“ชะเอมเทศ” สมุนไพรอิมพอร์ตในตำรับยาไทย ประโยชน์เยอะ แต่คนความดันสูงต้องระวัง!

ชะเอมเทศ เป็นสมุนไพรนำเข้ามาจากประเทศจีน! บางครั้งจึงเรียกว่า “ชะเอมจีน”

ประเทศไทยนำเข้าสมุนไพรที่ปลูกในประเทศจีนมากมาย เช่น อบเชยจีน และบรรดาพืชตระกูลโกฐ โกฐจุฬาลัมพา โกฐเขมา โกฐเชียง ฯลฯ และก็ ชะเอมเทศ

กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับหลายหน่วยงานไทยและทางการจีน ทำโครงการในการส่งเสริมการปลูกสมุนไพรที่นำเข้าจากจีน เพื่อลดภาระและช่วยกระตุ้นให้วงการปลูกสมุนไพรชนิดที่คนไทยใช้กันจำนวนมาก นำมาปลูกในประเทศไทย ซึ่งชะเอมเทศจึงเป็นหนึ่งในสมุนไพรที่ทำการสำรวจและประเมินคุณภาพ โดยออกเก็บตัวอย่างชะเอมเทศในท้องตลาด 10 ตัวอย่าง เพื่อวิเคราะห์คุณภาพ

เนื่องจาก ชะเอมเทศ เป็นพืชเชิงพาณิชย์ มีการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมลูกอม ใช้แต่งรสหวานและกลิ่นต่างๆ วงการอุตสาหกรรมจึงแบ่งเกรดตามขนาดรากชะเอมเทศ ดูจากเส้นผ่านศูนย์กลางของราก ถ้าใหญ่กว่า 1.9 ซ.ม. ได้เกรดเอ และลดหลั่นลงจนขนาดเล็กกว่า 0.6 ซ.ม. เป็นเกรดอีบ๊วยสุด

แต่การศึกษาที่ทำกันไม่ได้ดูเฉพาะรากอวบใหญ่หรือแห้งเป็นไม้จิ้มฟันเท่านั้น เขาดูลักษณะทางเคมีและสาระสำคัญในรากชะเอมเทศด้วย โดยเปรียบเทียบกับเกณฑ์มาตรฐานของเภสัชตำรับประเทศอังกฤษ (British Pharmacopoeia) และเภสัชตำรับของประเทศจีน (Pharmacopoeia of the People’s Republic of China) ปรากฏว่าชะเอมเทศที่ขายในตลาดเมืองไทย เป็นประเภท “กลางๆ” คือ ไม่มีอวบใหญ่เกรดเอ แต่ก็ไม่มีแห้งหดเกรดอี

แต่ผู้อ่านควรมีความรู้เบื้องต้นด้วยว่า ส่วนของสมุนไพรที่นำมาใช้อาจปนเปื้อนสารเคมีอันตรายได้ ดังเช่น ชะเอมเทศ ซึ่งใช้ราก เป็นตัวยาสำคัญ ดังนั้น รากก็จะดูดซับสารต่างๆ ไว้ด้วย หากดินพื้นที่ใดมีสารพิษก็พลอยดูดอมพิษมาสู่ตัวยาได้ด้วย ในการศึกษาจาก 10 ตัวอย่างนั้น ผู้บริโภคไทยสบายใจได้ว่า ไม่พบสารตะกัวทั้ง 10 ตัวอย่าง

สำหรับสารหนู ฟังชื่อก็ตกใจกันแล้ว พบว่าทั้ง 10 ตัวอย่าง มีสารหนูด้วย แต่ยังดีที่พบในปริมาณ 0.03 – 0.30 มิลลิกรัม ต่อกิโลกรัม ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานที่ตั้งไว้ที่ 0.40 มิลลิกรัม ต่อกิโลกรัม เรียกว่ารอดมาอย่างหวุดหวิด

แต่สำหรับ แคดเมี่ยม พบว่า มี 5 ตัวอย่าง ไม่พบเลย แต่อีก 5 ตัวอย่าง พบว่า มีปริมาณ 0.67 – 0.90 มิลลิกรัม ต่อกิโลกรัม ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานตั้งไว้เพียง 0.30 เท่านั้น ดังนั้น 10 ตัวอย่าง ที่นำมาศึกษา พบว่าครึ่งต่อครึ่งปลอดภัย แต่อีกครึ่งมีสารแคดเมี่ยมอยู่ในเกณฑ์ไม่ปลอดภัย ดีที่ยังไม่สูงปรี๊ด และการใช้ชะเอมเทศเป็นยาเป็นการกินเป็นครั้งคราว มิใช่อาหารที่กินอย่างต่อเนื่อง

พื้นที่ที่ปลูกชะเอมจีนของไทยมีหลายพื้นที่เช่น จังหวัดชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ และอุดรธานี ซึ่งทุกพื้นที่ได้วิเคราะห์ดินไม่ให้มีการปนเปื้อนตะกั่ว สารหนูและแคดเมี่ยมแต่อย่างใด เมื่อเราสามารถปลูกชะเอมจีนสัญชาติไทยได้ จะช่วยลดการนำเข้า และทำให้วัตถุดิบยาไทยมีคุณภาพยิ่งขึ้น

ชะเอมเทศ ใช้ในตำรับยาไทยมากมาย ตั้งแต่ ตำรับยาหอม ยาอำมฤควาที ตำรับยาไทยแก้หวัด ที่มีชะเอมเทศเป็นตัวยา หรือพิกัดยาที่มีของ 4 สิ่งหรือสมุนไพร 4 ชนิด พิกัดจตุทิพยคันธา แปลได้ว่า ยาที่มีกลิ่นหอมดังกลิ่นทิพย์ 4 อย่าง คือ รากมะกล่ำเครือ รากชะเอมเทศ ดอกพิกุล เหง้าขิงแครง ตำรับยานี้มีสรรพคุณ บำรุงธาตุ บำรุงหัวใจ แก้เสมหะ แก้ลมปั่นป่วน

สรรพคุณชะเอมเทศตามตำราจีน กล่าวว่า ชะเอมเทศ มีรสอมหวาน สุขุม และคุณสมบัติค่อนข้างเย็นเล็กน้อย ช่วยระบายความร้อน ขับพิษ ป้องกันและรักษาแผลในกระเพาะอาหาร ช่วยย่อยอาหาร แก้ไอ ขับเสมหะ ทำให้ชุ่มคอ แก้อาการใจสั่น แก้ลมชัก หมอจีนทั่วไปมักใช้ชะเอมเทศเข้าในตำรับยาแก้อาการไอมีเสมหะมาก คอบวมอักเสบ พิษจากฝีแผล หรือพิษจากยาและอาหาร โดยสามารถช่วยระบายความร้อนและขับพิษได้

ด้านตำรายาไทย กล่าวไว้คล้ายกันว่า ชะเอมเทศ มีรสหวาน ชุ่มคอ แก้ไอ ขับเสมหะ ขับเลือดเน่าเสีย บำรุงหัวใจให้ชุ่มชื่น แก้กำเดาให้เป็นปกติ ใช้สำหรับปรุงแต่งรสยาให้กินง่าย และเป็นยาระบายอ่อนๆ

แต่ในตำรับยาจีนมีการใช้ที่น่าสนใจอยู่วิธีหนึ่งคือ ชะเอมเทศผัดน้ำผึ้ง โดยนำรากชะเอมล้างน้ำและหั่นเป็นแว่นๆ ตากให้แห้ง นำน้ำผึ้งแท้มาเจือจางด้วยน้ำต้มสุกสะอาด นำรากชะเอมที่ได้มาคลุกเคล้าแล้วหมักไว้สักครู่ ให้น้ำผึ้งซึมเข้าตัวยา แล้วนำไปผัดในกระทะโดยใช้ไฟปานกลาง ผัดจนมีสีเหลืองเข้ม ไม่เหนียวติดมือ แล้วทิ้งไว้ให้เย็น

ชะเอมเทศผัดน้ำผึ้งนี้ หมอซินแสชาวจีนถือว่ามีรสอมหวาน อุ่น มีสรรพคุณบำรุงม้ามและกระเพาะ ช่วยเสริมชี่ หรือพลังในร่างกาย ช่วยให้การเต้นของชีพจรมีแรงและกลับคืนปกติ โดยทั่วไปใช้ในตำรับยารักษาอาการม้ามและกระเพาะอ่อนเพลีย ชี่ของหัวใจพร่อง ปวดท้อง เส้นเอ็นและชีพจรแข็งตึง ชีพจรเต้นไม่สม่ำเสมอ

ชะเอมเทศ เป็นสมุนไพรที่คนไทยใช้กันมาก ถ้าเราหาทางปลูกในประเทศไทยได้ และพัฒนาคุณภาพ นอกจากช่วยสร้างเศรษฐกิจด้านการเกษตรแล้ว ตำรับยาชะเอมเทศยังน่าสนใจมากๆ

โดยการศึกษาของประเทศจีนพบว่า เมื่อเปรียบเทียบฤทธิ์เสริมภูมิคุ้มกันของชะเอมเทศปกติกับชะเอมเทศผัดน้ำผึ้ง พบว่า ชะเอมเทศผัดน้ำผึ้งมีฤทธิ์เสริมภูมิคุ้มกันมากกว่ามาก หมอชาวจีนจึงใช้ในการบำรุงชี่ที่ดี


อย่างไรก็ตาม การรับประทานตำรับยาที่ผสมชะเอมเทศในปริมาณสูง ติดต่อกันนาน อาจทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น
เนื่องจากการสะสมน้ำในร่างกาย มีอาการบวมที่มือและเท้า เนื่องจากโซเดียมถูกขับได้น้อยลง แต่โพแทสเซียมถูกขับออกมากขึ้น และไม่ควรใช้ร่วมกับยาขับปัสสาวะกลุ่ม thiazide หรือยากระตุ้นหัวใจ กลุ่ม cardiac glycoside เพราะจะทำให้โพแทสเซียมถูกขับออกมากขึ้น (รุ่งระวี และคณะ, 2557)

ในรายที่ใช้เกินขนาด คือมากกว่า 50 กรัม/วัน และใช้ติดต่อกันนาน 6 สัปดาห์ จะทำให้หน้าและเท้าบวม ความดันโลหิตสูง ปวดศีรษะ น้ำหนักตัวเพิ่ม กล้ามเนื้อไม่มีแรง เพราะร่างกายสูญเสียโพแทสเซียม บางรายหัวใจหยุดเต้น (สำนักงานข้อมูลสมุนไพร, 2543)

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันอาทิตย์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ.2562