สุนัขนักสู้ ที่ “มันตา บลูด็อก”

สายพันธุ์สุนัขแต่ละสายพันธุ์ ต่างมีประวัติความเป็นมาของแต่ละสายพันธุ์ที่ไม่เหมือนกัน บ้างก็ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์เพื่อเป็นเพื่อนกับมนุษย์ เฝ้าบ้าน เลี้ยงสัตว์ หรือเพื่อช่วยเหลือมนุษย์ตามสถานการณ์

บลูด็อก (Bulldog)เป็นสุนัขอีกสายพันธุ์ ที่ได้รับการพัฒนาจากสายพันธุ์มาสทีฟฟ์ ซึ่งเป็นสายพันธุ์เก่าแก่ เพื่อใช้ในกีฬาล่าหมีและตัวแบดเจอร์ (สัตว์ขนาดเท่าสุนัขจิ้งจอก เท้ามีเล็บอย่างหมี) บลูด็อกถูกพัฒนาให้สามารถหายใจได้ ขณะที่ตัวสุนัขกำลงกัดและห้อยตัวแขวนอยู่บนคอของคู่ต่อสู้ที่โชคร้าย การเพาะพันธุ์ในระยะแรกก็เพื่อเกม กีฬาสู้วัว ซึ่งเป็นเกมกีฬาที่เป็นที่ชื่นชอบในอังกฤษมากว่า 700 ปี

หน้าตาของเจ้าบลูด็อก อาจดูไม่งดงามสักเท่าไหร่ โดยเฉพาะกับผู้ที่ชื่นชอบสุนัขสวยงาม ขนฟูฟ่อง แนวน่ารัก อาจไม่ปลื้มกับเจ้าบลูด็อกมากนัก เพราะดูเผินๆ แล้วคล้ายสุนัขยิ้มยาก หน้าตาค่อนไปทางดุเสียมากกว่า

แต่สำหรับผู้ที่รักฝังใจ ชื่นชอบสายพันธุ์นี้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะอย่างไร บลูด็อก ก็ยังเป็นสุนัขที่น่ารักเสมอ

สั่งสมประสบการณ์ รัก-ชอบ ในวัยเด็ก

เรียนสัตวบาล เพื่อสัตว์เลี้ยงสวยงาม

เช่นเดียวกับคุณอุดมศักดิ์ โล้เจริญรัตน์ ผู้ชื่นชอบสัตว์ประเภทสวยงามมาตั้งแต่เด็ก ถึงกับแสดงความรับผิดชอบในการเลี้ยงและดูแลสุนัขด้วยตนเองทุกอย่าง เมื่อคุณพ่อซื้อให้เมื่ออายุ 7 ปี และหลังจากนั้นก็รับผิดชอบทำฟาร์มวัวสวยงาม สายพันธุ์บราห์มัน ในวัยเพียง 12 ปี ซึ่งไม่เฉพาะการดูแลฟาร์มเท่านั้น คุณอุดมศักดิ์ ยังเริ่มเข้าสู่วงการประกวดวัวสวยงามด้วย

ตลอดการสะสมประสบการณ์การเลี้ยงสัตว์สวยงามในวัยเด็กสู่วัยรุ่น ของคุณอุดมศักดิ์ เป็นรากฐานอันดี ที่คุณอุดมศักดิ์รับรู้อยู่เสมอและประเมินตนเองแล้วว่า รักและชื่นชอบสัตว์สวยงาม เป็นพิเศษ จึงตัดสินใจเรียนสัตวบาล ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

คุณอุดมศักดิ์ ตั้งใจว่า หากมีความพร้อมเพียงพอจะนำสายพันธุ์บลูด็อกมาเลี้ยง

“บลูด็อก เป็นสายพันธุ์ที่อยู่ในใจผมมาตั้งแต่เด็ก ในอดีตสุนัขสายพันธุ์นี้ราคาแพงมาก เพราะบุคลิกของสุนัขสายพันธุ์นี้ไม่เหมือนสุนัขสายพันธุ์อื่น มีลักษณะพิเศษหลายอย่างที่แตกต่าง เมื่อผมเรียนจบ มีความพร้อม จึงเริ่มหาสุนัขสายพันธุ์บลูด็อกมาเลี้ยง”

ในครั้งแรกบลูด็อกของคุณอุดมศักดิ์ ถูกซื้อผ่านอินเตอร์เน็ต เมื่อเวลาผ่านไป คุณอุดมศักดิ์รู้ทันทีว่า บลูด็อกที่มีอยู่ยังไม่ใช่สุนัขที่ดีพอ เขาจึงเริ่มมองหาสุนัขที่สมบูรณ์มากพอจะเป็นแม่พันธุ์หรือพ่อพันธุ์ได้ ซึ่งการเกาะขอบรั้วสนามประกวดสุนัขบลูด็อก ช่วยคุณอุดมศักดิ์ได้มาก เขาเริ่มศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับสุนัขสายพันธุ์นี้อย่างละเอียด และในที่สุดก็ได้พ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ ที่ได้รับการผสมพันธุ์ หรือ การบรีด (Breed) ในเมืองไทย

สร้าง มันตา บลูด็อก

ตั้งเป้า นักปรับปรุงพันธุ์

คุณอุดมศักดิ์ เล่าว่า เขารักที่จะเป็นนักปรับปรุงพันธุ์ หรือ บรีดเดอร์ (Breeders) จึงมุ่งหวังปรับปรุงสายพันธุ์บลูด็อกที่ผสมและเกิดในเมืองไทยด้วยตัวของเขาเอง ดังนั้น การปรับปรุงพันธุ์บลูด็อก เพื่อก้าวสู่เวทีประกวด จึงเป็นเป้าหมายหลัก ส่วนการเพาะพันธุ์เพื่อจำหน่ายนั้นไม่ถือว่าเป็นเป้าหมาย หากบลูด็อกที่ได้รับการผสมออกมาเป็นสายพันธุ์ที่ดี ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว

“ผมตั้งชื่อฟาร์มว่า มันตา บลูด็อก คำว่า มันตา เป็นภาษาบาลี มีความหมายว่า ปัญญา”

คุณอุดมศักดิ์ เล่าให้ฟังว่า การเป็นนักปรับปรุงพันธุ์ที่ดีไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ยากเกินไป คุณอุดมศักดิ์ จึงต้องศึกษาทุกอย่างที่เกี่ยวกับการบรีด เพื่อให้ได้สุนัขสายพันธุ์บลูด็อกที่ดีและได้มาตรฐาน รวมทั้งมีความมุ่งมั่นพัฒนาบลูด็อกขึ้นมาให้เป็นสายพันธุ์ที่เขาบรีดเอง ก้าวเข้าสู่สนามประกวด

เกือบ 10 ปีแล้ว สำหรับการทำฟาร์มบลูด็อก คุณอุดมศักดิ์ ยอมรับว่า บลูด็อก เป็นสุนัขที่ยากที่สุดสายพันธุ์หนึ่งในการบรีด โดยเฉพาะขั้นตอนการอนุบาลยิ่งยากกว่า ซึ่งการบรีด จำเป็นต้องเตรียมทุกอย่างให้พร้อม เช่น แม่พันธุ์ จำเป็นต้องเจาะเลือดตรวจหาฮอร์โมน วันตกไข่ เพื่อเก็บน้ำเชื้อจากพ่อพันธุ์นำมาผสมเทียม จากนั้นกำหนดวันผ่าคลอด ซึ่งการผ่าคลอดจะนับจากวันผสมครั้งที่ 2 ไปอีก 60 วัน

“ที่นี่ใช้การผสมเทียม 100 เปอร์เซ็นต์ โดยเก็บน้ำเชื้อสดผสมทันที เหตุผลหนึ่งที่ไม่ให้สุนัขทับกันเอง เพราะบลูด็อกเป็นสุนัขหน้าสั้น เหนื่อยง่าย หากปล่อยผสมเอง พ่อพันธุ์จะเหนื่อยก่อนได้รับการผสมพันธุ์ นอกจากนี้ก่อนที่จะนำแม่พันธุ์เข้าสู่การบรีด ผู้เลี้ยงควรให้อาหารเพียงวันละครั้ง เพื่อให้สุนัขผอม เพราะหากน้ำหนักมากขณะตั้งท้องอัตราการผสมติดจะน้อย”

มันตา บลูด็อก ใช้แม่พันธุ์สำหรับอุ้มท้องเมื่อผสมติดได้ลูกสุนัข เมื่อสุขภาพสุนัขท้องพร้อมคลอด จะใช้วิธีผ่าคลอดทั้งหมด หลีกเลี่ยงการคลอดธรรมชาติ โดยคุณอุดมศักดิ์ ระบุว่า การให้สุนัขคลอดธรรมชาติมีโอกาสเสี่ยงสูญเสียลูกสุนัขสูง จึงต้องสังเกตพฤติกรรมของสุนัขใกล้คลอด เมื่อใกล้วันกำหนดคลอด และมีพฤติกรรมไม่กินอาหาร ขุด นอนไม่ได้ กระสับกระส่าย และอุณหภูมิร่างกายลดเหลือต่ำกว่า 100 องศาฟาเรนไฮต์ ก็เตรียมผ่าคลอดได้ทันที

ผสมเทียม ผ่าคลอด เหมาะที่สุด

อนุบาลลูกสุนัข ไม่ใช่เรื่องง่าย

10 วันสุดท้ายก่อนคลอด มันตา บลูด็อก จะแบ่งมื้ออาหารให้กับแม่สุนัขเป็น 4 มื้อ เพื่อให้กินเต็มที่ หากถ่ายเหลวบ้าง ผู้เลี้ยงก็ไม่ควรกังวล และควรให้อาหารลูกสุนัขกับแม่สุนัขที่ตั้งท้อง เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกสุนัขภายในท้อง หากไม่ให้อาหารลูกสุนัข อาจเกิดปัญหาแม่สุนัขเลี้ยงลูกได้ไม่นานพอ ไม่มีนมให้ลูกสุนัข แม่สุนัขสมบูรณ์ไม่เพียง ไม่มีแรงเลี้ยงลูก เป็นต้น

“หากให้แม่สุนัขคลอดเอง อันตรายทั้งแม่สุนัขและลูกสุนัข จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ลูกสุนัขที่ปล่อยให้คลอดเองจะตายเกือบทั้งครอก เพราะแม่สุนัขไม่สามารถกัดรกได้ดีพอ อีกทั้งโครงสร้างของสายพันธุ์บลูด็อกมีสัดส่วนหัวที่โตกว่าสุนัขพันธุ์อื่น 1 ½-2 เท่า”

หลังลูกสุนัขคลอดออกมาแล้ว คุณอุดมศักดิ์ จะแยกลูกสุนัขไว้ต่างหาก เมื่อถึงเวลากินนมจะนำไปให้ดูดนมกับแม่สุนัข จำนวน 12 ครั้งต่อวัน จากนั้นค่อยๆ ลดปริมาณลดเหลือ 8 ครั้งต่อวัน 6 ครั้งต่อวัน และ 4 ครั้งต่อวันเมื่อลูกสุนัขอายุ 3 เดือน และเมื่อลูกสุนัข 6 เดือน เหลือเพียง 2 มื้อต่อวัน

ลูกสุนัขแรกเกิด คุณอุดมศักดิ์ บอกว่า จำเป็นต้องกกไฟ เพราะลูกสุนัขต้องการความอบอุ่น โดยมันตา บลูด็อก ใช้ไฟอินฟราเรดนำเข้าจากเยอรมัน เป็นการช่วยให้ลูกสุนัขมีอัตราการหายใจต่ำ ไม่หอบ แต่ขณะเดียวกันลูกสุนัขยังคงต้องการความอบอุ่น ฉะนั้น การอนุบาลลูกสุนัขที่ควรทำ คือ เปิดแอร์ และให้ไฟกก ซึ่งไฟกกที่ดีต้องไม่ทำให้อุณหภูมิภายนอกร้อน แต่ควรส่งรังสีที่ทำให้ลูกสุนัขอบอุ่น และช่วยให้อัตราการสะสมแคลเซียมและฟอสฟอรัสในกระดูกสูงขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสุนัขทุกสายพันธุ์ และให้นำไฟกกออกเมื่อสุนัขปฏิเสธ โดยดูจากการเดินหนีออกจากบริเวณไฟกก

พัฒนาอาหารสุนัขวัยอ่อน

สร้างพัฒนาการลุกสุนัข

“ผมให้อาหารลูกสุนัขที่ผู้เชี่ยวชาญลูกสุนัขวัยอ่อนพัฒนาสูตรขึ้น ภายในแบรนด์ มันตา ชื่อ มันตา โกลด์ ลูกสุนัขจะกินมันตา โกลด์ ไปพร้อมๆ กับนมแม่สุนัข อย่างน้อย 1 เดือน เพื่อสร้างพัฒนาการที่ดี อาหารลูกสุนัขชนิดนี้เป็นอาหารกระป๋อง เนื้อนุ่มคล้ายมูส (Moose) มีความหนืดที่เหมาะสม และเมื่อความต้องการนมแม่น้อยลง ลูกสุนัขจะเข้าสู่อายุหย่านม เขาก็จะพร้อมกินอาหารเม็ด ซึ่งมันตา บลูด็อก เริ่มให้อาหารเม็ดกับลูกสุนัขหลังจากลูกสุนัขมีอายุ 28 วันขึ้นไป”

คุณอุดมศักดิ์ อธิบายว่า การบรีดสุนัข จำเป็นต้องคัดเลือกแม่สุนัขที่มีคุณลักษณะดี สุขภาพแข็งแรง ซึ่งหากพบว่าสุนัขตัวใดมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพ จะงดการผสม หรือหากสุนัขตั้งท้องแล้วมีปัญหาผิวหนัง เมื่อลูกสุนัขคลอดแล้วต้องหลีกเลี่ยงการสัมผัสตัวระหว่างลูกสุนัขและแม่สุนัข โดยอาจใช้ผ้าปิดตัวแม่สุนัขทั้งหมด ให้โผล่มาเฉพาะบริเวณหัวนมให้ลูกสุนัขดูดเท่านั้น หลังดูดนมเสร็จก็แยกลูกสุนัขออกทันที

ปัญหาด้านสุขภาพ ที่คุณอุดมศักดิ์ แนะให้เป็นข้อควรระวังในการเลี้ยงบลูด็อก คือ การเป็นลมแดด ภาวะนี้อาจเกิดขึ้นได้กับสุนัขสายพันธุ์บลูด็อก คือ เมื่อเจอภาวะร้อน ร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ทัน อวัยวะภายในและระบบสั่งการจากประสาทจะล้มเหลว สุนัขก็จะตาย ดังนั้น ข้อควรระวัง คือ ไม่ควรให้สุนัขอยู่ในที่ที่มีอากาศร้อนนานเกินไป เช่น การขังกรงตากแดด ทิ้งสุนัขให้อยู่ในรถนาน อย่างไรก็ตาม การออกกำลังกาย จำเป็นสำหรับสุนัขสายพันธุ์นี้เช่นกัน แต่ควรให้ออกกำลังกายอย่างพอดี ไม่เหนื่อยมากเกินไป เช่น การเดินบริเวณบ้าน จากจุดแรกไปปลายทางและกลับมาจุดที่เริ่มต้น ประมาณ 10-15 นาทีเท่านั้น จึงไม่ถือว่าเหนื่อยมาก

การแบ่งสัดส่วนพื้นที่เลี้ยงบลูด็อก ของมันตา บลูด็อก นั้น คุณอุดมศักดิ์ สร้างคอกสุนัขทำจากไม้ไว้ขนาด 60 เซนติเมตร คูณ 80 เซนติเมตร ต่อสุนัข 1 ตัว ขนาดพอดีตัวของสุนัข พื้นเป็นพื้นไม้ซี่ เพื่อให้สุนัขยืนได้อย่างมั่นคง และโรยขี้เลื่อยกับพื้นให้สุนัข ช่วยให้ข้อศอกไม่ด้าน ไม่มีแผลที่ข้อเท้า รวมถึงการโรยผงมันตา ดราย ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ดูดกลิ่น ซึ่งเหตุผลที่คุณอุดมศักดิ์เลือกใช้ผลิตภัณฑ์มันตา ดราย เพราะเป็นตัวดูดซับกลิ่นได้ดี ทำให้ไม่ต้องล้างคอกสุนัขและดูดความชื้นได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงสุนัขบลูด็อก สำหรับมันตา บลูด็อก แล้ว จะใช้วิธีเปิดแอร์ให้กับสุนัขตลอดเวลา

บลูด็อก แข็งกร้าว แต่ไม่ก้าวร้าว

ฝึกแบบเดียวกับสุนัขประกวด

เพราะคุณอุดมศักดิ์ วางเป้าหมายไว้ที่การบรีดสุนัขเพื่อการประกวด ทำให้มันตา บลูด็อก ถูกสร้างขึ้น เพื่อให้ได้ลูกสุนัขสายพันธุ์และคุณภาพดี ดังนั้น บลูด็อก ทุกตัวที่นี่จะได้รับการฝึกเช่นเดียวกับสุนัขประกวด รู้จักเคารพคน ไม่เฉพาะผู้ฝึกหรือผู้เลี้ยงเท่านั้น แต่จะรวมถึงคนทุกคนด้วย นอกจากนี้การฝึกยังทำให้บลูด็อกไม่กลัวเสียงดัง ไม่กลัวสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นผลดีต่อผู้เลี้ยงหรือเจ้าของสุนัข

แต่สิ่งหนึ่งที่คุณอุดมศักดิ์ เน้นย้ำ คือ บลูด็อก เป็นสุนัขที่แข็งกร้าว แต่ไม่ก้าวร้าว ดังนั้น การไม่ประมาทในการเลี้ยงสุนัขจึงเป็นสิ่งที่ผู้เลี้ยงควรใส่ใจ การใส่สายใจให้กับสุนัขเมื่ออยู่นอกคอกจึงไม่ควรละเลย แม้ปล่อยให้สุนัขเดินเล่นภายในบ้านก็ไม่ควรไว้วางใจ เพราะอุบัติเหตุอาจเกิดขึ้นได้ในพริบตาเดียว

สุนัขเด็กที่ออกจากบ้านมันตา บลูด็อก ต้องมีอายุอย่างน้อย 10 อาทิตย์

ในทุกการประกวด จะมีสุนัขจากบ้านมันตา บลูด็อก อย่างน้อย 3 ตัว ที่เข้าประกวด และไม่ต่ำกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ เป็นบลูด็อกที่บรีดจากบ้านมันตา บลูด็อก ได้รางวัล

คุณอุดมศักดิ์ นำความรู้และประสบการณ์ มาพัฒนาสายพันธุ์บลูด็อก ตามความรักที่มีต่อสุนัขสายพันธุ์บลูด็อก ซึ่งเขาพร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์หรือเผยแพร่ความรู้การเลี้ยงสุนัขสายพันธุ์บลูด็อกอย่างถูกต้อง ติดต่อคุณอุมศักดิ์ ได้ที่โทรศัพท์ 080 999 00 45 ยินดีตอบทุกคำถาม