นักวิจัย มทร.ธัญบุรี พัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ผ้าขาวม้าจากฟางข้าว

“ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ผ้าขาวม้าย้อมสีธรรมชาติจากฟางข้าว” บ้านหนองโกวิทย์ อำเภอเขาฉกรรจ์ จังหวัดสระแก้ว ผลงานการออกแบบโดย อาจารย์กรณัท สุขสวัสดิ์ นักวิจัยและอาจารย์ สาขาวิชาการออกแบบแฟชั่นและเครื่องแต่งกาย คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี พัฒนาลวดลายผ้าขาวม้า เพื่อการแปรรูปผลิตภัณฑ์สิ่งทอ และยกระดับผลิตภัณฑ์สิ่งทอ งบประมาณ ปี 2562 โดยได้รับทุนสนับสนุนการพัฒนาและยกระดับสินค้า OTOP ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562

กี่โบราณ

อาจารย์กรณัท สุขสวัสดิ์ เล่าว่า ผ้าขาวม้าทอมือบ้านหนองโกวิทย์ มีลักษณะเฉพาะตัวต่างจากผ้าที่อื่น คือ มีลวดลายที่โดดเด่น กระบวนการทอจะใช้กี่โบราณ ทำให้เนื้อผ้ามีความแน่น จึงทำให้มีผู้นิยมนำไปตัดเป็นเสื้อผ้าชุดทำงาน และชุดสากลรูปแบบต่างๆ ทำให้ผ้าขาวม้าทอมือบ้านหนองโกวิทย์ สร้างชื่อเสียง และเป็นสินค้า OTOP ของอำเภอเขาฉกรรจ์ จังหวัดสระแก้ว เพื่อพัฒนาผ้าขาวม้าโดยการย้อมสีธรรมชาติให้ได้มาตรฐาน มีความคงทนต่อการซัก รวมถึงการพัฒนาลวดลายจากการย้อมสีธรรมชาติที่แตกต่างไปจากเดิม โดยการแปรรูปผลิตภัณฑ์สิ่งทอฯ ให้หลากลาย ทันสมัย เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค และยกระดับผลิตภัณฑ์ OTOP ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเป็นแนวทางที่จะขยายการผลิตไปสู่ตลาดสากล

สวยๆงามๆ

คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ได้ลงพื้นที่บริการองค์ความรู้ “ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ผ้าขาวม้าย้อมสีธรรมชาติจากฟางข้าว” ให้กับวิสาหกิจกลุ่มทอผ้าบ้านหนองโกวิทย์กระบวนการย้อมสีธรรมชาติในครั้งนี้ ใช้วัสดุในท้องถิ่นของกลุ่ม OTOP คือการย้อมสีด้วยฟางข้าว และการย้อมด้วยเปลือกต้นนนทรี

เทคนิคกระบวนการการย้อมสีธรรมชาติจากฟางข้าว เริ่มด้วย 1. ต้มน้ำ ใส่ฟางข้าว ต้มทิ้งไว้ 1 ชั่วโมง 2. นำเส้นฝ้ายไปแช่น้ำในอุณหภูมิปกติ ทิ้งไว้ครึ่งชั่วโมง เพื่อล้างแป้งออก 3. นำเส้นฝ้ายไปต้มอีกครั้งเพื่อล้างแป้ง ต้มทิ้งไว้ครึ่งชั่วโมง แล้วนำไปล้างกับน้ำสะอาดอีกครั้ง 4. ต้มใบยูคาลิปตัสในน้ำ 1 ชั่วโมง ตักใบออกเหลือแต่น้ำ (ใบยูคาลิปตัส เป็นสารช่วยติด ช่วยให้สีติดผ้า)

กระบวนการย้อมสีธรรมชาติ

5. นำเส้นฝ้ายไปแช่ในน้ำยูคาลิปตัส แช่ทิ้งไว้ 1 ชั่วโมง 6. นำต้นนนทรี มาสับให้เป็นชิ้นเล็กๆ นำไปชั่ง เส้นฝ้าย 1 กิโลกรัม/เปลือกต้นนนทรี 1 กิโลกรัม 7. นำเปลือกไม้ต้นนนทรีไปต้ม ทิ้งไว้ 1 ชั่วโมง 8. นำเส้นฝ้ายที่ผ่านการย้อมน้ำยูคาลิปตัส นำมาย้อมกับสีเปลือกไม้ใช้เวลา 1 ชั่วโมง เพื่อที่จะใช้เส้นฝ้ายกินสีจากเปลือกต้นนนทรี 9. นำเส้นฝ้ายที่ผ่านการย้อมสีจากเปลือกต้นนนทรี บิดเส้นฝ้ายพอหมาดๆ แล้วนำไปแช่น้ำปูนใส ทิ้งไว้ ครึ่งชั่วโมง (น้ำปูนใสจะทำให้มีสีสันขึ้น) 10. นำเส้นฝ้ายบิดพอหมาดๆ แล้วนำไปใส่ถุงดำ หรือถุงพลาสติกทิ้งไว้ 3-5 ชั่วโมง เพื่อที่จะให้สีติดสนิท แล้วนำไปตากให้แห้งแล้วซักล้างด้วยน้ำสะอาด

เมื่อได้เส้นฝ้ายจากการย้อมสีธรรมชาติ นำมาทอเป็นผืนผ้า โดยการพัฒนาออกแบบลวดลาย จำนวน 2 ลาย ได้แก่ แบบริ้ว และแบบลายสก๊อต ลักษณะเป็นตาราง ช่องเล็กๆ ประมาณ 1 เซนติเมตร นำผ้าข้าวม้าที่ได้มาตัดเย็บแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สิ่งทอ เช่น กระเป๋าถือสตรี กระเป๋าเป้ กระเป๋าคาดอก คาดเอว ซึ่งได้รับความนิยมในปัจจุบัน ชุดเดรสของผู้หญิง เสื้อเชิ้ตของผู้ชาย โดยจุดเด่นของอยู่ที่สี เป็นสีธรรมชาติทั้งหมด โทนสีน้ำตาลแดง และความเบาสบายในการสวมใส่

อาจารย์กรณัท สุขสวัสดิ์ และผ้าทอ

สำหรับผู้สนใจผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ผ้าขาวม้าย้อมสีธรรมชาติจากฟางข้าว สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ อาจารย์กรณัท สุขสวัสดิ์ โทร. (02) 549-3161-2, (085) 675-4415