ต้นเพี้ยฟาน ตำนานผักเป็นยาป่า

ชาวบ้านทางภาคเหนือรู้จักมักคุ้นกับคำว่า “เพี้ย” หรือ “ขี้เพี้ย” กันมากพอ ซึ่งหมายถึง มูลอ่อนของสัตว์ประเภทกินหญ้า วัว ควาย แพะ ส่วนคำว่า “ฟาน” หมายถึงสัตว์ชนิดหนึ่ง คือ เก้ง สัตว์ป่าที่เป็นสัตว์สงวน เหลืออยู่ในป่าไม่มากแล้ว เพราะเป็นที่นิยมล่ามากินเป็นอาหาร เขาว่าเนื้อเก้ง หรือเนื้อฟาน นั้น เป็นสุดยอดเนื้อที่อร่อยมาก

คำว่า “เพี้ยฟาน” หมายถึง มูลอ่อนของเก้งที่ค้างอยู่ในลำไส้ บีบรูดออกมาลวกน้ำร้อน ผสมกับลาบดิบ ลาบเลือด ต้มอ่อม ต้มขม ยิ่งถ้าได้ผสมกับน้ำดีไปอีกนิด ที่สุดเลยครับ เรียก “เพี้ยหัวดี” บางคนชอบถึงกับเอามาปรุงเป็นน้ำจิ้มลวก จิ้มเนื้อย่าง เนื้อปิ้ง นั่นเชียว

วันนี้เรามาทำความรู้จัก “เพี้ยฟาน” ที่เป็นผักสมุนไพรชนิดหนึ่ง คงเป็นเพราะว่า คอสุรา คอลาบดิบ ลาบเลือด ทั้งหลาย ชอบกินของขม เมื่อทำกับแกล้มสุรา จึงหาแต่ของขมมาเสริมรส ไม่ให้สุราที่ร่ำอยู่เกิดความขมขื่น เพี้ยหัวดีที่เอามาผสมลาบเลือด ลาบดิบ ยังมีไม่มากพอ คือมีน้อย ทำให้รสชาติความขมไม่สะท้านทรวง เพี้ยหัวดีของจริง ก็มีการแย่งกันตั้งแต่เชือดชำแหละเนื้อแล้ว ยังไม่พอ มือมีด มือเขียง ยังแอบเอาไปทำน้ำจิ้มตับสดอีก เหลือน้อยเดียวต้องหาของขมอื่นมาแทน ก็ได้จากผักแกล้มลาบชนิดนี้ชดเชย พอไปได้ เรียกผักชนิดนี้ว่า “เพี้ยฟาน”

เพี้ยฟาน เป็นชื่อต้นไม้พุ่มชนิดหนึ่ง ที่ชาวบ้านนิยมนำยอดอ่อนมากินเป็นผักแกล้มลาบ ยำ ส้า ให้รสชาติขมกลมกล่อม หรือรสขมอมหวาน ใช้ใบยอดอ่อนสดมาเป็นผักแกล้ม หรือบางทีที่ต้องการลดความขมลงบ้าง ก็ใช้วิธีเผาลวกไฟเล็กน้อย นำมาเป็นผักแกล้มลาบ ยำเนื้อวัว เนื้อควาย ปลา หรือเนื้อสัตว์ป่า เช่น เก้ง หรือฟาน กระต่าย กระรอก กระแต หมูป่า เสือดำ ฯลฯ โดยเฉพาะคอสุราที่นิยมชื่นชอบลาบขมทั้งหลาย รวมทั้งผู้สูงวัย แบบว่าเข้าตำรา ชอบของขม ชอบชมเด็กสวย ชอบชกมวยยามเช้า ชอบเล่าความหลัง ฮา ฮา ฮา

เพี้ยฟาน เป็นพืชในวงศ์ ARALIACEAE
มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Macropanax dispermus ktze.

มีชื่อภาษาไทยทางภาคเหนือเรียก “เพี้ยฟาน” หรือ “ขี้ฮอก” หรือ “เหมือดหม่น” หรือ “เฮือดหม่น” ภาคกลางเรียก “ต่อไส้” หรือ “สันโสก” หรือ “ระงับพิษ” คนอีสานเรียก “หัสคุณเทศ” หรือ “สมัคน้อย” หรือ “สมัคขาว” เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง 50-150 เซนติเมตร

ลำต้นสีเขียว ผิวเปลือกต้นเรียบ แตกกิ่งก้านสลับกัน ใบจะแตกออกจากกิ่งสลับกัน เป็นใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อยออกตามแกนใบตรงข้ามกัน ประมาณ 7-11 คู่ ใบย่อยรูปร่างกลมรี ใบหอก กว้าง 2-3 เซนติเมตร ยาว 3-4 เซนติเมตร โคนใบสอบ ปลายใบแหลมคล้ายใบผักหวานบ้าน ก้านใบยอดมีสีแดงคล้ำ มองเห็นสีสันชัดเจน สวยสง่าน่าเกรงขาม

ดอกออกเป็นช่อ ดอกบานสีเขียวอมม่วง ออกตามซอกใบและปลายกิ่ง ปลูกขยายได้ด้วยวิธีแยกหน่อ ปักชำกิ่ง ชำราก ชำยอด เจริญเติบโตได้ง่ายและโตเร็ว โดยเฉพาะฤดูฝน มีพบในป่าละเมาะ ชาวบ้านนิยมนำมาปลูกข้างรั้วบ้าน แต่ยังไม่เคยพบเห็นนำมาขายตามท้องตลาด คงเป็นเพราะยังไม่เป็นพืชในความนิยมแพร่หลายมากนัก หรือมีคนส่วนน้อยที่เป็นคนชอบของขม ชื่นชอบรสชาติของเพี้ยฟาน หรืออาจจะเป็นเพราะยังไม่เป็นที่รู้จักกันก็เป็นได้

ผักชนิดนี้นับวันจะหายากขึ้นทุกที ด้วยเหตุว่าความนิยมไม่ค่อยแพร่หลายมากนัก มีหลายคนเจอใบพืชที่มีรสขมหลายอย่าง ก็เรียกว่าเพี้ยฟานไปด้วย ทำให้ความชัดเจนของผักเพี้ยฟาน กลายเป็นผักนอกตำราไปเสีย ทำให้เป็นผักที่ด้อยค่าราคาน้อย มีบันทึกว่าเพี้ยฟานเป็นพืชสมุนไพร เป็นยาพื้นบ้าน มีสรรพคุณบ่งบอกว่า นอกจากจะใช้ยอดอ่อนเป็นผักกับแกล้มลาบขม ยำ ส้าเนื้อ ชาวบ้านมีวิธีการลดความขม โดยการลวกเปลวไฟ ย่างไฟแรงๆ หรือกินสดเอาความขมเพรียวๆ ก็มี   ชาวม้งกินแก้ท้องผูก

หมอชาวบ้าน โดยเฉพาะหมอชาวเผ่าชาวเขาต่างๆ ทั้งกะเหรี่ยง ม้ง ลีซอ ใช้ต้นเพี้ยฟานทั้งต้น ต้มน้ำอาบแก้ผื่นคัน กำจัดเหา ไร รักษาแผลเปื่อย แผลจากการคันและเกา แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก อาบแก้วิงเวียนศีรษะ ดื่มแก้สรรพพิษต่างๆ อาบแก้ไข้ ไม่สบาย โดยเฉพาะหญิงหลังคลอด ตำพอกแผลแก้อาการอักเสบ ช้ำบวมจากไฟ น้ำร้อนลวก เปลือกต้นมีสรรพคุณ มีสารต้านพิษที่จะทำลายตับ ต้านอาการปวดอักเสบ ใบและส่วนทั้งห้า แก้ไข้มาลาเรีย วัณโรค ห้ามเลือด ฆ่าเชื้อโรค รักษาโรคผิวหนัง

แม้แต่นำมาใช้เป็นน้ำยาอาบกำจัดไรให้ไก่ และเชื่อแน่ว่าสักวันหนึ่งคงมีการวิจัยค้นพบสรรพคุณทางยาใหม่ๆ ออกมาได้อีกแน่ ซึ่งก็เหมือนผักที่มีรสขมทั่วไป ล้วนแต่มีสารที่มีรสขม ส่วนใหญ่แล้วผักที่มีรสขมมักจะเป็นยาที่หมอพื้นบ้านของเรานำมารักษาโรคต่างๆ หรือใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย บำรุงกำลัง เหมือนโบราณว่า หวานเป็นลม ขมเป็นยา

ให้เป็นข้อสังเกตไว้ เพี้ยฟาน ทางภาคกลางเรียก “ต่อไส้” มีความหมายเป็นนัยสำคัญถึงความอยู่รอด คือการประทังชีวิตให้ยืนยาวต่อไปอีกชั่วระยะหนึ่ง หรือต่ออายุ ทำให้กินอาหาร และมีอาหารกิน สิ่งนั้นคงหมายถึง เป็นยารักษาชีวิตได้อย่างแน่แท้

ผักพื้นบ้านโดยตัวของมันเอง มีคุณค่าในการสร้างภูมิคุ้มกัน คุณค่าที่สำคัญของผักพื้นบ้านต่างๆ คือมีเส้นใยอาหาร (Fiber) เป็นโครงสร้างของผัก ที่มีมากที่เปลือก ใบ และก้าน ร่างกายเราไม่สามารถย่อยได้ ทำให้เหลือกาก ช่วยให้ลำไส้ใหญ่ทำงาน บีบตัวขับถ่ายของเสียออกจากร่างกาย ช่วยป้องกันโรคท้องผูกได้ เส้นใยอาหารยังช่วยจับคอเลสเตอรอลในเส้นเลือด และขับถ่ายออกมาจากร่างกายพร้อมกับของเสีย เส้นใยอาหารช่วยให้อาหารผ่านจากปากถึงทวารหนักเร็วขึ้น ทำให้เวลาที่เยื่อบุลำไส้เล็ก จะสัมผัสกับสารพิษที่ปะปนมากับอาหารมีน้อยลง โอกาสที่สารพิษจะมีผลกระทบต่อเรามีน้อยลง โรคภัยไข้เจ็บจึงเกิดได้ไม่มากนัก

เชื่อเหลือเกินว่า ประโยชน์ของผักที่มีต่อร่างกาย ซึ่งถึงแม้ผักบางอย่างยังไม่มีผลวิจัยสรรพคุณมาเป็นหลักฐานอ้างอิง ว่ามีสารหรือมีธาตุอาหารใด ที่ช่วยบำรุงร่างกาย หรือรักษาโรคได้ โดยมวลรวมแล้วเชื่อได้เลยว่า ผักเป็นยารักษาโรค โดยเฉพาะผักที่มีรสขม เป็นยาแน่นอน

ผักที่มีรสขม จะเป็นยาแก้โลหิตเป็นพิษ ดีพิการ เพ้อคลั่ง แต่ถ้ารับประทานเข้าร่างกายมากๆ จะทำให้กำลังตก อ่อนเพลีย อาหารรสขมเหมาะสำหรับคนที่มีธาตุน้ำ (เสมหะธาตุ) เป็นธาตุเจ้าเรือน และคนธาตุไฟ (ปิตตะธาตุ) เป็นธาตุเจ้าเรือน ซึ่งธาตุเจ้าเรือนของคนเรานั้น จะเป็นแหล่งกำเนิดโรคของคนนั้นๆ

ถ้ากินผักที่มีรสขม จะช่วยรักษาแก้ไขโรคที่จะเกิดขึ้นได้ ผักที่มีรสขมต่างๆ นอกจากเพี้ยฟาน หรือบางทีเรียก เพลี้ยฟาน แล้วยังมีผักเพกา สะเดา มะระขี้นก ยอดหวาย ยอดกระพ้อ ดอกยอดขี้เหล็ก ยอดมะเฟือง ผักแปม ยอดทับทิม ยอดฟักข้าว มะแว้งต้น มะแว้งเครือ ผักฮ้วนหมู มะเขือขื่น ใบยอ ผักดีด ผักโขม ผักคะนองม้า ผักกาดแม้ว ผักกาดขิ่ว (ขม) ฯลฯ

พืชผักที่มีรสขมที่เป็นสมุนไพร และยอมรับกันแพร่หลาย คือ ฟ้าทลายโจร มะแว้ง ผักรสขมเหมาะสำหรับฤดูหนาว คนธาตุน้ำ มักจะเจ็บป่วยมากกว่าธาตุอื่น ผิวแห้ง มึนศีรษะ น้ำมูกไหล เคล็ดขัดยอก ขยับเขยื้อนร่างกายไม่สะดวก ท้องอืด เพราะฉะนั้นคนธาตุน้ำในฤดูหนาวควรกินอาหารที่มีรสขม และขมเผ็ดร้อน เช่น เพี้ยฟาน พริก ผักไผ่ ผักเฮือด คนธาตุน้ำ ตำนานว่าเป็นคนที่เกิดในราศีกรกฎ ราศีพิจิก ราศีมีน ส่วนคนธาตุไฟ เกิดราศีเมษ ราศีสิงห์ ราศีธนู คนที่เกิดในราศีต่างๆ มักจะมีธาตุเจ้าเรือน เป็นผู้ควบคุมสุขภาพร่างกายอยู่ เกิดธาตุน้ำ ธาตุไฟ ให้หาผักเพี้ยฟาน หรือผักรสขมต่างๆ มากิน แก้ไข หรือช่วยลดผลกระทบต่อร่างกายได้

คนส่วนใหญ่ไม่นิยมชมชอบความขม เพราะกลัวความขมขื่นจะเข้ามาในชีวิตแค่นั้นเอง