แอปพลิเคชั่น กับ การใช้งานเกษตรกรรม

ปัจจุบัน โทรศัพท์เคลื่อนที่ (smartphone) กลายเป็นอุปกรณ์ที่มีคุณสมบัติความสามารถหลากหลาย การใช้งานผ่านแอปพลิเคชั่น หรือเรียกสั้นๆ ว่า “แอป” โทรศัพท์เคลื่อนที่มีระบบทำงานแบ่งเป็น 2 ค่ายใหญ่ๆ คือ ระบบไอโอเอส (iOS) บนโทรศัพท์ไอโฟน ของ บริษัท แอปเปิ้ล และระบบแอนดรอยด์ (Android) ของ บริษัท กูเกิ้ล ที่ถูกใช้บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้ออื่นๆ ทำให้ผู้พัฒนาแอปต้องคำนึงว่าจะให้ผู้ใช้งานบนระบบหนึ่งระบบใดหรือทั้งสองระบบ

จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีนี้ เกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์และข้อมูลข่าวสารจากแอปต่างๆ ที่ถูกออกแบบมาเพื่องานด้านเกษตรกรรม โดยผู้เขียนจะขอแนะนำตัวอย่าง ดังนี้

แอปแรก คือ “ฟาร์ม D” ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นแอปที่เกษตรกรสามารถใช้ข้อมูลและเทคโนโลยี เพื่อการวิเคราะห์วางแผนในการสร้างผลผลิตทางการเกษตรที่เหมาะสมได้ด้วยตนเอง แอป “ฟาร์ม D” (D มาจาก Design หรือการออกแบบ) ใช้แนวคิดการจัดการฟาร์ม (Farm Management) มาเป็นพื้นฐานในการพัฒนา มีการนำข้อมูลราคาผลผลิตสินค้าเกษตร ต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตร และผลตอบแทนสุทธิสินค้าเกษตรในแต่ละจังหวัด มาวิเคราะห์วางแผนการผลิต

เมื่อเกษตรกรเลือกผลิตสินค้าเกษตรประเภทใดบนจำนวนพื้นที่ของตนเองที่มีอยู่ แอปจะแสดงผลปฏิทินการผลิต รายละเอียดประกอบด้วย สินค้าที่เกษตรกรเลือก ต้นทุนการผลิตต่อไร่ ต้นทุนการผลิตรวม และผลตอบแทนสุทธิรวม เกษตรกรจะได้แผนการดำเนินงานตลอดทั้งปี แม้เบื้องต้นจะยังไม่ครอบคลุมปัจจัยอื่นๆ เช่น เงินทุน แรงงาน เป็นต้น แต่ผู้เขียนเห็นว่าแอปนี้ยังคุ้มค่าต่อการทดลองใช้ เพื่อจะได้มีข้อเสนอแนะให้กับทีมพัฒนาเพื่อปรับปรุงต่อไป

ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นของระบบแอนดรอยด์และคู่มือ ได้ที่ http://www.oae.go.th/view/1/OAE_Farm_D/TH-TH และขณะนี้อยู่ในระหว่างพัฒนาระบบไอโอเอส ให้สามารถใช้งานได้

แอปต่อไป ชื่อ “Plantix” เป็นแอปที่ถูกพัฒนาโดยบริษัทสัญชาติเยอรมัน ที่แพร่หลายไปกว่า 155 ประเทศ ทำหน้าที่เสมือนเป็นห้องแล็บเคลื่อนที่ เพื่อใช้วินิจฉัยโรคที่เกิดกับพืช ความเสียหายจากศัตรูพืช การขาดสารอาหาร และแนะนำมาตรการดูแลรักษา ผู้ใช้งานเพียงถ่ายรูปความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับพืชที่ปลูกทุกซอกทุกมุม จากนั้นระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence – AI) ในแอปจะทำหน้าที่นำรูปภาพเหล่านั้นไปประมวลผลจากฐานข้อมูล เพื่อคาดการณ์ว่าเกิดจากสาเหตุอะไร พร้อมแนะนำวิธีแก้ไข ดังนั้น หากมีการใช้แอปนี้มากๆ ฐานข้อมูลจะยิ่งกว้างและลึก จะทำให้การวิเคราะห์ได้ถูกต้องและแม่นยำสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังมีชุมชนออนไลน์ที่คอยช่วยเหลือในการตอบคำถามให้กับผู้ใช้งานที่ประสบปัญหาอีกด้วย

แอปนี้สามารถใช้งานได้ฟรี โดยผู้พัฒนามีปณิธานว่า จะให้คงสถานะแบบนี้ไว้ ถือว่าเป็นคุณูประโยชน์ต่อเกษตรกรและผู้ใช้งานทั่วไป ขณะนี้ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดผ่านระบบแอนดรอยด์ได้เท่านั้น และสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ https://plantix.net/community/en

Plantix

สำหรับแอปที่ถูกพัฒนาเพื่อเกษตรกรโดยเฉพาะ คือ “Farmbook” ของกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นสมุดทะเบียนเกษตรกรอิเล็กทรอนิกส์ ที่ใช้แทนสมุดทะเบียนเกษตรกร (ทบก.) ช่วยอำนวยความสะดวกให้เกษตรกรสามารถแก้ไขปรับปรุงตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล การขึ้นทะเบียนเกษตรกรผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องเดินทางมาที่สำนักงานเกษตรอำเภอ

เกษตรกรสามารถใช้แอปนี้แทนเอกสารยืนยันตัวตนในรูปแบบดิจิทัล เพื่อรับสิทธิประโยชน์และเข้าร่วมโครงการต่างๆ ของภาครัฐ เกษตรกรสามารถใช้ รับข้อมูลข่าวสารและตรวจสอบข้อมูลกิจกรรมด้านการเกษตรบนแผนที่แบบออนไลน์ รวมถึงการตรวจสอบสิทธิเกษตรกรที่ได้รับความช่วยเหลือในกรณีประสบภัยพิบัติ หรือตามมาตรการแก้ปัญหาอื่นๆ ของภาครัฐ

ข้อมูลในแอปประกอบด้วย 9 ด้าน คือ

  1. ข้อมูลพื้นฐานครัวเรือน
  2. สมาชิกในครัวเรือนและการเป็นสมาชิกองค์กร
  3. การถือครองที่ดินเพื่อการเกษตรทั้งที่เป็นของตนเอง ที่ดินเช่า ประเภทเอกสารสิทธิ เลขที่เอกสาร และเนื้อที่ตามเอกสาร
  4. การประกอบกิจกรรมการเกษตร โดยระบุรายละเอียดของประเภทกิจกรรมการเกษตร วันที่และเนื้อที่ปลูก และวันที่และเนื้อที่ที่จะเก็บเกี่ยว
  5. การเข้าร่วมโครงการภาครัฐ
  6. รายได้
  7. หนี้สิน
  8. เครื่องจักรกลการเกษตร และ
  9. แหล่งน้ำ ซึ่งจะรวบรวมอยู่ในฐานข้อมูลทะเบียนเกษตรกรของกรมส่งเสริมการเกษตร

กรมส่งเสริมการเกษตร ยังมีแอป ชื่อ “Farmcheck” ที่ถูกพัฒนาขึ้นสำหรับเกษตรกรผู้สนใจข่าวสารและองค์ความรู้ด้านการเกษตร เพื่อพัฒนาตนเองและประกอบอาชีพอย่างมีประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และมีตลาดรองรับ แอปจะส่งข่าวสารด้วยระบบแจ้งเตือน (Notification) เช่น

– การแจ้งเตือนข่าวสารโรคพืช ภัยแมลง และภัยธรรมชาติ

– ข้อมูลแหล่งผลิตพืชจากระบบฐานข้อมูลของกรมส่งเสริมการเกษตร มากกว่า 400 ชนิด ทั่วประเทศ

– การวิเคราะห์ความเหมาะสมของพื้นที่เกษตรกรรม โดยใช้ข้อมูลพิกัดตำแหน่ง (Geolocation) ของเครื่องผู้ใช้งานประมวลผลกับฐานข้อมูลผังแปลงเกษตรกรรมดิจิทัลของกรมส่งเสริมการเกษตร ให้ข้อมูลคำแนะนำการเพาะปลูกที่เหมาะสมของแปลงเพาะปลูก

– ข้อมูลสถานที่รับซื้อผลผลิตการเกษตรทั่วประเทศ

– องค์ความรู้ด้านการส่งเสริมการเกษตรที่กรมส่งเสริมการเกษตรเป็นผู้แนะนำ

ผู้สนใจ สามารถดาวน์โหลดแอปได้ทั้งระบบแอนดรอยด์และไอโอเอส และหากต้องการคู่มือการใช้งาน ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://digital.doae.go.th/home/download.html

ผู้เขียนเชื่อว่า หากมีการโฆษณาเผยแพร่และรณรงค์ให้มีการใช้งานแอปเหล่านี้อย่างกว้างขวางจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อเกษตรกรและประชาชนทั่วไป เพราะจะช่วยลดความสูญเสียจากการลองผิดลองถูก เพิ่มคุณภาพและปริมาณของผลผลิต ทั้งนี้ ต้องขอบคุณหน่วยงานของรัฐที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการทำเกษตร โดยการพัฒนาแอปที่เหมาะสมกับคนไทย และหากมีกรณีตัวอย่างที่เกษตรกรนำแอปไปใช้งานจริง หรือการออกไปอบรมแนะนำวิธีการใช้งาน ก็จะทำให้ได้รับความนิยมยิ่งขึ้น