รถกำจัดวัชพืช-หว่านปุ๋ยอินทรีย์มันสำปะหลัง ลดสารเคมี ประหยัดเงินชาวไร่ ที่เมืองอุบลฯ

ที่แปลงทดลองปลูกมันสำปะหลังอินทรีย์ กลุ่มบริษัท อุบลไบโอเอทานอล จำกัด ร่วมกับ กรมวิชาการเกษตร และมูลนิธิสถาบันพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทย นำเกษตรกรกว่า 200 คน ที่เข้าร่วมโครงการปลูกมันสำปะหลังอินทรีย์จากหลายอำเภอของจังหวัดอุบลราชธานี เข้าดูการทำงานนวัตกรรมใหม่เครื่องกำจัดวัชพืชและใส่ปุ๋ยอินทรีย์ลงในแปลงมันสำปะหลังในเวลาเดียวกัน

เกษตรกรเข้าร่วมงาน

ซึ่งคิดค้นและออกแบบโดย คุณวุฒิพล จันทร์สระคู นักวิศวการเกษตร ศูนย์วิจัยเกษตรกรรมขอนแก่น สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร โดยการทำงานของเครื่องกำจัดวัชพืชและหว่านปุ๋ยนี้ ใช้รถแทรกเตอร์ขนาดเล็กเป็นตัวลากชุดถังเก็บและโรยปุ๋ยหมัก ขนาด 300 กิโลกรัม ได้ครั้งละ 2 แถว มีอัตราการโรย 500-1,000 กิโลกรัม ต่อไร่

ส่วนด้านล่างของถังโรยปุ๋ยหมัก ติดตั้งชุดกำจัดวัชพืชแบบผาลจาน ขนาด 4 ผาล และสามารถปรับมุมเอียงของผาลใช้ไถพลิกดินได้ตามสภาพดินในไร่มันสำปะหลังของแต่ละพื้นที่

เกษตรกรดูการสาธิต

การคิดค้นและออกแบบชุดกำจัดและโรยปุ๋ยไปพร้อมกันนี้ คุณวุฒิพล กล่าวว่า สืบเนื่องจากการทำไร่มันสำปะหลังอินทรีย์หรือไร่มันสำปะหลังทั่วไป ซึ่งเริ่มปลูกในเดือนเมษายนของทุกปี กว่าหัวมันจะโตเก็บเกี่ยวได้ เกษตรกรต้องคอยดูแลกำจัดวัชพืชที่เกิดตามร่องเป็นเวลานานหลายเดือน ซึ่งวัชพืชสำคัญของไร่มันสำปะหลังก็คือ หญ้า

ในไร่มันสำปะหลังของเกษตรกรจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งนิยมปลูกแบบอินทรีย์ ต้องเสียค่าจ้างแรงงานมากำจัดวัชพืชไม่น้อยกว่าไร่ละ 1,000 บาท ส่วนเกษตรกรที่ปลูกมันสำปะหลังแบบเคมี ก็จะหันไปใช้ยาฆ่าหญ้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของเกษตรกร

เกษตรกรสนใจมาก

แต่เมื่อมีรถกำจัดและโรยปุ๋ยที่ออกแบบขึ้นมา จะช่วยประหยัดค่าจ้างแรงงานและไม่ต้องใช้สารเคมีไปฆ่าหญ้า เนื่องจากผาลที่ไถพรวนดินจะเป็นตัวกำจัดวัชพืชที่เกิดขึ้นตามร่องของมันสำปะหลังอย่างอัตโนมัติ

และประสิทธิภาพการทำงานของรถกำจัดวัชพืชชนิดนี้ ยังใช้เวลารวดเร็วในการทำงาน คือเฉลี่ย 2-2.5 ไร่ ต่อชั่วโมง ทำให้เกษตรกรไม่ต้องอยู่กลางไร่เป็นเวลานานๆ เหมือนในอดีต และมีอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงเพียง 2.5 ลิตร และมูลค่าของเครื่องต้นแบบนี้ มีราคาประมาณ 50,000 บาท เท่านั้น

ใช้ไม่ยาก

ด้าน คุณจักรพรรดิ์ วุ้นสีแซง ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 กรมวิชาการเกษตร กล่าวถึงประสิทธิภาพ หากเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังนำเครื่องกำจัดวัชพืชและโรยปุ๋ยอินทรีย์ไปใช้ จะเกิดประโยชน์ไม่ใช่เฉพาะลดค่าแรงงานอย่างเดียวแก่เกษตรกรที่ปลูกมันสำปะหลังอินทรีย์ ยังช่วยเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลัง ซึ่งขณะนี้ตลาดมีความต้องการมันสำปะหลังอินทรีย์เป็นจำนวนมาก แต่เกษตรกรมีกำลังการผลิตจำกัด และมีปัญหาด้านการกำจัดวัชพืชที่มาทำลายผลผลิต ทำให้เก็บเกี่ยวผลผลิตได้น้อย เมื่อนำรถที่ศูนย์วิจัยเกษตรกรรมขอนแก่น สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร คิดค้นขึ้นมาก็จะได้ผลผลิตเต็มที่

สาธิตการใช้

และยังมีผลถึงเกษตรกรที่ปลูกมันสำปะหลังแบบเคมี ก็สามารถนำเครื่องจักรชนิดนี้ใช้กำจัดวัชพืช โดยไม่จำเป็นต้องมาใช้สารไกลโฟเซต หรือพาราควอต ซึ่งเป็นสารกำจัดวัชพืชที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของเกษตรกรอย่างร้ายแรงขณะนี้ หากมีการนำเครื่องกำจัดวัชพืชใช้อย่างกว้างขวาง จะช่วยลดการใช้สารทั้งสองชนิดได้อย่างมากด้วย

คุณอุทิศ ประดิษฐ์ศิลป์ เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังบ้านนาสะแบง ตำบลหนองกินเพล อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวถึงต้นทุนการผลิตในปีแรก น่าจะใกล้เคียงกับการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช แต่มีผลดีคือ ไม่ต้องรับสารเคมีเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งตนเคยมีประสบการณ์ เมื่อยังปลูกมันสำปะหลังโดยใช้สารเคมี ทำให้สารเคมีที่ใช้กำจัดหญ้าไหลลงมารวมกันอยู่ตามร่อง เมื่อมีแผลเพียงเล็กน้อย แล้วไปสัมผัสถูกเข้า ก็ทำให้ร่างกายเกิดเป็นแผลติดเชื้อต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล 2-3 วัน ทุกวันนี้จึงหันมาทำเกษตรแบบอินทรีย์

คุณอุทิศ ประดิษฐ์ศิลป์

สำหรับประโยชน์ของรถกำจัดวัชพืชที่นำมาสาธิตให้ดูในวันนี้ ตนเชื่อว่าเกิดประโยชน์กับเกษตรกรที่นำไปใช้ ทั้งลดค่าใช้จ่ายด้านแรงงาน ทำให้เกษตรกรมีกำไรเพิ่มขึ้น เพราะไม่ต้องจ้างคนมาฉีดยาฆ่าวัชพืช เมื่อมีเครื่องมือเกษตรกรก็จะหันมาทำเอง ก็ทำให้มีกำไรมากขึ้น

สำหรับจังหวัดอุบลราชธานี เป็นจังหวัดเดียวของประเทศไทย ที่มีการปลูกมันสำปะหลังแบบอินทรีย์ โดยปีการผลิต 2559/2560 ซึ่งเป็นปีแรกที่กรมวิชาการเกษตรร่วมกับ กลุ่มบริษัท อุบลไบโอเอทานอล จำกัด สนับสนุนเกษตรกรให้ปลูกมันสำปะหลังแบบอินทรีย์ โดยมีการประกันราคารับซื้อผลผลิตทั้งหมด ในราคาที่สูงกว่ามันสำปะหลังทั่วไป กิโลกรัมละเกือบ 2 บาท มีเกษตรกรเข้าร่วมเพียง 9 ราย และมีพื้นที่ใช้เพาะปลูกรวมกันเพียง 28 ไร่เศษ ใน 3 อำเภอ

แต่หลังจากนั้น เมื่อเกษตรกรเห็นผลผลิตมันสำปะหลังที่ให้น้ำหนักของมันมากกว่ามันสำปะหลังแบบเคมี พร้อมมีต้นทุนการผลิตถูกกว่า ก็มีเกษตรกรสนใจเข้าร่วมในปีต่อๆ มาเพิ่มแบบก้าวกระโดด

สำหรับฤดูการผลิตมันสำปะหลัง 2562/2563 นี้ มีพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้นเป็น 12 อำเภอ กว่า 11,000 ไร่ จำนวนเกษตรกรที่เข้าร่วมเป็นรุ่นที่ 4 คือ 1,921 ราย

คุณวุฒิพล จันทร์สระคู

สำหรับผลผลิตมันสำปะหลังแบบอินทรีย์ทั้งหมด ถูกนำไปแปรรูปทำเป็นแป้งมัน ส่งให้กับผู้ผลิตขนมปังและอาหารการกิน และปีนี้มีราคารับประกันซื้อมันสำปะหลังแบบอินทรีย์ที่ กิโลกรัมละ 3-3.50 บาท

ส่วนเกษตรกรหรือผู้สนใจรายใดต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเครื่องกำจัดวัชพืชและโรยปุ๋ยอินทรีย์ ที่ศูนย์วิจัยเกษตรกรรมขอนแก่น คิดค้นขึ้นมาใช้ครั้งนี้ สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 043-255-038 ในเวลาราชการ