ผู้เขียน | สุจิต เมืองสุข |
---|---|
เผยแพร่ |
ด้านทิศเหนือทางเข้ามณฑลพิธี มีภูมิสถาปัตยกรรมประกอบพระเมรุมาศ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่สำคัญอีกชิ้น และจัดเป็นไฮไลต์ของภูมิสถาปัตยกรรมในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เรียกอย่างเข้าใจง่ายว่า คันนาเลข ๙
บริษัท คอร์เดีย จำกัด มีส่วนในการจัดภูมิสถาปัตยกรรมที่งดงามครั้งนี้ โดย คุณไพฑูรย์ น้อยคำมูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท คอร์เดีย จำกัด ให้ข้อมูลโดยละเอียดถึงการจัดภูมิสถาปัตยกรรม คันนาเลข ๙ ว่า เป็นการจำลองโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่สำคัญมาไว้ในที่เดียวกัน ประกอบด้วย ข้าว หญ้าแฝก มะม่วงมหาชนก ยางนา โครงการฝายชะลอน้ำ โครงการแก้มลิงตามแนวพระราชดำริ กังหันน้ำชัยพัฒนา เครื่องตีน้ำชัยพัฒนา
พื้นที่ภูมิสถาปัตยกรรมส่วนนี้ มีพื้นที่ประมาณ 2 ไร่ ผู้ออกแบบได้ออกแบบไว้ว่า ให้แบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ฝั่ง ตั้งอยู่ด้านทิศเหนือ ระหว่างทางเข้ามณฑลพิธี แบ่งพื้นที่เป็นแปลงนา ทั้ง 2 ฝั่ง จำลองโครงการแก้มลิงตามแนวพระราชดำริ ทั้ง 2 ฝั่ง ฝั่งด้านถนนหน้าพระธาตุ มีพื้นที่มากกว่า จำลองโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่เอ่ยมาข้างต้นทั้งหมดมาไว้ ส่วนฝั่งด้านถนนราชดำเนินใน มีพื้นที่น้อยกว่า จำลองโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้แก่ แปลงนา หญ้าแฝก และโครงการแก้มลิงตามแนวพระราชดำริ
“ด้านฝั่งถนนราชดำเนินใน ขุดดินลงไปให้เป็นโครงการแก้มลิงตามแนวพระราชดำริ ปลูกหญ้าแฝกไว้ตามแนวโครงการแก้มลิงตามพระราชดำริ มีนาข้าวด้วยอีกส่วนหนึ่ง ภายในโครงการแก้มลิงตามพระราชดำริ ปลูกบัวที่มีดอกสีเหลือง แบ่งเป็น 3 วง แต่ละวงเป็นบัวสายสีเหลืองวงนอก และบัวหลวง หรือบัวสัตตบงกชวงใน”
คันนาเลข ๙
ในการออกแบบคันนาเลข ๙ ต้องการสื่อถึงรัชกาลที่ 9 จึงออกแบบให้มีเลขเก้าไทย เป็นคันนายกสูงขึ้นมาจากนา ความยาว 72 เมตร กว้าง 2 เมตร และมีความลาดเอียง 20 เซนติเมตร กลางพื้นที่ โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีรับสั่งให้คันนาเลข ๙ เป็นสีทองจากธรรมชาติ
การดำเนินการสร้างคันนาเลข ๙ นั้น เริ่มจากการขุดดินเพื่อสร้างเป็นโครงการแก้มลิงตามพระราชดำริ ดินที่ขุดขึ้นมานำไปไว้รวมกัน เพื่อคัดแยกดินสำหรับนำมาสร้างคันนาเลข ๙ และแม้ว่าจะคัดแยกดินแล้วก็ตาม ก็พบว่า ดินบริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวง เป็นดินทรายปนเศษอิฐและหิน ซึ่งหากจะนำไปสร้างให้ได้รูปคันนาเลข ๙ ตามที่ออกแบบไว้นั้น จะทำให้คันนาไม่อยู่ตัว ดังนั้น จึงคัดเลือกดินที่ขุดจากมณฑลพิธีท้องสนามหลวงไว้ส่วนหนึ่ง และนำทรายอีกส่วนหนึ่ง รวมถึงดินเหนียวจากโครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี มาผสมให้ได้สัดส่วนที่เหมาะสม ส่วนดินที่เหลือนำไปถมเป็นดินปลูกมะม่วงมหาชนก และยางนา รวมถึงคันนาธรรมดาที่ใช้เป็นส่วนแบ่งแปลงนาต่างระดับ โดยคันนาธรรมดา มีความกว้าง 50 เซนติเมตร
“ความยากของการสร้างคันนาเลข ๙ คือ การสร้างให้คันนามีความแข็งแรงและอยู่ทรงจนกว่าจะเสร็จสิ้นพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่มีข้อจำกัดเรื่องดิน คือ ไม่ให้นำดินบริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวงออกนอกบริเวณ และห้ามไม่ให้นำดินภายนอกเข้ามาปะปนบริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวงด้วยเช่นกัน การแก้ปัญหาดังกล่าว จึงมีทางออกโดยการนำดินจากโครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นโครงการของพระองค์มาใช้”
ลำดับการทำคันนาธรรมดาและคันนาเลข ๙ ต้องคำนึงถึงความคงรูป เริ่มจากการใช้ดินเดิมของมณฑลพิธีท้องสนามหลวงที่ขุดจากการสร้างโครงการแก้มลิงตามพระราชดำริมาใช้ จากนั้นนำหินคลุกที่ได้จากการลอกยางมะตอยเดิมบริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวง มาทำเป็นฐาน ใช้เครื่องบดบดอัดดินให้แน่นทั้งพื้นที่ก่อน แล้วนำดินเหนียวเข้ามาเติมให้ได้ความสูง 50 เซนติเมตร ก่อนบดอัดให้เหลือ 30 เซนติเมตร จากนั้นเติมดินเหนียวแล้วบดอัดซ้ำ จนกว่าความสูงหลังบดอัดจะเหลือ 1 เมตร เป็นอันเสร็จขั้นแรกของการทำคันนา
ขั้นตอนที่ 2 คือ การทำให้ดินมีสีเหลืองทอง โดยไม่ใช้สีสำเร็จรูป เริ่มจากการเตรียมผิวดิน จากเทคนิคบ้านดินผสมกับเทคนิคทรายล้าง คือ ใช้ซีเมนต์ผสมกับดินและทราย และเทลีน (Lean Concrete) ด้วยการผูกเหล็ก ทำโครงสร้างมีระดับทับไปที่ดินที่เราปรับองศาเรียบร้อยแล้ว ให้สูงขึ้นมาอีกประมาณ 5-10 เซนติเมตร เพื่อช่วยยึดสีให้ติดกับดินง่ายขึ้น จากนั้นเป็นการผสมสีให้ได้สีทอง สำหรับสีใช้ซีเมนต์ขาว ซีเมนต์ดำ ดิน ทราย สีฝุ่น และผงไมก้า เป็นส่วนผสม ผสมให้ได้สีเหลืองทองที่ต้องการ ในการผสมสีและลงสีเป็นการทำงานโดยใช้อุ้งมือไล้ ทั้งนี้ทรายที่ใช้เป็นส่วนผสมในงานชิ้นนี้ทั้งหมดเป็นทรายที่ได้นำมาจากโครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี
หลังการลงสี ขั้นตอนสุดท้าย คือ การเคลือบด้วยน้ำตาเทียนที่คันนาเลข ๙ ซึ่งเป็นเทคนิคการเคลือบแบบโบราณ จำนวน 2 ครั้ง
ยางนา
“เป็นไม้ที่เกี่ยวข้องกับพระองค์ ในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา”
นำมาปลูก จำนวน 9 ต้น เลือกต้นยางนาที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของลำต้นไม่เกิน 6 นิ้ว เพื่อให้สัมพันธ์กับความสูงของต้นยางนา ที่ควรสูงไม่เกิน 6 เมตร เพราะหากสูงเกินกว่านั้นจะบดบังทัศนียภาพของทับเกษตร ที่ตั้งอยู่ถัดไป
มะม่วงมหาชนก
ยังคงเป็นไม้ที่มีความเกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
มะม่วงมหาชนก ได้รับการยอมรับว่าเป็นพันธุ์ที่ถูกต้องตามหลักเพื่อการส่งออกสู่ตลาดต่างประเทศและตามหลักวิชาการ ถือว่าเป็นมะม่วงนามพระราชทาน กรมศิลปากร จึงคัดเลือกมะม่วงมหาชนกมาจัดในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร จำนวน 6 ต้น ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของลำต้นไม่เกิน 6 นิ้ว เพื่อให้สัมพันธ์กับความสูงของต้นมะม่วงมหาชนก ที่ควรสูงไม่เกิน 6 เมตร เพราะหากสูงเกินกว่านั้น จะบดบังทัศนียภาพของทับเกษตร ที่ตั้งอยู่ถัดไป
ฝายน้ำล้น
ฝายน้ำล้น หรือโครงการฝายชะลอน้ำ มีชื่อที่เรียกตามโครงการพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เกี่ยวกับวิศวกรรมแบบพื้นบ้าน ว่า “ฝายแม้ว” เป็นฝายชะลอน้ำกึ่งถาวรประเภทหนึ่ง โดยใช้วัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น เช่น กิ่งไม้ ก้อนหิน เพื่อกั้นชะลอน้ำให้ไหลช้าลงและขังอยู่ในพื้นที่นานพอที่พื้นที่โดยรอบจะดูดซึมไปใช้ เป็นการฟื้นฟูพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมให้เกิดความชุ่มชื้นมากพอที่จะพัฒนาการเป็นป่าสมบูรณ์ ทั้งยังใช้เพื่อการทดน้ำให้มีระดับสูงพอที่จะดึงน้ำไปใช้ในคลองส่งน้ำในฤดูแล้ง
ฝายน้ำล้น หรือ ฝายแม้ว จึงเป็นส่วนหนึ่งของผลงานด้านวิศวกรรม ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
คุณไพฑูรย์ กล่าวว่า การออกแบบสร้างฝายน้ำล้น หรือฝายแม้ว คำนึงถึงการนำวัสดุที่หาง่ายในท้องถิ่น จึงใช้ไม้ไผ่และก้อนหินเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง ขนาดและโทนสีให้มีความกลมกลืนและสวยงาม ตามคันนาเลข ๙ เพราะตั้งอยู่ในจุดใกล้กัน
กังหันน้ำชัยพัฒนา
ติดตั้งในโครงการแก้มลิงตามแนวพระราชดำริ จำนวน 2 ตัว
กังหันน้ำชัยพัฒนา หรือ เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย (Chaipattana Low Speed Surface Aerator) ซึ่งเป็น Model RX-2 หมายถึง Royal Experiment แบบที่ 2 มีคุณสมบัติในการถ่ายเทออกซิเจนได้สูงถึง 1.2 กิโลกรัม ของออกซิเจน/แรงม้า/ชั่วโมง สามารถนำไปใช้ในกิจกรรมปรับปรุงคุณภาพน้ำได้อย่างอเนกประสงค์ ติดตั้งง่าย เหมาะสำหรับใช้ในแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีความลึกมากกว่า 1 เมตร และมีความกว้างมากกว่า 3 เมตร
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหาน้ำเสียที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ และทรงห่วงใยต่อพสกนิกรที่ต้องเผชิญในเรื่องดังกล่าว เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2531 ได้พระราชทานพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาน้ำเสีย ด้วยการใช้เครื่องกลเติมอากาศ โดยพระราชทานรูปแบบสิ่งประดิษฐ์ที่เรียบง่าย แต่มีประสิทธิภาพสูงในการบำบัดน้ำเสีย ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในชื่อ กังหันน้ำชัยพัฒนา และนำมาใช้ในการปรับปรุงคุณภาพน้ำตามสถานที่ต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ
เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2536 กังหันน้ำชัยพัฒนา ได้รับการพิจารณาและทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธย นับเป็นสิ่งประดิษฐ์เครื่องกลเติมอากาศเครื่องที่ 9 ของโลกที่ได้รับสิทธิบัตร และเป็นครั้งแรกที่มีการรับจดทะเบียนและออกสิทธิบัตรให้แก่พระบรมราชวงศ์ด้วย จึงนับได้ว่า สิทธิบัตรในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์พระองค์แรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย และเป็นครั้งแรกของโลก
เครื่องตีน้ำชัยพัฒนา
เครื่องตีน้ำชัยพัฒนา หรือเครื่องกลเติมอากาศแบบตีน้ำสัมผัสอากาศ ติดตั้งในโครงการแก้มลิงตามแนวพระราชดำริ จำนวน 1 ตัว
เครื่องกลเติมอากาศแบบอัดอากาศและดูดน้ำนี้ มีโครงสร้างที่ประกอบด้วย ทุ่นลอยสำหรับติดตั้งชุดเครื่องอัดอากาศและดูดน้ำที่ขับด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ถูกติดตั้งอยู่ในลักษณะที่แกนมอเตอร์อยู่แนวดิ่ง เพื่อขับหมุนแกนหมุนหรือเพลาขับของชุดเครื่องดูดและอัดอากาศ และจะดูดอากาศจากบริเวณรอบๆ เป่าออกทางท่อเป่าอากาศ แกนหมุนนี้จะยื่นยาวต่อลงไปยังชุดปั๊มน้ำ ซึ่งจะดูดน้ำจากบริเวณก้นบ่อ และถูกฉีดพ่นออกทางท่อเวนทูรี ทำให้เกิดความแตกต่างของความดัน จนก่อให้เกิดแรงดูดอากาศจากท่อที่ต่อเข้ากับห้องผสมอากาศ และน้ำก่อนถูกฉีดพ่นออกที่บริเวณใต้ผิวน้ำในแนวระดับต่อไป
สำหรับเครื่องตีน้ำชัยพัฒนา หรือเครื่องกลเติมอากาศแบบอัดอากาศและดูดน้ำ ถือเป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ซึ่งเป็นประโยชน์ในภาคเกษตรกรรม
โครงการแก้มลิงตามแนวพระราชดำริ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระราชดำริให้ใช้ระบบการบริหารจัดการน้ำท่วม ด้วยวิธีการที่เรียกว่า “แก้มลิง” เป็นวิธีการที่สอดคล้องกับสภาพธรรมชาติ
ทรงใช้ประสบการณ์เปรียบเทียบ “ลิง” ที่กินกล้วยไว้ในกระพุ้งแก้มก่อนจะกลืนลงย่อยเป็นอาหาร โครงการแก้มลิงตามแนวพระราชดำริ จึงเปรียบเสมือนสถานที่เก็บพักน้ำชั่วคราว รอให้ระดับน้ำในคูคลองระบายน้ำพร่องลงแล้ว จึงระบายน้ำออกมา
โครงการแก้มลิงตามแนวพระราชดำริ ได้จัดสร้าง 2 จุด บริเวณแปลงนาฝั่งถนนหน้าพระธาตุ และแปลงนาฝั่งถนนราชดำเนินใน
หญ้าแฝก
นำมาประกอบภูมิสถาปัตยกรรมจำนวนกว่า 5,000 กระถาง แบ่งเป็นแฝกลุ่ม แฝกดอน และแฝกหอม
“บางส่วนของแฝกลุ่มที่นำมาประกอบภูมิสถาปัตยกรรมในครั้งนี้ มีกอที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงปลูกด้วยพระองค์เอง” คุณไพฑูรย์ กล่าว
แปลงนา
แปลงนา มีคันนาเลข ๙ เป็นเชิงสัญลักษณ์สื่อถึงพระเมรุมาศที่สร้างขึ้นถวายแด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เพื่อแสดงถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทย และเผยแพร่พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ทรงมีต่อการพัฒนาข้าวและชาวนาไทย
กรมการข้าว จัดพิธีบวงสรวงเมล็ดพันธุ์ข้าวด้วยพิธีพราหมณ์ ในเวลา 14.09 น. วันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2560 โดยคัดเลือกพันธุ์ข้าวที่มีกลิ่นหอม และแสดงถึงการเจริญเติบโตของต้นข้าวในระยะต่างๆ จำนวน 3 พันธุ์ รวมทั้งสิ้น 58,000 กระถาง (ใช้จริง 33,880 กระถาง สำรอง 33,880 กระถาง) ในพื้นที่ 1,610 ตารางเมตร ดังนี้
- ระยะต้นกล้า อายุข้าว 15 วัน เริ่มเพาะกล้า วันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2560 คือ พันธุ์ปทุมธานี 1 มีลักษณะทรงกอตั้ง ใบสีเขียวขจี ขนนุ่มคล้ายกำมะหยี่ เป็นตัวแทนของข้าวภาคกลาง ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานีเป็นผู้รับผิดชอบการเพาะปลูก
รวมพื้นที่ 920 ตารางเมตร จำนวน 14,720 กระถาง
- ระยะแตกกอ อายุข้าว 45 วัน เริ่มเพาะกล้า วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2560 คือ พันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 เป็นข้าวที่มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ออกมาจากลำต้น เป็นตัวแทนของข้าวในภาคอีสานและเหนือ ศูนย์วิจัยข้าวพระนครศรีอยุธยาเป็นผู้รับผิดชอบการปลูก
รวมพื้นที่ 353 ตารางเมตร จำนวน 5,650 กระถาง
- ระยะออกรวง อายุข้าว 80 วัน เริ่มเพาะกล้า วันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 คือ พันธุ์ข้าว กข 31 หรือพันธุ์ปทุมธานี 80 รับรองพันธุ์เมื่อ วันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2550 เป็นพันธุ์ข้าวที่ตั้งชื่อเพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติในโอกาสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา มีคุณสมบัติพิเศษ คือ เมื่ออยู่ในระยะออกรวงจะชูรวงสวยงาม ไม่โน้มรวงลงกับพื้นเหมือนพันธุ์อื่น การจัดแสดงครั้งนี้จะนำข้าวที่อยู่ในระยะพลับพลึงเกือบเป็นสีเหลืองทองมาจัดในแปลงนา ศูนย์วิจัยข้าวคลองหลวง เป็นผู้รับผิดชอบการปลูก
รวมพื้นที่ 337 ตารางเมตร จำนวน 3,750 กระถาง
คุณไพฑูรย์ น้อยคำมูล กล่าวว่า วงกลมภายในหัวเลข ๙ ของคันนาเลข ๙ กรมการข้าว ได้นำข้าว จำนวน 109 กระถาง แต่ละกระถางปลูกข้าว จำนวน 9 เมล็ด เพื่อสื่อถึงรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10