“ม้าน้ำ” ปลาประดับมีชีวิต

หลายวันก่อน เดินทอดน่องไปตามร้านหนังสือมือสอง พบหนังสือถูกใจ “ธรรมชาตินานาสัตว์ 2” ผลงานน่าเก็บรักษา ของ น.พ.บุญส่ง เลขะกุล บิดาแห่งการอนุรักษ์ธรรมชาติผู้ล่วงลับ แต่ยังทิ้งความรู้เป็นมรดกทรงค่าให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาไว้มากมาย

ธรรมชาตินานาสัตว์ เป็นหนังสือที่รวบรวมบทความสั้นๆ ของหมอบุญส่งที่เคยตีพิมพ์เป็นตอนๆ ลง “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” ในยุคแรก เมื่อประมาณ พ.ศ. 2497 ซึ่งได้รับความนิยมและมีผู้ติดตามอ่านเป็นจำนวนมาก ได้รับการตีพิมพ์รวมเล่มในปี พ.ศ. 2504 โดยสำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์ จนปี พ.ศ. 2537 และ 2538 สำนักพิมพ์สารคดีนำมาตีพิมพ์ใหม่เป็นหนังสือชุด 3 เล่ม (แต่ปัจจุบันมีจำหน่ายเพียงตามร้านหนังสือมือสองเท่านั้น ผู้เขียนจึงไม่รอช้ารีบคว้าเป็นเจ้าของ)

เวลาผ่านไป หนังสือเล่มนี้ยังคงเสน่ห์ของธรรมชาติที่น่าอัศจรรย์ไว้ได้อย่างดี ถึงแม้ว่าจะไม่มีภาพประกอบ 4 สี สวยงาม หรือเล่าเรื่องราวด้วยภาพถ่ายจากของจริงเหมือนหนังสือยุคใหม่ แต่ตัวอักษรและภาพวาดขาวดำที่ปรากฏนั้น ก็ทำให้คนอยู่ห่างไกลธรรมชาติได้ทำความเข้าใจกับโลกของสัตว์ได้มากขึ้น และคลี่ปมความสงสัยได้อย่างแจ่มแจ้ง

หนึ่งในนั้นคือ เรื่องของ “ม้าน้ำ”

ก่อนอธิบายความพิสดารและน่าอัศจรรย์ของชีวิตเจ้าม้าน้ำ หรือ Sea horse หมอบุญส่ง บอกว่า มีสัตว์อยู่ชนิดหนึ่งเรียกว่า “ม้าน้ำ” เหมือนกัน แต่ม้าน้ำตัวนี้ดูแตกต่างจากเจ้าปลากระดูกปากจู๋ลิบลับ เพราะมันคือ “ฮิปโปโปเตมัส” ที่สวนสัตว์เขาดินติดชื่อป้ายชัดเจนว่า ม้าน้ำ

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะ ฮิปโปโปเตมัส เป็นภาษาละติน ซึ่งในภาษาอังกฤษเรียกมันว่า River Horse เพราะเสียงร้องของมันเหมือนม้า อาศัยอยู่ในแม่น้ำ เลยให้ชื่อที่แปลว่า ม้าแม่น้ำ ซะอย่างนั้น หมอบุญส่ง เล่าทำนองว่า ผู้อำนวยการสวนสัตว์ยุคนั้นเห็นว่าใช้เป็น ม้าน้ำ คำนี้สมควรที่สุด เพราะถ้าจะแปลตามภาษาอาหรับ เจ้าฮิปโปฯ ก็จะมีชื่อไทยว่า “ควายน้ำ” หรือถ้าจะหันไปใช้ภาษาฮอลันดา ก็จะถูกเรียกว่า “วัวทะเล” ซึ่งดูจะไปกันคนละเรื่อง ครั้นจะเปิดตำราในทางสัตววิทยา ฮิปโปฯ ดูคล้ายสัตว์จำพวกหมูมากที่สุด แต่จะเรียกว่า “หมูน้ำ” ก็ดูไม่เป็นมงคล เพราะกว่าจะได้มา ไทยเราต้องแลกด้วยช้างถึง 4 เชือก …อ่านไปก็ยิ้มไป

สุดท้าย แม้ว่าแม่มะลิจะได้รับการรู้จักในฐานะ “ฮิปโปโปเตมัส” แต่ถ้าใครเห็นป้ายม้าน้ำ ต่างก็พลันให้คิดคำนึงถึง ปลาทะเลหน้าเหมือนม้า มีแต่กระดูก คนไทยอาจคุ้นหูกับประโยคเด็ด “ม้วนหางสิลูก…”

หมอบุญส่ง ยกให้ม้าน้ำเป็นสัตว์พิเรนทร์ทั้งรูปร่างและพฤติกรรม เพราะมันจัดเป็นสัตว์จำพวกปลา หายใจทางเหงือก แต่กลับมีกระดูกหรือก้างมาห่อหุ้มเป็นเกราะอยู่ภายนอกตัว ส่วนหางของมันแทนที่จะเป็นครีบสำหรับว่ายน้ำไปมาอย่างปลา กลับมีหางยาวอย่างกับจิ้งจก ตุ๊กแก มีไว้เพียงเพื่อเกี่ยวยึดตัวเองตามต้นสาหร่ายในน้ำ แต่ยังพอมีครีบบางใสตรงสะเอวอีกหนึ่งช่วยโบกกระพือพาตัวเองไปไหนได้อย่างช้าๆ

จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า การเฝ้ามองดูการเคลื่อนไหวของม้าน้ำในตู้จัดแสดงอาจต้องใช้เวลาพอสมควร และบ่อยครั้งที่เจ้าม้าน้ำแทบไม่แสดงออกว่ามันยังมีลมหายใจ ต้องยืนมองมันอยู่ครู่ใหญ่ กว่าจะเห็นว่ามันเคลื่อนไหวได้ด้วยตัวเอง

บางตัวเกี่ยวปะการังแบบเชิดหน้าทรงตัวนิ่ง แต่บางตัวก็ห้อยต่องแต่งคล้ายเป็นลมหมดสติ…

อีกความประหลาดของม้าน้ำที่แตกต่างจากสัตว์อื่นก็คือ เป็นสิ่งมีชีวิต “ตัวพ่อ” ของแท้ เพราะผู้ที่ทำหน้าที่ในการเลี้ยงลูกก็คือ ม้าน้ำเพศผู้ เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ ม้าน้ำตัวผู้จะปรับเปลี่ยนสีของลำตัวเพื่อดึงดูดม้าน้ำตัวเมีย จากนั้นตัวผู้จะใช้หางโอบกอดคู่รักพร้อมกับแอ่นท้องประกบกับท้องเข้าหากัน ตัวเมียจะออกไข่ใส่ลงในถุงหน้าท้องของตัวผู้ และม้าน้ำตัวผู้ก็จะปล่อยอสุจิเข้าผสมกับไข่และฟักเป็นตัวอ่อนภายในถุงหน้าท้องนั้น

… 2 สัปดาห์ ผ่านไป หลังจากเฝ้าทะนุถนอมตัวอ่อนภายในถุงหน้าท้องเป็นอย่างดี พ่อม้าน้ำก็จะบีบกล้ามเนื้อส่วนท้องและพ่นลูกม้าน้ำนับร้อยๆ ตัว ให้ออกจากกระเป๋าหน้าท้องสู่โลกท้องทะเลสีคราม ทำหน้าที่เป็น “ผู้คลอด” แบบที่ผู้เป็นพ่อทั้งหลายบนโลกใบนี้ไม่เคยได้สัมผัส อีกเอกลักษณ์ของม้าน้ำที่ได้รับการยกย่อง คือ “การครองคู่” เพราะม้าน้ำจะอยู่คู่กันแบบ “ผัวเดียว เมียเดียว” จนกระทั่งฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดตายจากไป กลายเป็นสัญลักษณ์ของ “ความซื่อสัตย์” สำหรับชีวิตคู่

แต่ความประหลาด และความซื่อสัตย์ของม้าน้ำนี่เอง กลับนำพาโศกนาฏกรรมมาสู่ตัวเอง เพราะมีคนจำนวนไม่น้อยที่มีความเชื่อว่า การมอบม้าน้ำคู่ผัวเมียให้แก่คู่บ่าวสาวเป็นของขวัญในวันแต่งงานนั้น เป็นการอวยพรให้คู่บ่าวสาวมีความรักและความซื่อสัตย์ต่อกัน ม้าน้ำจึงถูกพรากจากทะเลกลายเป็นม้าน้ำตากแห้งเพื่อสังเวยความเชื่อ พอๆ กับการนำมาปรุงเป็นยา หรือจับมาทำเป็นของที่ระลึก ซึ่งมีผลการสำรวจในปี 2545 พบว่า ม้าน้ำทั่วโลกถูกจับมาใช้ประโยชน์เหล่านี้ประมาณ 24.5 ล้านตัว ต่อปี โดยประเทศไทย ติด 1 ใน 5 ของผู้ส่งออกหลัก ขณะเดียวกันเอกลักษณ์ของม้าน้ำ ยังเป็นที่ต้องการของกลุ่มผู้นิยมเลี้ยงสัตว์สวยงาม ทั้งเพื่อเป็นสัตว์เลี้ยงประดับตู้ และเพื่อศึกษาหรือจัดแสดงตามสถานเลี้ยงสัตว์น้ำเค็มทั่วโลก เกิดการค้าขายม้าน้ำมีชีวิตไม่ต่ำกว่า 4.5 แสนตัว ต่อปี จนนักอนุรักษ์สัตว์ต่างพากันเป็นห่วงว่าม้าน้ำจะสูญพันธุ์หรือไม่

หากคุณหมอบุญส่ง และนักอนุรักษ์ผู้ทุ่มเทชีวิตแก่สัตว์โลกหลายท่านยังคงมีชีวิตอยู่ คงพากันเป็นกังวล เพราะจำนวนม้าน้ำในอ่าวไทยในปัจจุบันก็ลดจำนวนไม่แพ้กัน ทั้งเกิดจากผลกระทบจากภัยธรรมชาติและความละเลยของมนุษย์ แต่ปัจจุบันทุกท่านคงพออุ่นใจขึ้นบ้าง เพราะนักวิจัยไทยได้ศึกษาวิธีการเพาะพันธุ์เพื่อช่วยลดปัญหาการจับม้าน้ำจากธรรมชาติ โดยสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา เป็นผู้ประสบความสำเร็จในการเพาะเลี้ยงม้าน้ำแห่งแรกของประเทศไทย มีเป้าหมายหลักเพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ จนนำสู่แบบอย่างการเพาะพันธุ์ในระดับฟาร์ม โดยม้าน้ำที่ศึกษาจำแนกได้เป็น 4 ชนิด ที่พบในประเทศไทย ได้แก่

ม้าน้ำดำ (Hippocampus kuda) จัดเป็นม้าน้ำที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ในจำนวนม้าน้ำที่พบในน่านน้ำไทย ได้รับความชื่นชอบจากนักนิยมยาบำรุง ลำตัวสีดำสนิท ส่วนใหญ่มักเปลี่ยนเป็นสีครีม สีเหลือง และน้ำตาลแดง พบง่ายบริเวณชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกของอ่าวไทย

ม้าน้ำดำ

ม้าน้ำหนาม (H. spinosissimus) อาศัยอยู่ในบริเวณน้ำค่อนข้างลึก ใส มีสีสันสวยงาม มักจะมีสีออกน้ำตาลแดง มีลายจุดสีออกขาว เป็นแถบกว้างคาดบริเวณลำตัว มีหนามมากค่อนข้างแหลมและยาว แต่มีขนาดเล็กกว่าม้าน้ำดำ ชนิดนี้เป็นที่ชื่นชอบของนักดำน้ำดูปะการังและนักสะสมของที่ระลึก รวมทั้งนักเลี้ยงปลาทะเลในตู้โชว์

ม้าน้ำ 3 จุด (H. trimaculatus) พบตามเขตชายฝั่งในฤดูหนาว ปรากฏเป็นจุดดำ ประมาณ 3 จุด บริเวณส่วนบนของลำตัว มักอพยพเข้ามาบริเวณชายฝั่งและมักจะติดอวนปู อวนกุ้ง ของชาวประมงเป็นจำนวนมาก ประกอบกับเป็นช่วงที่ม้าน้ำอยู่ในระยะผสมพันธุ์และวางไข่ จึงเป็นสาเหตุหนึ่งของการลดจำนวนประชากรของม้าน้ำพันธุ์นี้อย่างรวดเร็ว

ม้าน้ำแคระ (H. mohnikei) มีขนาดเล็กที่สุด พบเห็นไม่บ่อยนัก ตัวสีดำ อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่ง เกาะอยู่ตามสาหร่าย บริเวณที่เป็นพื้นทราย แต่พ่อพันธุ์แม่พันธุ์ม้าน้ำชนิดนี้หายาก จึงยากต่อการเพาะเลี้ยง

ในปัจจุบันศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งกระบี่ กรมประมง ก็ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงม้าน้ำเช่นเดียวกัน โดยมีภาคเอกชนสามารถนำไปขยายผลแล้ว แต่ยังไม่แพร่หลายนัก ม้าน้ำจากการเพาะพันธุ์จึงกลายเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่อยู่ในความสนใจของนักสะสมปลาทะเล แต่การนำม้าน้ำมาเลี้ยงในตู้ทะเลนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากม้าน้ำมีความต้องการแตกต่างกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในตู้ทะเลทั่วไปเป็นอย่างมาก

ประการที่หนึ่งคือ พฤติกรรมการกินของม้าน้ำที่มีนิสัยการกินแบบผู้ดี ม้าน้ำจะพิจารณาอาหารก่อนทุกครั้ง ก่อนจะรวบรวมพลังลมปราน (แต่มีประสิทธิภาพสูง) สูบอาหารให้เข้าไปในปากที่เป็นรูขนาดเล็กของมัน

ประการที่สอง นิสัย “สวย เริ่ด เชิด แต่ช้า” ไม่ได้เป็นผลดีต่อการหากินของม้าน้ำสักเท่าไร เพราะเมื่อพิจารณารวมกับขนาดของปากมันแล้ว ม้าน้ำแทบไม่มีความสามารถในการแย่งชิงอาหารกับปลาทะเลชนิดอื่นๆ ได้ทัน

ประการที่สาม อาหารที่ดีที่สุดของม้าน้ำ ไม่ใช่ไรทะเลหรืออาร์ทีเมียตัวมีชีวิตเท่านั้น แต่ม้าน้ำยังควรได้รับสารอาหารจากกุ้งขนาดเล็กตัวเป็นๆ อีกด้วย

ประการที่สี่ ระบบกรองและอุปกรณ์ต่างๆ ที่อาจใช้ได้กับปลาทะเลทั่วไป อาจกลายเป็นกับดักปลิดชีวิตม้าน้ำตัวน้อยได้ ถ้าทำให้เกิดฟองอากาศภายในตู้ เพราะหากมีฟองอากาศเข้าไปสะสมอยู่ในตัวม้าน้ำมากเกินไป จะทำให้ม้าน้ำเสียศูนย์ เกิดอาการลอยเคว้งคว้างหาที่ยึดเหนี่ยวไม่ได้ และจากไปในที่สุด

แต่ข้อจำกัดเหล่านี้ อาจดูเป็นเรื่องเล็กน้อย สำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงปลาทะเล เพราะสิ่งสำคัญเหนืออื่นใด คือการควบคุมคุณภาพน้ำทะเลภายในตู้ให้เหมาะสม ต่างแต่เพียงตู้เลี้ยงม้าน้ำควรเป็นตู้ทรงสูง เพื่อให้เจ้าม้าน้ำได้ว่ายน้ำตามแนวดิ่งได้อย่างอิสระ สร้างกระแสน้ำเอื่อยคล้ายโลกใต้ทะเล และจัดหาปะการังที่ปลอดภัยให้ม้าน้ำสามารถยึดเกี่ยวด้วยหาง

ส่วนใครที่อยากจะหาเพื่อนให้ม้าน้ำ ก็จำเป็นต้องเลือกสิ่งมีชีวิตที่จะไม่แย่งอาหารม้าน้ำ อาทิ ปลาที่หาอาหารในระดับพื้นทราย อาจเป็น ปลากินตระไคร่ หรือปูเสฉวน ที่มีขนาดไม่ใหญ่พอที่จะจับกินม้าน้ำในตู้เป็นอาหาร แต่อย่าได้ไว้ใจเลี้ยงกุ้งชนิดต่างๆ ร่วมด้วย เพราะเจ้าม้าน้ำอาจคิดว่าเป็นอาหารอันโอชะ แล้วใช้แรงดูดอันทรงพลังของมันทำให้กุ้งตัวโปรดขาดเป็น 2 ท่อน

อย่างไรก็ตาม ใครคิดอยากเลี้ยงม้าน้ำคงต้องศึกษากันก่อนให้รู้เช่นเห็นแจ้ง  ยุคไฮเทคสมัยนี้ ความรู้ต่างๆ คงหาได้ไม่ยากนัก เจริญล้ำกว่าสมัยหมอบุญส่งคอยเล่าเรื่องราวเมื่อหลายสิบปีก่อน

ว่าแล้วก็นึกถึงม้าน้ำอีกชนิดที่หมอบุญส่งเอ่ยถึงในหนังสือที่กล่าวข้างต้น ยิ่งมองภาพวาดบนหน้าปกก็ยิ่งน่าสนใจ เพราะมองดูคล้ายโครงกระดูกของสิ่งมีชีวิตที่มีเส้นสายอะไรบางอย่างพันธนาการอยู่

เมื่อพลิกอ่านด้านในดู ปรากฏว่า นั่นคือ สัตว์ที่ถูกเรียกขานว่า “มังกรทะเล” ปลาในกลุ่มม้าน้ำที่พบตามชายฝั่งของออสเตรเลีย มีเครื่องประดับรุงรังรอบตัวอย่างกับสาหร่าย และละม้ายคล้ายไปทางมังกรจีน ฝรั่งจึงเรียกชื่อมันว่า “Sea Dragon”

แต่ด้วยเทคโนโลยีของอากู๋ (Google) ก็ทำให้พบว่า ความอัศจรรย์ที่ถูกหยิบยกสิบกว่าปีก่อน คือหนึ่งในสัตว์ทะเลที่สวยงามที่สุดในโลกในปัจจุบัน โดยเฉพาะมังกรทะเลใบไม้ (Leafy Sea Dragon) กลลวงทางธรรมชาติอันงดงามที่ช่วยพรางตัวมังกรทะเลให้ปลอดภัยตามสภาพแวดล้อม เป็นวิวัฒนาการอันล้ำลึกกว่าการเปลี่ยนสีของม้าน้ำทั่วไป

แต่คนรักสัตว์ทะเลบ้านเรา คงยังไม่อาจชื่นชมมังกรทะเลตัวเป็นๆ อย่างใกล้ชิด หรือนำมาเลี้ยงประดับไว้ในตู้อควาเรียมประจำบ้านได้ เพราะมังกรทะเลจัดเป็นปลาประจำถิ่นที่พบได้เพียงบริเวณทางตอนใต้ และทางตะวันตกของประเทศออสเตรเลีย ซึ่งได้รับการคุ้มครองให้เป็นสัตว์สงวนของชาติ อาจนับเป็นอีกกรณีหนึ่งที่จะบ่งบอกว่า…

บางความงดงาม มิได้หมายความว่า จำเป็นต้องครอบครอง…