เรื่องน่ารู้ของเครือหมาน้อย ภูมิปัญญา อาหารของไทลื้อ

เดิมชาวลื้อ หรือไทลื้อ มีถิ่นฐานที่อยู่บริเวณ เมืองลื้อหลวง จีนเรียกว่า “ลือแจง” ต่อมาได้เคลื่อนย้ายลงมาอยู่ บริเวณเมืองหนองแส หรือที่เรียกว่า คุนหมิงในปัจจุบัน แล้วย้ายลงมาสู่ลุ่มน้ำน้ำโขง สิบสองปันนาปัจจุบัน ประมาณศตวรรษที่ 12 จึงเกิดมีวีรบุรุษชาวไทลื้อชื่อ เจ้าเจื๋องหาญ ได้รวบรวมหัวเมืองต่าง ๆ ในสิบสองปันนา  ปัจจุบันตั้งเป็นอาณาจักรแจ่ลื้อ (เซอลี่) โดยได้ตั้งศูนย์อำนาจการปกครองเอาไว้ที่หอคำเชียงรุ่งนาน790 ปี ต่อมาถึง สมัยเจ้าอิ่นเมือง ครองราชย์ต่อมาในปี ค.ศ. 1579-1583 (พ.ศ. 2122-2126) ได้แบ่งเขตการปกครองเป็นสิบสองหัวเมือง แต่ละหัวเมืองให้มีที่ทำนา 1,000 หาบข้าว (เชื้อพันธุ์ข้าว) ต่อนาหนึ่งที่หรือหนึ่งหัวเมือง จึงเป็นที่มาจนถึงปัจจุบัน เมืองสิบสองปันนา (ที่มาของคำว่า สิบสองพันนา อ่านออกเสียงเป็น “สิบสองปันนา”)

ชาวไทลื้ออาศัยอยู่สองฝั่งแม่น้ำโขง คือ ด้านตะวันออกและตะวันตกของแม่น้ำ มีเมืองต่าง ๆ ดังนี้   ภาษาไทลื้อ ได้กล่าวไว้ว่า ห้าเมิงตะวันตก หกเมิงตะวันออก รวมเจียงฮุ่ง (เชียงรุ่ง) เป็น 12 ปันนา และทั้ง 12 ปันนานั้น ประกอบด้วยเมืองใหญ่น้อยต่างๆ เช่น

ฝั่งตะวันตก : เชียงรุ่ง, เมืองฮำ, เมืองแช่, เมืองลู, เมืองออง, เมืองลวง, เมืองหุน, เมืองพาน, เมืองเชียงเจิง, เมืองฮาย, เมืองเชียงลอ และเมืองมาง

ฝั่งตะวันออก : เมืองล้า, เมืองบาน, เมืองแวน, เมืองฮิง, เมืองปาง, เมืองลา, เมืองวัง, เมืองพง, เมืองหย่วน, เมืองมาง และเมืองเชียงทอง

ต้นแอ่งแทะ (ใบหมาน้อย)

ชาวไทลื้อบางส่วนได้อพยพ หรือ ถูกกวาดต้อน ออกจากเมืองเหล่านี้เมื่อประมาณหนึ่งร้อยถึงสองร้อยปีที่ผ่านมา แล้วลงมาตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศตอนล่าง เช่น พม่าลาว และไทย

ส่วนในต่างประเทศนั้น มีการกระจายตัวกันเกือบทุกประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เช่นในรัฐฉาน ประเทศพม่า ประเทศลาว ประเทศเวียดนาม(เมืองแถน และ เมืองเดียนเบียนฟู ก็มีการบันทึกไว้ว่ามีชาวไทลื้อ อยู่ที่นั่นด้วย)

ชาวไทลื้อมีชีวิตที่คล้ายคลึงกับชาวไทยหรือชนเผ่าอื่นๆทางภูมิภาค คือมีการสร้างบ้านเรือนเป็นบ้านไม้ มีใต้ถุนสูง มีครัวไฟบนบ้าน ใต้ถุนเลี้ยงสัตว์ แต่ในปัจจุบันวิถีชีวิตได้เปลี่ยนไป การสร้างบ้านเรือนก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย เรือนที่ยังคงสภาพเป็นเรือนไม้แบบเดิมสถาปัตยกรรมแบบไทลื้อผสมล้านนายังพอจะมีให้เห็นบ้างในบางชุมชน เช่น บ้านธาตุสบแวน และบ้านหย่วน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา

ชาวไทลื้อส่วนใหญ่เป็นพุทธศาสนิกชนที่เคร่งครัด นิยมสร้างวัดในชุมชนต่างๆ แทบทุกชุมชนของชาวไทลื้อ ทั้งยังตกแต่งด้วยศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์งดงาม มีการบูรณะ ซ่อมแซม ให้คงสภาพดีอยู่เสมอ ซึ่งปัจจุบันเหลืออยู่เพียงบางแห่ง เช่น วิหารวัดดอนมูล วิหารวัดหนองแดง วิหารวัดหนองบัว วิหารวัดท่าฟ้าใต้ วิหารวัดแสนเมืองมา(วัดมาง) วิหารวัดหย่วน เป็นต้น

ศิลปะที่โดดเด่นของชาวไทลื้อได้แก่งานผ้าทอไทลื้อ นิยมใช้ผ้าฝ้าย บางสมัยนิยมใช้เส้นไหมจากต่างถิ่น  ทอลวดลายที่เรียกว่า “ลายเกาะ” ด้วยเทคนิคการล้วง ซึ่งปัจจุบันนิยมเรียกว่า ลายน้ำไหล มีการฟื้นฟูและถ่ายทอดศิลปะ การทอผ้าแบบไทลื้อในหลายชุมชนของภาคเหนือในปัจจุบัน

ใบแอ่งแทะ (ใบหมาน้อย)

ในชุมชนไทลื้อมีการปลูกเครือหมาน้อยเพื่อทำวุ้นเครือหมาน้อย โดยชาวไทลื้อเรียกว่า  แองแทะ เพื่อนำไปทำเป็นอาหารหวานและอาหารคาว มีสรรพคุณเป็นยาเย็น แก้ร้อนใน ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ ส่วนคนไทยเลยยังใช้น้ำคั้นจากรากและใบของเครือหมาน้อยใส่ในแกงหน่อไม้แทนใบย่านาง

ปัจจุบันกลุ่มอินแปง จังหวัดสกลนคร มีการเพาะกล้าเครือหมาน้อยจำหน่าย และยังพบว่าในตลาดมหาชัยเมืองใหม่ พระราม 2 มีใบสดของเครือหมาน้อยวางขายอยู่ในตลาดด้วย เครือหมาน้อยทำเป็นวุ้นได้เพราะในใบมีสารเพคตินธรรมชาติถึงร้อยละ 30 สารเพคตินนี้ จะเป็นพวกเดียวกับวุ้นพุงทะลายหรือวุ้นในเม็ดแมงลัก เพคตินมีคุณสมบัติในการพองตัวอุ้มน้ำเป็นการเพิ่มกากอาหารให้ลำไส้ ช่วยในการขับถ่าย ลดระยะเวลาของอุจจาระที่ตกค้างอยู่ในลำไส้ ช่วยดูดซับสารพิษที่เกิดขึ้นจากการย่อยกากอาหารของเชื้อจุลินทรีย์ หรือสารพิษตกค้างอื่นๆ เป็นการลดปัจจัยหรือความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ ทั้งยังลดการดูดซึมของน้ำตาลและไขมัน จึงเหมาะที่จะใช้เป็นอาหารของผู้ป่วยเบาหวานและคอเลสเตอรอลในเลือดสูงได้ดี

ใบแอ่งแทะ (ใบหมาน้อย)

เครือหมาน้อย หมอยาพื้นบ้านทุกภาคนิยมใช้รากเครือหมาน้อย เป็นยาแก้ปวดเมื่อยตามตัว แก้ปวดหลังปวดเอว แก้ไข้ แก้เจ็บคอ ไข้ออกตุ่ม โดยจะฝนกินหรือต้มกินก็ได้ จะใช้เดี่ยวๆ หรือใช้ร่วมกับสมุนไพรตัวอื่นหรือใส่ในยาชุม (ยาตำรับที่มีสมุนไพรหลายชนิดผสมกัน) ที่รักษาโรคและอาการเหล่านั้นได้ เช่นเดียวกับหมอยาพื้นบ้านชาวบราซิลที่ใช้เครือหมาน้อยในการแก้ไข้ แก้ปวด และหมอยาพื้นบ้านชาวอินเดียแดงก็ใช้การต้มใบและเถาของเครือหมาน้อยกินเพื่อแก้ปวด การศึกษาสมัยใหม่พบว่าเครือหมาน้อยมีฤทธิ์แก้ปวด แก้อักเสบได้ดี ซึ่งสนับสนุนการใช้ของหมอยาพื้นบ้านเหล่านั้น  ส่วนพ่อหมอประกาศ ใจทัศน์ ที่บ้านน้อมเกล้า อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร ใช้รากเครือหมาน้อยฝนกับน้ำมะพร้าวให้กินแทนน้ำไปเรื่อยๆ เพื่อรักษาประดงไฟ ซึ่งมีลักษณะอาการออกร้อนตามตัว ซึ่งภาษาทางการแพทย์เรียกว่า burning sensation

เครือหมาน้อย…ยาของผู้หญิง หมอยาไทยพวนใช้หัวของเครือหมาน้อยฝนกินกับน้ำแก้ปวดประจำเดือน แก้ไข้ทับระดู ปรับสมดุลของประจำเดือนให้เป็นปกติทั้งอาการที่มีประจำเดือนมากหรือน้อย ซึ่งคล้ายกับการใช้ของหมอยาพื้นบ้านประเทศในแถบอเมริกาใต้และอเมริกาเหนือ โดยหมอยาเหล่านั้นใช้เถา ราก ใบ เปลือก ของเครือหมาน้อยระงับอาการปวดทั้งก่อนคลอดและหลังคลอด ทั้งใช้รักษาอาการตกเลือดหลังคลอด โดยให้ฉายาเครือหมาน้อยว่า สมุนไพรของหมอตำแย (Midwives’s herb) ทั้งยังใช้ในการแก้ปัญหาที่เกี่ยวกับระบบประจำเดือนของผู้หญิง เช่น อาการปวดประจำเดือน มีประจำเดือนออกมามากเกินไป อาการไม่สบายก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual syndrome, PMS) รวมทั้งรักษาสิวที่เกิดจากความผิดปกติของฮอร์โมน โดยมีความเชื่อร่วมกันว่า เครือหมาน้อยเป็นยาปรับสมดุลฮอร์โมนของผู้หญิง การใช้เครือหมาน้อยในสรรพคุณนี้มีการใช้อย่างต่อเนื่องกันมาเป็นพันๆ ปี จนถึงปัจจุบัน

ยำแอ่งแทะ หรือ ยำน้ำใบหมาน้อย

การใช้เครือหมาน้อยเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิงนั้น หมอยาไทยใหญ่ก็มีการใช้เหมือนกัน โดยหมอยาไทยใหญ่บางท่านเรียกเครือหมาน้อยว่า “ยาไม่มีลูก” โดยใช้รากของเครือหมาน้อยต้มกินไปเรื่อยๆ แทนยาคุมกำเนิด (แต่ปัจจุบันไม่แนะนำให้ใช้เพราะมียาคุมกำเนิดที่ดีอยู่แล้ว)

เครือหมาน้อย…ช่วยย่อย หมอยาสมุนไพรไทยใช้เครือหมาน้อยเป็นยารักษาระบบทางเดินอาหารในหลายๆ อาการ เช่น ใช้เป็นยาช่วยย่อยอาหาร แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ จุกท้อง แก้กินผิด (อาการวิงเวียนศีรษะ มืนหัวหลังกินอาหารบางชนิด) แก้ท้องบิด แก้ท้องเสีย แก้เจ็บท้อง (อาการปวดเกร็งที่ท้อง) แก้ถ่ายเป็นเลือด โดยใช้รากต้มกิน หมอยาพื้นบ้านในอเมริกาใต้ก็ใช้เครือหมาน้อยในสรรพคุณเดียวกัน คือใช้ต้านอาการปวดเกร็งทั่วไป และใช้รักษาโรคลำไส้แปรปรวน (Irritable bowel syndrome, IBS) โรคลำไส้อักเสบ เป็นต้น การศึกษาสมัยใหม่พบว่า เครือหมาน้อยมีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อและต้านเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด รวมทั้งเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดท้องเสีย

เครือหมาน้อย…ยาเย็น ข้อมูลจากการสัมมนาหมอยาพื้นบ้านเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว หมอยาในจังหวัดปราจีนบุรีแนะนำให้ขยี้ใบเครือหมาน้อยให้เป็นวุ้นพอกรักษาฝี อาการปวดบวมตามข้อ หรืออาการอักเสบของผิวหนัง ผดผื่น คัน รวมทั้งจากแมลงสัตว์กัดต่อย นอกจากนั้นยังใช้พอกหน้าสำหรับผู้หญิงที่เป็นสิวผิวพรรณไม่ดีอีกด้วย

เครือหมาน้อย…ลดความดัน   เครือหมาน้อยยังใช้เป็นยาลดความดันในกลุ่มหมอยาไทยใหญ่ โดยใช้ทั้งต้นต้มน้ำกิน หมอยาพื้นบ้านบราซิลก็ใช้เครือหมาน้อยในสรรพคุณนี้เช่นกันโดยใช้ราก ต้น เปลือก ใบ ของเครือหมาน้อยต้มกิน เพื่อใช้ในการรักษาโรคความดันโลหิตสูง นิ่ว ทางเดินปัสสาวะอักเสบ การศึกษาสมัยใหม่พบว่า สารสกัดจากเครือหมาน้อยสามารถลดความดันโลหิตในสัตว์ทดลองได้

สำรับอาหาร ของชาวไทลื้อ

เครือหมาน้อย…ยาอายุวัฒนะ   หมอยาไทยเลยจะใช้รากเครือหมาน้อยทำเป็นผงละลายกินกับน้ำผึ้ง หรือขยี้กับน้ำดื่มเป็นยาอายุวัฒนะ รวมทั้งใช้รากเครือหมาน้อยไปเป็นส่วนประกอบในแป้งเหล้า โดยเชื่อว่าจะช่วยบำรุงร่างกาย ซึ่งชนเผ่า Creoles ใน Guyana จะแช่ใบ เปลือก ราก ในเหล้ารัมเพื่อบำรุงสมรรถภาพทางเพศ ไม่ควรใช้ในคนท้อง

วิธีทำอาหารจากเครือหมาน้อย ชาวไทลื้อ ในอำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ได้นำภูมิปัญญาดั้งเดิม คือการทำอาหารจากใบเครือหมาน้อย หรือแองแทะ คนพื้นเมือง ทางภาคเหนือ เรียกว่า อ่อนหล้อน โดยเลือกใบเครือหมาน้อย(แองแทะ)ที่มีสีเขียวเข้มที่โตเต็มที่แล้วประมาณ 10-20 ใบ ล้างให้สะอาดแล้วนำมาขยี้กับน้ำสะอาด ๑ ถ้วย เวลาขยี้ใบจะรู้สึกเป็นเมือกลื่นๆ เมื่อขยี้จนได้น้ำสีเขียวเข้มให้กรองเอากากใบเครือหมาน้อย (แองแทะ) ออก บางคนคั้นน้ำจากใบย่านางใส่ลงไปด้วยจะทำให้วุ้นแข็งตัวเร็ว จากนั้นนำน้ำวุ้นที่ได้ปรุงรสตามชอบ หากต้องการรับประทานเป็นของคาวก็เติมพริกป่น ปลาป่น เนื้อปลาต้มสุก หัวหอม น้ำปลา ข้าวคั่ว ใบหอม และผักชีหั่น ถ้าอยากแซบก็ใส่น้ำปลาร้าแทนน้ำปลาก็ได้ หรือถ้าต้องการรับประทานเป็นของหวาน อาจคั้นน้ำใบเตยใส่เพิ่มลงไป การใส่เกลือลงไปเล็กน้อยจะช่วยให้วุ้นแข็งตัวเร็วขึ้น แต่อย่าใส่มากจะออกรสเค็ม ตั้งทิ้งไว้อีกประมาณ 4-5 ชั่วโมง น้ำคั้นจะจับตัวเป็นก้อนเหมือนวุ้น มักเรียกว่า วุ้นหมาน้อย แล้วเติมน้ำหวานหรือน้ำตาลลงไป รับประทานเป็นอาหารว่างที่ทั้งอร่อยและมีประโยชน์ทางยา อีกด้วย

ชาวไทยพวนนิยมคั้นเครือหมาน้อยกับใบย่านาง จะทำให้วุ้นเครือหมาน้อยแข็งตัวได้ดีกว่า เพราะในใบย่านางจะมีเกลือแร่อยู่จำนวนหนึ่งที่ทำให้เกิดเป็นวุ้นได้เร็วขึ้น เช่นเดียวกับการใส่น้ำปลา น้ำปลาร้า หรือเกลือ ช่วยทำให้เกิดวุ้นได้ดีเช่นกัน  เครือหมาน้อยเป็นสมุนไพรที่มีการใช้กันมาอย่างต่อเนื่องในหมู่หมอยาพื้นบ้านในแถบอเมริกาใต้และอเมริกาเหนือนานนับพันปีจนถึงปัจจุบันและเป็นที่น่าแปลกใจว่าแม้อยู่กันคนละทวีปกับบ้านเรา แต่ก็มีการใช้ในสรรพคุณที่เหมือนๆ กันเป็นส่วนใหญ่