“สาเก” มีดีที่ไม่ควรมองข้าม! ต้านอนุมูลอิสระ ลดระดับคอเลสเตอรอล

สาเก เป็นพืชอยู่ในวงศ์เดียวกับขนุน มีชื่อสามัญภาษาอังกฤษว่า Breadfruit, Bread fruit tree, Bread nut tree จัดเป็นพืชพื้นเมืองของมาเลเซีย อินโดนีเซีย และหมู่เกาะต่างๆ ในแปซิฟิกใต้ สาเกที่เห็นในประเทศไทยจึงเป็นไม้ต่างประเทศที่น่าจะนำเข้ามาปลูกไว้นานแล้ว

ทุกวันนี้พอแบ่งสาเกในไทยได้ 2 ชนิด คือ สาเกพันธุ์ดั้งเดิมจะมีเมล็ด ในเมืองไทยเรียกว่า “ขนุนสำปะลอ” ส่วนที่เรียกว่า “สาเก” คือสายพันธุ์ที่ไม่มีเมล็ดที่มักนำมาทำขนม 

หากสังเกตดีๆ จะแปลกใจว่า ทำไม ฝรั่งตั้งชื่อว่า “ผลขนมปัง” เพราะเนื้อของสาเกเมื่อนึ่งหรือต้มให้สุกจะมีลักษณะคล้ายเนื้อของขนมปังนั่นเอง (แต่คนไทยรู้เทคนิคทำขนม ก่อนนำสาเกมาเชื่อม จะแช่น้ำปูนใสสัก 1-2 ช.ม. ทำให้เนื้อแน่นไม่ยุ่ย)

สาเก เป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบ ขนาดกลางสูง 10-20 เมตร เปลือกสีน้ำตาลปนเทา ทุกส่วนมีน้ำยางสีขาว

ใบ เป็นใบเดี่ยวขนาดใหญ่ ขอบใบหยักเป็นแฉกลึก 5 ถึง 11 แฉก หลังใบสีเขียวเข้มเป็นมัน ท้องใบมีขน ใบอ่อน

ดอก เป็นแบบแยกเพศ แต่อยู่บนต้นเดียวกัน ออกดอกตลอดปี

ผล เป็นแบบผลรวม สีเขียวอมเหลือง รูปร่างค่อนข้างกลมหรือกลมรี ผิวเปลือกมีหนามสั้นๆ ปกคลุม

หลายคนอาจนึกไม่ถึงว่าต้นสาเกมีสายพันธุ์มากกว่า 120 สายพันธุ์ และมีการเพาะปลูกกันมานานกว่า 3,000 ปีแล้ว ซึ่งในเกาะมาวีและเกาะกาวาย เป็นแหล่งสะสมสายพันธุ์สาเกหลายสายพันธุ์และเปิดให้ชมกันมากที่สุดในโลกด้วย

สาเก เป็นไม้ผลที่ออกลูกดก ในหนึ่งฤดู ต้นสาเกอาจออกผลได้ถึง 200 ผล สำหรับสายพันธุ์ที่ปลูกในเมืองไทยนั้นแบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์หลักๆ ได้แก่ สาเกพันธุ์ข้าวเหนียว (ผลใหญ่ ผลสุกเนื้อเหนียว นิยมปลูกทั่วไป หรือปลูกไว้ทำขนมสาเก) และสาเกพันธุ์ข้าวเจ้า (ผลเล็กกว่า เนื้อหยาบร่วน ไม่เป็นที่นิยมปลูก และไม่ค่อยนำมารับประทานมากนัก) บางคนนิยมปลูกสาเกแต่ไม่ค่อยนำผลมากินหรือปลูกเพื่อขาย แต่มองต้นสาเกสวยงามปลูกเป็นไม้ประดับด้วย

การใช้ประโยชน์ทางยา มีรายงานประโยชน์จากสาเกทั้งในมุมของภูมิปัญญาดั้งเดิมของไทยและต่างประเทศ พอสรุปรวมได้ว่า ส่วนของรากมีรสเบื่อเมา มีการนำมาใช้เป็นยารักษากามโรค ใช้รากมาฝนผสมกับน้ำดื่ม ครั้งละไม่เกิน 1 แก้วตะไล วันละครั้ง อาการจะค่อยๆ ทุเลาลง

มีการกล่าวถึงรากสาเกช่วยรักษาโรคมะเร็ง ดอกรักษาโรคเหงือก ผลช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจ และช่วยควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิต ช่วยป้องกันโรคความจำเสื่อม ช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุนในหญิงวัยหมดประจำเดือน มีการนำมาใช้ทำเป็นยาทำให้รู้สึกผ่อนคลายความเครียด และช่วยให้จิตใจสดชื่นมีชีวิตชีวา

เปลือกต้นสาเก มีสรรพคุณช่วยปรับสมดุลในร่างกาย ช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางเพศด้วยการใช้เปลือกต้นนำมาย่างไฟแล้วนำมาต้มน้ำกิน

และน้ำยางจากต้นสาเกสามารถนำมาใช้ในการรักษาโรคผิวหนัง เช่น กลาก เกลื้อน หิด

จะเห็นว่ามีการใช้ประโยชน์จากสาเกมากพอสมควร แต่ยังขาดการศึกษาวิจัยให้ชัดแจ้งขึ้น จึงน่าจะเร่งส่งเสริมให้จัดการความรู้และศึกษาวิจัยต่อเนื่อง

ปัจจุบัน เริ่มมีการศึกษาวิจัยในระดับสัตว์ทดลอง โดยทดลองกับหนูตะเภาสีน้ำตาล พบว่าเมื่อสีผิวของหนูที่หมองคล้ำเนื่องจากแสง UV-B แต่เมื่อใช้สารสกัดจากเนื้อไม้สาเกแล้ว มีส่วนช่วยทำให้สีผิวของหนูจางลงได้ และไม่พบอันตรายคือไม่ก่อให้เกิดอาการอักเสบที่ผิวหนังและไม่ทำให้เกิดพิษต่อเซลล์ และในเนื้อสาเกพบว่า มีวิตามินเอสูง จึงมีโอกาสนำสาเกมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางบำรุงผิว และพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สารทำให้ผิวขาว (Skin whitening agent) ด้วย

เนื้อสาเกที่เรานำมาเชื่อมกินนั้น มีวิตามินหลายชนิดซึ่งช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหัวใจ โดยช่วยเพิ่มระดับไขมันชนิดดี (HDL) และช่วยลดระดับไขมันเลว (LDL)

เส้นใยอาหารจากสาเกช่วยลดการดูดซึมของน้ำตาลในร่างกาย จึงช่วยควบคุมโรคเบาหวานได้ ช่วยในการทำงานของลำไส้และระบบขับถ่าย ช่วยควบคุมการเคลื่อนไหวของลำไส้ ช่วยกำจัดสิ่งตกค้างในลำไส้ และช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

เนื้อของสาเกให้พลังงานสูง มีแคลเซียมและวิตามินเอที่จำเป็นต่อร่างกาย

สาเกเชื่อม

เมื่อผลสาเกมีคุณค่าอาหารและถือว่าเป็นอาหารสมุนไพรที่มีประโยชน์ การรู้จักปรุงอาหารที่ไม่ใช่แค่ทำสาเกเชื่อม ซึ่งจะกลายเป็นกินขนมหวานได้น้ำตาลมากเกินควรนั้น จึงต้องคิดค้นเมนูอาหารกันต่อไป เช่น มีการนำสาเกมาย่าง ต้ม อบ กินได้ ส่วนการทำขนมสาเก ทั้งแกงบวดหรือสาเกเชื่อม ก็น่าทำกินเป็นครั้งคราว

นอกจากนี้ มีการนำสาเกไปป่นเป็นแป้ง แล้วนำแป้งสาเกมาใช้ทำเป็นขนมปังกรอบได้คุณค่าและอร่อยไปอีกแบบ ดังเช่นชาวอินโดนีเซียนิยมนำสาเกฝานบางๆ นำไปอบกรอบกินเล่นเป็นอาหารว่างสมุนไพร

สาเกทอด

ประโยชน์อื่นๆ ของสาเก ได้แก่ ยางของต้นสาเกนิยมนำมาใช้เป็นชันยาเรือได้ ดอกสาเกสามารถใช้ไล่ยุง เนื้อไม้ทำเป็นเครื่องประดับและนำมาสร้างบ้านได้

ส่วน ขนุนสำปะลอ แม้ว่าจะมีเมล็ด เมล็ดนำมาต้มกินรสชาติคล้ายเมล็ดขนุนหรือเกาลัดจีนรวมกันอร่อยดี และนำมาทำไส้ขนมต่างๆ ได้ ดอกตากแห้งนำมาจุดไฟให้เกิดควันใช้ไล่ยุง เปลือกต้นของขนุนสำปะลอ ใช้ทำเส้นใยทนทานทำเชือกได้

สาเกและสำปะลอปลูกได้ดีในที่แสงแดดจัด ขึ้นได้ในดินทุกประเภท

หันกลับมาปลูกและพัฒนาการใช้กันดีไหม?

ขนุนสำปะลอ ขอบคุณภาพจากเว็บไซต์มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา (http://www.bsru.ac.th/identity/archives/1777)
ขนุนสำปะลอ ขอบคุณภาพจากเว็บไซต์มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา (http://www.bsru.ac.th/identity/archives/1777)