ชมรมไก่แจ้ เลี้ยงสวยงาม เหมาะกับทุกเพศ ทุกวัย

ชมรมไก่แจ้ทวารวดี เป็นชมรมไก่แจ้ที่รวมเกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มของ คนเลี้ยงไก่แจ้สวยงามทุกเพศ ทุกวัย และสมาชิกคนรักไก่แจ้ รวมถึงผู้เลี้ยงไก่แจ้ในหลายจังหวัด โดยมีคุณธรรมรัตน์ สมเสร็จ หนุ่มใหญ่วัย 40 ปีเศษ เป็นประธานชมรม ทั้งยังก่อตั้งฟาร์มเล็กๆ ที่รวบรวมสายพันธุ์มาตรฐานไก่แจ้ขึ้น ใช้ชื่อว่า ไก่แจ้ “น้ำพักน้ำแรง” บ้านคุณธรรมรัตน์ เพื่อเพาะและขยายพันธุ์ไก่แจ้ให้เป็นที่รู้จักกว้างขวางมากขึ้น

คุณธรรมรัตน์ สมเสร็จ เจ้าของบ้านไก่แจ้ “น้ำพักน้ำแรง” คุณธรรมรัตน์

คุณธรรมรัตน์ บอกว่า ปัจจุบันไก่แจ้ ถูกจัดให้เป็นไก่สวยงาม เมื่อมีเวทีประกวดจะดูที่ความสวยงามเป็นหลัก ซึ่งเมื่อพิจารณาจากรูปร่างลักษณะแล้ว ไก่แจ้สายพันธุ์ต่างประเทศจะได้เปรียบ เพราะมีคุณลักษณะที่สวยงามกว่า ส่วนไก่แจ้สายพันธุ์ไทย จะได้เปรียบเรื่องของสีสัน

เพราะความชอบเลี้ยงสัตว์เป็นงานอดิเรกในวัยเยาว์ ไก่แจ้ นก และปลา จึงเป็นสัตว์ที่คุณธรรมรัตน์เลือกมาเลี้ยงและให้ความสนใจเป็นพิเศษ เพราะมีขนาดเล็ก จับต้องได้ โดยก่อนหันมามุ่งมั่นกับการขยายพันธุ์ไก่แจ้อย่างจริงจัง คุณธรรมรัตน์มีไก่แจ้ที่เลี้ยงไว้ดูเล่นหลายร้อยตัว กระทั่งปี 2540 ถูกชักชวนให้เข้าวางการไก่แจ้ เริ่มจากการเป็นสมาชิกชมรมอนุรักษ์ไก่แจ้แห่งประเทศไทย จังหวัดนครปฐม ซึ่งถือเป็นก้าวแรกของคุณธรรมรัตน์ ที่ก้าวเข้าสู่การเลี้ยงและขยายพันธุ์ไก่แจ้ และในปี 2546 ไก่แจ้ที่คุณธรรมรัตน์เลี้ยงไว้ ถูกส่งลงสนามประกวดไก่แจ้สวยงามครั้งแรก และได้รับรางวัลถึง 3 รางวัลในคราวเดียวกัน

ในกรงอนุบาล 1

ปัจจุบัน ไก่แจ้ในพื้นที่เลี้ยงของคุณธรรมรัตน์ มีประมาณ 20 สายพันธุ์ เป็นสายพันธุ์ไก่ไทย และไก่สากล เป็นไก่ไทย 8 สี ไก่สากล 12 สี ซึ่งก่อนหน้าการระบาดของไข้หวัดนกในปี 2547 คุณธรรมรัตน์มีไก่ไทยจำนวน 12 สี ซึ่งถือว่าครบทุกสี แต่เมื่อนับรวมจำนวนเป็นตัวแล้วมีมากเกือบ 1,000 ตัว

ข้อแนะนำสำหรับผู้สนใจเลี้ยงไก่แจ้มือใหม่ คุณธรรมรัตน์ บอกว่า ให้เริ่มเลี้ยงไก่แจ้ตั้งแต่เป็นลูกเจี๊ยบ เพราะเป็นการฝึกพื้นฐาน ซึ่งการดูแลไก่แจ้เล็กก็เหมือนการเลี้ยงไก่ทั่วไป ให้อาหาร ให้น้ำผสมวิตามิน ให้ความอบอุ่น กรงควรมีมุ้งกันยุง ให้วัคซีนตามวัยที่กรมปศุสัตว์กำหนด หลังจาก 1 เดือน การดูแลใกล้ชิดก็ไม่จำเป็น แต่ควรเพิ่มขนาดพื้นที่กรงให้เหมาะสมก็พอ ส่วนไก่รุ่นหรือไก่ใหญ่ สามารถปล่อยเลี้ยงตามธรรมชาติได้ แต่ควรมีที่ให้อาศัยหลบฝนหรือแดด โดยเฉพาะไก่ใหญ่ ควรมีที่นอน มีคอนให้เกาะนอน สำหรับป้องกันฝนหรือแดด ซึ่งการเลี้ยงไก่แจ้ของคุณธรรมรัตน์ ใช้วิธีกึ่งเลี้ยงกึ่งปล่อย และใช้หัวอาหารไก่ไข่หรือไก่พื้นเมืองเป็นอาหาร

ไข่ไก่แจ้ ขนาดเท่าผลมะปราง เมื่อเทียบกับไข่เป็ด

สำหรับการผสมพันธุ์ไก่แจ้ตามธรรมชาติ ใช้ไม่ได้กับการเลี้ยงไก่แจ้แบบฟาร์ม เพราะปัจจุบันไก่แจ้ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์และได้รับการผสมโดยมนุษย์ อาหารจึงเป็นตัวเร่งให้ไก่เป็นหนุ่มเป็นสาวไว อายุของไก่แจ้เพียง 5-6 เดือน จะมีไข่หรือมีเชื้อ ทำให้เริ่มผสมพันธุ์ได้

การเก็บไข่ไก่แจ้ โดยธรรมชาติของไก่จะออกไข่ครั้งละฟอง หากทิ้งไว้ให้ไข่และฟักเองจะได้ไข่ประมาณ 6-8 ฟอง แต่ถ้าเก็บไข่ทุกวันอาจเก็บไข่ได้มากถึง 24 ฟองในไก่แม่เดียว เพราะหลังจากเราเก็บไข่มาแล้ว ไก่จะเข้าใจว่ายังไม่ได้ไข่จึงไข่ออกมาอีกเรื่อยๆ ซึ่งหลังจากเก็บมาแล้วควรนำมาเก็บรวมกันไว้ก่อนนำเข้าตู้ฟัก เพื่อให้ไข่ฟักออกมาพร้อมกัน

หลังจากเก็บไข่จากแม่ไก่มาแล้ว ระหว่างรอนำไปเข้าตู้ฟัก ควรวางไข่ด้วยการนำด้านป้านของไข่ขึ้นด้านบน ให้ด้านแหลมของไข่ลงต่ำ คุณธรรมรัตน์ อธิบายถึงเหตุที่ไม่ควรนำด้านป้านของไข่ขึ้น เพราะบริเวณด้านป้านของไข่ภายในจะมีฟองอากาศอยู่ หากวางไม่ถูกลักษณะอาจทำให้ไข่หรือเชื้อภายในไข่ตายได้ ทั้งนี้ทุกครั้งที่เก็บไข่มาเรียงก่อนนำเข้าตู้ฟัก ควรทำสัญลักษณ์ที่ไข่ เพื่อให้ทราบว่าเป็นไข่ของไก่ตัวไหน อย่างไรก็ตาม หากพบว่าไข่ที่เก็บมาฝ่อ ไม่มีเชื้อ สามารถนำไข่ไก่นั้นๆ มาต้มให้สุกคลุกกับอาหารให้ไก่แจ้อื่นกินได้ เป็นการประหยัดต้นทุนค่าอาหารไก่ได้ส่วนหนึ่ง

ตู้ฟัก

หลังไข่ฟักแล้ว ลูกเจี๊ยบอายุตั้งแต่แรกเกิดถึง 1 สัปดาห์ จะแยกเลี้ยงในห้องอนุบาล 1 เป็นห้องที่ต้องให้ความอบอุ่นด้วยแสงสว่างจากหลอดไฟ จากนั้นนำเข้ากรงอนุบาล 2 ซึ่งเป็นลูกเจี๊ยบอายุ 1-6 สัปดาห์ ที่ยังคงต้องให้ความอบอุ่นด้วยแสงสว่างจากหลอดไฟ และหลังจากนั้นย้ายเข้ากรงอนุบาล 3 ที่ไม่จำเป็นต้องให้ความอบอุ่นด้วยแสงสว่างจากหลอดไฟแล้ว แต่ควรอยู่ในกรงปิดที่ไม่มีลมพัดผ่าน เพราะอาจทำให้ไก่หนาวตายได้ อายุของไก่ในชั้นอนุบาล 3 ระหว่าง 6 สัปดาห์ถึง 3 เดือน

ลูกเจี๊ยบที่อยู่ระหว่างอนุบาล จะเริ่มทำวัคซีนตามที่กรมปศุสัตว์กำหนด ซึ่งคุณธรรมรัตน์แนะว่า ผู้ที่ควรทำวัคซีนให้ถูกต้อง คือ กลุ่มผู้เลี้ยงในปริมาณมาก ส่วนผู้เลี้ยงเพื่อความสวยงามในปริมาณน้อย ไม่จำเป็นต้องทำวัคซีนก็ได้ เพราะโอกาสภูมิคุ้มกันบกพร่องเกิดขึ้นได้ไม่มาก

ปัญหาที่ควรระวังในการเลี้ยงไก่แจ้ ไม่แตกต่างจากการเลี้ยงไก่โดยทั่วไป คือ ไม่ควรปล่อยให้ไก่ร้อนจัดหรือหนาวจัด เพราะจะทำให้ไก่เป็นหวัด ซึ่งหากพบว่าไก่เป็นวัด ควรให้ยาสามัญของไก่ หรือให้กินสมุนไพร ผัก และหญ้า ช่วยลดอาการหวัดได้

กรงไก่ โดยทั่วไปจะต่อเป็นชั้นๆ คล้ายคอนโด แบ่งเป็นช่อง ส่วนขนาดแต่ละช่องขึ้นกับขนาดไก่ โดยขนาดมาตรฐานกรงไก่อยู่ที่ กว้าง 1 เมตร ยาว 1 เมตร และสูง 90 เซนติเมตร สามารถเลี้ยงไก่ได้จำนวน 3 ตัว หากให้แนะนำควรเป็นเพศผู้ 1 ตัว และเพศเมีย 2 ตัว หรือจะเลี้ยงน้อยกว่านี้ก็ได้ แต่ไม่ควรเลี้ยงไก่ตัวเดียว เพราะไก่แจ้เป็นสัตว์ชอบสังคม

ลูกไก่แจ้บาร์ทองรุ่นแรก

คุณธรรมรัตน์ อธิบายด้วยว่า ไก่แจ้ แบ่งเป็นไก่ไทยและไก่สากล ไก่ไทยจะมีความโดดเด่นเรื่องสีสันมากกว่า ส่วนไก่สากลจะได้เปรียบเรื่องลักษณะมากกว่า ยิ่งเมื่อเป็นไก่ฟอร์มประกวดจะยึดลักษณะของไก่สากล แต่ความสวยงามจะพิจารณาสีตามแบบไก่ไทย ดังนั้น หากใครสามารถเพาะไก่ได้ลูกผสม มีลักษณะไก่แบบฟอร์มประกวด มีสีแบบไก่ไทย จัดว่าเป็นไก่แจ้ราคาดี

“ปัจจุบัน คนนิยมเลี้ยงไก่แจ้เพื่อความสวยงาม ซึ่งราคาซื้อขายขึ้นกับกระแสและความนิยมในสีของไก่ เช่น สีขาวหางดำ เป็นสีไก่แจ้ที่ได้รับความนิยมอยู่ระยะหนึ่ง ราคาจึงค่อนข้างแพง แต่เมื่อจำนวนไก่แจ้สีขาวหางดำเริ่มเพิ่มปริมาณขึ้น เพราะคนเลี้ยงเยอะ พบเห็นได้ง่าย จึงเริ่มตกกระแส ราคาจึงตกลงตามกระแสไปด้วย ปัจจุบันสีไก่แจ้ที่หายากและราคาสูงเป็นสีไก่ไทย โดยเฉพาะสีเบญจรงค์”

ระหว่างการพูดคุยกับคุณธรรมรัตน์ ไก่แจ้จากบ้านคุณธรรมรัตน์จับคู่จิกหยอกกันหลายคู่ โชว์ความสวยงาม ผ่านแสงรำไรของแดดในช่วงเย็นให้เห็นหลายสิบตัว จนกระทั่งจบการสนทนา แต่ก่อนจบการสนทนา คุณธรรมรัตน์ทิ้งท้ายว่า ตั้งแต่เริ่มเพาะขยายพันธุ์ไก่แจ้มา สิ่งที่ทำให้เขารู้สึกดีใจมาก คือ การเพาะไก่แจ้สีบาร์ทองด้วยตนเอง ซึ่งสีบาร์ทองที่ได้เป็นความพยายามมานานกว่า 10 ปี กระทั่งได้ลูกไก่แจ้สีบาร์ทองรุ่นแรกแล้ว และที่สำคัญ ไก่แจ้สีบาร์ทอง เป็นไก่แจ้ที่มีที่ฟาร์มของคุณธรรมรัตน์เพียงแห่งเดียวในประเทศไทยด้วย

อยากรู้ อยากดู อยากศึกษา คุณธรรมรัตน์ยินดีให้คำแนะนำ หรือจะเยี่ยมชมการเลี้ยงไก่แจ้ได้ที่ บ้านไก่แจ้ “น้ำพักน้ำแรง” คุณธรรมรัตน์ เลขที่ 1/6 ซอย 3 หมู่ 6 ต.บ่อพลับ อ.เมือง จ.นครปฐม หรือโทรศัพท์สอบถามเส้นทางกันก่อนได้ที่ โทร. 087-8214803

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก