ปลากัดสวยงาม ที่ท่าม่วง นครสวรรค์

“ปลากัด” เป็นปลาพื้นเมืองของไทยที่นิยมเพาะเลี้ยงกันมาเป็นเวลานานแล้ว เพราะหาได้ง่ายตามลำน้ำลำคลองทั่วไป อีกทั้งมีสีสันลวดลายที่งดงาม ต่อมาได้มีการผสมข้ามพันธุ์กับต่างสายพันธุ์ จึงมีสายพันธุ์ต่างๆ เพิ่มขึ้นมากมาย จนในปัจจุบันมีสายพันธุ์ที่มีความแตกต่างกันไปในแต่ละพันธุ์ แล้วแต่ว่าเราจะเลือกเลี้ยงแบบไหน

คุณอนัน เจ้าของฟาร์มขายปลากัด

การเลี้ยงปลากัดในสมัยแรก จะมีเหตุผลเพื่อกีฬากัดปลา  ดังนั้น นับแต่อดีตจึงมีการเพาะเลี้ยงปลากัดกันแพร่หลาย เนื่องจากเพาะพันธุ์ได้ง่าย ไม่ต้องการความดูแลเอาใจใส่มากนักจึงเหมาะสมสำหรับผู้ที่หัดเริ่มเลี้ยง อีกทั้งระหว่างเลี้ยงก็ไม่มีความยุ่งยาก อาทิ ไม่จำเป็นที่ต้องเปลี่ยนน้ำบ่อยมาก อย่างไรก็ตาม ในธรรมชาติมักจะพบปลากัดไทยได้ทั่วไปในน้ำที่นิ่ง หรือน้ำที่มีออกซิเจนต่ำ

นอกจากนั้นแล้ว ยังพบปลากัดไทยในนาข้าว กระจายทั่วไป โดยปลากัดเลี้ยงมักมีอายุเฉลี่ยเต็มที่ 2 ปี หรือน้อยกว่า แล้วแต่ผู้เลี้ยงมีการดูแลรักษาสุขภาพปลาดีแค่ไหน ปลากัดพันธุ์ดั้งเดิมตามธรรมชาตินั้นมักจะมีสีน้ำตาลขุ่นหรือสีเทาแกมเขียว มีลายตามตัวรวมถึงครีบ และมีหางสั้น ส่วนปลาเพศผู้มีครีบและหางยาวกว่าเพศเมียเล็กน้อย

ครั้นต่อมา ความนิยมการเลี้ยงปลากัดเปลี่ยนไปจากเดิม เนื่องจากการเพาะพันธุ์ และการคัดเลือกสายพันธุ์ติดต่อกันมานาน ทำให้ปัจจุบันปลากัดที่มีอยู่ตามท้องตลาดนั้น จะมีสีสันสวยงามหลากสีเพิ่มขึ้น อีกทั้งลักษณะครีบก็แผ่กว้างใหญ่สวยงามกว่าดั้งเดิมมาก และจากสาเหตุนี้เองทำให้เริ่มมีการเลี้ยงปลากัดเป็นปลาสวยงามกันมากขึ้น มีการจำแนกพันธุ์ปลากัดออกไปได้เป็นหลายชนิด เช่น ปลากัดหม้อ, ปลากัดทุ่ง, ปลากัดจีน, ปลากัดเขมร เป็นต้น  ดังนั้นเมื่อการพัฒนาสายพันธุ์ปลากัดมีการพัฒนาอย่างตลอดเวลาต่อเนื่องจึงเป็นที่ยอมรับจากนักเลี้ยงปลากัดเพื่อความสวยงาม ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

จังหวัดนครสวรรค์ ถือเป็นแหล่งเลี้ยงปลากัดขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของประเทศ  และปลากัดได้ถูกพัฒนาสายพันธุ์ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น มีสีสันที่สวยงามและหลากหลายขึ้น เรียกว่า “ปลากัดหม้อ” นิยมเลี้ยงในภาชนะขนาดเล็กและแคบ เช่น ขวดโหล ขวดน้ำอัดลม เป็นต้น

อีกทั้งยังได้พัฒนาสายพันธุ์ในแง่ของความเป็นปลาสวยงามพร้อมกับดึงสายพันธุ์ปลากัดหลายสายพันธุ์ เช่น ปลากัดจีน ที่มีเครื่องครีบยาว หรือปลากัดแฟนซี ที่มีสีสันหลากหลายสวยงาม ปลากัดคราวน์เทล หรือ ปลากัดฮาร์ฟมูน เป็นต้น มาผสมพันธุ์แบบไขว้เพื่อหาพันธุ์ใหม่ที่มีลักษณะสวยงามตามความชอบ

Advertisement

คุณอนัน ใยเย็น อยู่บ้านเลขที่ 53/1 หมู่ 6 ตำบลบางม่วง อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ เป็นอีกท่านที่เลี้ยงปลากัดเป็นอาชีพหารายได้มานานกว่า 10 ปี จนขณะนี้ได้ขยายอาชีพเลี้ยงปลากัดเป็นจำนวน 180 บ่อ จำหน่ายทั้งปลีกและส่ง ในเขตจังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดใกล้เคียง รวมถึงส่งไปขายยังตลาดนัดจตุจักร กรุงเทพฯ อีกด้วย

Advertisement

ก่อนหน้าปี 2541 คุณอนัน มีอาชีพเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง ต่อมาเมื่อวิกฤติฟองสบู่แตกส่งผลให้งานลดน้อยลงจนแทบไม่มี ทำให้เขาต้องเปลี่ยนอาชีพมาขับรถรับจ้างอยู่พักหนึ่ง ครั้นเมื่อลูกชายที่ฝากไว้กับครอบครัวที่นครสวรรค์เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เขาไม่สบายใจจึงตัดสินใจเลิกอาชีพขับรถแล้วย้ายมารวมกับครอบครัวที่บ้านเกิดแล้วเริ่มมองหาอาชีพอีกครั้ง

พ่อเลี้ยงไว้ดูเล่นคลายเหงา

มีคนสนใจ เลยเพาะขาย

คุณอนัน เล่าว่า สมัยเด็กพ่อของเขาได้เลี้ยงปลากัดไว้เป็นปลาบ่อน เลี้ยงในบ่อซีเมนต์ จำนวน 2-3 บ่อ เลี้ยงเป็นงานอดิเรก คลายเหงา จากนั้นมีพ่อค้าที่กรุงเทพฯ เดินทางมาหาซื้อปลากัดแบบธรรมดา แล้วเดินทางมาเรื่อยๆ หลายครั้งเพื่อมาขอซื้อปลา

จากจุดนั้น ทำให้พ่อเห็นว่าการเลี้ยงปลากัดอาจไม่ใช่งานอดิเรกเพียงอย่างเดียว แต่ยังสามารถสร้างรายได้อีกด้วย นับจากนั้นพ่อจึงเริ่มเพาะขายแล้วดึงพี่ชายเข้าช่วยด้วย กระนั้นเมื่อเขาเห็นว่าเป็นสิ่งที่คุ้นเคยมาตั้งแต่สมัยเด็ก จึงมาช่วยครอบครัวเลี้ยงปลากัดเป็นอาชีพเพื่อสร้างฐานให้กว้างและแข็งแรง ซึ่งหากทำได้ดีอย่างเป็นระบบอาจนำมาสู่การสร้างรายได้ที่ดีมากขึ้น

คุณอนัน บอกว่า สำหรับการทำอาชีพนี้แล้วถือว่าไม่ยุ่งยากเพราะครอบครัวมีความคุ้นเคยมานานแล้ว เพียงแต่ต้องคอยเอาใจใส่ตรวจดูบางอย่าง ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของคนคุ้นเคยไปแล้ว และบอกต่ออีกว่าการทำอาชีพนี้ถือเป็นการลงทุนใหญ่ที่ต้องซื้ออุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ รวมถึงวัสดุ ภาชนะและอื่นๆ เพียงครั้งแรกเท่านั้น พอหลังจากนั้นเป็นทุนในเรื่องอาหาร ค่ายาและอื่นๆ ส่วนรายรับถ้าเป็นการดูแลเอาใจใส่อย่างเต็มที่ ได้ปลาที่สวยงาม สมบูรณ์แข็งแรง จะขายได้ราคาดี ถ้าขายได้ราคาสูงเพียง 2 ครั้ง จะได้ทุนคืนแล้ว ส่วนที่เหลือหลังจากนั้นเป็นกำไร

คุณอนัน โชว์ปลากัดที่ถูกสั่งจองไว้แล้ว

สำหรับขั้นตอนการเลี้ยงคุณอนันอธิบายว่า หลังจากที่มีพ่อ-แม่พันธุ์มาแล้ว มักใส่ขวดแก้วหรือโหลแก้วเพียง 1 ตัว แล้ววางเทียบกันไว้โดยสลับตัวผู้และตัวเมีย แล้วเลี้ยงไปเรื่อยจนสังเกตว่าเมื่อตัวผู้เริ่มทำหวอดเพื่อแสดงให้เห็นว่าต้องการผสมพันธุ์ จากนั้นให้มาดูว่าตัวเมียมีความสมบูรณ์พร้อมจะผสมหรือยัง หากพร้อมแล้วให้นำทั้งคู่ไปใส่ในบ่อเพียงคู่เดียว เพื่อให้ปลาผสมพันธุ์

กระทั่งเมื่อมีไข่แล้ว ตัวผู้จะไล่ตัวเมียออกไปเพื่อต้องการเฝ้าไข่ ครั้นพอไข่เริ่มเป็นตัวจึงออกจากหวอด ตัวผู้จะมีการสร้างเป็นเซลล์ในตัว จากนั้นจะไปชักชวนตัวเมียเพื่อให้มาไข่อีกรอบ

เมื่อเราเห็นเป็นลูกปลาตัวเล็กให้ไปช้อนไรแดงมาให้กิน แล้วเลี้ยงรวมกันไว้ในบ่อเดียวจนมีขนาดโต จากนั้นให้ไปดูว่าตัวไหนมีสีและรูปร่างที่สวยงามจึงแยกออกมาใส่ภาชนะไว้ต่างหาก เพื่อเลี้ยงดูให้เติบใหญ่ต่อไป ส่วนข้อควรระวังการเลี้ยงปลาชนิดนี้จะต้องให้ความสำคัญในช่วงฤดูฝน เพราะน้ำฝนมีสภาพเป็นกรด ถ้าน้ำฝนลงไปในบ่อมากอาจทำให้ปลาป่วยง่าย

การเพาะพันธุ์ปลากัด แบ่งตามลำดับ ดังนี้

1.ปลากัดตัวเมียว่ายน้ำเข้าหา

2.ปลากัดตัวผู้เริ่มก่อหวอด

  1. ปลากัดทั้งคู่เข้าใต้หวอดพร้อมผสมพันธุ์

4.ปลากัดทั้งคู่เริ่มรัดกัน

5.ปลาตัวผู้อมไข่ที่รัดได้ไปพ่นในหวอด

6.ลูกปลาที่ฟักเป็นตัว

เลี้ยงง่าย ทนทาน แต่ควรใส่ใจในบางเรื่อง

คุณอนัน บอกว่า การเลี้ยงปลากัดไม่ยุ่งยาก เป็นปลาที่ทน ไม่อ่อนแอง่าย อย่างน้ำที่เลี้ยงไม่ต้องเปลี่ยนถ่ายบ่อย ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ เพียงแต่คอยเติมน้ำเพื่อไม่ให้ขาดบ่อเท่านั้น ไม่มีปัญหาเรื่องน้ำเน่า เพราะใส่หญ้า ใส่ต้นไม้ หรือต้นไม้น้ำลงไปในบ่อเพื่อเป็นการปรับสมดุลในการบำบัดน้ำตามธรรมชาติ

หลังจากปลาโตจะแยกใส่ถังละ 1 ตัว

“น้ำประปาที่ต้องการใช้จะต้องเปิดมาพักไว้ที่ในโอ่งขนาดใหญ่ก่อน เพราะต้องการให้คลอรีนเจือจางไป จากนั้นจึงนำมาใช้ใส่ในบ่อปลา”

นอกจากนั้น เจ้าของบ่อปลากัด เผยถึงเทคนิคการเลี้ยงปลากัดให้สวยและสมบูรณ์ว่า ควรจะดูความเข้มข้นของน้ำในบ่อปลาด้วย เขาบอกว่าหากน้ำมีความเจือจางหรืออ่อนจัดจะมีข้อดีคือ ปลาโตเร็ว แต่ข้อเสียคือ การโตเร็วนั้นทำให้อวัยวะหลายส่วนขยายเร็วเกินไป เกิดการปริแตกของเกล็ดและครีบ อาจทำให้ไม่สมส่วน ขณะที่การปล่อยให้สภาพน้ำเป็นไปตามธรรมชาติ ซึ่งอาจดูภายนอกเหมือนน้ำจะเน่าเสียแต่แท้จริงไม่ใช่เพราะในสภาวะนั้นมีการปรับสมดุลอยู่แล้ว การปล่อยไปตามธรรมชาติของน้ำจะทำให้ปลาค่อยพัฒนารูปร่าง สีสันไปเอง

เขากล่าวว่า เทคนิคเหล่านี้ส่วนมากเรียนรู้มาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ ที่สานต่อกันมา แล้วยังเผยอีกว่า มีความเชื่อกันว่าหากใส่ใบไม้บางชนิดลงไปในภาชนะที่เลี้ยงปลากัดจะเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ตัวปลากัด เช่น หนังเหนียว แต่เขาบอกว่าแท้จริงไม่ใช่ ทุกอย่างอยู่ที่สายพันธุ์ของปลาแต่ละชนิดเป็นหลัก

เป็นการเลี้ยงด้วยการจำลองแบบธรรมชาติ

เจ้าของฟาร์มปลากัดสวยงาม บอกว่า จุดเด่นของปลาอยู่ที่รูปร่างลักษณะ เช่น กระโดง หาง ชายน้ำ ต้องมีความสมบูรณ์ทุกอย่าง การเลี้ยงปลาชนิดนี้ต้องมีการพัฒนาความสวยงามเพื่อใช้สำหรับการส่งเข้าประกวดแข่งขัน ซึ่งในตลาดนักเล่นปลาจะกำหนดว่าถ้าเป็นปลาหม้อก็มีลักษณะเหมือนปลากัดสวยงามทั่วไป แต่ถ้าเป็นรุ่นเล็กลงมามักเรียกว่าปลาหม้อฮาร์ฟ ที่มีลักษณะของหางเป็นรูปพระจันทร์ครึ่งเสี้ยว หรืออีกแบบเป็นปลาหม้อยักษ์ฮาร์ฟที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมา แต่หางยังคงเป็นพระจันทร์ครึ่งเสี้ยว

ตลาดยังสดใส

โดยเฉพาะต่างประเทศ

สำหรับการให้อาหาร คุณอนัน บอกว่า ถ้าเริ่มตั้งแต่ปลาขนาดเล็กจะให้เป็นไรแดง พอโตขึ้นเล็กน้อยให้เป็นอาหารเม็ดสลับไรแดง แล้วพอเป็นปลาใหญ่เต็มที่ให้ใช้อาหารเม็ดอย่างเดียว โดยให้เพียงวันละครั้ง

เขาเผยว่าปริมาณอาหารที่ให้ปลาจำนวน 180 บ่อ จะต่างกันเนื่องจากปลามีขนาดที่ต่างกัน อาหารจึงต่างกัน แต่ถ้าเป็นอาหารเม็ดของปลาโตจะอยู่ราวประมาณ 100 บ่อ ใช้วันละ 1 กิโลกรัม และอาหารปลา 1 กระสอบ มีราคาประมาณ 1,200 บาท ใช้ได้ประมาณหนึ่งเดือน

ราคาจำหน่ายถ้าเป็นปลาเกรดเอ ตัวละ 300 บาท ขนาดรองลงมา ตัวละ 200 บาท ตลาดขายส่งอยู่ที่ตลาดนัดจตุจักร มีทั้งแบบมารับเอง ไปส่ง หรือบางครั้งไปขายด้วยตัวเอง เขายังระบุอีกว่าไม่ใช่เพียงคนไทยเท่านั้นที่นิยมเลี้ยงปลากัด แต่ชาวต่างชาติก็นิยมเลี้ยงไม่แพ้กัน และหากมีปลากัดที่มีคุณลักษณะที่โดดเด่น ถ้าขายให้ชาวต่างชาติราคาดีมาก

สำหรับความสดใสของตลาดปลากัดสวยงามนั้น คุณอนัน ชี้ว่ายังไปได้ดี เพราะลูกค้ายังนิยมเลี้ยงกันแพร่หลาย โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศที่สนใจและมีกำลังซื้อปลามาก ยิ่งทำให้ตลาดปลากัดสวยงามเกิดความคึกคักตลอดเวลา

แฟนพันธุ์แท้ปลากัดสวยงามที่สนใจ ติดต่อพูดคุยกับ คุณอนัน ได้ที่หมายเลข 085-350-2102

ขอขอบคุณ บางส่วนของข้อมูลจาก www.student.lcct..ac.th

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก 25 มกราคม 2019