“ผ้าทอโบราณนาหมื่นศรี” สินค้าของดีจังหวัดตรัง

“ผ้าทอนาหมื่นศรี” เป็นสินค้าหัตถกรรมที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของคนไทยมายาวนานหลายร้อยปี หลักฐานการจดบันทึกในเอกสารจดหมายเหตุ พระราชกิจรายวัน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร. 6) ช่วงที่เสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ ร.ศ. 128 ได้ทอดพระเนตรผ้าทอที่เมืองตรัง สมุหเทศาภิบาลมณฑลได้ทรงจัดผ้าพรรณทุกอย่างซึ่งเป็นของทำในพื้นบ้าน เช่น ผ้ายก ผ้าราชวัตร ผ้าตาสมุก ผ้าคาด ผ้าเช็ดหน้า ถวายประทานแจกแก่ข้าราชการตามสมควร

ลักษณะพิเศษของผ้าทอนาหมื่นศรี อยู่ที่โครงสร้างของผืนผ้า ลวดลาย และสี เนื่องจากผู้ทอเป็นช่างที่มีฝีมือ สามารถนำลวดลายต่างๆ มารวมไว้บนผืนผ้า เช่น ลายลูกแก้วใหญ่ ลายดอกจัน ลายแก้วชิงดวง ฯลฯ ลายแก้วชิงดวงของที่นี่มีลักษณะลวดลายเป็นวงกลมหรือรูปไข่เกี่ยวร้อยทับกันภายในช่องที่เป็นใจกลางมีลูกแก้วฝูง 4 เม็ด ส่วนช่องที่เกี่ยวทับกัน 4 ช่อง ใน 1 วง จะมีลูกแก้วฝูง ช่องละ 2 เม็ด ซึ่งจะอยู่ในเขตของวงกลม 2 วง เหมือนแก้ว 2 ดวง แย่งชิงกันอยู่ จึงเรียกชื่อลายว่า แก้วชิงดวง เอกลักษณ์ที่โดดเด่นของผ้าทอของที่นี่ก็คือ ผ้าห่ม ผ้าเช็ดหน้ายกดอก ที่ชาวบ้านทอขึ้นเพื่อใช้เอง จะมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นในเรื่องสี เพราะนิยมใช้ด้ายยืนสีแดง ยกดอกสีเหลืองเป็นหลัก

ชาวบ้านจะผ้าทอนาหมื่นศรี โดยใช้กี่ 2 ชนิด คือกี่พื้นเมือง และกี่กระตุก โดยทั่วไป ผ้าทอนาหมื่นศรี แบ่งตามลักษณะโครงสร้างของผืนผ้าได้ 3 ชนิด ได้แก่ ผ้าพื้น ผ้าตา และผ้ายกดอก ซึ่งมีการทอหลายรูปแบบตามประโยชน์ใช้สอย ได้แก่ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าสำหรับนุ่งห่ม เช่น ผ้าผืนยาวสำหรับโจงกระเบน ผ้าถุง ผ้าโสร่ง ผ้าขาวม้า ผ้าเบี่ยงหรือผ้าสไบ ผ้าพาดบ่า (มักใช้ลวดลายดั้งเดิม ในอดีตเคยมีการทอผ้าเป็นคำสอนในพระพุทธศาสนา) และผ้าทอด้วยจุดประสงค์พิเศษ เช่น ผ้าอาสนะ ผ้าตั้ง และผ้าพานช้าง (เป็นการทอผ้าเช็ดหน้าต่อกันหลายผืน เพื่อใช้ในพิธีงานศพ เจ้าภาพจะตัดแยกเพื่อถวายพระเมื่อเสร็จพิธี)

ชาวบ้านภาคใต้นิยมมีผ้าขาวม้าไว้ประจำตัว สำหรับใช้งานอเนกประสงค์ ทั้งเป็นผ้าห่มและผ้าห้อยไหล่ ทำให้ “ผ้าขาวม้าลายราชวัตร” ของชุมชนแห่งนี้ขายดีตลอดทั้งปี ผ้าขาวม้าลายราชวัตรของวิสาหกิจชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี อำเภอนาโยง มีลักษณะพิเศษไม่เหมือนใครเพราะเป็นผ้าฝ้ายทอมือที่มีขนาดใหญ่กว่าผ้าขาวม้าทั่วไป ส่วนกลางผืนจะทอสลับสีเป็นลายราชวัตรที่ละเอียดประณีต มีลายยกสลับเป็นเชิงคั่นก่อนถึงชายหรือเชิงผ้าซึ่งทอเป็นริ้ว ขอบริมผ้ามีสีแดง

ปัจจุบัน ผ้าทอนาหมื่นศรี นับเป็นมรดกแห่งภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่สร้างความภาคภูมิใจของชาวจังหวัดตรัง เพราะเป็นของขวัญของฝากที่มีชื่อเสียงของตรัง และได้รับการคัดเลือกให้เป็นสินค้าโอท็อป 5 ดาว ของจังหวัด ช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพ และรายได้ให้กับชาวบ้านในท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน

กรมหม่อนไหมรักษาต่อยอด
“ผ้าทอโบราณนาหมื่นศรี”

กรมหม่อนไหมเดินหน้าสืบสาน รักษา ต่อยอด “ผ้าทอโบราณนาหมื่นศรี” เมืองตรังอยู่คู่ชุมชนอย่างยั่งยืน เร่งปั้นเด็กรุ่นใหม่เป็น “ทายาท” เพื่อสืบทอดการทอผ้านาหมื่นศรี ในปี 2562 เร่งตรวจสอบรับรองยกระดับมาตรฐานเป็นตรานกยูงพระราชทาน หวังผลักดันให้เป็นที่ยอมรับทั้งตลาดภายในและต่างประเทศมากยิ่งขึ้น

คุณศิริพร บุญชู อธิบดีกรมหม่อนไหม

คุณศิริพร บุญชู อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวว่า ปัจจุบันผ้าทอนาหมื่นศรีมีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับด้านมาตรฐานในตลาดอย่างกว้างขวางและเป็นผ้าทอที่มีการอนุรักษ์สืบทอดลวดลายผ้ามาตั้งแต่โบราณกว่า 400 ปีอยู่อย่างยาวนานและยั่งยืน ปัจจุบันผ้าทอนาหมื่นศรีได้มีการอนุรักษ์ พัฒนาและยกระดับคุณภาพ จนได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทย (ตรานกยูงพระราชทาน) 2 ประเภท คือ ตรานกยูงพระราชทานสีน้ำเงิน (Thai Silk) ประเภทผ้าถุง ชนิดผ้ายก ประเภทลายประยุกต์ และตรานกยูงพระราชทานสีเขียว (Thai Silk Blend) ประเภทผ้าคลุมไหล่ ชนิดผ้า ผ้ายก ประเภทลาย ลายประยุกต์ ชื่อลาย แก้วชิงดวง นอกจากนี้ กลุ่มยังอยู่ระหว่างการขอรับการรับรองตรานกยูงพระราชทานสีเงิน (Classic Thai Silk)

กรมหม่อนไหมเป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการให้การรับรอง ตรานกยูงพระราชทาน ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญลักษณ์นกยูงไทยให้เป็นเครื่องหมายรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทย ซึ่งเรียกว่า “ตรานกยูงพระราชทาน” พระราชทานให้เป็นสัญลักษณ์รับรองคุณภาพผ้าไหมไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล

ในปี 2562 นี้กรมหม่อนไหมมีแผนที่จะส่งเสริมให้มีการผลิตผ้าไหมไทยตรานกยูงพระราชทานแก่เกษตรกรและผู้ประกอบการอย่างกว้างขวางขึ้นเพื่อสืบสาน รักษา ต่อยอด และสนองพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์และคุ้มครองไหมไทยไว้เป็นสมบัติของชาติสืบไป

ปัจจุบันกรมหม่อนไหมได้ส่งเสริมการใช้เครื่องหมายรับรองผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยตรานกยูงพระราชทานให้แพร่หลายทั่วโลกโดยได้มีการจดทะเบียนเครื่องหมายรับรองตรานกยูงพระราชทานในต่างประเทศอีก 35 ประเทศ ได้แก่ กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป จำนวน 27 ประเทศ จีน นอร์เวย์ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ อินเดีย และฮ่องกง รวมทั้งส่งเสริมช่องทางการจำหน่ายสินค้าผ้าไหมไทยตรานกยูงพระราชทาน ผลิตภัณฑ์จากหม่อนและไหมของเกษตรกรให้ถึงมือผู้บริโภคโดยตรง

 

คุณศิริพร กล่าวถึงแผนส่งเสริมการตลาดและจำหน่ายผ้าทอนาหมื่นศรีด้วยว่า นอกจากมีตลาดหลักในชุมชนแล้ว กลุ่มวิสาหกิจชุมชนทอผ้านาหมื่นศรีได้มีการทำสัญญาซื้อขายกับบริษัท FILA เพื่อเปิดไอเดีย เพิ่มความแปลกใหม่ของดีไซน์ในรูปแบบความเป็นไทย ด้วยผ้าขาวม้าไทย ฝีมือคนไทย ชาวจังหวัดตรัง จากชุมชนผ้านาหมื่นศรี FILA มีความตั้งใจจริงที่จะช่วยสร้างอาชีพและพัฒนาชุมชนที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของไทยและด้วยความที่ FILA เป็นแบรนด์แฟชั่นจึงเล็งเห็นความสำคัญของ “ผ้าไทย” และอยากร่วมอนุรักษ์การทอผ้าด้วยกี่ต่อไปร่วมสนับสนุนความเป็นไทยให้ไปไกลระดับโลก ซึ่งมีสถานที่จำหน่าย อาทิ ซุปเปอร์สปอร์ต เซ็นทรัลลาดพร้าว เซ็นทรัลพระราม 9 เซ็นทรัลพัทยาบีช เซ็นทรัลภูเก็ตเฟติวัล เซ็นทรัลเวิลด์ เซ็นทรัลชิดลม และ Supersports Online ทั้งนี้ บริษัท FILA สั่งทอผ้าลวดลายดังกล่าว จำนวน 3,000 หลา เพื่อใช้สำหรับการแปรรูปผลิตภัณฑ์อีกด้วย

นอกจากนี้ กรมหม่อนไหมได้มอบหมายให้สำนักงานหม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ เขต 5 จังหวัดชุมพรขับเคลื่อนโครงการสร้างทายาทหม่อนไหมให้แก่ลูกหลานของสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรีและเด็กรุ่นใหม่ที่มีความสนใจในการทอผ้า เพื่อสร้างคนรุ่นให้เป็นทายาทในการทอผ้านาหมื่นศรี ซึ่งปัจจุบันมีเด็กรุ่นใหม่ที่ทอผ้า อยู่จำนวน 18 ราย จะทอผ้าพื้นผ้าขาวม้า และผ้ายกดอก ซึ่งเด็กแต่ละคนจะมีรายได้จากการทอผ้าเฉลี่ยรายละ 2,500-3,000 บาท

นอกจากนี้ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรีได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มบริษัทเซ็นทรัลในการเข้ามาร่วมปรับปรุงอาคารสถานที่ในการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ อาคารจัดแสดง พิพิธภัณฑ์ผ้าซึ่งแสดงความเป็นมาของผ้านาหมื่นศรี การบริหารจัดการสินค้า และการประชาสัมพันธ์สินค้าของวิสาหกิจชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรีให้มีความเข้มแข็งด้านตลาดอีกด้วย

สำหรับการส่งเสริมและพัฒนาด้านหม่อนไหมในพื้นที่จังหวัดตรังนั้น นอกจากกรมหม่อนไหมมีแผนในการส่งเสริม พัฒนาและอนุรักษ์และสืบทอดผ้าทอโบราณนาหมื่นศรีแล้ว ปัจจุบันยังได้ส่งเสริมอาชีพการเกษตรการปลูกมัลเบอร์รี่ให้แก่เกษตรกรบ้านนาเมร่ ตำบลนาโยงเหนือ และพื้นที่ใกล้เคียงอีกด้วย

 

ปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรีมีสมาชิกจำนวน 25 คน ถือเป็นเกษตรกรกลุ่มแรก และยังเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัดตรังที่ได้ปลูกหม่อนผลสดหรือมัลเบอร์รี่มาปลูกในพื้นที่มีปริมาณผลผลิตประมาณ 1,350 กิโลกรัม ต่อไร่ ต่อปี จำหน่ายในกิโลกรัมละ 150 บาท ทำให้กลุ่มมีรายได้สุทธิต่อปีจากการขายผลสดอยู่ที่ 142,800 บาท ต่อปี

นอกจากนี้ วิสาหกิจชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรียังได้มีการวางแผนการจัดการภายในแปลงตามหลักวิชาการและได้รับรองมาตรฐาน GAP และกลุ่มยังใช้วิธีการดูแลแบบธรรมชาติเพื่อให้ผลผลิตออกมามีคุณภาพดี และปลอดสารพิษ 100% และได้นำผลผลิตมาแปรรูปผลิตภัณฑ์ อาทิ มัลเบอร์รี่พร้อมดื่ม แยมมัลเบอร์รี่ ข้าวเกรียบมัลเบอร์รี่ มัลเบอร์รี่กวน สบู่มัลเบอร์รี่ และมีการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้สวยงามและมีมาตรฐาน

ขณะเดียวกัน วิสาหกิจชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรีมีการตอนกิ่งจำหน่ายเป็นรายได้เสริม และกำลังดำเนินการเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ผ่านมาตรฐาน อย. และ มาตรฐานฮาลาลและพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มอีกด้วย เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนรักสุขภาพที่ต้องการประโยชน์ด้านการบำรุงสมองและร่างกาย ส่งผลให้สินค้าหม่อนได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น มีแหล่งจำหน่ายที่กลุ่ม การจำหน่ายในโรงพยาบาลและโรงเรียน เป็นหลัก