มะนาวโห่ เปรี้ยวปาก มากสรรพคุณ

พอเข้าช่วงฝนชุกแบบนี้ กระผมจะเริ่มได้รับคำถามเกี่ยวกับผลไม้ชนิดหนึ่งมากกว่าปกติ ซึ่งก็คือ “มะนาวโห่” หรือต้นหนามแดง เพราะว่าออกผลเยอะเหลือเกิน หลายบ้านฟันกิ่งก้านทิ้ง เนื่องจากไม่กล้ารับประทาน บ้างก็ไม่ทราบถึงประโยชน์ บ้างก็กลัวว่ายางที่ผลจะมีพิษ

มะนาวโห่ พบได้ตามท้องถิ่นทุกภาคของประเทศไทย ผลจะมีสีแดงเรียวเล็ก ให้รสเปรี้ยวมาก ฝาด และจะออกรสหวานเล็กน้อย หากผลสุกจัดจะเป็นสีดำ แต่มีเนื้อสัมผัสที่ให้ความกรอบ ผลไม้ชนิดนี้ถือว่าเป็นยาสมุนไพรที่สรรพคุณหลากหลาย ตามภูมิปัญญาดั้งเดิม

ผล ใช้รักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน

ใบ แก้ท้องเสีย แก้เจ็บคอ เจ็บในปาก แก้ปวดหู แก้ไข้

ราก แก้คัน ทำให้เจริญอาหาร บำรุงธาตุ ขับพยาธิ บำรุงกระเพาะอาหาร ดับพิษร้อน แก้ไข้

สารเคมีที่พบในส่วนผล เป็นกลุ่มคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไตรเทอร์ปีน ฟลาโวนอยด์ ส่วนใบจะพบสารพวกไตรเทอร์ปีน สเตียรอยด์ โดยในปัจจุบันมีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาฤทธิ์ของมะนาวโห่ไว้หลายประการศึกษาด้วยกัน เช่น ฤทธิ์ต้านเบาหวาน ของสารสกัดจากผลมะนาวโห่ดิบในหนูทดลอง เปรียบเทียบกับหนูที่ได้รับยา metformin (ยาลดระดับน้ำตาลในเลือดแผนปัจจุบัน) และกลุ่มควบคุม พบว่า สารสกัดนี้สามารถลดน้ำตาลในเลือดได้เช่นเดียวกับยา metformin

มีการนำสารสกัดมะนาวโห่มาทดสอบผลที่เกี่ยวข้องกับระบบหลอดเลือดหัวใจในหนูทดลองด้วยการฉีดยา พบว่า สามารถลดความดันเลือดแดงได้อย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งยังพบว่า ทำให้หัวใจบีบตัวลดลง ลดอัตราการเต้นของหัวใจได้

สำหรับฤทธิ์ที่มีการศึกษามากที่สุดคือ ฤทธิ์ลดการอักเสบ มีงานวิจัยหลายชิ้นสรุปได้ตรงกันว่า มีฤทธิ์แก้ปวด ลดไข้ ลดการอักเสบได้ สามารถพบได้ทั้งในส่วนผล ราก และใบ โดยผลสรุปนี้อาจจะสามารถนำมาต่อยอดพัฒนาเป็นยารักษาโรคต่างๆ ได้ เช่น โรคหอบหืด โรครูมาตอยด์ โรคแผลในกระเพาะอาหาร เป็นต้น

สุดท้าย ข้อกังวลของหลายๆ ท่าน เรื่องยางที่ผล สามารถรับประทานได้หรือไม่ จากการสืบค้นข้อมูลยังไม่พบรายงานการศึกษาพิษวิทยาของส่วนผลครับ

ขอบคุณข้อมูล จาก ภก.ณัฐดนัย มุสิกวงศ์ คอลัมน์พืชใกล้ตัว วารสารอภัยภูเบศร ปีที่ 15 ฉบับประจำเดือนมิถุนายน 2561