วช. ปลื้ม เยาวชนไทยหัวใจเกษตร คว้ารางวัลนวัตกรรมนานาชาติ

เมื่อเร็วๆ นี้ รองศาสตราจารย์นายแพทย์สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.)เป็นประธานในพิธีมอบประกาศนียบัตรประกาศเกียรติคุณนักวิจัยและเยาวชนไทยที่นำผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมไทยร่วมประกวดในเวทีสิ่งประดิษฐ์ระดับนานาชาติ ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม คว้ารางวัลมาครองได้มากถึง 225 รางวัลทีเดียว

ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ

ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ภารกิจของ วช. ในการส่งเสริมและสนับสนุนนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยนำผลงานเข้าจัดแสดงและประกวดผลงานในเวทีระดับนานาชาติ เพื่อเผยแพร่ผลงานนวัตกรรมของคนไทยในเวทีระดับโลก รวมทั้งสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในประเทศและต่างประเทศ เปิดโลกทรรศน์นักวิจัยเพื่อนำไปสู่การพัฒนาต่อยอดผลงานสู่เชิงพาณิชย์ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติของรัฐบาลที่มุ่งปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ “ประเทศไทย 4.0” เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในอนาคต

นักวิจัยไทยที่รับใบประกาศนียบัตร จากกระทรวงการอุดมศึกษาฯ

ที่ผ่านมา วช. ได้นำนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยคว้ารางวัลเกียรติยศจาก 2 เวที ได้แก่

1. เวที “The 47th International Exhibition of Inventions Geneva” ระหว่าง วันที่ 10-14 เมษายน 2562 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่ง นักวิจัยไทยสามารถคว้ารางวัลเหรียญทองเกียรติยศ จำนวน 3 ผลงาน ได้แก่ ผลงาน “เซลล์เชื้อเพลิงสังกะสี-อากาศสมรรถนะสูง” ของ รองศาสตราจารย์ ดร.สุรเทพ เขียวหอม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลงานเรื่อง “การเคลือบผิวดูดซับความร้อนด้วยอนุภาคนาโนกราฟีน-ซิลิกา สำหรับแผงพลังงานรวมแสงอาทิตย์แบบราง” ของ นายพิศิษฐ์ คำหน่อแก้ว และคณะ แห่งศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และผลงานเรื่อง “PEA Solar Hero Application” ของ นายต้องพงษ์ ศรีบุญ และคณะ แห่งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค นอกจากนี้ คณะนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทย ยังได้รับรางวัลเหรียญทอง จำนวน 13 ผลงาน รางวัลเหรียญเงิน จำนวน 36 ผลงาน รางวัลเหรียญทองแดง จำนวน 45 ผลงาน และรางวัลพิเศษ (Special Prize) จากประเทศต่างๆ อีกจำนวน 32 รางวัล

2. เวที “The 30th International Invention, Innovation & Technology Exhibition” (ITEX 2019) ระหว่าง วันที่ 2-4 พฤษภาคม 2562 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เป็นเวทีที่ได้รับการสนับสนุนจาก MINDS (Malaysian Invention & Design Society) ปรากฏว่า นักวิจัยไทยสามารถคว้ารางวัลเหรียญทอง จำนวน 21 รางวัล รางวัลเหรียญเงิน จำนวน 49 รางวัล รางวัลเหรียญทองแดง จำนวน 9 รางวัล และรางวัลพิเศษ (Special Prize) จากประเทศต่างๆ อีกจำนวน 20 รางวัล

เยาวชนนำเสนอผลงานที่คว้ารางวัลนานาชาติ

ถุงมือยาง ปราศจากการเกิดภูมิแพ้ด้วยสับปะรด

โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย ปทุมธานี คว้ารางวัลในเวทีประกวดนานาชาติหลายรายการ หนึ่งในนั้นได้แก่ “ถุงมือยาง ปราศจากการเกิดภูมิแพ้ด้วยสับปะรด” ผลงานของ นางสาวชัญญานุช เมฆาวัชร และคณะ ที่ได้รับรางวัลเหรียญเงินจากเวที The 47th International Exhibition of Inventions Geneva นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส

สำหรับผลงานถุงมือยาง ปราศจากการเกิดภูมิแพ้ด้วยสับปะรด เป็นผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยต่อผู้ที่มีอาการแพ้ผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติ เพราะไม่มีโปรตีน REF ที่เป็นสาเหตุก่อให้เกิดอาการแพ้ รวมถึงกระบวนการผลิตไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากใช้เอนไซม์จากลำต้นของสับปะรด ซึ่งเป็นวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากขึ้น เป็นผลดีต่อตัวผู้ป่วย เกษตรกร และสิ่งแวดล้อม สอบถามเพิ่มเติมติดต่อ นายขุนทอง คล้ายทอง โทร.089-454-2198

ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาและผู้บริหาร วช. ถ่ายรูปกับเยาวชนคนเก่ง

ผลิตภัณฑ์เนยก้อนจากน้ำนมถั่วดาวอินคา” เป็นผลงานอีกชิ้นที่น่าสนใจของ นางสาวณิชกานต์ จิรานิธกูล และคณะ จากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย ปทุมธานี ที่ได้รับรางวัลเหรียญเงิน จากเวที The 47th International Exhibition of Inventions Geneva นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส

ผลิตภัณฑ์เนยก้อนจากน้ำนมถั่วดาวอินคา เป็นการนำถั่วดาวอินคาซึ่งเป็นวัตถุดิบธรรมชาติมาใช้ทำเป็นเนย เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด เนื่องจากในถั่วอินคามีคุณสมบัติในการลดระดับคอเลสเตอรอล จึงสามารถช่วยลดปริมาณไขมันไม่อิ่มตัว อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นความจำ ส่งเสริมพัฒนาการของสมองและยับยั้งการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือดได้

งานวิจัยของ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย ปทุมธานี ได้รับรางวัลเวทีนานาชาติ
ผลงานที่ได้รับรางวัลของ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย ปทุมธานี

แผ่นกำบังอนุภาคนิวตรอนและรังสีแกมมาจากยางธรรมชาติกับยางสไตรรีนบิวตาไดอีน และขุยมะพร้าว” ผลงานของนายพีรดนย์ ดุษฎีเวทกุล และคณะ จากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย ปทุมธานี เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่น่าสนใจ เพราะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มยางพาราได้เป็นอย่างดี ทำให้ผลงานชิ้นนี้ได้รับรางวัลเหรียญเงิน และรางวัลพิเศษ (Special Prize) จากเวที ISTA เขตบริหารพิเศษฮ่องกง
แผ่นกำบังอนุภาคนิวตรอนและรังสีแกมมาจากยางธรรมชาติและยางสไตรรีนบิวตาไดอีน สามารถลดทอนอนุภาคนิวตรอนและรังสีแกมมาได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีราคาต่ำกว่าในท้องตลาด สามารถนำไปประยุกต์ใช้เป็นแผ่นหรือชุดกำบังอนุภาคนิวตรอนและรังสีแกมมาที่มีน้ำหนักเบา ปรับเปลี่ยนรูปทรงได้ตามต้องการ และไม่มีการใช้ตะกั่วในการผลิต ทำให้มีความปลอดภัยมาก

เยาวชนคนเก่ง โรงเรียนลำปางกัลยาณี โชว์หุ่นยนต์ตรวจสอบดินเปรี้ยว

หุ่นยนต์ตรวจสอบดินเปรี้ยว
ผลงาน โรงเรียนลำปางกัลยาณี

โครงการวิจัยสิ่งประดิษฐ์ชิ้นต่อมา ที่ได้รับรางวัลเหรียญเงิน จากเวที ITEX 2019 ประเทศมาเลเซีย ได้แก่ หุ่นยนต์ตรวจสอบดินเปรี้ยว ซึ่งเป็นผลงานของ นายณภัทร ชัยเนตร เป็นหัวหน้าทีมและเพื่อนๆ อีก 3 คน ประกอบด้วยนายวัชระ ศรีวิชัย นายจักรภัทร คำนารักษ์ และ นางสาวเบญจรัตน์ บุญเหล็ก ซึ่งเป็นนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนลำปางกัลยาณี ภายใต้การสนับสนุนของ นายนิรันดร หมื่นสุข ผู้อำนวยการโรงเรียนลำปางกัลยาณี และครูที่ปรึกษาหลักงานวิจัย ได้แก่ นายบรรเจิด สระปัญญา นายชัยณรงค์ ภักศิลป์ นายฐิติกร หล้าวงษา นางวรัฐทยา ฝั้นสืบ และ ดร. จักรชัยวัฒน์ กาวีวงศ์ แห่งมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง

นายณภัทร ชัยเนตร ในฐานะหัวหน้าทีมวิจัย เล่าให้ฟังว่า ภาคเกษตรในจังหวัดลำปางประสบปัญหาเรื่องดินเปรี้ยว ซึ่งมีสาเหตุสำคัญจากการปลูกพืชซ้ำๆ และใช้ปุ๋ยเคมีเป็นระยะเวลายาวนาน ก่อให้เกิดปัญหาดินเปรี้ยว เป็นอุปสรรคต่อระบบการผลิตภาคเกษตรและส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจสังคมตามมา

ครูที่ปรึกษาและเยาวชนคนเก่งของ โรงเรียนเบญจมราชานุสรณ์

ทีมนักเรียนโรงเรียนลำปางกัลยาณี เล็งเห็นปัญหาดังกล่าว จึงสนใจพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ เรียกว่า “หุ่นยนต์ตรวจสอบสภาพดินเพื่อแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยว” ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้แก้ไขปัญหาดินที่มีสภาพเป็นกรด โดยการนำแนวพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 มาปรับใช้ โดยมีหุ่นยนต์เป็นตัวขับเคลื่อน ซึ่งมีแอปพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือที่สามารถบังคับทิศทางการเคลื่อนที่ของหุ่นยนต์ที่มีเซ็นเซอร์วัดค่า pH เป็นตัวหาค่าดินเปรี้ยว แล้วนำมาคำนวณวิธีต่างๆ เพื่อปรับสภาพดินต่อไป มีการเก็บผลการตรวจสอบ เอามาหาประสิทธิภาพของดิน เพื่อเพิ่มความสะดวกและประหยัดเวลาในการแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวให้กับเกษตรกร

หลักการทำงานของ “หุ่นยนต์ตรวจสอบสภาพดินเพื่อแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยว” เริ่มจากนำปลายเข็มวัดของหุ่นยนต์เสียบดินเพื่อให้เกิดกระบวนการรับกระแสไฟฟ้าภายในดิน แล้วเปลี่ยนค่าเป็นสัญญาณ Analog (ค่าตัวเลข) แล้วนำมาเปลี่ยนเป็นค่า Millivolt (mV) แล้วนำค่า millivolt ที่ได้มาเปรียบเทียบกับตารางค่า pH จากการวิจัยของมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง แล้วนำค่า pH ที่เทียบแล้วมาคำนวณหาปริมาณปูนขาว ที่นำมาใช้แก้ไขปัญหาโดยแสดงผลผ่านทางแอปพลิเคชั่นบนมือถือ และควบคุมการเคลื่อนไหวของหุ่นยนต์ทั้งหมดนี้ เป็นรูปแบบของการสร้างหุ่นยนต์ต้นแบบเพื่อเสนอหน่วยงานที่เป็นองค์กรภาครัฐและเอกชนในการใช้แก้ไขปัญหาและสร้างเป็นหุ่นยนต์ของจริง เพื่อให้เกิดความสะดวกและประหยัดเวลาในการแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกร ตลอดจนมีการลดต้นทุนการใช้ในการทำเกษตรกรรม ทำให้แก้ไขปัญหาได้ตรงจุด และเพิ่มศักยภาพการผลิตภาคเกษตรในประเทศไทย ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ นายบรรเจิด สระปัญญา โทร. 092-269-5294

กฟผ. อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของทีมเยาวชนโรงเรียนเบญจมราชานุสรณ์

โรงเรียนเบญจมราชานุสรณ์
คว้า 5 รางวัล จากเวที ITEX 2019 มาเลเซีย

นางสาววินนา พลชำนิ (โทร. 088-151-6591) และ Ms. Jade Marian Ronato อาจารย์ประจำ โรงเรียนเบญจมราชานุสรณ์ กล่าวว่า ในปีนี้ โรงเรียนเบญจมราชานุสรณ์สามารถคว้ารางวัลเหรียญเงินในงานประกวดสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ เวที ITEX 2019 ประเทศมาเลเซีย ได้ถึง 5 รางวัล ภายใต้การสนับสนุนจาก กฟผ. จังหวัดนนทบุรี ได้แก่ เครื่องอเนกประสงค์ตัดก้านดอกไม้และผัก เครื่องตรวจแรงดันไฟฟ้าในน้ำและในอากาศ เครื่องตัดกิ่งไม้ระบบไฮโดรลิค หมวกนิรภัย เตือนภัยไฟฟ้ารั่ว และบ้านอัจฉริยะ

เครื่องอเนกประสงค์ตัดก้านดอกไม้และผัก

เครื่องอเนกประสงค์ตัดก้านดอกไม้และผัก เป็นผลงานของ ด.ญ. กรรณิการ์ เนตรพ่วง ซึ่งครอบครัวของเธอทำธุรกิจร้านดอกไม้ เจอปัญหาอุปสรรคเรื่องการตัดก้านดอกไม้และผักโดยใช้มีดและกรรไกรตัดกิ่ง สามารถทำงานได้จำนวนน้อย ใช้เวลานานและเกิดความเหนื่อยล้า

ด.ญ. กรรณิการ์ ได้สำรวจข้อมูลพื้นฐานของดอกไม้ที่นิยมในท้องตลาด และพฤติกรรมของผู้ประกอบการขณะตัด จึงได้ออกแบบเครื่องอเนกประสงค์ตัดก้านดอกไม้และผัก ที่มีน้ำหนักเบา สามารถประกอบได้ง่ายและสะดวกในการเคลื่อนย้าย โดยมีกล่องเก็บชิ้นส่วนที่สามารถจัดวางดอกไม้ได้ จากการทดสอบการคุ้มทุน พบว่า เครื่องตัดได้ 90,000 ก้าน ต่อชั่วโมง ขณะที่การใช้กรรไกรสามารถทำงานได้เพียง 36,000 ก้าน ต่อชั่วโมง เท่านั้น

ปัจจุบัน สภาพน้ำท่วม อาจมีไฟฟ้ารั่วลงน้ำจำนวนมาก ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ประสบภัยและพนักงานของการไฟฟ้า จำเป็นต้องมีเครื่องมือตรวจสอบไฟฟ้ารั่ว ซึ่งแบบเดิมต้องมีการปีนเสา และเข้าใกล้ไฟฟ้าในระยะอันตราย จึงไม่สะดวกและเกิดอันตราย ด.ญ. ดิศราพร จิตรกล้า และที่ปรึกษาจาก กฟผ. คือ นายวีระพล ภูวนนท์ จึงออกแบบเครื่องตรวจแรงดันไฟฟ้าในน้ำและในอากาศ ซึ่งเป็นเครื่องตรวจไฟฟ้าระยะไกล โดยใช้การตรวจจับสัญญาณความถี่ไฟฟ้า กระแสสลับและขยายสัญญาณของทรานซิสเตอร์ แจ้งเตือนด้วยแสง เสียง ปรับระยะตรวจสอบได้โดยสามารถตรวจแรงดันไฟฟ้าแรงสูงในอากาศ ระยะ 20 เมตร

นางสาวณัชฌา เฉยดี โชว์ผลงานเครื่องตัดกิ่งไม้ระบบไฮโดรลิค
โชว์การทำงานของเครื่องตัดกิ่งไม้ระบบไฮโดรลิค

เครื่องตัดกิ่งไม้ระบบไฮโดรลิค ผลงาน นางสาวณัชฌา เฉยดี นายวีระพล ภูวนนท์ และคณะ จากโรงเรียนเบญจมราชานุสรณ์ เนื่องจากการตัดต้นไม้ในปัจจุบัน นิยมใช้เลื่อยยนต์ ที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุระหว่างการตัด นอกจากนั้น เกิดมลพิษทางเสียง การตัดกิ่งไม้บริเวณแนวสายไฟ มีงบประมาณสูง ผู้ตัดเสี่ยงอันตรายต่อชีวิต เมื่อเกิดไฟฟ้าลัดวงจร จึงได้ออกแบบสิ่งประดิษฐ์ที่มีราคาถูก อุปกรณ์หาได้ง่าย ทนทานแข็งแรง สามารถถอดประกอบปรับระดับความสูงของกิ่งไม้ได้ถึง 14 เมตร ตัดไม้ได้ปริมาณมากและรวดเร็ว 1 วินาที ต่อครั้ง ผ่อนแรง ลดแรงงานคน (ใช้เครื่องเพียง 2 คน) เคลื่อนย้ายได้ง่าย ประหยัดเวลาและงบประมาณ อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ไม่ทำให้กิ่งไม้เป็นแผล ให้มีการเติบโตตามปกติ ลดการใช้พลังงาน เพราะใช้พลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์

ผลงานบ้านอัจฉริยะ

บ้านอัจฉริยะ ผลงาน นางสาวภัทรกัลญ์ จิตติพลังศรี ด.ญ. ณัทนน โฆสิโต และ นายวีระพล ภูวนนท์ ผลงานชิ้นนี้ได้รับทั้งรางวัลเหรียญเงินจากเวทีประกวดที่มาเลเซียแล้ว ยังได้รับรางวัลพิเศษ (Special Prize) จากเวที INNOPA อินโดนีเซีย สำหรับผลงานชิ้นนี้ เกิดจากการติดตามผลการใช้งาน PEA SMART HOME (บ้านอัจฉริยะของ กฟผ.) ได้ข้อสรุปว่า ระบบดังกล่าวสามารถใช้งานได้จริง โดยใช้พลังงานจากธรรมชาติ สามารถสูบน้ำได้ 1,500 ลิตร ต่อชั่วโมง และตัดกิ่งไม้ได้ 800-1,000 ครั้ง ต่อวัน ทำให้กลุ่มเกษตรกรไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น สามารถเพิ่มรายได้จากการประกอบอาชีพเกษตรกรรม อีกทั้ง ระบบบ้านอัฉจริยะของ กฟผ. ไม่ทำให้เกิดมลพิษในอากาศ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างความพอใจให้กับเกษตรกรเป็นอย่างมาก

หมวกนิรภัย เตือนภัยไฟฟ้ารั่ว ผลงาน ด.ช. ปภัสชล ตันตราวัณ และ นายวีระพล ภูวนนท์ สืบเนื่องจากปัญหาไฟฟ้ารั่วในแหล่งอุตสาหกรรมต่างๆ ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ประกอบการได้ เนื่องจากไม่มีเครื่องมือตรวจสอบที่พกพาได้สะดวก

ทีมนักวิจัยจึงได้ประกอบชุดเตือนภัยในหมวกนิรภัย เมื่อแรงดันไฟฟ้าด้านแรงดันสูง 1-20 เมตร และด้านแรงต่ำ 1-5 เมตร จะมีแสงสีแดงจากหลอดไฟฟ้า LED ทั้งสอง 2 ข้างของหมวก จะเกิดเสียงดังไกล 20 เมตร เมื่อแรงดันไฟฟ้า AC โดยหมวกจะติดตั้งไฟสปอตไลต์ที่ปรับความสว่างได้ 4 รูปแบบ ส่องได้ไกล 100 เมตร ปรับมุมก้ม-เงยได้ 180 องศา มีสวิตช์เปิดปิด และสามารถชาร์จไฟได้ 200 V หรือไฟรถยนต์ได้

ครูที่ปรึกษาและเยาวชนคนเก่งของ โรงเรียนเบญจมราชานุสรณ์