มทร. ศรีวิชัย สร้างนวัตกรรม “เครื่องปอกเปลือกไข่นกกระทา” ต้นทุนต่ำ เพิ่มผลผลิตสูง

ไข่นกกระทา เป็นไข่ของนกประเภทนกคุ่มหรือนกกระทา มีลักษณะคล้ายกับไข่ไก่แต่มีขนาดเล็กกว่ามาก และมีจุดแต้มหรือลายประสีต่างๆ บนเปลือกไข่ ไข่นกกระทามีคุณค่าทางโภชนาการสูงกว่าไข่ไก่ เต็มไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุ มากกว่าไข่ชนิดอื่นๆ สามารถรับประทานได้ทั้งไข่ดิบ ไข่สุก ไข่อบ และไข่ทอด ถือว่าเป็นวัตถุดิบหลักในการทำอาหาร โดยเฉพาะการทำกระเพาะปลา พะโล้ไข่นกกระทา ทั้งนี้ยังปรุงเป็นขนมหรืออาหารรับประทานเล่น สามารถซื้อได้ตามตลาดและร้านค้าทั่วไป

อาจารย์ทวิชาติ เย็นวิเศษ และ อาจารย์จรัญ ธรรมใจ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี พร้อมด้วย นายพรนุวัฒน์ แก้วรัตน์ และ นายศุภณัฐ สุวรรณขาว นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ร่วมกันออกแบบและสร้าง “เครื่องปอกเปลือกไข่นกกระทา” จากนั้นนำไปสนับสนุนการผลิตไข่นกกระทาของบ่อเตี้ยฟาร์ม ตำบลม่วงงาม อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา

ขั้นตอนในการปอกเปลือกไข่นกกระทาโดยใช้เครื่องสำเร็จรูป การปอกเปลือกไข่นกกระทาจะนำไข่นกกระทาที่ผ่านการกะเทาะเปลือกแล้วใส่ในเครื่องปอก โดยมีช่องสำหรับเทไข่นกกระทาเข้าสู่เครื่อง ไข่จะไหลเข้าหาเพลาที่หุ้มด้วยยาง เพลาจะมีการทำงานโดยการหมุนตัวเข้าหากันเพื่อหนีบเปลือกไข่นกกระทาให้หลุดออก และขณะเพลาหมุนเข้าหากัน จะมีแป้นสำหรับกดไข่นกกระทาให้สัมผัสกับเพลา การทำงานจะเป็นระบบต่อเนื่อง สามารถปอกเปลือกไข่นกกระทาได้ประมาณ 6,000 ฟอง ต่อชั่วโมง

อาจารย์ทวิชาติ เย็นวิเศษ และ อาจารย์จรัญ ธรรมใจ กล่าวว่า ในการทำเครื่องปอกเปลือกไข่นกกระทามีความจำเป็นต้องนำความรู้ทางด้านวิศวกรรมอุตสาหการมาบูรณาการ ตั้งแต่ขั้นตอนการเก็บข้อมูลในการปอกเปลือกไข่ การออกแบบตัวเครื่อง เช่น วิธีการปอกเปลือกไข่แบบเดิม กำลังการผลิตต่อวัน ปัญหาของวิธีการแบบดั้งเดิม จึงนำวิธีการแบบดั้งเดิมมาคิดวิเคราะห์ จากนั้นออกแบบวิธีการปอกเปลือกให้มีประสิทธิภาพมากกว่ารูปแบบเดิม โดยเน้นหลักของเศรษฐศาสตร์ สิ่งหนึ่งที่มีความจำเป็นในการผลิตเครื่องปอกเปลือกไข่นกกระทานั้นคือ การเลือกใช้วัสดุ ซึ่งเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของผู้บริโภค ต้องนำความรู้ทางด้านวิชาวัสดุวิศวกรรมมาใช้ ตลอดจนการออกแบบตัวเครื่องก็เช่นกัน นำความรู้ด้านวิชากลศาสตร์ การประกอบชิ้นส่วนต่างๆ ควบคู่กับการใช้ความรู้จากการเรียนงานเชื่อม งานเครื่องมือกล และงานทางด้านไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ และสามารถนำมาบูรณาการสำหรับการผลิตเครื่องปอกเปลือกไข่นกกระทาให้พร้อมต่อการใช้งาน

สำหรับแนวทางในการพัฒนา หากมีความจำเป็นที่จะต้องปอกเปลือกไข่ครั้งละจำนวนมากๆ นั้น สามารถนำแนวคิดจากการผลิตเครื่องปอกเปลือกไข่นกกระทา นำมาประยุกต์ใช้ได้กับการปอกเปลือกไข่ชนิดต่างๆ อาทิ เครื่องปอกเปลือกไข่ไก่ เครื่องปอกเปลือกไข่เป็ด เป็นต้น อย่างไรก็ตาม จะมีการพัฒนาเครื่องปอกเปลือกไข่นกกระทาให้มีความสามารถในการปอกเปลือกให้มีการผลิตและมีปริมาณจำนวนมาก เพื่อนำไปใช้งานในระดับอุตสาหกรรมต่อไป

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ อาจารย์จรัญ ธรรมใจ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โทรศัพท์ 089-658-0474