งานวิจัยสมุนไพรรักษาโรค มือ-เท้า-ปาก

โรคมือ-เท้า-ปาก (Hand, foot, and mouth disease) เป็นโรคที่พบการระบาดในเด็กทุกๆ ปี ส่วนใหญ่จะเกิดในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี สาเหตุมาจากเอไวรัสกลุ่มเอนเทอโรไวรัส โดยแต่ละสายพันธุ์จะทำให้เกิดอาการหนักเบาแตกต่างกันไป

อาการที่พบคือ เจ็บปาก มีแผลเล็กๆ ในปากหลายจุด ทำให้เด็กกินข้าวไม่ได้ และมีผื่นเป็นจุดแดง หรือเป็นตุ่มน้ำใสขึ้นบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า และพบตามลำตัว แขน ขา หรือตามก้นก็พบได้ ซึ่งอาการเหล่านี้ ในรายที่เป็นไม่มากก็จะดีขึ้นเองในประมาณ 1 สัปดาห์ แต่สิ่งที่ควรระวังคือ อาการแทรกซ้อนจากเชื้อ Enterovirus 71 (EV71) ที่มักก่อเกิดโรคแทรกซ้อนที่รุนแรงได้คือ ก้านสมองอักเสบ กล้ามเนื้ออ่อนแรง

ปัจจุบัน ยังไม่มียาที่รักษาเชื้อไวรัสชนิดนี้ และยังไม่มีวัคซีนที่จะได้ผลในการป้องกันเชื้อไวรัสในกลุ่มนี้ หลักการรักษาคือ รักษาตามอาการของผู้ป่วย เช่น หากเด็กเพลียจากการรับประทานอาหารไม่ได้ ก็พยายามให้รับประทานอาหารอ่อน หรือหยอดยาชาในปาก เพื่อไม่ให้เจ็บแผล ในกรณีที่อยู่ในโรงพยาบาลก็จะให้น้ำเกลือ แต่หากในกรณีที่รุนแรงมาก เช่น มีอาการทางสมอง ก็จะใช้ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลายด้านและพยาบาลดูแลอย่างใกล้ชิด

สำหรับสมุนไพรที่เคยมีการทำวิจัยในโรคมือ-เท้า-ปาก คือ ฟ้าทลายโจร (Andrographis panicalata (Burm.F.) Nees.) เป็นงานวิจัยที่ทำในประเทศจีน โดยนักวิจัยได้สกัดสารสำคัญของฟ้าทลายโจรและทำให้อยู่ในรูปแบบของยาฉีดคือ Andrographolide Sulfonate injection

งานวิจัยนี้ทำในเด็กที่เป็นโรคมือ-เท้า-ปาก อายุ 1-13 ปี จำนวน 230 คน โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกจะได้รับการรักษาแบบแผนเดิม ร่วมกับ Andrographolide Sulfonate injection อีกกลุ่มจะได้รับการรักษาแบบแผนเดิม โดยติดตามผล 7-10 วัน ผลที่เกิดขึ้นคือ ในกลุ่มแรกจะพบอาการแทรกซ้อนแบบรุนแรงน้อยกว่ากลุ่มที่สองอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ ยังทำให้ไข้ลงได้เร็วขึ้น ทำให้แผลที่ผิวหนังและแผลในปากหายมากกว่ากลุ่มที่รักษาแบบแผนเดิม และไม่พบการเสียชีวิต รวมทั้งผลข้างเคียงที่รุนแรงในกลุ่มทดลอง

นอกจากนี้ หากมีแผลในปากก็สามารถใช้กลีเซอรีนพญายอหยอดบริเวณแผลได้ เนื่องจากในใบพญายอมีสารฟลาโวนอยด์ มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ทำให้แผลหายเร็วขึ้นและปลอดภัย ไม่มีผลข้างเคียง

โดยสรุปแล้ว การป้องกันโรคนี้อาจจะดีที่สุด เนื่องจากยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคนี้ ผู้ปกครองควรฝึกให้เด็กๆ หมั่นล้างมือให้สะอาดหลังจากหยิบจับสิ่งของ ก่อนรับประทานทุกครั้ง ทางโรงเรียนก็ควรจะแยกผู้ป่วยเอาไว้ไม่ให้สัมผัสกับเด็กคนอื่น ทำความสะอาดของเล่น ห้องเรียน เพื่อลดการแพร่ระบาด อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะระวังมากแค่ไหน เด็กๆ ก็อาจมีโอกาสรับเชื้อมาได้ ผู้ปกครองก็ควรดูแลอย่างใกล้ชิด เฝ้าระวังอาการแทรกซ้อนต่างๆ และอยากให้ผู้อ่านทุกท่านดูแลสุขภาพกันในหน้าฝนปีนี้ด้วย

ขอบคุณ ข้อมูลจาก ภก.ณัฐดนัย มุสิกวงศ์ คอลัมน์พืชใกล้ตัว วารสารอภัยภูเบศร ปีที่ 12 ฉบับที่ 133 ประจำเดือนกรกฎาคม 2557