เครื่องหมักขยะอินทรีย์ ฝีมือ มก. ใช้ได้ทั้งบ้านและชุมชน

เนื่องจากครัวเรือน และองค์กรชุมชนต่างๆ ที่มีประชาชนอาศัยอยู่รวมกันจำนวนมาก เช่น โรงเรียน หอพัก อพาร์ตเมนต์ ฯลฯ มีปริมาณขยะอินทรีย์เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน

จากลักษณะนิสัยและพฤติกรรมที่ยึดติดต่อความสะดวกสบายของผู้คนในปัจจุบัน ทำให้มีปริมาณขยะอินทรีย์เกิดขึ้นจากกิจกรรมต่างๆ มากมาย ทำให้เกิดปัญหาขยะล้นเมือง และปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งทางด้านทัศนียภาพ กลิ่น และแมลงพาหะนำโรค รวมถึงปัญหาด้านการขาดแคลนพื้นที่กำจัดขยะและวิธีการจัดการที่ไม่เหมาะสม

จึงทำให้ภาครัฐประสบปัญหา ทั้งด้านปริมาณและผลพวงของมลพิษสิ่งแวดล้อมจากขยะอินทรีย์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จากปัญหาข้างต้น จึงให้เป็นที่มาของการคิดค้นประดิษฐ์ เครื่องหมักขยะอินทรีย์ขึ้น โดยมี ดร.ลักขณา เบ็ญจวรรณ์ นักวิจัยจากฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เป็นเจ้าของผลงาน

ดร.ลักขณา กล่าวว่า การคิดค้นเครื่องหมักขยะอินทรีย์ มุ่งเน้นที่การใช้ประโยชน์ได้สะดวกและจูงใจในการทำปุ๋ยหมัก เพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์จากขยะอินทรีย์ให้เกิดมูลค่าสูงสุด อีกทั้งยังเป็นการกำจัดขยะอินทรีย์ ณ แหล่งกำเนิด ช่วยลดปริมาณขยะอินทรีย์ ลดมลพิษทางกลิ่น และยังช่วยให้ภาครัฐลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการเก็บขยะ การขนส่ง และการกำจัดขยะมูลฝอยได้อีกด้วย

ดร.ลักขณา กล่าวต่อไปว่า เครื่องหมักขยะอินทรีย์อัตราเร่ง เป็นสิ่งประดิษฐ์ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการเกษตร ที่สร้างขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์ในการกำจัดขยะอินทรีย์ที่เกิดขึ้นในบ้านเรือน และองค์กรชุมชนที่มีคนอยู่อาศัยจำนวนมาก เช่น โรงเรียน หอพัก อพาร์ตเมนต์ และตลาดสด เป็นต้น

โดยวัตถุดิบที่ใช้ในการหมัก ได้แก่ ขยะอินทรีย์ ประเภทเศษอาหาร เศษผักผลไม้ และเศษใบไม้แห้งที่มีอยู่ทั่วไปในบ้านเรือนประชาชน

จุดเด่นของเทคโนโลยีคือ ภายในถังหมักมีชุดอุปกรณ์ช่วยผสมเพื่อให้เกิดการชักนำอากาศเข้าสู่กอง ทำให้ขยะอินทรีย์เกิดการย่อยสลายเร็ว ไม่มีกลิ่นเหม็นหรือน้ำชะขยะ อีกทั้งผู้ใช้สามารถเติมขยะอินทรีย์เข้าสู่ถังหมักได้ทุกวันและทุกเวลาอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะเต็มถัง

สำหรับการประดิษฐ์คิดค้นนี้ ใช้เทคโนโลยีการพลิกกลับกอง เพื่อชักนำอากาศหรือเติมอากาศเข้าสู่กองปุ๋ยหมัก ด้วยชุดอุปกรณ์ช่วยผสมซึ่งใช้ต้นกำลังจากแรงกล หรือใช้ต้นกำลังจากมอเตอร์ไฟฟ้า

ทั้งนี้ แล้วแต่ความต้องการของผู้ใช้งาน ในกรณีเป็นเครื่องหมักขยะอินทรีย์อัตราเร่งแบบกวนผสมอัตโนมัติ ให้ตั้งเวลาในการหมุนชุดอุปกรณ์ช่วยผสมเป็นระยะๆ ทุกๆ 4-6 ชั่วโมง นานครั้งละ 1-3 นาที (ค่าไฟฟ้าประมาณ 10-30 บาท/เดือน) หากเป็นเครื่องหมักขยะอินทรีย์อัตราเร่งแบบกวนผสมด้วยแรงกล ให้หมุนชุดอุปกรณ์ช่วยผสมด้วยตนเองในทุกๆ ครั้ง ที่เติมขยะอินทรีย์เข้าสู่ถังหมัก

จากลักษณะการทำงานของระบบและการควบคุมสัดส่วนของขยะอินทรีย์ประเภทต่างๆ ในปริมาณที่เหมาะสม จะทำให้การย่อยสลายเกิดขึ้นเร็ว โดยขยะอินทรีย์ในถังหมักจะเกิดการย่อยสลายและเปลี่ยนสภาพเป็นปุ๋ยหมักได้ภายในระยะเวลาเพียง 1-2 สัปดาห์

หากใช้ระบบกวนผสมอัตโนมัติจะเกิดการย่อยสลายได้เร็วกว่าระบบกวนผสมด้วยแรงกล เนื่องจากมีความสม่ำเสมอและต่อเนื่องของการเติมอากาศ ทำให้เอื้อต่อการย่อยสลายขยะอินทรีย์โดยจุลินทรีย์ชนิดที่ใช้ออกซิเจน (Aerobic bacteria)

ทั้งนี้ ผู้ใช้สามารถเติมขยะลงถังหมักได้ทุกวันจนกว่าจะเต็มถังจึงนำปุ๋ยหมักออก ซึ่งมักใช้ระยะเวลาประมาณ 20-30 วัน ขึ้นอยู่กับปริมาณขยะอินทรีย์ของแต่ละครัวเรือน

สำหรับปุ๋ยหมักที่ได้นั้น มีปริมาณไนโตรเจนอยู่ในช่วง 2.5-3.0% ฟอสฟอรัส 0.4-1.0% และโพแทสเซียม 0.8-2.0% โดยน้ำหนัก สามารถนำไปใช้ประโยชน์เพื่อเป็นปุ๋ยต้นไม้ หรือใช้เป็นวัสดุปรับปรุงดินได้อย่างดียิ่ง ซึ่งปุ๋ยหมักที่ได้มีคุณสมบัติเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานปุ๋ยหมักของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

กล่าวโดยสรุปคือ สิ่งประดิษฐ์นี้เป็นเครื่องมือผลิตปุ๋ยหมัก ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์สีเขียว เป็นเครื่องมือที่ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่มีส่วนร่วมในการช่วยลดสภาวะโลกร้อน

นอกจากนี้ รูปแบบของการใช้งานที่เหมาะสม (Optimun practice) โดยยึดหลักของความง่าย สะดวก และไม่ซับซ้อน ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญและจูงใจประชาชนให้ใช้งาน ด้วยคำนึงถึงปริมาณขยะที่เกิดขึ้นในแต่ละวันของภาคครัวเรือน โรงเรียน หรือองค์กรชุมชน

และเพื่อให้สะดวกต่อการนำไปใช้งาน นักวิจัย จึงดำเนินการผลิตเครื่องหมักขยะอินทรีย์เพื่อการใช้งาน 2 ส่วน คือ

หนึ่ง เครื่องหมักขยะอินทรีย์สำหรับบ้านเรือน แบ่งออกเป็น เครื่องหมักขยะอินทรีย์อัตราเร่งแบบกวนผสมอัตโนมัติ และเครื่องหมักขยะอินทรีย์อัตราเร่งแบบกวนผสมด้วยแรงกล ซึ่งมี 2 แบบ คือ แบบมือหมุนกับแบบจักรยาน

สอง เครื่องหมักขยะอินทรีย์สำหรับโรงเรียนหรือชุมชนมี 2 แบบ คือ เครื่องหมักขยะอินทรีย์ขนาดใหญ่แบบกวนผสมอัตโนมัติ เครื่องหมักขยะอินทรีย์ขนาดใหญ่แบบกวนผสมด้วยแรงกล

นี่คือ ผลงานเด่นที่มาจากนักวิจัยของประเทศไทย สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 034-351-399 ต่อ 432, 081-398-7095

เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2562