สร้างฝายขยายโป่ง ณ ทับลาน

สวัสดีท่านผู้อ่านที่รักและคิดถึงทุกท่านครับ เปิดหัวมาดัวยประโยคหวานๆ แบบนี้คงแปลกใจไม่น้อย ไม่มีอะไรมากครับ เพียงแค่ได้ไปออกกำลัง สูดอากาศที่สดชื่น และได้ทำกิจกรรมเพื่อประโยชน์กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ (น่าจะ) ดีขึ้น เพราะรอบนี้ผมและทีมงานเพื่อนๆ จิตอาสา ไปร่วมกิจกรรมสร้างฝาย (ชะลอน้ำ) ขยายโป่งเทียม ที่ภูพอก ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี

รวมพลคนจิตอาสา
ออฟโรดจิตอาสาเพื่อนทับลาน

เมื่อพูดถึง ฝายชะลอน้ำ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการพระราชดำริ ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ที่เกี่ยวเนื่องกับการปลูกป่าดังพระราชดำรัส “การปลูกป่าทดแทนป่าไม้ที่ถูกทำลายนั้น จะต้องสร้างฝายเล็กเพื่อหนุนน้ำส่งไปตามเหมือง ไปใช้ในพื้นที่เพาะปลูกทั้งสองด้าน ซึ่งจะให้น้ำค่อยๆ แผ่ขยายออกไปทำความชุ่มชื้นในบริเวณนั้นด้วย”

ในส่วนของฝายพระองค์ได้พระราชทานพระราชดำรัสไว้ว่า “ให้พิจารณาดำเนินการสร้างฝายราคาประหยัด โดยใช้วัสดุราคาถูก และหาง่ายในท้องถิ่น เช่น แบบหินทิ้งคลุมด้วยตาข่าย ปิดกั้นร่องน้ำกับลำธารเล็กๆ เป็นระยะๆ เพื่อให้เก็บกักน้ำและตะกอนดินไว้บางส่วน โดยน้ำที่กักเก็บไว้จะซึมเข้าไปในดิน ทำให้เกิดความชุ่มชื้นแผ่ขยายออกไปทั้งสองข้าง ต่อไปจะสามารถปลูกพันธุ์ไม้ป้องกันไฟ พันธุ์ไม้โตเร็ว และพันธุ์ไม้ไม่ทิ้งใบ เพื่อฟื้นฟูต้นน้ำลำธารให้มีสภาพเขียวชอุ่มขึ้นเป็นลำดับ”

เมื่อตกลงใจจะสร้างฝาย โดยกำหนดจุดที่ภูพอก อุทยานแห่งชาติทับลานเรียบร้อย โดยการประสานงานกับ พี่ประมวล มาหาร เจ้าหน้าที่งานสื่อความหมายธรรมชาติ เราก็เริ่มหาแนวร่วม โดยมีเจ้าภาพใหญ่คือสหกรณ์ออมทรัพย์ บริษัท ทีโอที จำกัด จัดหาทุน สมาชิกจิตอาสา พาหนะเดินทาง และอาหารสำหรับสมาชิก, บริษัท ทองการ์เด้น จำกัด (ประเทศไทย), บริษัท เลิศรส เบฟเวอเรส อินเทสตี้ จำกัด, กาฬสินธุ์ปลาร้า จัดหาผลิตภัณฑ์ส่งมอบให้สมาชิกจิตอาสาได้มีอาหารว่างและเครื่องดื่มไว้เสริม และหนังสือพิมพ์กุ้งไทย จัดกุ้งสดๆ จากฟาร์มที่ภาคใต้มาสนับสนุนอีกทาง เรียกว่างานนี้เรามีกองหนุนทั้งอาหาร อาหารว่าง และเครื่องดื่มพร้อมสรรพ รวมถึงพี่น้องสมาชิกท่านอื่นๆ ที่สนับสนุนมา

จากลักษณะทั่วไปของฝายชะลอน้ำ ก็แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ
1. ฝายต้นน้ำลำธาร หรือ ฝายชะลอความชุ่มชื้น เป็นฝายที่กักเก็บน้ำให้ไหลได้ช้าลง และซึมลงใต้ผิวดิน สร้างความชุ่มชื้นให้บริเวณโดยรอบ

2. ฝายดักตะกอน เป็นฝายที่ดักตะกอนดิน ทราย ไม่ให้ไหลลงไปสู่แหล่งน้ำด้านล่าง
รูปแบบของฝาย แบ่งได้เป็น 3 รูปแบบ

โครงฝายแม้ว

1. แบบฝายท้องถิ่น หรือ ฝายแม้ว เป็นการก่อสร้างด้วยวัสดุที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ดินทราย กิ่งไม้ ท่อนไม้ เพื่อช่วยชะลอน้ำและดักตะกอนไปด้วย

2. แบบฝายเรียงด้วยหิน ค่อนข้างถาวร เป็นการเรียงก้อนหินเป็นพนังกั้นน้ำ

ผูกโครงเตรียมฝายหิน

3. แบบคอนกรีตเสริมเหล็ก เป็นการก่อสร้างแบบถาวร มักทำช่วงปลายของลำห้วยหรือร่องน้ำ เพื่อกักเก็บน้ำได้ดีมากขึ้น แต่ค่าใช้จ่ายจะสูงกว่าแบบอื่น

เริ่มวางกระสอบดิน ทรายในโครงฝายที่ผูกไว้
รวมพลังกันให้สำเร็จ

งานนี้เราสรุปกันว่าจะสร้างในแบบที่ 1 และ 2 รวม 2 ฝาย โดยฝายแรกเป็นฝายใหญ่ด้านบนร่องน้ำ เป็นฝายท้องถิ่น หรือฝายแม้ว โดยการปักและผูกไม้ทำโครงสร้างด้วยไม้ไผ่ ผูกเชือกขันชะเนาะอย่างแข็งแรง จากนั้นตักดินและทรายในบริเวณนั้นใส่กระสอบเพื่อจัดวางเรียงในโครงไม้ไผ่ดังกล่าว เรียงโดยหันก้นกระสอบออกด้านนอก เพื่อกันน้ำจะเซาะดินในกระสอบไปได้ งานนี้หลายๆ คนก็เป็นลมกันเลยเชียว เพราะอากาศค่อนข้างร้อนและแบกกระสอบดิน ทรายหนักใช่เล่น สรุปกันในตอนท้ายประมาณ 500 กระสอบ สำหรับฝายแม้ว

จากนั้นมาถึงฝายที่สอง แบบฝายเรียงหิน เป็นฝายชะลอน้ำที่สร้างต่อลงมาจากฝายแรก วัตถุประสงค์หลักๆ เพื่อชะลอน้ำ ดักน้ำไว้ก่อนจะไหลลงเขาไปตามร่องน้ำเสียหมด งานนี้ทีมจิตอาสาต้องแบกหินกันหลายร้อยก้อน แต่ทุกคนก็ยังสนุกสนานกับกิจกรรมในครั้งนี้ เสียงหยอกล้อยังมีดังประปราย สลับกับเสียงหอบหายใจของหลายๆ คน

เย่ๆๆๆ สำเร็จแล้ว
ทำโป่ง

เสร็จสองฝายในเวลาที่บ่ายคล้อยไปมากแล้ว ยังเหลือกิจกรรมทำโป่งเทียมเพื่อเสริมแร่ธาตุให้สัตว์ป่าอีกครั้ง จิตอาสาเริ่มใช้จอบสับดินเหมือนดังว่าจะทำแปลงปลูกผัก อีกส่วนก็ช่วยกันทุบเกลือเมล็ดและแร่ธาตุก้อน จากนั้นก็นำมาโรยให้ทั่วแปลงดินที่ใช้จอบสับไว้ คลุกเคล้าไปมาให้เข้ากันรดน้ำให้ชุ่ม จากนี้ไป ณ จุดนี้ก็จะเป็นแหล่งแร่ธาตุเสริมให้สัตว์ป่าได้เพิ่มมากขึ้น เหตุที่เราเลือกจุดนี้เพราะเป็นโป่งเก่า มีรอยสัตว์ป่าเข้ามาประจำ ชัดเจนที่สุดคือรอยช้าง ทั้งสีตัวเข้ากับต้นไม้ และก้อนขี้ที่เรี่ยรายในแถวนั้น สักวันผมจะกลับไปแอบส่องดูตอนสัตว์ป่าลงโป่ง แล้วจะมาเล่าให้ฟัง (อ่าน) กันนะครับ

จากข้อมูลเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ที่สอดคล้องกับทีมงานเปลี่ยนพรานสร้างไพร ที่สนับสนุนโดยมูลนิธิเพื่อนบูรพา สัตว์ป่าที่นี่เยอะมาก ช้างที่นับได้แล้ว 98 ตัว (ช้างป่านับเป็นตัว) กระทิง มี 6 ฝูง หมูป่าจำนวนมาก หมี เก้ง กวาง เลียงผา กระต่าย นกยูง เหยี่ยว และที่สำคัญสุดเสือโคร่ง คะเนว่าขนาดความยาวจากหัวจรดหางไม่น้อยกว่า 8 ศอก และในยามแล้งหาแหล่งน้ำลำบาก เมื่อเรามาสร้างฝายและเพิ่มแร่ธาตุให้โป่งแห่งนี้แล้ว จะเป็นผลดีต่อทั้งพืชและสัตว์ป่าเป็นอย่างมาก มีน้ำก็มีความชุ่มชื้น ต้นไม้ใบหญ้าก็เขียวขจี เป็นอาหารให้สัตว์กินหญ้า มีเสริมแร่ธาตุด้วยโป่ง ดื่มน้ำจากฝายและส่งผลต่อห่วงโซ่อาหารของสัตว์ล่าเนื้อต่อไป เรียกว่าเพียงสร้างฝายก็สร้างระบบนิเวศที่สมบูรณ์ให้เกิดขึ้นได้

 

ชูป้ายกับฝายหิน
ตัวแทนมอบของที่ระลึก

ขอบคุณเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติทับลาน, สหกรณ์ออมทรัพย์ บริษัท ทีโอที จำกัด, บริษัท ทองการ์เด้นท์ จำกัด (ประเทศไทย), บริษัท เลิศรส เบฟเวอเรส อินเทสตี้ จำกัด, กาฬสินธุ์ปลาร้า, หนังสือพิมพ์กุ้งไทย, กลุ่มออฟโรดจิตอาสา, กลุ่มเพื่อนทับลาน, โครงการเปลี่ยนพรานสร้างไพร มูลนิธิเพื่อนบูรพา, พี่น้องชาวจิตอาสาทุกท่าน ขอบคุณเป็นพิเศษ บริษัท ฟอร์ด เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด ผู้สนับสนุนพาหนะสำหรับการเดินทางในครั้งนี้