เพลย์บอยคุณภาพ คัดหล่อ จิรวัฒน์ แรบบิท ฟาร์ม

รู้ไหมว่าทำไม คำว่า “Playboy” จึงใช้รูปกระต่ายเป็นสัญลักษณ์ เพราะในพจนานุกรม ให้ความหมายของคำว่า “Playboy” ว่า หนุ่มเจ้าสำราญ หรือ คนเจ้าชู้ ซึ่งสัญลักษณ์นี้ใช้ได้ทั่วทุกหนแห่ง และความเข้าใจในสัญลักษณ์และความหมายของคำตรงกัน ไม่ผิดเพี้ยน

คำตอบแสดงให้เห็นชัดเจนว่า กระต่าย เหมาะที่จะเป็นสัญลักษณ์ของ หนุ่มเจ้าสำราญ หรือ คนเจ้าชู้ เสียจริงๆ

คุณจิรวัฒน์ พยัคฆิน เจ้าของฟาร์มกระต่ายคุณภาพขนาดย่อม ย่านรังสิต คลอง 3 ซึ่งมีประสบการณ์การเลี้ยงกระต่าย และศึกษาพฤติกรรมและนิสัยกระต่าย ให้เหตุผลที่สอดรับกับคำตอบข้างต้น ว่า ในทุกๆ 1 นาที กระต่ายเพศผู้จะสามารถผลิตน้ำเชื้อและผสมพันธุ์กับกระต่ายเพศเมียได้อย่างสบาย ส่วนเพศเมีย จะเป็นสัด (ตกไข่) หรือพร้อมรับการผสมจากกระต่ายเพศผู้ได้ ทุกๆ 4 วัน

คำตอบเพียงเท่านี้ ก็การันตีได้ว่า กระต่าย เหมาะอย่างยิ่งสำหรับใช้เป็นสัญลักษณ์แทนคำว่า “Playboy”

สิ่งที่น่ารู้เกี่ยวกับกระต่ายยังมีอีกมาก คุณจิรวัฒน์ เปิดโอกาส “เทคโนโลยีชาวบ้าน” เผยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกระต่าย ในช่วงบ่ายของวันที่อากาศร้อนอบอ้าว ก่อนเข้าสู่ฤดูหนาวของปี โดยนัดแนะที่จิรวัฒน์ แรบบิท ฟาร์ม (Jirawat Rabbit Farm) ย่านรังสิต คลอง 3

พื้นที่ไม่มากนัก แต่ก็จัดวางอย่างเป็นระเบียบ สำหรับกรงกระต่ายที่แต่ละกรง มีกระต่ายเพียงตัวเดียวเป็นเจ้าของ ยกเว้นบางกรงที่มีขนาดใหญ่ มีแม่กระต่ายพร้อมด้วยลูกกระต่ายอีก 3-4 ชีวิต อาศัยอยู่ด้วยกัน นอกเหนือจากกรงที่จัดวางเป็นระเบียบแล้ว ยังมีพื้นที่ราบกั้นคอกไว้สำหรับให้กระต่ายได้วิ่งเล่นผ่อนคลาย

“ฟาร์มกระต่ายที่นี่เริ่มมาไม่กี่ปี ตั้งแต่ผมเริ่มนำกระต่ายมาเลี้ยง รู้สึกรัก จึงศึกษาอย่างจริงจัง นำมาสู่การเพาะขยายพันธุ์เพื่อจำหน่าย”

คุณจิรวัฒน์ บอกว่า สิ่งที่จุดประกายเริ่มแรก คือ การได้ศึกษาเรื่องสายพันธุ์ การเลี้ยงดู พฤติกรรม ของกระต่ายอย่างจริงจัง ทำให้ทราบว่า กระต่ายไม่ใช่สัตว์เลี้ยงยาก แต่หากเลี้ยงไม่ถูกต้องตามพฤติกรรมของกระต่าย โอกาสที่กระต่ายจะตายมีสูงมาก โดยเฉพาะกระต่ายเด็กของมือใหม่หัดเลี้ยง โอกาสตายมีสูง ดังนั้น ข้อแนะนำสำหรับมือใหม่หัดเลี้ยง ควรเริ่มต้นจากการศึกษาพฤติกรรม การเลี้ยงดูกระต่ายให้ละเอียดก่อนเริ่มต้นเลี้ยงอย่างจริงจัง แต่หากไม่มั่นใจ กระต่ายไทย เป็นสายพันธุ์ที่แนะนำ เพราะกระต่ายไทยมีความแข็งแรง อดทนกับสภาพแวดล้อมของไทยมากที่สุด

อุปกรณ์เสริมสำหรับกระต่าย ดูเหมือนจะไม่จำเป็นนัก เพราะคุณจิรวัฒน์ ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันอุปกรณ์เสริมสำหรับกระต่ายมีจำหน่ายหลากหลาย ราคาไม่แพง แต่เมื่อซื้อมาจะใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์เสริมค่อนข้างน้อย เช่น บ้านกระต่าย แม้ว่ากระต่ายจะมีอุปนิสัยชอบมุดโพรงนอน แต่กลับไม่เลือกเข้าไปนอนในบ้านกระต่าย ส่วนเบาะนอนลายน่ารักที่สุนัขและแมวชอบขดนอน ก็ไม่ได้เป็นที่ชื่นชอบนักสำหรับกระต่ายเช่นกัน

ความเชื่อเกี่ยวกับกระต่าย ว่าเป็นสัตว์อ่อนแอ เสียงฟ้าร้อง สุนัขเห่า ก็อาจตายได้ คุณจิรวัฒน์ อธิบายว่า ไม่เสมอไป ขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูกระต่ายตั้งแต่เด็ก เช่น หากเลี้ยงในห้องแอร์ปิด ทึบ ไม่มีเสียงรบกวน หากพากระต่ายออกไปข้างนอก พบกับเสียงดัง อาจทำให้กระต่ายตกใจ เครียด ส่งผลให้ป่วยหรือตายได้ แต่ถ้าเลี้ยงกระต่ายให้ชินกับสภาพแวดล้อมปัจจุบัน ที่อาจมีเสียงดังจากสิ่งแวดล้อมรอบข้างรบกวนบ้าง กระต่ายจะชิน และไม่ตกใจ เหมือนเช่นความเชื่อในอดีตที่ผ่านมา

“เราเลี้ยงดูให้กระต่ายชินกับสภาพธรรมชาติให้มากที่สุด เพื่อให้กระต่ายมีความแข็งแรง หากลูกค้านำไปเลี้ยงในห้องแอร์ กระต่ายก็สบาย แต่ถ้าจะนำไปเลี้ยงในห้องอุณหภูมิปกติ ก็ไม่ทำให้กระต่ายเกิดปัญหา ไม่ช็อคตายง่ายๆ”

เดิมคุณจิรวัฒน์ เลี้ยงกระต่ายไทย หลังจากให้ลูกครอกแรกจำนวนมาก จึงแจกจ่ายเพื่อนบ้านบ้าง และลงจำหน่ายทางอินเตอร์เน็ตในราคา 100-200 บาทต่อตัว ปรากฎว่ามีผู้สนใจจำนวนมาก จึงมองเห็นช่องทางการเพิ่มรายได้ จำนวนกระต่ายแต่ละครอกไม่น้อยกว่า 4-5 ตัว ขณะที่กระต่ายไทย ยังจำหน่ายได้ราคา 100-200 บาทต่อตัว หากเป็นกระต่ายสายพันธุ์ต่างประเทศ อาจสร้างรายได้มากกว่านี้ คุณจิรวัฒน์ จึงเปลี่ยนจากกระต่ายไทย เป็นกระต่ายสายพันธุ์ต่างประเทศ กระต่ายแคระสายพันธุ์เนเธอร์แลนด์ ดวอฟ (Netherland Dwarf) และ กระต่ายพันธุ์ฮอลแลนด์ ลอป  (Holland Lop) เพราะเชื่อว่า เมื่อลูกกระต่ายพันธุ์ไทยธรรมดายังมีคนให้ความสนใจและขายได้ราคา ฉะนั้น กระต่ายที่มีสายพันธุ์เป็นที่นิยมทั้ง 2 ชนิดนี้ ก็น่าจะได้รับความสนใจและขายได้ราคาแน่นอน

กลุ่มที่ให้ความสนใจและติดต่อซื้อไปเลี้ยง คือ กลุ่มวัยรุ่นและนักศึกษา ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยปกติของการซื้อขายกระต่ายของจิรวัฒน์ แรบบิท ฟาร์ม ลูกค้าจะเดินทางมารับกระต่ายเองที่ฟาร์ม หรือนัดรับ เพื่อลดความเครียดให้กระต่าย ซึ่งธรรมชาติของกระต่ายเป็นสัตว์ความจำสั้น ประมาณ 3-4 วัน กระต่ายจะปรับสภาพกับสถานที่ใหม่ เจ้าของใหม่ ดังนั้น เมื่อกระต่ายเปลี่ยนเจ้าของ เจ้าของใหม่ควรนำกระต่ายไปวางไว้ยังสถานที่ที่ต้องการให้กระต่ายอยู่ และงดเว้นการจับกระต่ายมาเล่นหรืออุ้มโดยเด็ดขาด นำน้ำและอาหารวางไว้ ระหว่างการปรับตัว 3-4 วันแรก กระต่ายอาจไม่กินอาหาร เมื่อปรับตัวกับสภาพแวดล้อมใหม่ เจ้าของใหม่ ได้แล้ว กระต่ายจะกลับสู่สภาวะปกติ จับเล่นและกินอาหาร

ในระยะ 4 เดือนแรกของกระต่ายเด็ก ผู้เลี้ยงไม่ควรให้กินหญ้าสด หญ้าขน จะทำให้เกิดความเสี่ยงป่วยสูงและอาจตายได้ เนื่องจากลำไส้กระต่ายเด็กยังไม่มีแบคทีเรียฆ่าเชื้อโรคในร่างกาย ควรให้เฉพาะอาหารเม็ดสำเร็จรูปเพียงอย่างเดียว

ในทุกวันของจิรวัฒน์ แรบบิท ฟาร์ม ในตอนเช้าจะทำความสะอาดกรงนอนและคอก อุปนิสัยของกระต่ายแท้จริงแล้ว จะนอนในเวลากลางวัน และกินในเวลากลางคืน ทำให้ทุกเช้าจะพบอึและฉี่ของกระต่ายปริมาณมาก สิ่งที่ทำในตอนเช้าหลังจากทำความสะอาดกรงนอนและคอกแล้ว ควรให้อาหารกระต่าย ซึ่งอาหารหลักที่ต้องให้ทุกวัน คือ หญ้า

คุณจิรวัฒน์ บอกว่า หญ้าที่ให้กระต่ายได้มีทั้งหญ้าสดและหญ้าแห้ง หญ้าแห้งที่ใช้เป็นหญ้าอัลฟาฟ่า และหญ้าแพงโกล่า ซึ่งมีคุณภาพเหมาะสำหรับเลี้ยงกระต่าย มีคุณภาพ ช่วยลับฟันและดีกับระบบขับถ่าย ส่วนหญ้าสด หากใช้ควรล้างให้สะอาด เพราะอาจมีเชื้อโรคที่ติดมากับหญ้า ทำให้กระต่ายป่วยได้ อย่างไรก็ตาม อาหารเม็ดสำเร็จรูปทุกชนิด เป็นอาหารที่มีคุณประโยชน์อยู่แล้ว แต่หากจะให้สุขภาพของกระต่ายสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ควรให้อาหารเม็ดสำเร็จรูปเป็นอาหารเสริม และให้หญ้าแห้งเป็นอาหารหลัก

ในกระต่ายวัยปกติ พ่อพันธุ์ และแม่พันธุ์ จะให้อาหารเม็ดสำเร็จรูปไว้ตอนเช้า พร้อมกับหญ้าแพงโกล่า หรือหญ้าอัลฟาฟ่า ส่วนกระต่ายเด็ก ให้เฉพาะหญ้าอัลฟาฟ่า หรือ หญ้าแพงโกล่า กระต่ายทั้งท้อง ควรบำรุงด้วยการให้อาหารเม็ด และหญ้าแพงโกล่า หญ้าอัลฟาฟ่า เติมให้ตลอดทั้งวัน และควรปล่อยให้กระต่ายออกมาวิ่งเล่นตัวละ 2 ชั่วโมงหรือมากกว่า เพื่อให้กระต่ายผ่อนคลาย และไม่ควรปล่อยกระต่ายเพศผู้และเพศเมียพร้อมกัน เนื่องจากอาจผสมพันธุ์โดยไม่ได้ตั้งใจได้

ข้อสงสัยการฉีดวัคซีนและโรคในกระต่าย คุณจิรวัฒน์ บอกว่า วัคซีนสำหรับกระต่ายนั้นไม่มี ส่วนโรคในกระต่ายที่น่ากังวล มีเพียงโรคเชื้อรา เพราะกระต่ายจะย่ำฉี่และอึของตัวเอง แต่หากทำความสะอาดที่อยู่ของกระต่ายดีแล้ว ก็ไม่น่ากังวล นอกจากนี้ ไม่ควรนำกระต่ายไปอาบน้ำ แม้ว่าทำความสะอาดเกลี้ยงและใช้ไดร์เป่าขนแล้วก็ตาม เพราะขนกระต่ายละเอียดอ่อนมากกว่าขนแมวและสุนัข แต่โคนขนก็ยังชื้น ส่งผลให้ขนหลุดเป็นกระจุก และเป็นเชื้อรา ลามไปยังอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย

คุณจิรวัฒน์ ให้ความรู้เกี่ยวกับการคลอดและการเลี้ยงลูกของแม่กระต่าย เพื่อให้ผู้เลี้ยงกระต่ายคลายความกังวล ว่า กระต่ายจะตั้งท้อง 30 วัน เมื่อใกล้คลอดจะกัดขนบริเวณหน้าอก เพื่อนำไปคลุม สร้างความอบอุ่นให้กับลูกกระต่ายหลังคลอด ผู้เลี้ยงควรปล่อยให้กระต่ายอยู่เงียบๆ ลดความเครียด หากกระต่ายเครียด แม่กระต่ายอาจจะอั้นคลอด ไม่คลอดตามกำหนด ทำให้ลูกกระต่ายตายในท้อง อย่างไรก็ตาม หลังคลอดแล้วเป็นธรรมชาติของกระต่าย จะทิ้งลูกไว้ลำพัง ไม่กกลูกเหมือนสัตว์ชนิดอื่น และจะเข้ามาให้นมลูกเฉพาะในเวลาค่ำ และใช้เวลาไม่นานในการให้นม ซึ่งผู้เลี้ยงอาจไม่เห็นและเข้าใจผิดว่า แม่กระต่ายไม่เลี้ยงลูก

“วัยกระต่ายที่เหมาะผสมพันธุ์ ควรมีอายุ 6-7 เดือนขึ้นไป เพื่อให้กระดูกเชิงกรานขยายพร้อมเมื่อตั้งท้อง และไม่มีปัญหาขณะคลอด และควรผสมให้น้อยครั้งเมื่อกระต่ายมีอายุ 5-6 ปี ในรูปแบบของฟาร์มจะหยุดผสมในกระต่ายที่มีอายุ 3 ปีขึ้นไป เพื่อความแข็งแรงของน้ำเชื้อ ทั้งนี้ แม่กระต่ายที่คลอดลูกแล้ว ควรเว้นระยะห่างการตั้งท้อง โดยพิจารณาจากความสมบูรณ์ของแม่กระต่าย เพื่อให้ได้ลูกกระต่ายที่สมบูรณ์แข็งแรง”

จิรวัฒน์ แรบบิท ฟาร์ม ปัจจุบันมีพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ ประมาณ 60 ตัว จะขายลูกกระต่ายให้กับลูกค้า เมื่อกระต่ายมีอายุไม่น้อยกว่า 45 วัน เพื่อให้ลูกกระต่ายกินนมแม่กระต่ายอย่างน้อย 30 เดือน พร้อมกับถ่ายพยาธิทุกสัปดาห์ก่อนส่งให้กับลูกค้า โดยแนะนำให้ลูกค้าถ่ายพยาธิให้กับกระต่ายประจำปีด้วย เพราะพยาธิในกระต่ายจะมีจำนวนมากกว่าพยาธิในสุนัขและแมว

ราคาจำหน่ายกระต่ายที่จิรวัฒน์ แรบบิท ฟาร์ม จะไม่สูงเกินกว่าฟาร์มทั่วไป การันตีได้ว่าราคาย่อมเยาว์กว่าแห่งอื่น สนใจเข้าชมฟาร์ม ติดต่อได้ที่ คุณจิรวฒน์ พยัคฆิน หมู่บ้านพฤกษา 13 เลขที่ 37/1891 ซอย 5/4 ตำบลคลองสาม อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี โทรศัพท์ 083-856-4290 หรือ www.facebook.com/jirawat.rabbit 

เผยแพร่ครั้งแรก