Boa constrictor งูสวย จากทวีปอเมริกา

คุณสิทธิศักดิ์ โรจน์วิศิษฎ์ เป็นอีกคนที่ชื่นชอบการเลี้ยงงูเสมือนเป็นสัตว์เลี้ยงชนิดหนึ่งภายในบ้าน กินและนอนห้องเดียวกัน เพียงแต่แยกที่พักสำหรับงูแต่ละตัวไว้ต่างหาก

และจากสัตว์เลี้ยงที่เป็นเพียงความชอบ สามารถเพิ่มเติมเป็นรายได้เข้ามายังคุณสิทธิศักดิ์ได้ไม่น้อย

จุดเริ่มต้นการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงของคุณสิทธิ์ศักดิ์ ไม่ได้เริ่มจากงูเป็นชนิดแรก แต่เพราะโรคภูมิแพ้ทำให้สัตว์เลี้ยงที่มีขนถูกตัดออกไป แล้วหันมาเลี้ยงสัตว์เลื้อยคลาน เช่น กิ้งก่า เต่า และงู แทน

ด้วยประสบการณ์การเลี้ยงสัตว์เลื้อยคลานที่ผ่านมา คุณสิทธิศักดิ์เห็นว่า งู เป็นสัตว์เลื้อยคลานที่ดูแลง่ายและใช้เวลาน้อยที่สุด

อายุ 13 ปี ของคุณสิทธิศักดิ์ เป็นวัยเริ่มต้นของการเลี้ยงงูเป็นสัตว์เลี้ยงประจำบ้าน ตลาดนัดจตุจักรเป็นแหล่งซื้อขายสัตว์เลี้ยงหลากหลาย และจูงใจให้ไปเลือกซื้อ ซึ่งไม่ผิดหวังสำหรับนักเลี้ยงสัตว์มือใหม่

การเลี้ยงลองผิดลองถูกบวกการศึกษาข้อมูลผ่านเว็บไซต์ตลอดการเริ่มเลี้ยงงู ในครั้งแรกงูสายม่าน เป็นงูชนิดแรกที่คุณสิทธิศักดิ์ตัดสินใจซื้อมาเลี้ยง แต่ในท้ายที่สุด Boa Constrictor กลับเป็นงูที่ครองใจและยึดเป็นสัตว์เลี้ยงประจำบ้านมากที่สุด

งูจำนวนกว่า 30 ตัว ในหลายสายพันธุ์ คล้ายเป็นสิ่งสะสมสำหรับคุณสิทธิศักดิ์ แต่เมื่อเป็นสิ่งมีชีวิตจึงต้องเรียกว่า สัตว์เลี้ยง ซึ่งจำนวนนี้เป็นจำนวนที่คุณสิทธิศักดิ์บอกว่า น้อยลงจากเดิมมากแล้ว และนอกเหนือสัตว์เลื้อยคลานอย่างงู ยังมีเต่าญี่ปุ่น เต่าไดมอนด์ แบ็ค เต่าหวาย หนูขวัญ และหนูตะเภาอีกจำนวนหนึ่ง

แต่ งู Boa Constrictor มีจำนวนมากกว่าสัตว์เลื้อยคลานประเภทอื่น

“Boa Constrictor เป็นงูที่มีความสวยงาม มีรูปลักษณ์ในลำตัว ลาย และสีสัน โดยเฉพาะบริเวณส่วนหาง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ มีสีตั้งแต่สีน้ำตาลไหม้จนถึงแดงเลือดนก ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ลักษณะอีกอย่าง คือ การรัด หรือการใช้หางเกาะเกี่ยวแน่นมาก หากเลี้ยงปล่อยตามธรรมชาติและหากินเอง งูชนิดนี้จะใช้วิธีกัดและรัดเหยื่อจนขาดอากาศหายใจตาย แล้วจึงกิน”

แต่สำหรับการให้อาหาร Boa Constrictor สัตว์เลี้ยงของคุณสิทธิศักดิ์ คือ หนูแรทกับหนูไมซ์

คุณสิทธิศักดิ์ บอกว่า หนูทั้งสองชนิดเป็นสัตว์เลี้ยงที่เลี้ยงเพื่อเพาะให้ออกลูก แล้วนำมาให้งูกิน หนูไมซ์เป็นหนูขนาดเล็ก ขนาดเมื่อโตเต็มที่ประมาณขวดยาคูลท์ ส่วนหนูแรทเป็นหนูขนาดใหญ่ ขนาดเมื่อโตเต็มที่เท่าขวดบรรจุน้ำ ขนาด 600 มิลลิเมตร

การให้อาหารทำเพียงสัปดาห์ละครั้ง ให้ในช่วงสายถึงบ่าย ที่ต้องใช้เวลานาน เพราะต้องค่อยๆ ให้ในแต่ละตัว ส่วนปริมาณขึ้นกับขนาดของงูและขนาดของหนู และทุกครั้งของการให้อาหาร คุณสิทธิศักดิ์จะทำความสะอาดที่พักของงูไปพร้อมกัน

งู Boa Constrictor ด้วยอุปนิสัยเป็นงูที่เชื่องและไม่ดุ แต่คุณสิทธิศักดิ์ทักท้วงไว้สำหรับผู้ที่สนใจเลี้ยง หากไม่ได้นำมาเล่นบ่อย อาจทำให้งูก้าวร้าวขึ้น จึงควรเล่นกับงูให้คุ้นเคยตั้งแต่ยังเป็นงูเด็กหรือเริ่มเลี้ยง

“การดูแลเอาใจใส่งู เหมือนสัตว์เลี้ยงทั่วไป เจ้าของควรสังเกตงู โดยเฉพาะเมื่องูป่วย จะมีน้ำมูก น้ำลาย ต้องคอยเปิดไฟภายในตู้ที่พักให้มีอุณหภูมิอบอุ่นอยู่เสมอ ยิ่งเมื่ออากาศเปลี่ยนแปลง และเมื่องูตั้งท้องจะป่วยง่าย”

คุณสิทธิศักดิ์ กล่าวว่า หาก งู Boa Constrictor ที่เคยเชื่อง ดุขึ้นมาอย่างไม่มีเหตุผล ควรหาสาเหตุให้พบเพื่อแก้ไขที่สาเหตุ โดยสาเหตุที่พบส่วนใหญ่ คือ

1.งูเข้าคราบ หรือ งูลอกคราบ เป็นสาเหตุที่ทำให้งูไม่สบายตัว อาจก้าวร้าวเฉพาะช่วงนี้ได้

2.งูหิวมาก สาเหตุนี้ทำให้งูตื่นตัวเพื่อหาเหยื่อ และหากมีการเคลื่อนไหวลับๆ ล่อๆ อาจทำให้งูเข้าใจผิดคิดว่าเป็นเหยื่อ อาจฉกหรือกัดได้

3.สถานที่เลี้ยง พฤติกรรมก้าวร้าว ส่วนใหญ่เกิดจากสถานที่เลี้ยง เช่น เปลี่ยนสถานที่ จากที่เลี้ยงมานาน หรือสถานที่เลี้ยงเป็นตู้แบบเปิดหน้า และด้านหลังทึบ หรืออยู่ในเงามืด ทำให้งูคิดว่าอยู่ในถ้ำหรือเขตแดน จึงแสดงอาการป้องกันการรุกราน และออกอาการขู่หรือกัด ซึ่งแตกต่างกับสถานที่เลี้ยงแบบเปิดฝาด้านบน งูจะตื่นตกใจน้อยกว่า และแสดงอาการดุร้ายน้อยลง รวมทั้งการทำที่ซ่อนภายในสถานที่เลี้ยง จะช่วยลดอาการเครียดของงูได้

และ 4.กรณีแม่งูออกลูก และเฝ้าลูกใหม่ๆ จะมีความผันแปรทางอารมณ์ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้งูดุ

คุณสิทธิศักดิ์ ให้ข้อมูลการผสมพันธุ์ งู Boa Constrictor ว่า งูโตเต็มวัยจะทำให้เกิดลูกงูที่สมบูรณ์ เป็นวัยที่พร้อมผสมพันธุ์ โดยงูชนิดนี้โตเต็มวัยเมื่ออายุประมาณ 4 ปี ในตัวผู้จะโตเต็มวัยก่อนตัวเมียประมาณ 1 ปี ก่อนการผสมพันธุ์ควรให้อาหารและดูแลพ่องูแม่งูให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ และก่อนให้ผสมพันธุ์ควรให้อาหารไม่มากนัก จากนั้นค่อยๆ ปล่อยให้พ่องูและแม่งูอยู่ในที่พักเดียวกัน โดยจับแม่งูใส่ไว้ในที่พักเดียวกับพ่องู เมื่อแม่งูเป็นสัด พ่องูจะเลื้อยเข้าไปจีบ จนกว่าแม่งูจะยอมให้ผสม

“ลักษณะการเกี้ยวพาราสีอาจกินเวลานานหลายวัน หรือเป็นสัปดาห์ ส่วนการผสมใช้เวลาหลายวันเช่นกัน ในบางครั้งอาจกินเวลาเป็นเดือนก็มี”

งู Boa Constrictor เป็นงูที่ออกลูกเป็นตัว จึงตั้งท้องนานกว่างูชนิดออกลูกเป็นไข่ ใช้ระยะเวลาตั้งท้องประมาณ 115-120 วัน หลังออกลูกแม่งูจะหวงลูกมาก เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้แม่งูแสดงอาการดุร้ายออกมา

คุณสิทธิศักดิ์ บอกว่า แม่งูบางตัวอาจไม่สามารถออกลูกเองได้ จำเป็นที่ผู้เลี้ยงต้องช่วย โดยการทำความสะอาด ตัดสายสะดือ นำไปเลี้ยงไว้ในกล่องที่สะอาด ปลอดเชื้อ คอยฉีดน้ำที่ผิวหนังลูกงู ไม่ให้ผิวหนังแห้งจนเกินไป เมื่อลูกงูอายุ 8-12 วัน จะเข้าคราบครั้งแรก จากนั้นเริ่มให้อาหารมื้อแรกได้ ซึ่งหลังลูกงูเข้าคราบแล้ว ผู้เลี้ยงสามารถขายลูกงูได้ทันที

ความนิยมเลี้ยงงู Boa Constrictor ยังคงมีอยู่ในกลุ่มผู้เลี้ยงจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะผู้ที่ชื่นชอบสีสัน ลวดลายบนผิวหนังของงู ทำให้ราคาซื้อขายงูชนิดนี้ไม่ตก

“ในแต่ละครั้งของการตั้งท้อง งู Boa Constrictor ออกลูกครั้งละ 40-50 ตัวเป็นอย่างน้อย ราคาขายหลังจากงูเข้าคราบครั้งแรกประมาณ 2,000-3,000 บาท ขึ้นกับลวดลาย สี และความชอบของผู้ซื้อ”

ในรอบปีที่ผ่านมา งู Boa Constrictor ของคุณสิทธิศักดิ์ ให้กำเนิดลูกงูถึง 3 ครอก สร้างรายได้ให้สูงถึง 170,000-180,000 บาท จึงนับว่าเป็นรายได้ที่นอกเหนือจากการมีสัตว์เลี้ยงไว้ประดับบ้านได้ไม่น้อยเลยทีเดียว

สนใจเลี้ยงงูที่ลวดลาย สีสัน สวยงามชนิดนี้ หรือมีข้อสงสัย ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่คุณสิทธิศักดิ์ โรจน์วิศิษฎ์ โทร.086-7788737 Email : [email protected] หรือ หาความรู้เพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.siamreptile.com

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกวันที่ 10 ต.ค. 2018