เหง้า-ใบ-ดอก-เกสร-ต้น ประโยชน์เพียบ! ‘กะทือ’ ของดีที่คนไทยหลงลืม?

กะทือ จัดเป็นสมุนไพรประจำบ้านที่สำคัญอย่างหนึ่ง ในอดีตมีการปลูกเพื่อใช้เป็นประโยชน์ทั้งด้านอาหารและยา เป็นไม้ที่ขึ้นง่าย คิดจะปลูกลงดินเป็นแปลงใหญ่หรือปลูกในกระถางก็ได้ เนื่องจากบางพื้นที่นิยมนำเอาดอกมาปักแจกันเป็นไม้ประดับสวยงามซึ่งดอกอยู่ทนทานไม่เหี่ยวง่าย สีสดใสด้วย

กะทือ เป็นไม้ล้มลุก ลำต้นเหนือดิน กลม สูง 1-1.5 เมตร มีเหง้าใต้ดิน ต้นจะเหี่ยวแห้งในหน้าแล้งแต่จะงอกขึ้นใหม่ในหน้าฝน

ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับในระนาบเดียวกัน ปลายใบแหลม โคนใบมนสอบ ขอบใบเรียบ แผ่นใบเรียบ สีเขียว ก้านใบเป็นกาบหุ้มลำต้น

ดอก ออกเป็นช่อแทงออกจากเหง้าขึ้นมา ช่อดอกรูปทรงกระบอก มีใบประดับสีเขียวแกมแดง เรียงซ้อนกันแน่นเป็นระเบียบ ดอกสีเหลือง โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ดอกบานไม่พร้อมกัน

ผล แบบผลแห้งแตก รูปทรงค่อนข้างกลม สีแดง เมล็ดสีดำชื่อสามัญในภาษาอังกฤษ มีเรียกหลากหลายชื่อตามแต่ละท้องถิ่น

กะทือ เป็นพืชที่น่าสนใจ มีการตั้งชื่อเรียกตามประโยชน์ใช้สอยด้วย เช่น เรียกว่า Shampoo Ginger เพราะมีการใช้ส่วนของใบและลำต้นนำไปใช้ในการสระผม หรือ Bitter ginger หรือ Wild Ginger เพราะใช้เป็นอาหารได้เหมือนขิง

แต่มีรสขม และที่เรียกว่าขิงป่าเพราะส่วนใหญ่นำมาจากป่า หรือเรียกตามรูปร่าง เช่น Pinecone ginger เพราะมีช่อดอกคล้ายลูกสน

ส่วนชื่อเรียกกะทือในประเทศไทยมายังไงไม่อาจสืบรู้ได้

แต่ในภาษาอีสานเรียกสมุนไพรชนิดนี้ว่า “อือทือ” ซึ่งพอจะอนุมานความหมายได้ว่า ดอกที่แทงขึ้นมาเป็นกลุ่ม

ภาพจาก medthai.com

กะทือ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Zingiber zerumbet (L.) Smith. ซึ่งจัดว่าเป็นพืชในวงศ์ขิง คนไทยนำส่วนดอกและเหง้ามารับประทานเป็นผัก หรือใส่ในน้ำพริก

ทางภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน นำเหง้าไปแกงกับปลาย่าง

คนอีสานมีภูมิปัญญาการกินอาหารสมุนไพรอย่างลึกซึ้ง จึงนิยมนำดอกกะทือมาต้มกินกับป่นหรือแจ่ว ช่วยขับลม ช่วยย่อย ได้เป็นอย่างดี

ในบางพื้นที่มีการใช้เหง้ามาประกอบอาหาร แต่เนื้อในจะมีรสขมและขื่นเล็กน้อยจึงต้องหั่นแล้วเอาไปขยำๆ กับน้ำเกลือ เพื่อแก้รสชาติไม่อร่อยนี้

ในด้านประโยชน์ทางยาสมุนไพร ทุกส่วนของกะทือสามารถนำมาใช้

เช่น ต้น แก้เบื่ออาหาร ช่วยเจริญอาหาร ทำให้รับประทานอาหารมีรส ใบ แก้ไข้ขับเลือดเน่าร้ายในเรือนไฟ แก้เบาเป็นโลหิต

ดอก แก้ไข้เรื้อรัง ผอมแห้ง ผอมเหลืองบำรุงธาตุ แก้ลม

เหง้า รักษาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด และปวดท้องบิดโดยใช้หัวหรือเหง้ากะทือสด ขนาดเท่าหัวแม่มือ 2 หัว (ประมาณ 20 กรัม) ย่างไฟพอสุก ตำกับน้ำปูนใสครึ่งแก้ว คั้นเอาน้ำดื่มเวลามีอาการ

ในทางการที่กล่าวไว้ในตำรายาไทย เหง้า (รสขมขื่นปร่า) แช่น้ำดื่ม แก้ร้อนใน บำรุงน้ำนม บำรุงธาตุ เหง้ากะทือถ้าผสมเหง้าไพล เผาไฟคั้นเอาน้ำดื่ม แก้บิด ขับผายลม แก้ท้องอืดเฟ้อ ขับปัสสาวะ แก้ปวดท้อง แก้ปวดเบ่ง แน่นท้องปวดบวม ขับเสมหะ เบื่ออาหาร เหง้ากะทือนำมาหมกไฟฝนกับน้ำปูนใสรับประทาน แก้บิดปวดเบ่ง แก้เสมหะเป็นพิษ แก้แน่นหน้าอก กล่อมอาจม ขับน้ำย่อยให้ลงสู่ลำไส้ แก้จุกเสียด

ราก (รสขมขื่นเล็กน้อย) แก้ไข้ตัวเย็น
ใบ (รสขมขื่นเล็กน้อย) ขับลม ขับเลือดเสียในมดลูก ขับน้ำคาวปลา
ดอก (รสขมขื่น) แก้ผอมเหลือง แก้ไข้เรื้อรัง ไข้ตัวเย็น ไข้จับสั่น
เกสร (รสเฝื่อนปร่า) แก้ลม บำรุงธาตุ
ต้น (รสขมขื่น) ทำให้เจริญอาหาร แก้ไข้แก้ฝี

นอกจากนี้ ในภูมิปัญญาท้องถิ่นนำเหง้าและรากช่วยแก้อาการเคล็ดขัดยอกได้ ให้นำหัวกะทือมาฝนแล้วใช้น้ำยาจากกะทือทาบริเวณที่มีอาการเคล็ดขัดยอก ซึ่งในน้ำมันหอมระเหยจากเหง้าน่าจะช่วยบรรเทาอาการได้ ปัจจุบัน มีการศึกษาพบว่าเหง้าหรือหัวกะทือมีน้ำมันหอมระเหย (Essential Oil) ที่ประกอบไปด้วยสาร Methyl-gingerol, Zingerone และ Citral ซึ่งสารเหล่านี้มีฤทธิ์ในการช่วยขับลมในท้อง สำหรับการทดสอบความเป็นพิษพบว่า มีความปลอดภัยสูง ไม่มีพิษเฉียบพลันในหนูทดลอง

ใครที่สนใจยาสมุนไพรแบบตำรับยาก็ขอบอกว่า ในตำรับยา “พิกัดตรีผลธาตุ” สมุนไพร 3 ชนิด คือ เหง้ากะทือ เหง้าไพล หัวตะไคร้หอม สรรพคุณบำรุงธาตุไฟ แก้ไข้ตัวร้อน และช่วยแก้เลือดกำเดาไหล

กะทือต้นนี้ยังเป็นที่นิยมใช้ในต่างประเทศ โดยเฉพาะในแถบอเมริกาใต้นิยมนำเอาใบและลำต้นใส่ไว้ในเตาไฟขณะที่ย่างหมูหรือปลา กลิ่นหอมจากใบและลำต้นกะทือจะทำให้เนื้อหมูหรือปลามีกลิ่นหอมน่ากินไปด้วย ถ้านำเหง้ามาทำให้แห้งบดเป็นผง ใส่ในผ้าที่พับเก็บไว้จะทำให้เสื้อผ้ามีกลิ่นหอมและสามารถนำมาใช้เป็นแชมพูสระผมได้ด้วย ส่วนของน้ำเมือกจากดอกนำมาใส่ผมทำให้ผมนุ่มเป็นมันเงางาม ผู้หญิงในฮาวายนิยมนำเอาดอกมาทุบใช้อาบน้ำ สระผมช่วยบำรุงผมและให้ผมและร่างกายมีกลิ่นหอม

ยังมีการศึกษาในต่างประเทศพบว่า น้ำคั้นจากดอกใช้ในการนวดตัวได้ดีมาก ลำต้นคั้นเอาน้ำมาดื่มในขณะเดินป่า แก้กระหายได้ดี เหง้านำมาบดให้เป็นผงใช้รักษาระบบทางเดินอาหาร ส่วนของเหง้าถ้าเก็บไว้ในที่เย็นและมืดจะเก็บไว้ได้นาน สามารถนำมาใช้ได้เมื่อต้องการ

ส่วนของเหง้าเมื่อนำมาบดรวมกับลูกยอบ้านใช้พอกแก้เคล็ดขัดยอก ใบ เหง้าใช้ทำลูกประคบ ประคบบริเวณที่ได้รับการบาดเจ็บ

เหง้านำไปทำให้สุก บดให้แหลกนำไปอุดในฟันที่ปวดช่วยลดอาการปวดฟันได้

เหง้านำไปบดละลายน้ำดื่มแก้อาการปวดท้อง

ในมาเลเซียใช้เหง้าในหลายรูปแบบ เช่น ลดการอักเสบ ลดการเจ็บปวด ขับพยาธิและรักษาอาการท้องเสีย

จากการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นเพียงการทดลองในหลอดทดลอง แต่ก็พบว่าเมื่อสกัดสารจากเหง้าของกะทือ จะมีสารเรียกว่า “ซีรัมโบน” (ZERUMBONE) พบว่า สามารถทำลายเซลล์ที่ตายแล้วของเซลล์มะเร็งที่ตับ หากศึกษากันลึกซึ้งขึ้นน่าจะพบประโยชน์จากะทือเพิ่มขึ้น

กะทือ จึงเป็นสมุนไพรที่มีประโยชน์อย่างมาก เป็นยาสามัญประจำบ้านใกล้ตัวที่ดี แต่น่าเสียดายทุกวันนี้คนไทยใช้น้อยลงๆ และเด็กรุ่นใหม่จำนวนมากไม่รู้จักต้นกะทือ แต่ไม่มีอะไรสาย หากนักวิชาการไทยมาร่วมมือกับเครือข่ายหมอพื้นบ้านปราชญ์ของชุมชน มาช่วยกันจัดการความรู้และศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาการใช้ประโยชน์ต่อไป กะทือเป็นสมุนไพรที่มีศักยภาพอีกต้นหนึ่ง

เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันอังคารที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2562