ที่มา | เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์ |
---|---|
ผู้เขียน | สมุนไพรอภัยภูเบศร |
เผยแพร่ |
จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุขพบว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยถูกงูกัดประมาณ 7,000 ราย ต่อปี ซึ่งในประเทศไทยก็พบงูพิษหลากหลายชนิด โดยจะแบ่งเป็นหลักๆ ตามระบบที่ถูกพิษ ได้แก่ พิษต่อระบบประสาท (neurotoxin) เช่น งูเห่า งูจงอาง พิษต่อระบบเลือด (hematotoxin) เช่น งูกะปะ งูเขียวหางไหม้ งูแมวเซา พิษต่อกล้ามเนื้อ (myotoxin) เช่น งูทะเล พิษอ่อน
สำหรับการดูแลผู้ป่วยที่ถูกงูพิษกัด ขั้นแรกคือ การยืนยันว่าถูกงูพิษกัด ไม่ว่าจะเป็นการรู้จักชนิดของงูหรือการนำงูพิษมาด้วย หรือการดูรอยเขี้ยว ดูอาการและอาการแสดงจำเพาะของการถูกงูพิษกัด การทำ serodiagnosis จากตัวอย่างเลือด แต่อย่างไรก็ตาม งูพิษจะไม่ปล่อยพิษทุกครั้งหลังฉกกัด เพราะพิษของงูมีไว้ล่าเหยื่อหาอาหาร
การปฐมพยาบาล ควรให้ผู้ป่วยมีการเคลื่อนไหวน้อยที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณที่ถูกกัด ล้างแผลให้สะอาด นำงูไปโรงพยาบาลด้วยหากทำได้ แต่ในกรณีที่งูหนีไปแล้วก็ไม่จำเป็นต้องไล่ตาม เนื่องจากแพทย์สามารถวินิจฉัยได้ ห้ามดูดพิษงูด้วยปากหรือกรีดแผล ในระบบของการแพทย์ของโรงพยาบาลทั่วไป ถ้าคนไข้ถูกงูที่มีพิษต่อระบบประสาทกัด แพทย์จะยังไม่ฉีดเซรุ่มให้ ต้องรอดูอาการจนกว่าจะมีอาการทางระบบต่างๆ ก่อน เช่น ถ้าถูกงูที่มีพิษต่อระบบประสาทกัด คนไข้จะมีอาการหนังตาตก แขนขาอ่อนแรง หายใจลำบาก พูดไม่ชัด หากเป็นเช่นนี้จึงจะได้รับการฉีดเซรุ่มให้ เนื่องจากเซรุ่มอาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้
นอกจากนี้ เซรุ่มผลิตได้ยาก มีราคาแพง เก็บได้ไม่นาน เพราะฉะนั้น ต้องมีข้อบ่งชี้ที่ชัดก่อนใช้ยา แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ไม่มีใครอยากรอให้เกิดอาการก่อนแน่นอน ด้วยเหตุนี้จึงอยากให้ท่านผู้อ่านรู้จักสมุนไพรสำหรับรักษาพิษงู สามารถใช้รักษาได้โดยไม่ต้องรอให้เกิดอาการก่อน
สำหรับสมุนไพรรักษาพิษงูที่ได้ถูกรายงานไว้ มีถึง 40 ชนิด หนึ่งในนั้น คือ โลดทะนงแดง Trigon-ostemon reidiodes (Kurz) Craib หมอพื้นบ้านได้มีการใช้มาอย่างยาวนาน เป็นตำรับแก้พิษสัตว์กัดต่อยและพิษจากงู โดยเฉพาะงูพิษที่ทำให้เกิดพิษต่อระบบประสาท โลดทะนงแดงและโลดทะนงขาว เป็นพืชในวงศ์ Euphorbiaceae ความแตกต่างระหว่างต้นไม้ทั้งสองชนิดนี้คือ สีของเปลือกหุ้มราก ถ้าเป็นสีดำเรียกว่า โลดทะนงขาว และถ้าเป็นสีแดง เรียก โลดทะนงแดง เป็นไม้ที่เจริญงอกงามในฤดูฝน ถึงฤดูแล้งต้นมักตายแล้วเกิดหน่อใหม่เมื่อเข้าฤดูฝน แต่เราจะเห็นการใช้โลดทะนงแดงมากกว่า เพราะว่าโลดทะนงขาวเป็นไม้หายาก
ตำรับโลดทะนงแดงรักษาพิษงูที่การเผยแพร่จากโรงพยาบาลพนมดงรักเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จังหวัดสุรินทร์ เป็นตำรับที่มีการใช้จริงในโรงพยาบาล โดยหลักการรักษาแบบผสมผสาน จะมีหมอเอียะ สายกระสุน หมอพื้นบ้าน ร่วมรักษาคนไข้ที่ถูกงูกัดกับทีมแพทย์ในโรงพยาบาล ซึ่งใช้สมุนไพร 3 ชนิด คือ รากต้นโลดทนงแดง หมาก และมะนาว
โดยได้ทำการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ พบว่าผู้ป่วย 11 ราย เป็นงูที่มีพิษต่อระบบประสาทกัด 9 ราย และเป็นงูที่มีพิษต่อระบบเลือด 1 ราย และสรุปไม่ได้ 1 ราย ซึ่งผู้ป่วยทั้งหมดมีระดับความรุนแรงของอาการน้อย ใช้รากของต้นโลดทะนงแดง และผลหมาก นำมาฝนกับหินลับมีด บีบน้ำมะนาวใส่เป็นตัวผสานยาทั้งสองเข้าด้วยกัน นำมาพอกบริเวณแผลที่ถูกงูพิษกัด และผสมกับน้ำสะอาดประมาณครึ่งแก้ว ให้ผู้ป่วยดื่มเพื่อขับพิษงูจากภายในร่างกาย
หลังจากที่ผู้ป่วยดื่มยาสมุนไพรไประยะหนึ่ง จะมีอาการคลื่นไส้อาเจียน บางรายมีอาการถ่ายเหลว ซึ่งเป็นผลจากยาสมุนไพร ผลการรักษาผู้ป่วยส่วนใหญ่ 8 ราย นอนรักษาตัวในโรงพยาบาลเพียงวันเดียว ผู้ป่วย 5 ราย เกิดอาการอาเจียนหลังจากกินยาสมุนไพรและหยุดภายใน 1-3 ชั่วโมง กลุ่มที่อาเจียนนอนโรงพยาบาลเฉลี่ย 2.4 วัน กลุ่มที่ไม่อาเจียนนอนโรงพยาบาลเฉลี่ยเพียง 1 วัน ผู้ป่วยที่เกิดพิษต่อระบบประสาทอาเจียนโดยนาน 180 นาที และพิษต่อระบบเลือดอาเจียนเฉลี่ยนาน 21.5 นาที
นอกจากนี้ ยังมีผลการวิจัยต่อยอดไปอีกเกี่ยวกับผลการรักษา คนไข้ที่ถูกงูพิษกัดตามแนวเทือกเขาพนมดงรัก (นครราชสีมา บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สุรินทร์ และอุบลราชธานี) พบว่า การใช้สมุนไพรรักษามีอัตราการหายอยู่ที่ 97 เปอร์เซ็นต์ อัตราการส่งต่ออยู่ที่ 3 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าเป็นคนไข้ที่ไม่ได้รับสมุนไพร ใช้แต่เซรุ่มและยา อัตราการหายอยู่ที่ 87 เปอร์เซ็นต์ อัตราการส่งต่ออยู่ที่ 11 เปอร์เซ็นต์ งานวิจัยนี้เป็นงานที่ยืนยันว่า สมุนไพรตำรับนี้มีประโยชน์และสามารถรักษาพิษงูได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากทั้งหมดที่เล่ามาคงสรุปได้ว่า รากโลดทะนงแดง เป็นสมุนไพรพื้นบ้านที่มีประสิทธิภาพในการรักษาพิษงูได้เป็นอย่างดี
ขอบคุณข้อมูลจาก คอลัมน์พืชใกล้ตัว โดย ภก.ณัฐดนัย มุสิกวงศ์ อภัยภูเบศรสาร ปีที่ 12 ฉบับที่ 139 ประจำเดือนมกราคม 2558
กว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์
กว่าจะได้วัตถุดิบสมุนไพรของอภัยภูเบศร ต้องมีขั้นตอนอะไรบ้าง อาจจะเป็นคำถามที่ทุกคนอยากทราบกันอยู่
แหล่งพื้นที่ที่ปลูกสมุนไพรให้กับอภัยภูเบศรนั้นมีอยู่ในทุกภาคของประเทศไทย ทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคใต้ เหตุผลการที่อภัยภูเบศรเรามีแปลงสมุนไพรวัตถุดิบในทุกภาคนั้น ก็เพราะสมุนไพรแต่ละชนิดต้องใช้สภาพอากาศและดินที่แตกต่างกันในการเจริญเติบโต เพื่อให้ได้สารสำคัญที่มีประโยชน์เพียงพอต่อการทำยาสมุนไพรของอภัยภูเบศร และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของอภัยภูเบศรคือ สมุนไพรนั้นปลูกในระบบเกษตรอินทรีย์ที่ได้รับการรับรอง จากสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ มกท. ซึ่งทางอภัยภูเบศรมีเจ้าหน้าที่เกษตรอินทรีย์ที่ทำหน้าที่ตรวจมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ โดยยึดมาตรฐานของ (มกท.) ซึ่งลูกค้าผลิตภัณฑ์สมุนไพรของอภัยภูเบศรสามารถมั่นใจได้เลยว่า ปลอดภัย ไม่มียาฆ่าแมลงปนเปื้อนตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง
โดยกลุ่มสมาชิกที่ปลูกสมุนไพรให้กับอภัยภูเบศรจะให้เป็นกลุ่มชาวบ้านในชุมชนที่สนใจในการทำเกษตรอินทรีย์ ซึ่งจะไม่ได้ให้กลุ่มนักลงทุนเข้ามาทำวัตถุดิบส่ง เพราะอภัยภูเบศรต้องการให้ชาวบ้านมีรายได้ โดยมีเจ้าหน้าที่เกษตรอินทรีย์ของอภัยภูเบศรให้ความรู้ในทุกขั้นตอน คือ
- ลักษณะพืชที่จะให้เกษตรกรปลูก
- สรรพคุณของสมุนไพรที่เกษตรกรปลูก เพื่อให้เกษตรกรรู้จักใช้สมุนไพรที่มีอยู่
- สภาพพื้นที่จะมีเจ้าหน้าที่ของอภัยภูเบศรเข้าไปตรวจดูความเสี่ยงของมลพิษว่าเหมาะสำหรับการปลูกหรือไม่
- การขยายพันธุ์ วิธีการปลูก
- การดูแลรักษาสมุนไพร
- ขั้นตอนการเก็บเกี่ยว
- ทำความสะอาดสมุนไพร
- การแปรรุปสมุนไพรสดเป็นวัตถุดิบแห้ง เพื่อส่งให้กับมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร
- การบรรจุและเก็บรักษาสมุนไพรชิ้นแห้ง
กว่าจะมาเป็นสมุนไพรมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เราใส่ใจทุกกระบวนการ เพื่อให้ทุกคนมีสุขภาพที่ดี ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง มั่นใจในอภัยภูเบศรได้เลย
ขอบคุณข้อมูลจากคอลัมน์ ชุมชนขอคุย โดยเยาวชนกลุ่มรักษ์เขาใหญ่ อภัยภูเบศรสาร ปีที่ 12 ฉบับที่ 139 ประจำเดือนมกราคม 2558