์ บลู ไวท์ แพลตตินั่ม แฟนซี คอปเปอร์ และโค่ย โดยฟาร์มของคุณราเชนทร์ ขาดเพียงสีซุปเปอร์บลูเท่านั้น อย่างไรก็ตาม กระแสความนิยมเรื่องสีไม่มีผลต่อการขาย เพราะลูกค้ามีความแตกต่างกันในความชอบอยู่แล้ว

คุณราเชนทร์ ยอมรับว่า ต้นทุนการเพาะปลากัดค่อนข้างน้อยถึงน้อยมาก แต่ราคาขายปลากัดแต่ละตัว เมื่อคัดคุณภาพให้ดีแล้ว ถือว่าสูงกว่าต้นทุนหลายร้อยเท่า และแต่ละเดือนคุณราเชนทร์ สามารถผลิตปลากัดได้ประมาณ 200 ตัว ซึ่งถือว่ายังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดปลากัดยักษ์ทั้งในและต่างประเทศ แต่เพราะกำลังการเพาะให้ปลากัดยักษ์มีคุณภาพป้อนให้กับลูกค้ามีเพียงเท่านี้ คุณราเชนทร์ จึงพยายามเน้นที่คุณภาพปลากัดยักษ์มากกว่า

สีแฟนซี

ปัจจุบัน คุณราเชนทร์ ผลิตปลากัดยักษ์ส่งลูกค้าส่งต่างประเทศเป็นหลัก เพราะเป็นลูกค้าส่ง แต่แนะนำสำหรับผู้สนใจเพาะเลี้ยงปลากัด หากยังไม่พร้อมผลิตจำนวนมากเพื่อขายส่ง ก็สามารถเพาะปลากัดให้มีคุณภาพ แล้วขายปลีก ความคุ้มทุนและกำไรก็ไม่ต่างกัน

คุณราเชนทร์ ยินดีให้ข้อมูลหากท่านใดต้องการเข้าชมฟาร์มเล็กๆ ที่สร้างรายได้หลักหมื่นต่อเดือน ก็ติดต่อได้ที่คุณราเชนทร์ มะแม้น หมู่ที่ 7 ตำบลหนองหลวง อำเภอสว่างอารมณ์ จังหวัดอุทัยธานี หรือโทรศัพท์พูดคุยกันก่อนได้ที่ (062) 252-4164 ติดตามความเคลื่อนไหวของฟาร์มได้ที่เฟซบุ๊ก Chaingiant Betterfarm ยินดีต้อนรับ

สีคอปเปอร์
สีแฟนซี
สีแฟนซี
สีโค่ย ไทเกอร์
สีซุปเปอร์ แบล็ค
เลี้ยงใส่โหลก็ได้