สาวดำ ไม้งาม แดนใต้

ชื่อสามัญ มะพลับทอง

ชื่อวิทยาศาสตร์ Diospyros transitorea

วงศ์ EBENACEAE

ขึ้นชื่อเรื่องอย่างนี้ หลายคนสงสัยว่า ใช่คอลัมน์ “ป่าเดียวกัน” หรือไม่…ไม่ต้องสงสัยเลย…สาวดำ…เป็นชื่อเรียกของต้นไม้ใหญ่ ที่อยู่ในป่าเขาหิน ลำต้นสูงโปร่ง สะโอดสะอง ดำทะมึน เหมือนหญิงสาวที่อยู่ท่ามกลางป่าเขา…

สาวดำ เป็นไม้สกุลมะเกลือ แถบภาคใต้เรียกว่า “ไม้สาวดำ หรือไม้ขาวดำ” ตามลักษณะของต้น และเนื้อไม้ที่มีแก่นสีดำ แต่ภาษาทางการ เรียกว่า “มะพลับทอง

จากคำเล่าขาน “ต้นสาวดำ” เคยมีอยู่มากมายบนเทือกเขาบรรทัด แต่ตอนนี้สูญพันธุ์ไปแล้ว เพราะเนื้อไม้แข็ง มีลวดลายสวยงาม คนใต้จึงนิยมนำไปทำกรงนกเขา นกกรงหัวจุก เป็นเครื่องประดับใช้ตกแต่งบ้าน ด้ามอาวุธ ด้ามเครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องดนตรี และของใช้ที่มีราคาแพง ว่ากันว่า ไม้ขนาด 8x8x20 นิ้ว ขายได้ในราคาท่อนละเกือบๆ 4,000 บาท เลยทีเดียว

ด้านหน้าใบสาวดำ

ในปี 2559 ผู้เขียนมีโอกาสได้รับทุนให้ทำวิจัย “เรื่องการสำรวจและขยายพันธุ์สาวดำ” ต้องขึ้นเขาปีนเขาเป็นประจำ เนื่องจากเป็นงานสำรวจ และเก็บตัวอย่างพันธุ์ไม้ หลังจากนั้น ไม่นานก็ได้สืบสานมาจนเป็นงานเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในปัจจุบัน จริงๆ แล้ว...สาวดำ ยังไม่สูญหายไปจากป่าเมืองไทย ผู้เขียนได้พบเจอตัวเป็นๆ บนเขาหินปูน อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช บ้านเกิดของผู้เขียนเอง หลังป่ายางพาราของชาวสวนท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นพระเอกสำหรับเรื่องนี้เลยทีเดียว…เอาล่ะ…เรามารู้จัก สาวดำ กันดีกว่า เผื่อจะได้หลงรักแม่สาวดำต้นนี้เพิ่มขึ้นอีกคน..

สาวดำ (Diospyros transitoria Bakh.) หรือ มะพลับทอง อยู่ในวงศ์มะเกลือ (EBENACEAE) สกุล Diospyros (เช่น ตะโก มะพลับ มะเกลือ ฯลฯ) สาวดำเป็นไม้ป่าขนาดใหญ่ สูงได้ 25-30 เมตร แล้วแต่สภาพพื้นที่ พบในป่าเขาหินปูน และที่แห้งแล้งกันดาร ไม้ป่าพวกนี้โตช้ามาก ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญของไม้คุณภาพสูง เนื้อไม้แข็งมีสีดำ คุณภาพดี ลายสวย สาวดำ มีชื่อท้องถิ่นว่า ตานดำ มะขามโคก (จันทบุรี) น้ำผึ้ง (ปราจีนบุรี) ลำบิดใบใหญ่ (ชลบุรี) สาวดำ อีสาวดำ(นครศรีธรรมราช) หมาเหล็ก (สุราษฎร์ธานี) ฯลฯ

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ใบ เดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่แกมขอบขนาน ฐานใบมน ปลายใบแหลม เนื้อใบหนา เกลี้ยง ดอก แยกเพศ มักออกเดี่ยว หรือเป็นช่อสั้นๆ ตามกิ่งและตามง่ามใบ ดอกเพศผู้ และดอกเพศเมียอาจอยู่ต้นเดียวกัน  หรืออยู่ต่างต้นกันก็ได้ ดอกเป็นหลอดยาวโคนกลีบเชื่อมติดกัน ปลายแยกจากกัน กลีบรองดอก 4-5 กลีบ กลีบดอกมีจำนวนเท่ากับกลีบรองดอก ขอบกลีบเรียงเกยซ้อนกันคล้ายกังหันลม

ดอกตัวผู้

ดอกเพศผู้ เป็นช่อ เป็นหลอดยาวกว่าเพศเมีย กว้างประมาณ 0.5-1.0 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1.5-2.0 เซนติเมตร เกสรเพศผู้มี 6 อัน ขึ้นไป

ดอกเพศเมีย เป็นดอกเดี่ยว กว้างประมาณ 1.0 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1.0-1.5 เซนติเมตร รังไข่อยู่เหนือโคนกลีบรองดอก มี 2-12 ช่อง แต่ละช่องมีไข่อ่อน 1-2 หน่วย ก้านชูเกสรเพศเมีย 1-6 อัน

ผล
เมล็ด

ผล เป็นชนิดสดและอุ้มน้ำ เกลี้ยง ทรงกลมแบน ขั้วผลมีฝาหรือกลีบเลี้ยงคล้ายหมวก ซึ่งพัฒนามาจากกลีบรองดอก มีขนาดผลประมาณ 3.0-4.0 เซนติเมตร ออกดอกประมาณเดือนพฤศจิกายน ผลสุกแก่ประมาณเดือนมีนาคม-เมษายน

ฤทธิ์ทางสมุนไพร สำหรับสาวดำนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่ไม้ในวงศ์มะเกลือส่วนใหญ่ ผลดิบจะมีสรรพคุณเป็นยา เช่นมะเกลือ มะพลับ หรือตะโก นอกจากนั้น นำไปทำสีย้อมแห อวน ได้อีกด้วย ซึ่งผู้เขียนจะนำไปวิจัยต่อไปในเรื่องของสีย้อมธรรมชาติ

เริ่มเดิมทีผู้เขียนสนใจ สาวดำ เพราะเป็นไม้ป่าท้องถิ่นทางภาคใต้ และท่าน บุญฤทธิ์ ภูริยากร ซึ่งในอดีตท่านเป็นนักวิชาการป่าไม้ที่มีความรู้ ความสามารถด้านพันธุ์ไม้ ผู้ซึ่งได้ให้การสนับสนุนกล้าพันธุ์ไม้แก่ผู้เขียนหลายชนิด ท่านได้บอกไว้ว่า “ต้นสาวดำ มี 2 ชนิด คือ มะพลับทอง (Diospyros transitoria) และ พลับดง (Diospyros bejaudii) ทั้งสองชนิดนี้หากจะหา ให้ไปหาทางภาคใต้

สำหรับมะพลับทองหาได้ตั้งแต่แถวจังหวัดพังงา กระบี่ ไปจนถึงอำเภอทุ่งสง นครศรีธรรมราช ส่วนต้นพลับดงนั้นจะเป็นไม้ที่เขาใช้ทำกรงนกหัวจุกแถวสามจังหวัดภาคใต้…” น้อยคนนักที่จะรู้ว่า สาวดำ มี 2 ชนิด คือ มะพลับทอง และ พลับดง แต่

อย่างไรก็ตาม สาวดำ ก็ไม่ได้มีเฉพาะทางใต้เท่านั้น ทางภาคอีสานมีไม้เนื้อดำจำพวกตะโกอีกต้นหนึ่งคือ สาวดำอีสาน หรือ นางดำ หรือชื่อทางการก็คือ ต้นทะยิง (Diospyros oblonga ) ซึ่งจะเขียนในโอกาสต่อไป

ทางขึ้นเขาไปเก็บสาวดำ

การสำรวจต้นสาวดำในครั้งนั้น ต้องปีนเขาที่สูงชัน และมีแก่งแง่งหินที่แหลมคม แถมต้องเดินเท้าอีกนานนับชั่วโมงจึงจะถึงที่หมาย กว่าจะมาถึงได้ก็ทุลักทุเลพอสมควร การเดินทางขึ้นเขาร่างกายต้องพร้อม ที่สำคัญที่สุดคือ ต้องมาตอนหน้าแล้ง หน้าฝนนี่ไม่ได้เลย ฝนตกแทบทุกวัน ถ้าวันไหนฝนตกพื้นดินจะเปียก และลื่น ปีนขึ้นเขาไม่ได้ ต้องรอให้เขาแห้งก่อนสัก 2 วัน และโอกาสที่จะได้ขึ้นเขาก็น้อย เพราะฝนตกแทบทุกวัน ถึงกับต้องบนบานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ขอให้ฝนหยุดตกกันทีเดียว

ความเหนื่อยทั้งหลายหายไปอย่างปลิดทิ้ง เมื่อได้มาเจอ ต้นสาวดำ ที่ยืนตระหง่านบนขุนเขา เหมือนได้เจอขุมทรัพย์อันยิ่งใหญ่ ด้วยเหตุผลที่ว่า ต้นสาวดำ หรือ มะพลับทอง นั้นช่างหายาก สมัยก่อนอาจมีมาก แต่ตอนนี้ถูกตัดโค่นทำลายลงไปใช้ประโยชน์จนหาแทบไม่ได้แล้วในป่าภาคใต้ มะพลับทอง เป็นต้นแยกเพศ (dioecious) เพศผู้และเพศเมียอยู่คนละต้นกัน ทำให้โอกาสในการกระจายพันธุ์ค่อนข้างต่ำ ต้องอยู่เป็นกลุ่มเท่านั้นจึงจะเพิ่มประชากรได้ และด้วยกลิ่นที่หอมหวานเป็นที่โปรดปรานของสัตว์ป่า นก หนู ค้างคาว และกระรอก ยิ่งทำให้โอกาสเจอผลหรือเมล็ดยากเข้าไปอีก เราจึงไม่ค่อยได้เห็นต้นสาวดำกันมากนัก…

สาวดำ เป็นไม้หายาก สถานภาพปัจจุบันกำลังถูกคุกคาม หากไม่มีการอนุรักษ์พันธุกรรมไว้ คงจะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ สาวดำควรเป็นไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคใต้ที่เป็นถิ่นกำเนิด

สาวดำในมือนาง

สำหรับผู้เขียน สาวดำ เป็นยิ่งกว่าชีวิต สาวดำทำให้มีคนสำคัญของชีวิตมาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน ไปปีนเขาเก็บตัวอย่างไม้ด้วยกัน อยากขอบคุณจากใจที่คอยช่วยเหลือติดตามต้นสาวดำด้วยกันมาโดยตลอด นอกจากนั้น ขอขอบคุณทุกท่านที่ทำให้การสำรวจในครั้งนั้นสำเร็จได้ด้วยดี จนถึงวันนี้ข้อมูลของสาวดำอยู่ในกำมือของผู้เขียนแล้วอย่างเต็มภาคภูมิ รวมทั้งกล้าสาวดำน้อยๆ ด้วย (ฮาาา…)

ด้ามขวานไม้สาวดำ
ม้านั่งไม้สาวดำ

เอกสารอ้างอิง

เต็ม สมิตินันท์. 2544. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย. ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้, สำนักวิชาการป่าไม้, กรมป่าไม้,กรุงเทพฯ. 810 น.

แพรวพรรณ เกษมุล และ จรัสศรี นวลศรี. 2556. ความหลากหลายทางพันธุกรรมของพืชสกุล Diospyros ในภาคใต้ของประเทศไทย โดยใช้เทคนิคอาร์เอพีดี. บทความวารสารเกษตร 29 ฉบับที่ 3 ตุลาคม 2556. น. 207-219.