มนต์ขลัง นกกรงหัวจุก

ถ้าจะเอ่ยถึงสัตว์ที่มีน้ำเสียงไพเราะ คล่องแคล่ว ปราดเปรียว เเละสีสันสวยงาม เชื่อว่า “นกกรงหัวจุก” หรือ “นกปรอดหัวโขนเคราแดง” ถูกจัดให้อยู่ในลำดับต้นๆ ยิ่งในปัจจุบันมีสนามให้ลงแข่งขันเพื่อชิงรางวัล ฉะนั้นไม่เเปลกใจถ้านกชนิดนี้จะกลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจอีกชนิดที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่ผู้เลี้ยง บางสนามประลองมูลค่าสูงถึงหลักล้านบาทเลยทีเดียว  ด้วยกระแสความนิยม ตลอดจนมีผู้ให้การสนับสนุน ส่งผลให้ผู้เลี้ยงนกชนิดนี้ ไม่กระจุกตัวอยู่เเต่ในภาคใต้ ตรงกันข้ามกลับเเผ่ขยายไปทั่วทุกภูมิภาค หนำซ้ำหลายเวทียังปั้นเซียนนกหน้าใหม่ให้มีชื่อเสียงติดในวงการมากมาย

คนไทยจำนวนมากชื่นชอบเลี้ยงสัตว์ แต่หากจะทำเป็นธุรกิจ หลายคนมองว่าสุนัขค่าใช้จ่ายสูง ต้องการการดูเเลเอาใจใส่ ในด้านความต้องการของตลาดเริ่มไม่หวือหวา เเถมคู่เเข่งมากขึ้น ตรงกันข้ามกับนก ที่ภาระไม่มาก ค่าเลี้ยงดูต่ำ คนส่วนใหญ่ให้การยอมรับ มูลค่าซื้อขายค่อนข้างดี ที่สำคัญหลงเสน่ห์เสียงร้อง ตลอดจนทุกอากัปกิริยาของนกชนิดนี้ ด้วยเหตุผลนี้ ทำให้หลายคน เลือกที่จะเลี้ยงนกกรงหัวจุก

หากใครคิดจะก้าวเข้าสู่วงจรธุรกิจ ในฐานะคนเลี้ยงนก จำเป็นต้องคัดเลือกสายพันธุ์นกให้เป็นเสียก่อน โดยเริ่มจากนำนกกรงหัวจุกสายพันธุ์ที่มีชื่อเสียง อาทิ นกกรงหัวจุกป่าละอู นกกรงหัวจุกสวนผึ้ง มาผสมกับนกกรงหัวจุกสายพันธุ์ในท้องถิ่น เพื่อที่จะให้กำเนิดลูกนกลักษณะเด่น คือ ร้องทน เสียงเพราะ ไม่ใบ้ แข็งแรง รูปลักษณ์สวยงาม

ตำนานนกกรงหัวจุก

นกกรงหัวจุก มีชื่อเรียกเป็นทางการว่า “นกปรอดหัวโขนเคราแดง” เป็นสัตว์คุ้มครองประเภทนกที่เพาะพันธุ์ได้ ตามตำนานเล่าต่อๆ กันมาว่า ย้อนไป พ.ศ. 2410 ชนชาติแรกที่นำนกปรอดหัวจุกมาเลี้ยง คือ ชาวจีน นำมาเลี้ยงเเทนนกโรบิ้น ซึ่งเป็นนกที่ตกใจง่าย ถึงขั้นช็อคตายคากรง ต่างจากนกกรงหัวจุกที่เลี้ยงง่าย สีสันสวยงาม เสียงเพราะ ต่อจากนั้นมา ความนิยมเลี้ยงนกกรงหัวจุกได้แผ่ขยายไปยัง จีน อินเดีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ลาว กัมพูชา จนถึงภาคใต้ของประเทศไทย

วิธีแยกเพศนกกรงหัวจุก

“นกกรงหัวจุกตัวผู้” ขนจุกบนหัวจะใหญ่ บริเวณโคนดก หนา เเละยาวตั้งตรง ปลายแหลมเอียงไปข้างหน้าเล็กน้อย บริเวณหัวและใบหน้าจะใหญ่ ปากมีสีดำเป็นมัน ปากบนเเละปากล่างประกบกันสนิท ปลายลิ้นบางมน ไม่สั้น หรือยาวเกินไป ดวงตากลม ใส สีดำ ขนใต้ตาฟูเป็นสีแดง ขนแก้มเป็นกระจุกสีขาวมีขนาดใหญ่กว่าขนแดงใต้ตา ขนาดลำคอจะใหญ่ ทำให้เสียงร้องดีและร้องได้นานกว่าตัวเมีย ขนคอด้านบนเรียบเป็นสีดำ ขนคอด้านล่างเป็นสีขาวสะอาด ขนาดอกจะใหญ่กว่าตัวเมีย ขนที่หัวปีกมีสีน้ำตาลดำ ขนหางมีสีน้ำตาลดำ ประมาณ 12 เส้น เสียงร้องจะใหญ่และดังกังวานกว่าตัวเมีย ร้องได้ 3-7 พยางค์ มีนิ้วเท้า 2 ข้างครบถ้วน ข้างละ 4 นิ้ว

ส่วน  “ นกกรงหัวจุกตัวเมีย”  ขนบนจุกจะเล็กกว่าตัวผู้ ปลายจุกแหลม ชี้ไปทางด้านหลัง หัวและใบหน้าเล็กกว่าตัวผู้ ปากมีสีดำเป็นมัน ปลายปากงอขึ้นเล็กน้อย ดวงตากลม ใส สีดำ ขนใต้ตามีสีแดงฟู ขนแก้มจะใหญ่กว่าขนใต้ตา ขนาดลำคอจะเล็กกว่าตัวผู้ทำให้ร้องไม่เป็นเพลง ขนคอด้านบนสีดำเรียบ ขนคอด้านล่างสีขาวสะอาด ขนาดอกเล็กกว่าตัวผู้ บริเวณหางมีสีน้ำตาลดำ มีขนหางประมาณ 9-10 เส้น มีนิ้วเท้า 2 ข้างครบถ้วน ข้างละ 4 นิ้ว

วิธีการดูแลนกกรงหัวจุก

หลังจากปิดผ้าคลุมกรงนกมาทั้งคืน ถึงตอนเช้าให้เปิดผ้าออก นำอาหารใหม่ให้นกกิน อาทิ กล้วยน้ำว้าสุก มะละกอสุก มะเขือเทศสุก แตงกวา บวบ เพื่อป้องกันไม่ให้นกเบื่ออาหาร ควรสลับกันไป ถึงตรงนี้สามารถสังเกตโรคของนกได้จากมูล หากเป็นเม็ด เเสดงว่าปกติ หากถ่ายเหลวนั่นคือสัญญาณบ่งบอกว่านกเป็นโรค ควรรีบรักษาทันที

ข้อควรระวัง เวลาเเขวนนกที่ราว ไม่ควรแขวนกรงนกที่อายุน้อยใกล้กับนกที่อายุมาก  เพราะนกที่อายุมากจะข่มนกที่เด็กกว่า บางตัวถึงขั้นไม่กล้าส่งเสียงร้อง เเละเพื่อให้นกร้องได้นาน ค่อยๆ เพิ่มเวลาเเขวนตากเเดดมากขึ้น จากวันละ 1 ชั่วโมง เป็นวันละ 2 ชั่วโมง จะให้ดีนำนกตากเเดดช่วงเวลาเเดดอ่อนๆ จะช่วยให้นกได้รับวิตามินดี กระดูกจะเเข็งเเรง ทำเช่นนี้จนกระทั่งนกเคยชิน เพราะเวทีประกวดนกกรงหัวจุกจะใช้เวลา 5-6 ชั่วโมง

การเลี้ยงดูลูกนกกรงหัวจุก

ลูกนกที่เกิดใหม่ จะให้อาหาร คือ อาหารลูกไก่บดละเอียด กล้วยน้ำว้าบด หนอนนก ป้อนสลับกันไปจนกว่าลูกนกจะอิ่ม สังเกต หากลูกนกยังร้องอยู่ แสดงว่าลูกนกยังไม่อิ่ม นอกจากอาหารต้องป้อนน้ำ กระทั่งอายุ 15-20 วัน สามารถแยกไปไว้ในกรงเดี่ยว ได้ ช่วงที่อยู่ในกรง ลูกนกจะเริ่มกินอาหารได้เอง

หลังจากนั้น ประมาณ 40-45 วัน ขนจะขึ้นเต็มเเละเปลี่ยนเป็นสีเทา เมื่อนกอายุได้ 100-120 วันขึ้นไป จะเริ่มผลัดขน ขนจะเป็นสีขาว สีน้ำตาล บริเวณใต้ตาจะเป็นสีแดง มีแก้มสีขาว มีแถบดำที่เรียกว่าสร้อยคอ ขนใต้หางจะเปลี่ยนเป็นสีแดงส้ม ระยะนี้ต้องให้อาหารนกกินให้สมบูรณ์ ระหว่างผลัดขน นกจะไม่สวย ไม่ร้องเพลง

การฝึกนกกรงหัวจุกเพื่อเข้าแข่งขัน

หลังจากคัดเลือกนกลักษณะดีอายุ 6 เดือน -1 ปีได้แล้ว เจ้าของนกควรเริ่มฝึกซ้อมนกแบบค่อยเป็นค่อยไป ผู้เลี้ยงควรนำนกไปซ้อมเพลง ไม่ว่าจะเปิดเพลงสำหรับนกให้ฟังเพื่อจำทำนอง หรือไปซ้อมกับนกที่เป็นเพลงแล้ว เฉลี่ยสัปดาห์ละ 1-2 วัน เเละเพื่อให้นกตกใจกลัวน้อยที่สุด ก่อนนำไปสนามซ้อม ควรใช้ผ้าคลุมกรงนกทุกครั้ง

สำหรับรูปแบบการเเข่งขันประชันเสียงร้องของนกกรงหัวจุก มี 2 ลักษณะ แข่งแบบสากล นั่นคือ จะเน้นที่ความงดงาม สมส่วน สำนวนการร้อง การแข่งขันจะใช้กรรมการ 3 คน ต่อชุด รอบแรกจะคัดนกที่ไม่ร้องออก จนจำนวนน้อยลงไปเรื่อยๆ ยกที่ 4 จะเน้นไปที่เสียงร้องเป็นพิเศษ

การแข่งแบบ 4 ยก หรือ 5 ยก ให้ใช้ยกที่ 1-4 เป็นการคัดเลือกนกออก และยกที่ 5 คือ ยกสุดท้าย จะเน้นให้คะเเนน นกที่สามารถร้อง 3 พยางค์ขึ้นไป นกที่ลีลาดี รูปร่างดี จะไม่มีคะแนนให้ เรียกว่าการแข่งขันนกแบบนี้ ไม่เน้นเรื่องความสวยงาม แต่จะเน้นที่น้ำเสียงเพลงร้อง

การดูแลสุขภาพนก

ช่วงเวลาอาบน้ำให้นก ควรเป็นช่วงบ่ายหรือเย็น ก่อนจะนำกรงไปเก็บ ควรตากจนกระทั่งขนนกแห้งสนิท อีกทั้งนกชนิดนี้รักความสะอาด ฉะนั้นเจ้าของควรเปลี่ยนน้ำกิน ล้างกรง เเละอาบน้ำให้สม่ำเสมอ เพราะหากนกไม่สดชื่น มันจะสลัดขนอ่อนบนลำตัวออก และมีอาการซึม

ปัญหาเรื่องสุขภาพของนกที่พบได้บ่อย ได้แก่  “โรคหวัดนก ” นกจะมีลักษณะอาการขนไม่เรียบ ดวงตาขุ่น คอตก ซึม ตาแฉะ ไม่ส่งเสียงร้อง รักษาด้วยการให้นกกินพริกขี้หนูแดงหั่นผสมกับน้ำผึ้ง หรือนำนกไปตากแดดอ่อนๆ หากไม่หายควรให้ยา “โรคปอดบวม” เกิดจากนกที่อาบน้ำเเล้วขนไม่เเห้งสนิท การรักษา ให้ยาเเก้หวัด “โรคขี้นก” เกิดจากกินผลไม้ไม่สุก ทำให้นกขับถ่ายลำบาก   “โรคหลอดลมอักเสบ” นกจะมีอาการอ้าปาก เพราะหายใจลำบาก ไอมีน้ำมูก เบื่ออาหาร ป้องกันโดยทำความสะอาดกรง อย่าให้ชื้นแฉะ หรือให้ยาปฏิชีวนะ “โรคท้องเสีย” เกิดจากกินอาหารสกปรกเเละค้างคืน ควรเปลี่ยนอาหารใหม่ให้นก “โรคพยาธิ” อาการมูลนกมีตัวพยาธิ ผู้เลี้ยงควรเน้นเรื่องน้ำและอาหารต้องสะอาด

อาหารของนกกรงหัวจุก

– กล้วยน้ำว้าสุก มีวิตามินสูง แก้ท้องผูก เสริมภูมิคุ้มกัน ข้อควรระวัง อย่าให้กินนานๆ เสียงร้องจะเพี้ยน เพราะเนื้อกล้วยจะเหนียวติดปากนก จะอ้าปากร้องได้ไม่เต็มที่

– มะละกอสุก ช่วยระบาย บำรุงสายตา ขับพยาธิเส้นด้าย

– ส้มเขียวหวาน มีวิตามินซี แก้เจ็บคอ ขับเสมหะ อาเจียน

– ฝรั่งสุก แก้ท้องร่วง บำรุงหัวใจ

– มะม่วงสุก แก้ท้องอืด บำรุงกระเพาะอาหาร

– มะเขือเทศ แก้นกเบื่ออาหาร บำรุงเลือด กระตุ้นกล้ามเนื้อ

– แตงกวา แก้ร้อนใน บำรุงปอด ช่วยย่อยอาหาร ก่อนให้นกกินเพื่อให้แน่ใจว่าปราศจากสารพิษตกค้าง นำไปแช่น้ำทิ้งไว้ 1 คืน

– พริกขี้หนูแดง หรือพริกสดแช่น้ำผึ้ง ช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดี

– บวบ เป็นยาระบายท้อง แก้ไข้ แก้ร้อนใน

หนอนนก
กล้วยหิน

– หนอนนก ไข่มดแดง ปลวก จิ้งหรีด ตั๊กแตน แมลงเม่า อาหารพวกนี้โปรตีนสูง ทำให้เจริญเติบโตได้เร็ว

– น้ำมันตับปลา ช่วยสร้างขนนกให้เข็งแรง

ด้านตลาด

นกกรงหัวจุกในฐานะเป็นสัตว์เศรษฐกิจอีกชนิด  ราคาซื้อ-ขาย นกกรงหัวจุกแต่ละจังหวัดราคาไม่เท่ากัน หากเป็นนกภาคอีสานเเละภาคเหนือราคาจะถูกกว่านกภาคใต้ มูลค่าต่อตัวนกที่เป็นเพลงเเล้ว ตัวละ 8,000-10,000 บาทขึ้นไป แต่หากเป็นลูกนก ตัวละ 3,000-5,000 บาท เเต่สำหรับที่เลี้ยงอยู่ สนนราคาเป็นกันเอง เริ่มต้นตัวละ 2,500 บาท ลูกนกตัวละ 800-1,200 บาท มีบริการฝากเลี้ยงเดือนละ 500 บาท

จากกระแสความนิยมเลี้ยงนกกรงหัวจุก ได้ส่งผลให้เกิดอาชีพต่างๆ ขึ้นมากมาย อาทิ ผู้เพาะเลี้ยงหนอนนก โรงงานผลิตอาหารนก ยารักษาโรค รวมถึงอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับนก ไม่ว่าจะเป็น ผ้าคลุมกรง ตะขอสำหรับแขวนกรงนก รวมถึงกรงนก ซึ่งถ้าหากใช้วัสดุทำจากไม้เนื้อแข็ง อาทิ ไม้สัก ไม้มะม่วง ไม้ประดู่ชิงชัน นำมาเเกะสลัก ประดับด้วยมุก หรืออัญมณี จะมีมูลค่าสูงนับเเสนบาทเลยทีเดียว