กรมหม่อนไหม ยกระดับคุณภาพมาตรฐาน “ผ้าทอโบราณนาหมื่นศรี” จ.ตรัง

กรมหม่อนไหม เดินหน้าสืบสาน รักษา ต่อยอด “ผ้าทอโบราณนาหมื่นศรี” เมืองตรัง อยู่คู่ชุมชนอย่างยั่งยืน เร่งปั้นเด็กรุ่นใหม่เป็น “ทายาท” เพื่อสืบทอดการทอผ้านาหมื่นศรี รวมทั้งเร่งตรวจสอบรับรองยกระดับมาตรฐานเป็นตรานกยูงพระราชทานในปีนี้ หวังผลักดันให้เป็นที่ยอมรับทั้งตลาดภายในและต่างประเทศมากยิ่งขึ้น พร้อมวางเป้าชู 21 พื้นที่ ยกระดับงานโครงการพระราชดำริด้านหม่อนไหมทั่วประเทศ

นางสาวศิริพร บุญชู อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวว่า ปัจจุบัน ผ้าทอนาหมื่นศรีมีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับด้านมาตรฐานในตลาดอย่างกว้างขวางและเป็นผ้าทอที่มีการอนุรักษ์สืบทอดลวดลายผ้ามาตั้งแต่โบราณกว่า 400 ปี อยู่อย่างยาวนานและยั่งยืน ปัจจุบัน ผ้าทอนาหมื่นศรี ได้มีการอนุรักษ์ พัฒนา และยกระดับคุณภาพ จนได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทย (ตรานกยูงพระราชทาน) 2 ประเภท คือตรานกยูงพระราชทานสีน้ำเงิน (Thai Silk) ประเภทผ้าถุง ชนิดผ้ายก ประเภทลายประยุกต์ และตรานกยูงพระราชทานสีเขียว (Thai Silk Blend ) ประเภทผ้าคลุมไหล่ ชนิดผ้า ผ้ายก ประเภทลาย ลายประยุกต์ ชื่อลาย แก้วชิงดวง นอกจากนี้ กลุ่มยังอยู่ระหว่างการขอรับการรับรองตรานกยูงพระราชทานสีเงิน (Classic Thai Silk)

นางสาวศิริพร บุญชู อธิบดีกรมหม่อนไหม

สำหรับตรานกยูงพระราชทานนั้น กรมหม่อนไหม เป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการให้การรับรอง ซึ่งตราดังกล่าว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญลักษณ์นกยูงไทยให้เป็นเครื่องหมายรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทย ซึ่งเรียกว่า “ตรานกยูงพระราชทาน” พระราชทานให้เป็นสัญลักษณ์รับรองคุณภาพผ้าไหมไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล

ซึ่ง ปี 2562 นี้ กรมหม่อนไหม วางแผนส่งเสริมให้มีการผลิตผ้าไหมไทยตรานกยูงพระราชทานแก่เกษตรกรและผู้ประกอบการอย่างกว้างขวางขึ้น เพื่อสืบสาน รักษา ต่อยอด และสนองพระราชปณิธานของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์ และคุ้มครองไหมไทยไว้เป็นสมบัติของชาติสืบไป ซึ่งปัจจุบันกรมหม่อนไหมได้ส่งเสริมการใช้เครื่องหมายรับรองผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยตรานกยูงพระราชทานให้แพร่หลายทั่วโลก

กรมหม่อนไหม ได้มีการจดทะเบียนเครื่องหมายรับรองตรานกยูงพระราชทานในต่างประเทศอีก 35 ประเทศ ได้แก่ กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป จำนวน 27 ประเทศ จีน นอร์เวย์ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ อินเดีย และฮ่องกง รวมทั้งส่งเสริมช่องทางการจำหน่ายสินค้าผ้าไหมไทยตรานกยูงพระราชทาน ผลิตภัณฑ์จากหม่อนและไหมของเกษตรกรให้ถึงมือผู้บริโภคโดยตรง

นางสาวศิริพร กล่าวว่า กรมหม่อนไหม นอกจากเร่งส่งเสริม “ตรานกยูงพระราชทาน” แล้ว ปัจจุบัน กรมหม่อนไหม ได้ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนงานพัฒนาหม่อนไหมตามนโยบาย “สืบสาน รักษา ต่อยอด” ประกอบด้วย

1.โครงการสืบสานงาน “พ่อ” ด้วยการยกระดับงานโครงการพระราชดำริด้านหม่อนไหมในพื้นที่ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ พร้อมขยายผลไปยังจุดเรียนรู้ขยายผลเกษตรทฤษฎีใหม่ด้านหม่อนไหม จำนวน 21 แห่ง ทั่วประเทศ

2.โครงการสานต่องาน “แม่” ด้วยการเดินหน้าขับเคลื่อนหมู่บ้านมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ จำนวน 21 แห่ง 3.โครงการรักษาพื้นที่โครงการพระราชดำริอนุรักษ์ภูมิปัญญาและทรัพยากรหม่อนไหม จำนวน 5 แห่งโดยเน้น “รักษา คน รักษา อาชีพ” ภายใต้ “โครงการสร้างทายาทหม่อนไหมในโรงเรียน” และ

4.โครงการต่อยอดโครงการพระราชดำริสู่การผลิตหม่อนไหมครบวงจร จำนวน 4 แห่ง เป็นการคืนประโยชน์สู่สังคมภายใต้โครงการกำลังใจ ณ เรือนจำชั่วคราว รวมทั้งเตรียมเปิดแหล่งท่องเที่ยวหม่อนไหม จำนวน 4 แห่ง ในพื้นที่โครงการศิลปาชีพบ้านห้วยเดื่อ จ.แม่ฮ่องสอน ศูนย์ศิลปาชีพป้าทุ้ม –ป้าไท้ จ.สกลนคร พื้นที่กะเหรี่ยงโปร์ ต.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี และโครงการส่งเสริมอาชีพหม่อนไหม บางกระเจ้า

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการสืบทอดและอนุรักษ์อาชีพทอผ้าไหมให้อยู่คู่สังคมไทยแบบยั่งยืน กรมหม่อนไหม ได้มอบหมายให้สำนักงานหม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ เขต 5 จังหวัดชุมพรขับเคลื่อนโครงการสร้างทายาทหม่อนไหมให้แก่ลูกหลานของสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรีและเด็กรุ่นใหม่ที่มีความสนใจในการทอผ้า เพื่อสร้างคนรุ่นให้เป็นทายาทในการทอผ้านาหมื่นศรี ซึ่งปัจจุบันมีเด็กรุ่นใหม่ที่ทอผ้า อยู่จำนวน 18 ราย จะทอผ้าพื้น ผ้าขาวม้า และผ้ายกดอก

ซึ่งเด็กแต่ละคนจะมีรายได้จากการทอผ้า เฉลี่ยรายละ 2,500 – 3,000 บาท นอกจากนี้ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรีได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มบริษัทเซ็นทรัลในการเข้ามาร่วมปรับปรุงอาคารสถานที่ในการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ อาคารจัดแสดง พิพิธภัณฑ์ผ้าซึ่งแสดงความเป็นมาของผ้านาหมื่นศรี การบริหารจัดการสินค้า และการประชาสัมพันธ์สินค้าของวิสาหกิจชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรีให้มีความเข้มแข็งด้านตลาดอีกด้วย

“สำหรับแผนส่งเสริมการตลาดและจำหน่ายผ้าทอนาหมื่นศรี ปัจจุบัน นอกจากมีตลาดหลักในชุมชนแล้ว ยังได้มีการทำสัญญาซื้อขายกับ บริษัท FILA เพื่อเปิดไอเดีย เพิ่มความแปลกใหม่ของดีไซน์ในรูปแบบความเป็นไทย ด้วยผ้าขาวม้าไทย ฝีมือคนไทย ชาวจังหวัดตรัง จากชุมชมผ้านาหมื่นศรี FILA มีความตั้งใจจริงที่จะช่วยสร้างอาชีพและพัฒนาชุมชนที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของไทยและด้วยความที่ FILA เป็นแบรนด์แฟชั่น จึงเล็งเห็นความสำคัญของ “ผ้าไทย” และอยากร่วมอนุรักษ์การทอผ้าด้วยกี่ต่อไป ร่วมสนับสนุนความเป็นไทยให้ไปไกลระดับโลก ซึ่งมีสถานที่จำหน่าย อาทิ ซุปเปอร์สปอร์ต เซ็นทรัลลาดพร้าว เซ็นทรัลพระราม 9 เซ็นทรัลพัทยาบีช เซ็นทรัลภูเก็ตเฟติวัล เซ็นทรัลเวิลด์ เซ็นทรัลชิดลม และ Supersports Online ทั้งนี้ บริษัท FILA สั่งทอผ้าลวดลายดังกล่าว จำนวน 3,000 หลา เพื่อใช้สำหรับการแปรรูปผลิตภัณฑ์อีกด้วย” นางสาวศิริพร กล่าว

อธิบดีกรมหม่อนไหมกล่าวด้วยว่า สำหรับการส่งเสริมและพัฒนาด้านหม่อนไหมในพื้นที่จังหวัดตรังนั้น นอกจากกรมหม่อนไหมมีแผนในการส่งเสริม พัฒนาและอนุรักษ์และสืบทอดผ้าทอโบราณนาหมื่นศรีแล้ว ปัจจุบันยังได้ส่งเสริมอาชีพการเกษตรการปลูกมัลเบอร์รี่ให้แก่เกษตรกรบ้านนาเมร่ ตำบลนาโยงเหนือและพื้นที่ใกล้เคียงอีกด้วย ปัจจุบันกลุ่มดังกล่าวมีสมาชิกจำนวนประมาณ 25 คน ถือเป็นเกษตรกรกลุ่มแรก และเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดของ จ.ตรัง ที่ปลูกหม่อนผลสดหรือมัลเบอร์รี่มาปลูกในพื้นที่มีปริมาณผลผลิตประมาณ 1,350 กิโลกรัม ต่อไร่ ต่อปี จำหน่ายในกิโลกรัมละ 150 บาท ทำให้กลุ่มมีรายได้สุทธิต่อปีจากการขายผลสด อยู่ที่ 142,800 บาท ต่อปี

นอกจากนี้ ยังได้มีการวางแผนการจัดการภายในแปลงตามหลักวิชาการและได้รับรองมาตรฐาน GAP และกลุ่มยังใช้วิธีการดูแลแบบธรรมชาติเพื่อให้ผลผลิตออกมามีคุณภาพดี และปลอดสารพิษ 100% และได้นำผลผลิตมาแปรรูปผลิตภัณฑ์ อาทิ มัลเบอรี่พร้อมดื่ม แยมมัลเบอรี่ ข้าวเกรียบมัลเบอรี่ มัลเบอรี่กวน สบู่มัลเบอรี่ และมีการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้สวยงามและมีมาตรฐาน ขณะเดียวกันยังคงมีการตอนกิ่งจำหน่ายเป็นรายได้เสริม และกำลังดำเนินการเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ผ่านมาตรฐาน อย. และ มาตรฐานฮาลาล และพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มอีกด้วย โดยมีตลาดหลักในกลุ่มคนรักสุขภาพที่ต้องการประโยชน์ด้านการบำรุงสมองและร่างกาย ส่งผลให้สินค้าหม่อนได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น มีแหล่งจำหน่ายที่กลุ่ม การจำหน่ายในโรงพยาบาล และโรงเรียน