อย่ากลัวเลยต้นงิ้ว เพราะมีประโยชน์มากมาย ทั้งในแง่ประดับ รวมทั้งนำมาประกอบอาหาร

หลังจากที่อากาศเย็นกันพอสมควร ต่อมาเริ่มอุ่นขึ้นถึงร้อน

ดอกไม้ริมทางหลายชนิดเริ่มเบ่งบาน ไม่ว่าจะเป็นเสลา (อ่านว่า สะเหลา) อินทนิล รวมถึงงิ้ว

เอ่ยชื่อต้นงิ้ว คนส่วนใหญ่อาจจะไม่รู้จัก ว่ารายละเอียดต้น ผล ดอก ใบ เป็นอย่างไร แต่อาจจะมีความทรงจำในเรื่องเล่า ที่บอกสืบทอดต่อๆ กันมาว่า ผู้ใดประพฤติผิดเมียชาวบ้าน เมื่อตายไป ยมบาลจะสั่งให้ถอดเสื้อผ้า แล้วปีนต้นงิ้วที่มีหนามแหลมคม ตามภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังอุโบสถวัดบางแห่ง วาดได้น่ากลัว

ต้นงิ้วริมทาง(ขวามือ)

งิ้ว เป็นไม้เนื้ออ่อน สถานะเป็นไม้ธรรมดา ไม่ค่อยมีอะไรโดดเด่น การใช้ประโยชน์ในยุคเก่าก่อน เขานำปุยมายัดที่นอน ต่อมามีใยสังเคราะห์ ประกอบกับประชากรของต้นงิ้วลดน้อยถอยลง ชาวบ้านนำพื้นที่มาทำเกษตร โดยโค่นต้นงิ้วทิ้ง ทำให้ปัจจุบันคนรู้จักไม้ชนิดนี้ไม่มาก

ออกดอกเต็มต้น

งิ้ว มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Bombax ceiba L. ชื่ออื่นๆ งิ้วหนาม งิ้วบ้าน งิ้วแดง งิ้วปง งิ้วปงแดง

เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ลำต้นสูง 25-30 เมตร แตกกิ่งก้านสาขามากในช่วงเรือนยอด เป็นไม้เนื้ออ่อนมีหนามแหลมอยู่ตามลำต้น ใบรวมประกอบด้วยใบย่อย 4-7 ใบ ใบเป็นมันค่อนข้างหนา ใบย่อยรูปรี ปลายใบเรียวแหลมเรียงกันคล้ายกับรูปนิ้วมือ มีสีเขียวไม่มีขน ก้านใบสีขาวมองเห็นชัดเจน

ดอกงิ้ว

ดอกขนาดใหญ่ ออกเป็นช่อตามปลายกิ่ง ดอกมี 5 กลีบ สีออกแดงหรือส้มปนสีเหลือง กลีบดอกมีขนปกคลุม กลีบดอกเมื่อบานเต็มที่ประมาณ 10 เซนติเมตร มีลักษณะแข็งเลื่อมเป็นมัน ส่วนกลางดอกออกเป็นเกสรตัวผู้เรียง 3 แถว ยาวยื่นออกมาเป็นเส้นๆ

ผลรูปรีปลายแหลมยาว 6-8 นิ้ว เมื่อผลแก่จะเป็นสีน้ำตาล เปลือกผลแข็งเมื่อผลแก่จะมีปุยสีขาวปลิวออกมาตามลม เมล็ดสีดำ

หนามงิ้ว

สรรพคุณ ใช้เปลือกต้นช่วยบำรุงระบบไหลเวียนโลหิต บรรเทาอาการบวม จากการกระแทก รักษากระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง บรรเทาอาการท้องเดิน แก้บิด อัมพาต เอ็นอักเสบ

ดอกช่วยห้ามเลือด รักษาแผล ฝีหนอง บรรเทาอาการท้องเดิน บิดมูกเลือด ช่วยขับปัสสาวะ

รากหรือเปลือกรากใช้สมานแผล ห้ามเลือด รักษาแผลในกระเพาะอาหาร บรรเทาอาการฟกช้ำบวมจากการกระแทก รากเป็นยาบำรุงกำลัง

ขนมจีนน้ำเงี้ยว

ผลอ่อนใช้บำบัดรักษาแผลเรื้อรังในไต เมล็ดใช้เป็นยาร่วมกับพิมเสนรักษาโรคหนองในเรื้อรัง

พบเห็นต้นงิ้วขึ้นอยู่ริมถนนสายต่างๆ เช่น จากอำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร เข้าสู่พื้นที่อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย มีประชากรของงิ้วค่อนข้างมาก ถนนอีกสายหนึ่งที่มีมากคือจากอำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี ผ่านท้องที่จังหวัดนครสวรรค์ พิจิตร ไปถึงอำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก สาเหตุที่มีต้นงิ้วขึ้นอยู่ริมถนนเป็นจำนวนมาก คงเป็นเพราะริมถนนเป็นที่ดินของกรมทางหลวง เอกชนไม่ได้มาใช้ประโยชน์ เมื่อมีต้นไม้ขึ้นอยู่ ก็ปล่อยให้เจริญเติบโต เกิดความสวยงาม ทุ่นแรงเจ้าหน้าที่ไม่ต้องปลูกเพิ่ม หากต้นไม้ชนิดนี้ไปขึ้นในที่ของชาวบ้าน อาจถูกตัดทิ้งก็ได้

เพราะบางพื้นที่มีต้นงิ้วขึ้นอยู่มากนี่เอง ชื่อท้องถิ่นต่างๆ จึงมีคำว่า “งิ้ว” เข้ามาเกี่ยวข้อง

บ้านงิ้วงาม บ้านป่างิ้ว เป็นชื่อหมู่บ้านอยู่ทางภาคเหนือ

งิ้วลาย เป็นชื่อท้องถิ่นที่ราบลุ่มแถวจังหวัดนครปฐม

วังงิ้ว เป็นชุมชนหนึ่งในอำเภอดงเจริญ จังหวัดพิจิตร

งิ้วเจริญเติบโตเร็ว ขยายพันธุ์โดยเมล็ด บางท้องถิ่นอาจจะจงใจปลูกเพราะต้องการใช้ประโยชน์

แต่บางท้องถิ่นไม่กล้าปลูก เพราะในยุคก่อนเมื่อมีคนเสียชีวิต ญาติพี่น้องจะตัดฟันต้นงิ้วลงมาแปรรูป ซึ่งทำได้ง่าย เพราะเนื้อไม้ไม่แข็ง จากนั้นก็ทำโลงศพให้กับผู้ล่วงลับ ซึ่งประหยัด รวดเร็ว

ทางท้องถิ่นภาคเหนือ ในยุคเก่าก่อน นิยมนำไม้งิ้วมาทำปราสาทอย่างสวยงาม ครอบโลงศพอีกทีหนึ่ง แต่ปัจจุบันมีการใช้วัสดุอย่างอื่นแทน

ทางอิสานบางจังหวัด อาจจะตัดงิ้วมาทั้งต้นแล้วขุดเหมือนเรือ เพื่อบรรจุศพ เรียกโลงศพลักษณะอย่างนี้ว่า “บม” หรือ “โบม”

ดังนั้นชาวบ้านมีความเชื่อว่า ใครปลูกต้นงิ้ว เท่ากับแช่งตัวเอง หรือเตรียมปลูกต้นไม้ไว้ทำโลงให้กับตัวเอง

เมื่อต้นยังเล็ก งิ้วมีหนามจำนวนมาก ครั้นโตขึ้น หนามเริ่มน้อยลง แต่จะไปปรากฏที่กิ่งเล็กแทน ใช้เวลามากกว่า 4-5 ปี ต้นงิ้วจึงจะให้ดอกได้

เท่าที่พบอยู่ ดอกงิ้วมีสีแดง สีส้ม และสีเหลือง ยามที่ออกดอก สีจะจัดมาก จนมองดูสว่างไสว เมื่อดอกบาน เป็นโอกาสอันดีของนก ส่วนหนึ่งมาจิกกินเกสรของดอกงิ้ว มีนกบางประเภท ที่อาศัยมาหาแมลงกิน ซึ่งมีแมลงหลายชนิดมาตอมดอกงิ้ว

ดอกงิ้วบานช่วงหนาวต่อร้อน ราวเดือนกุมภาพันธ์

ภาคเหนือ มีขนมจีนน้ำเงี้ยว ที่มีส่วนประกอบของเกสรดอกงิ้ว เดิมอาหารชนิดนี้นิยมในกลุ่มของไทใหญ่หรือเงี้ยว ต่อมานิยมรับประทานทั่วไป

คุณการุณย์ มะโนใจ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเกษตรจังหวัดพะเยา เล่าว่า การเก็บเกสรงิ้ว เก็บตอนดอกร่วงลงมา เมื่อได้แล้วนำมาตากแห้ง จึงนำไปเป็นส่วนผสมของน้ำยาขนมจีน เกสรของดอกงิ้ว ส่วนหนึ่งเป็นเยื่อใยช่วยในการขับถ่าย รวมทั้งมีคุณสมบัติเป็นสมุนไพร

ตามท้องถิ่นชนบท บริเวณใดที่มีต้นงิ้วขึ้นอยู่อย่างชุกชุม จะเป็นสวรรค์ของพวกเด็กๆ ที่ชอบยิงนก ทั้งนี้เพราะต้นงิ้วที่ดอกบาน จะเป็นแหล่งชุมนุมของนกชนิดต่างๆ คล้ายๆกับยามที่ต้นไทรมีผลสุก แต่ต้องใช้ฝีมือ เพราะต้นงิ้วนั้นมีความสูง ใครที่ใช้หนังสติ๊กยิงนกได้ถือว่าเก่ง

ต้นงิ้วมักเป็นที่อาศัยทำรังของนกเอี้ยง ถึงแม้เด็กๆหมายตาอยากได้ลูกอ่อนของนกเอี้ยงมาเลี้ยง แต่ก็ยาก เพราะนกชนิดนี้ฉลาด ทำรังที่ปลายยอดของงิ้ว ยากที่จะปีนป่ายไปเก็บลูกนกได้

ดอกงิ้ว เมื่อบานแล้วก็จะติดผล เมื่อผลแก่ได้ที่ ชาวบ้านก็จะนำปุยงิ้วมาใช้ประโยชน์

วิธีการขั้นตอนนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และถือว่ามีความเสี่ยงไม่น้อย ผู้ที่ต้องการปุยงิ้ว ต้องเก็บผลหรือฝักมาตั้งแต่ช่วงที่ผลหรือฝักยังไม่แตก หากผลแตกปุยก็จะกระจายไปตามแรงลม

เกสรดอกงิ้ว

เพราะต้นงิ้วมีขนาดใหญ่ สูง กิ่งก้านไม่แน่นทึบ จึงต้องปีนขึ้นไปสอยหรือเขย่าให้ผลล่วงลงมา

เมื่อถึงเวลาต้องเก็บผลงิ้ว นักปีนจะทำทอยหรือลูกทอยจากไม้ไผ่ป่าซึ่งมีความเหนียวไม่หักง่าย ความยาวนั้นขนาดครึ่งศอก ส่วนความใหญ่ของทอย ต้องรับน้ำหนักของคนปีนได้

นักปีนต้นงิ้ว จะนำทอยใส่ย่าม แล้วเริ่มตอกทอยต้นงิ้วใกล้พื้นดินก่อน จากนั้นก็ใช้เท้าเหยียบที่ทอย แล้วตอกขยับสูงขึ้นไปเรื่อยๆ กะระยะให้ก้าวขยับเท้าให้พอดี

ขยายความเรื่องทอย…ในพจนานุกรมฉบับมติชน หน้า 420  ระบุว่า น.เรียกไม้แหลมสำหรับตอกต้นไม้เป็นระยะๆ เพื่อเหยียบขึ้นไปว่า”ลูกทอย”

ตอกทอยไปจนถึงกิ่งใหญ่ แล้วใช้กิ่งใหญ่เป็นฐาน ในการใช้ไม่ไผ่ขนาดยาวสอยผลของงิ้ว

โดยธรรมชาติแล้ว ขั้วผลของงิ้วไม่เหนียว คนปีนออกแรงนิดหน่อย ผลงิ้วก็ร่วงลงสู่พื้น

งานตอกทอยเพื่อปีนเก็บผลงิ้ว จะตอกปีต่อปี เขาจะไม่ใช้ทอยเก่า เพราะเกรงกันว่า ทอยเก่าจะผุและหัก ทำให้คนปีนตกต้นงิ้วได้

ในท้องถิ่นชนบท เคยมีข่าวคนตกต้นงิ้วเสียชีวิต

ในประเทศไทย จังหวัดที่มีความหนาวเย็น เห็นคุณค่าพืชที่ต้องใช้ปุยมาก อย่างฝ้ายนำปุยมาทำผ้าห่ม ส่วนงิ้วและนุ่น ชาวบ้านนิยมนำมายัดฟูก

ยังไม่พบเห็นการปลูกงิ้วจริงจัง แต่ระหว่างทาง จากตัวเมืองน่าน ไปอำเภอท่าวังผา ทางฝั่งทิศตะวันออกของน้ำน่าน เห็นเกษตรกรปลูกงิ้วอยู่แปลงหนึ่ง พื้นที่ไม่น้อยกว่า 4 ไร่ ซึ่งก็คงจะมีวัตถุประสงค์นำปุยมาใช้ประโยชน์

ในแง่ของการวิจัย พืชใกล้เคียงกันอย่างนุ่น หน่วยงานราชการแนะนำให้เกษตรกรปลูกนุ่นพันธุ์ “ทรงฉัตร” ที่มีการคัดพันธุ์มานาน เป็นนุ่นที่ให้ผลผลิตดี แต่งิ้วยังไม่มีการคัดสายพันธุ์

ในแง่ของการปลูกงิ้วเพื่อเป็นไม้ประดับน่าสนใจไม่น้อย งิ้วที่พบเห็นมีอย่างน้อย 3 สี หากมีงานวิจัยและปลูกประดับได้ อาจจะได้ชื่อว่าเป็นไม้ดอกที่มีลำต้นขนาดใหญ่สุดชนิดหนึ่งก็ได้

ถึงแม้ดอกงิ้วจะบานให้เห็นระยะสั้นๆ ในรอบปี แต่สิ่งที่มีนั้น ถือว่ามีคุณค่า

หากปลูกต้นงิ้วประดับ โอกาสที่คนจะลักลอบตัด หรือนำไปใช้ประโยชน์คงจะน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับไม้ชนิดอื่น

เรื่องของการปลูกประดับ หลังๆ มีคนนำงิ้วประดับจากต่างประเทศ เข้ามาปลูกในประเทศ ซึ่งดอกมีความสวยงามดี

ดอกงิ้วร่วง

สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354