มหัศจรรย์ “ตรีผลา” ไม้ผล 3 ชนิด ต้านชรา ที่ดังไกลทั่วโลก!

ตรีผลาเป็นพิกัดยาแผนโบราณที่มีประวัติการใช้มายาวนาน จนได้รับความนิยมและเป็นที่รู้จักกันดีมากที่สุดตำรับหนึ่ง ไม่เฉพาะในหมู่ชาวไทย แต่ดังไกลไปทั่วโลก

จนมีคำกล่าวขวัญในหมู่ชาวฝรั่งที่เป็นแฟนคลับยาสมุนไพรว่า “เจ็บป่วยคราใด ไม่รู้จะใช้ยาอะไร ให้ใช้ตรีผลา” (When in doubt,use Triphala”)

ส่วนใหญ่คนไทยมักจะคุ้นกับสรรพคุณเป็นยาระบายของตรีผลา เพราะสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาก็อนุญาตให้ใช้สรรพคุณขอขึ้นทะเบียนไว้แค่นั้นเอง ทั้งที่งานวิจัยสมุนไพรได้ค้นพบสรรพคุณใหม่ๆ ของตรีผลามากกว่าที่คิด

“ตรีผลา” ที่นำมาวิจัยสรรพคุณนั้นเป็นสูตรตำรับพื้นฐานที่สุดคือประกอบด้วย เนื้อผลที่แก่เต็มที่ของ สมอไทย (ชื่อพฤกษศาสตร์ Terminalia chebula RetZ. ชื่อสามัญ Chebulic myrobalan) สมอพิเภก(ชื่อพฤกษศาสตร์ Terminalia belerica Roxb. ชื่อสามัญ Belleric myrobalan) และมะขามป้อม (ชื่อพฤกษศาตร์ Phyllanthus emblica L. ชื่อสามัญ Emblic Myrobalan) ในอัตราส่วนเสมอภาค 1:1:1 ตากแห้ง บดเป็นผงละเอียด

กรณีทดลองในคนเพื่อศึกษาฤทธิ์ระบายแก้ท้องผูกเรื้อรังและช่วยลดกรด ศึกษาในอาสาสมัครผู้ป่วยท้องผูกเรื้อรังทั้งสองเพศ อายุระหว่าง 16-52 ปี จำนวน 160 คน ใช้ตรีผลารูปแบบแคปซูล กินครั้งละ 2,500 มิลลิกรัม (2.5 กรัม) วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ติดต่อกันเป็นเวลา 1 เดือน

ผลสรุปคือ ตรีผลาช่วยให้การระบายดีขึ้น ทั้งยังช่วยลดกรด และไม่พบพิษข้างเคียงใดๆ

มะขามป้อม

กรณีศึกษากับอาสาสมัครไม่ระบุจำนวนในผู้ป่วยโรคเกาต์และโรคอ้วน พบว่าผู้ป่วยโรคเกาต์ที่รักษาด้วยการจำกัดอาหารโปรตีนมาเป็นเวลานาน แต่ไม่ได้ผล ซ้ำยังมีอาการปวดเป็นระยะๆ หลังจากรับประทานตรีผลาผสมมหาหิงคุ์ ครั้งละ 1,000 มิลลิกรัม วันละ 3 เวลา หลังอาหาร นาน 2-3 สัปดาห์ อาการดีขึ้น และเมื่อใช้อย่างต่อเนื่องไม่มีการกลับมาเป็นซ้ำทั้งยังไม่มีพิษข้างเคียงอีกด้วย

เมื่อใช้ตรีผลาผสมมหาหิงคุ์ในขนาดเดียวกันกับผู้ป่วยโรคอ้วนโดยเทียบกับยาหลอก พบว่าผู้ป่วยมีน้ำหนักลดอย่างมีนัยยะสำคัญ

สมอพิเภก (ภาพจากhttps://kuedchang.wordpress.com/)

การศึกษาในหนูทดลองที่ได้รับรังสีแกมมา โดยการฉีดสารสกัดน้ำของตรีผลาเข้าช่องท้องหนูขนาด 10 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักหนู 1 ก.ก. เป็นเวลา 30 วันหลังฉายรังสี พบว่าตรีผลาแสดงฤทธิ์ต้านรังสี (chemoprevention) ที่แรงมาก สามารถป้องกันอาการป่วยและการตายของหนูทดลองจากการฉายรังสี

นอกจากนี้ ยังพบว่าอาหารที่เสริมด้วยตรีผลา (Tribala in diet) 2.5% และ 5% สามารถลดการเกิดเนื้องอกที่ผนังกระเพาะอาหารส่วนต้นได้ถึง 77.77%

แต่เมื่อทดลองถ้าใช้อาหารเสริมตรีผลาในระยะยาวพบว่าการกินในขนาดที่น้อยกว่า คือ ผสม 2.5% ได้ผลดีกว่าผสมขนาด 5% ได้ผลดีคือ 66.66% และ 62.50% ตามลำดับ

และยังพบว่าตรีผลาแสดงฤทธิผลรวมในการต้านอนุมูลอิสระได้ดีกว่าสมุนไพรตัวเดี่ยวทั้งสามชนิด

สมอไทย

ดังนั้น เมื่อรับประทานตรีผลา จึงไม่ได้รับสรรพคุณเพียงเป็นยาระบายแก้ท้องผูก แต่ยังช่วย ป้องกันความเสื่อมของเซลล์อันเป็นสาเหตุของโรคเรื้อรังหลายประการ เช่น ผิวพรรณหมองคล้ำ ปวดข้อปวดเข่า ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด นักวิจัยแนะนำขนาดรับประทานตรีผลาได้ตลอดชีวิตอย่างปลอดภัย เพื่อสุขภาพที่ดีและทำให้อายุยืนคือ ครั้งละ 1-2 กรัม (1,000-2,000 มิลลิกรัม) วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันจันทร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ.2562