เมื่อ “กวางเรนเดียร์” ลดลงเพราะโลกร้อน

ปัญหาโลกร้อนที่มนุษย์สร้างขึ้น ก่อให้เกิดผลกระทบต่อมนุษย์ตามมามากมายมหาศาล น้ำแข็งขั้วโลกที่ละลายลงอย่างมากมาย สภาพอากาศที่รุนแรงขึ้นทุกวัน รวมไปถึงผลกระทบกับสิ่งมีชีวิตอื่นบนโลกนี้ อย่างเช่น “กวางเรนเดียร์”

ผลการวิจัยที่นำโดย ศาสตราจารย์สตีฟ อัลบอน นักนิเวศวิทยาจากสถาบันเจมส์ ฮัตตัน สกอตแลนด์ พร้อมกับทีมนักวิจัยนอร์เวย์ ระบุว่าจำนวนประชากรของกวางเรนเดียร์บนเกาะอาร์กติกแห่งหนึ่งที่ใกล้กับขั้วโลกเหนือกำลังลดลงอย่างมาก อันเป็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศของโลก ที่ทำให้อาหารในช่วงฤดูหนาวของสัตว์ลดน้อยลงไป โดยจากการศึกษากวางเรนเดียร์ บนเกาะสฟาลบาร์ ประเทศนอร์เวย์ ในมหาสมุทรอาร์กติก ซึ่งมีทัศนียภาพที่สวยงามหาดูยากแห่งหนึ่งของโลก พบว่ากวางเรนเดียร์ที่นี่มีน้ำหนักเฉลี่ยลดลงจากตัวละ 55 กิโลกรัมเมื่อช่วงทศวรรษ 1990 เหลือเพียง 48 กิโลกรัมในตอนนี้

ศาสตราจารย์อัลบอนเปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า อุณหภูมิที่อุ่นขึ้นในช่วงฤดูร้อนถือว่าดีสำหรับกวางเรนเดียร์ แต่อุณหภูมิที่อุ่นขึ้นช่วงฤดูหนาวแล้ว กลับทำให้พวกกวางเรนเดียร์อยู่ยากยิ่งขึ้น เพราะการที่อากาศหนาวน้อยลง หมายถึงแผ่นน้ำแข็งที่ไม่เป็นผืนน้ำแข็ง ที่ทำให้สัตว์กินพืชอย่างกวางเรนเดียร์ ออกไปหาอาหารจากที่อื่นได้ยากขึ้น

ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลกระทบอย่างหนักต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของกวางเรนเดียร์ กวางเรนเดียร์บางตัวก็อดอาหารตาย ขณะที่กวางเรนเดียร์ตัวเมียบางตัวก็คลอดลูกที่เติบโตไม่สมบูรณ์แข็งแรงออกมา

ผลการศึกษาระบุว่า ในช่วงฤดูร้อนพืชที่เป็นอาหารสำหรับกวางเรนเดียร์มีอย่างอุดมสมบูรณ์มหาศาล ทำให้กวางเรนเดียร์ตัวเมียมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง และพร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ในช่วงฤดูใบไม้ร่วง โดยช่วงเวลาของการตั้งครรภ์ของกวางเรนเดียร์จะอยู่ที่ประมาณ 7 เดือน

ศาสตราจารย์อัลบอนบอกว่าผลการศึกษาพบว่าตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา มีกวางเรนเดียร์บนเกาะแห่งนี้เพิ่มขึ้นจาก 800 ตัว เป็นราว 1,400 ตัว

“แม้จะมีกวางเรนเดียร์มากขึ้น แต่ตัวกลับเล็กลง” ศาสตราจารย์อัลบอนกล่าว และว่า การที่ประชากรเพิ่มขึ้น ก็หมายถึงการแข่งขันเพื่อแย่งชิงอาหารที่เพิ่มมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวที่อาหารหายากมากขึ้น

ก่อนที่ศาสตราจารย์อัลบอนจะอ้างอิงถึงนิทานเด็กเรื่องยอดนิยม “ฟาเธอร์ คริสต์มาส” ของ เรมอนด์ บริกส์ ที่ซานตาคลอสจะใช้รถเลื่อนที่มีกวางเรนเดียร์สองตัวลากไป แต่หากกวางเรนเดียร์ตัวเล็กลงเรื่อยๆ สองตัวคงจะไม่สามารถลากรถเลื่อนของซานตาคลอสได้

ทั้งนี้ อุณหภูมิบริเวณอาร์กติกเพิ่มสูงขึ้นเร็วกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก อันเป็นผลมาจากก๊าซเรือนกระจกที่ปกคลุมอยู่บนชั้นบรรยากาศของโลก ขณะที่ผลการศึกษาเรื่องผลกระทบต่อโลกร้อนที่มีต่อเกาะสฟาลบาร์ที่ผ่านๆ มา มักจะพุ่งเป้าไปที่ผลกระทบต่อหมีขั้วโลกที่เป็นนักล่าแมวน้ำ แต่ไม่ค่อยมีการศึกษาเรื่องเกี่ยวกับสัตว์ที่มีอยู่ทั่วไป อย่างกวางเรนเดียร์ สุนัขจิ้งจอกอาร์กติก หรือนกตามิเกน

ขณะที่ อีวา ฟูกลี นักวิจัยจากสถาบันขั้วโลกนอร์เวย์และศูนย์แฟรมซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการศึกษาเรื่องกวางเรนเดียร์ครั้งนี้ พูดถึงเรื่องจำนวนประชากรของสุนัขจิ้งจอกอาร์กติกว่า จำนวนประชากรของสุนัขจิ้งจอกอาร์กติกเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยพวกมันจะกินดีอยู่ดีในช่วงที่สภาพอากาศหนาวจัด เนื่องจากกินพวกซากกวางเรนเดียร์ที่ตายจากสภาพอากาศที่หนาวจัด

แต่เมื่อตอนนี้กวางเรนเดียร์ส่วนใหญ่อยู่ในสภาพที่อ่อนแอ และไม่สามารถทนต่ออากาศที่หนาวจัดได้ทำให้พวกอ่อนแอ ทั้งป่วย แก่ หรือตกลูกเหล่านั้นตายลง นั่นหมายความว่าช่วงฤดูหนาวครั้งหน้า สุนัขจิ้งจอกอาร์กติกเหล่านี้จะหาอาหารยากมากขึ้น เพราะจะเหลือเพียงกวางเรนเดียร์โตเต็มวัยที่มีสุขภาพแข็งแรงเท่านั้นที่จะอยู่รอด และนั่นไม่ใช่อาหารของสุนัขจิ้งจอกเหล่านี้แน่นอน