น้ำมันแกวพร้อมดื่ม แปรรูปเพิ่มมูลค่า ทำดื่มเองได้คุณประโยชน์ ทำขายสร้างผลกำไร

มันแกว (yam bean หรือ jicama) เป็นพืชผักตระกูลถั่ว ประเภทรากสะสมอาหาร มีถิ่นกำเนิดจาก Mexican peninsula มันแกว เป็นพืชอาหารที่สำคัญของผู้คนที่อาศัยอยู่ในแถบอเมริกากลางและอเมริกาใต้ แถบแคริบเบียน และหลายพื้นที่ของทวีปเอเชียมาเป็นเวลาหลายพันปี หัวมันแกวสดมีความฉ่ำ กรอบ สดชื่นเหมือนเนื้อผลไม้ ทั้งช่วยดับร้อนในร่างกายได้เป็นอย่างดี เพราะในเนื้อมันแกว 100 กรัม ประกอบด้วยน้ำถึง 90.5 กรัม

รศ.ดร. ปิ่นมณี ขวัญเมือง

สำหรับในประเทศไทย มันแกว เป็นพืชที่ราคาถูกเมื่อเทียบกับหัวแก่นตะวัน ตลอดจนรูปแบบการนำมาแปรรูปใช้ประโยชน์เพื่อการบริโภคยังมีน้อย ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่รู้จักบริโภคหัวมันแกวแบบสดมากกว่า คือนำมาประกอบเป็นอาหาร และนิยมบริโภคหัวมันแกวสดเช่นเดียวกับการบริโภคผลไม้อื่นๆ โดยหัวมันแกวประกอบไปด้วย ความชื้น 82.38% โปรตีน 1.47% ไขมัน 0.09% แป้ง 9.72% น้ำตาล 2.17% วิตามิน บี1 0.5 มิลลิกรัม วิตามิน บี2 0.02 มิลลิกรัม วิตามินซี 14 มิลลิกรัม แคลเซียม 16 มิลลิกรัม และธาตุเหล็ก 1.13 มิลลิกรัม (ต่อ 100 กรัม)

จากประโยชน์ของมันแกวจะเห็นได้ว่า มันแกว เป็นพืชอีกกลุ่มหนึ่งที่น่าสนใจ ในประเทศไทยการบริโภคมันแกวในลักษณะของเครื่องดื่มยังน้อยอยู่หรือแทบจะไม่พบเห็นเลย ซึ่งประเทศจีนมีการจดสิทธิบัตรการผลิตน้ำมันแกวขึ้นสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพืชชนิดนี้ได้ไม่น้อยทีเดียว จึงทำให้จากสิ่งที่ไม่เคยมีในประเทศไทยเกิดเป็นงานวิจัยที่ตอบโจทย์ และสามารถนำไปใช้ได้จริงด้วยการนำมันแกวไปเพิ่มมูลค่าด้วยการแปรรูป

ลักษณะของหัวมันแกวสด

รศ.ดร. ปิ่นมณี ขวัญเมือง อาจารย์ประจำสาขาวิชาครุศาสตร์เกษตร คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้เห็นถึงคุณประโยชน์ของมันแกวว่า ในประเทศไทยยังมีการนำมาใช้ประโยชน์น้อย และที่สำคัญผลผลิตที่ออกมาในแต่ฤดูกาลเกษตรกรยังไม่สามารถจำหน่ายได้ราคาที่ดี จึงได้ทำการศึกษาและหาวิธีการนำมาแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าให้กับมันแกวมากขึ้น ด้วยการนำมาผลิตเป็นน้ำมันแกวพร้อมดื่ม ที่มากไปด้วยคุณประโยชน์ และทดลองนำส่วนผสมของพืชผักหรือผลไม้อื่นๆ เข้ามาเป็นส่วนประกอบและได้รับคุณประโยชน์หลากหลาย จากสารอาหารต่างๆ จากพืชหลายชนิด

มันแกว มีคุณประโยชน์

นำมาเพิ่มมูลค่าได้

ก่อนต้มนำมาหั่นเป็นชิ้นตามแนวยาว

รศ.ดร. ปิ่นมณี เล่าให้ฟังว่า ได้มีโอกาสศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับมันแกวในด้านต่างๆ ที่เป็นทั้งงานวิจัยและการนำมาแปรรูปจากต่างประเทศ ซึ่งในประเทศไทยเองมองมันแกวว่าเป็นพืชที่สามารถนำมารับประทานเล่นเหมือนกับผลไม้ชนิดอื่นๆ เท่านั้น แต่เมื่อได้ศึกษาอย่างละเอียด จึงพบว่า ในมันแกวมีสารอินูลิน (Inulin) ซึ่งเป็นน้ำตาลโอลิโกฟรุกโทส (Oligofructose) ที่สามารถละลายน้ำได้ จึงเกิดแนวความคิดที่ว่าในเมื่อสารอินูลิน (Inulin) ตัวนี้ที่อยู่ในมันแกวและสามารถละลายน้ำได้ มันแกวจึงสามารถนำไปผลิตหรือแปรรูปได้ โดยที่ไม่ต้องรับประทานเป็นผลสดที่จิ้มพริกเกลือเพียงอย่างเดียว จึงได้ต่อยอดและศึกษาเพิ่มเติมจนมาเกิดเป็นน้ำมันแกวพร้อมดื่มในเวลาต่อมา

ลักษณะของน้ำมันแกวที่ได้จากการต้มสกัดด้วยความร้อน

“ตอนศึกษาเริ่มแรกได้ดูก่อนว่า ถ้านำมันแกวมาทำเป็นเครื่องดื่มสามารถทำได้ไหม และสืบค้นข้อมูลว่า ในประเทศไทยมีใครทำหรือยัง ปรากฏว่าในประเทศไทยยังไม่มีใครนำมาทำเป็นเครื่องดื่ม ส่วนใหญ่จะนำมาทำเป็นแป้งเท่านั้น เราก็เลยมองว่าในเมื่อในมันแกวมีสารอินูลินที่ละลายน้ำได้ การทำเครื่องดื่มก็ต้องสามารถที่จะทำได้ โดยมาปรุงแต่งรสชาติอื่นๆ เข้าไป พอได้ทำการทดลองนำมันแกวมาปั่นและกรองให้เหลือแต่น้ำ พร้อมทั้งให้ความร้อนเล็กน้อยจนเกิดตะกอน และกรองแยกน้ำใสๆ ออกมา จึงเกิดเป็นน้ำมันแกว ซึ่งมีวิธีการที่ทำไม่ยุ่งยาก และชาวบ้านหรือเกษตรกรสามารถทำได้ เพื่อให้มันแกวเกิดประโยชน์ที่หลากหลายที่ไม่เพียงแต่ทานเป็นผลสดเพียงอย่างเดียว” รศ.ดร. ปิ่นมณี เล่าถึงที่มาของการคิดค้นทำน้ำมันแกว

มันแกว ที่ปลูกในภาคอีสาน

เมื่อทำเป็นน้ำมีความใส ไม่ขุ่น

น้ำมันแกวเก๊กฮวยผสมวุ้นน้ำมะพร้าว

ในประเทศไทย มีการปลูกมันแกวในหลายพื้นที่ จึงทำให้ขนาดของหัวมันแกวมีเล็กใหญ่ที่แตกต่างกันไป โดยมันแกวที่มีหัวขนาดเล็กจะมีเปลือกที่บาง ส่วนใหญ่ปลูกอยู่ทางภาคอีสาน คือ มันแกวบรบือ ที่ปลูกกันมากในจังหวัดขอนแก่น และจังหวัดมหาสารคาม เมื่อนำมาทดลองเปรียบเทียบกับมันแกวที่ปลูกในภาคกลาง ผลปรากฏว่ามันแกวทางภาคอีสานให้น้ำที่ใสกว่าและไม่มีแป้งเกิดขึ้นในน้ำมากเหมือนกับมันแกวที่ปลูกในภาคกลาง

เมื่อได้น้ำมันแกวที่ได้จากหลายๆ พื้นที่มาทดลองต้มจนได้น้ำมันแกวมาแล้ว รศ.ดร. ปิ่นมณี บอกว่า นำน้ำมันแกวที่ได้มาผลิตเป็นน้ำมันแกวพร้อมดื่ม โดยปรุงแต่งรสชาติต่างๆ เช่น ผสมกับกระเจี๊ยบ เก๊กฮวย หรือแม้กระทั่งชาเขียวก็สามารถทำได้อีกด้วย

“พอเรานำน้ำมันแกวมาปรุงแต่งกับพืชหลายๆ ชนิด ก็สามารถทำได้ เป็นน้ำมันแกวพร้อมดื่มที่มีรสชาติดี ทีนี้จึงได้มีการทำการทดลองให้เป็นการยกระดับสูงขึ้นไป ด้วยการทำเป็นน้ำมันแกวโพรไบโอติก เป็นการใส่เชื้อจุลินทรีย์แลคโตบาซิลลัสเข้าไปในน้ำมันแกว จึงช่วยให้เกิดคุณประโยชน์มากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคได้รับสารอาหารทั้งจากน้ำมันแกว น้ำผลไม้อื่นๆ ที่ใส่ลงไป พร้อมทั้งได้เชื้อจุลินทรีย์แลคโตบาซิลลัสเป็นส่วนผสมด้วย จึงได้ทำการจดอนุสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์ในนามสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นเอกสิทธิ์ที่ได้รับจากการทำวิจัยนี้ขึ้นมา” รศ.ดร. ปิ่นมณี กล่าว

น้ำมันแกวชาเชียวผสมวุ้นน้ำมะพร้าว

ในการนี้สำหรับเกษตรกรหรือผู้ที่สนใจอยากจะแปรรูปมันแกว เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรชนิดนี้ รศ.ดร. ปิ่นมณี ได้นำวิธีการและขั้นตอนการทำน้ำมันแกวด้วยวิธีการง่ายๆ สามารถทำได้ในครัวเรือนมาให้ได้ทดลองทำกัน และสามารถนำน้ำมันแกวไปปรุงแต่งเป็นน้ำมันแกวกลิ่นรสต่างๆ ได้หลายชนิด และจำหน่ายเกิดเป็นรายได้ ดังวิธีการดังนี้

  1. นำมันแกวมาปอกเปลือก ล้างน้ำให้สะอาด จากนั้นหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ตามแนวยาว
  2. นำมันแกวที่หั่นแล้วไปต้ม โดยใช้น้ำต่อมันแกว อัตราส่วน 1 : 1.5 ปล่อยให้เดือด นานประมาณ

10 นาที

  1. นำมากรองเอาเฉพาะส่วนน้ำ โดยใช้กระชอน หรือผ้าขาวบาง จะได้น้ำมันแกวมีลักษณะสีเขียวอมเหลือง มีกลิ่นหอมเล็กน้อย มีความหวานประมาณ 3-4 องศาบริกซ์
  2. นำน้ำมันแกวที่ได้มาผสมกับน้ำผลไม้ (น้ำส้ม แครอต) หรือน้ำสมุนไพร (ใบเตย เก๊กฮวย มะตูม) เพื่อเพิ่มสี กลิ่น รส
  3. ปรับความหวานตามความชอบด้วยน้ำตาล (หรือใช้หญ้าหวาน) นำไปต้มให้เดือด ประมาณ 10 นาที ปล่อยให้เย็นจนอุณหภูมิอยู่ที่ประมาณ 65-70 องศาเซลเซียส จากนั้นบรรจุลงขวดที่ทำความสะอาด ก่อนบรรจุให้เติมด้วยวุ้นมะพร้าวปั่นที่ต้มฆ่าเชื้อแล้ว เพื่อเพิ่มเนื้อสัมผัสของน้ำมันแกว จากนั้นบรรจุภัณฑ์ให้เรียบร้อย และนำไปจำหน่ายได้ทันที

ทำดื่มเองได้

ทำจำหน่ายสร้างผลกำไร

น้ำมันแกวกระเจี๊ยบผสมวุ้นน้ำมะพร้าว

ในเรื่องของการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ได้จากน้ำมันแกวนั้น รศ.ดร. ปิ่นมณี บอกว่า หากผู้ที่สนใจยังไม่ต้องการที่จะนำน้ำมันแกวที่ผลิตออกสู่ตลาดเพื่อจำหน่าย ก็สามารถทำไว้ดื่มเองภายในครอบครัว และเมื่อมีการปรับสูตรที่ลงตัว และมีความมั่นใจว่าสามารถจำหน่ายได้ ก็อาจจะทดลองทำตลาดแบบเชิงทดลองก่อน เพราะน้ำมันแกวยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่แปลกใหม่ และที่สำคัญมีคุณประโยชน์จากวัตถุดิบหลายๆ ชนิด ที่ผสมอยู่ในนั้น หากผู้ที่รักษ์สุขภาพได้ศึกษาสารอาหารในมันแกว ก็อาจจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการสร้างตลาดในอนาคตได้

“มันแกว จัดว่าเป็นพืชที่ให้พลังงานต่ำ แต่มากไปด้วยไฟเบอร์อิ่มท้องไว มีความหวานตามธรรมชาติ ดังนั้น ผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักเขาก็จะนิยมทานมันแกวสด เมื่อนำมาทำเป็นน้ำมันแกวแล้ว ไม่เพียงได้สารอาหารจากน้ำมันแกวอย่างเดียว แต่ยังได้สารอื่นๆ จากพืชหลายๆ ชนิดที่ใส่ลงไปด้วย ซึ่งน้ำมันแกวเมื่อผ่านการพาสเจอไรซ์และเก็บไว้ในตู้เย็นสามารถเก็บไว้ได้นาน ประมาณ 10-15 วัน โดยราคาขายที่ทางสาขาวิชานำออกไปจำหน่ายในงานแสดงงานวิจัยต่างๆ คือ น้ำมันแกวโพรไบโอติกที่มีขั้นตอนและส่วนผสมหลายๆ อย่าง จนมีรสชาติคล้ายนมเปรี้ยว ปริมาณ 100 ซีซี จำหน่ายอยู่ที่ขวดละ 15 บาท ดังนั้น หากผู้สนใจมีกระบวนการผลิตที่ไม่ได้ขั้นสูงมาก อาจเพิ่มปริมาณน้ำ และตั้งราคาจำหน่ายได้ตามความเหมาะสม” รศ.ดร. ปิ่นมณี กล่าว

การเตรียมน้ำมันแกวสำหรับหมักด้วยแลคโตบาซิลลัส (Lactobacillus)

ทั้งนี้ รศ.ดร. ปิ่นมณี ฝากทิ้งท้ายว่า จากการที่ได้ทำการวิจัยและคิดค้นการทำน้ำมันแกวนี้ขึ้นมา จึงเกิดความคาดหวังว่าจะช่วยให้ผลผลิตมันแกวในประเทศไทย ไม่จำเป็นต้องนำมารับประทานเป็นหัวสดจิ้มกับพริกเกลือเพียงอย่างเดียว แต่เกษตรกรผู้ปลูกหรือผู้ที่สนใจอยากจะนำไปแปรรูปในวิธีการดังกล่าว ก็สามารถนำไปปรับใช้ได้จริง เพื่อเป็นการต่อยอดสร้างรายได้และส่งเสริมให้มันแกวมีมูลค่าเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

หากสนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำน้ำมันแกว สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ รศ.ดร. ปิ่นมณี ขวัญเมือง อาจารย์ประจำสาขาวิชาครุศาสตร์เกษตร คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หมายเลขโทรศัพท์ 087-093-9130

น้ำมันแกวที่มีส่วนผสมของน้ำผลไม้เสริมจุลินทรีย์โพรไบโอติก