ของดีสินค้าเด่นชายแดนใต้ ข้าวเกรียบปลา-โกปี๊วังเก่า

ยะลาและนราธิวาส เป็น 2 จังหวัดชายแดนใต้ ที่มีสินค้าและผลิตภัณฑ์หลากหลาย ซึ่งแม้จะมีปัญหาความไม่สงบในพื้นที่เหล่านี้ แต่กลุ่มแม่บ้านก็ยังคงผลิตสินค้าคุณภาพออกมาให้ลูกค้าได้กินได้ใช้กัน ทำให้ครอบครัวมีรายได้เสริม เพราะส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพเกษตรกรรมกัน ไม่ว่าจะเป็นการทำสวนยางพารา สวนปาล์ม และสวนผลไม้

คั่วด้วยเตาฟืน

 ได้โอท็อป 4 ดาว ปี 2557

อย่างกลุ่มแม่บ้านไอร์กูเล็ง ตำบลบูกิต อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส ซึ่งมักจะออกร่วมออกบู๊ธในงานโอท็อปทั้งที่กรุงเทพฯ และตามจังหวัดต่างๆ สินค้าหลักๆ คือ ข้าวเกรียบผลไม้และสมุนไพร 6 ชนิด พร้อมข้าวเกรียบปลา ที่มีทั้งแบบอบและแบบทอดให้เลือก บางช่วงจะมีสะละและผลิตผลทางการเกษตรมาขายด้วย

นางแยนะ เจะวานิ อายุ 57 ปี ประธานกลุ่มแม่บ้านไอร์กูเล็ง เล่าว่า กลุ่มก่อตั้งเมื่อปี 2542 ตอนนี้มีสมาชิก 25 คน และแบ่งหน้าที่รับผิดชอบกัน มีการลงบัญชี รายรับ-รายจ่าย และจัดประชุมเดือนละ      1 ครั้ง

ร่อนก่อนบรรจุใส่ถุง

สำหรับสินค้าเด่นๆ คือข้าวเกรียบสมุนไพร 6 ชนิด ใบเตย มะเขือเทศ ดอกอัญชัน มันเทศ ข้าวโพด และกระเจี๊ยบ รวมทั้งข้าวเกรียบปลา ซึ่งผลิตภัณฑ์ 7 อย่างนี้ ได้รับเครื่องหมาย อย.ทั้งหมด และในส่วนของข้าวเกรียบปลาก็ได้คัดเลือกเป็นโอท็อป 4 ดาวของจังหวัดนราธิวาส เมื่อปี 2557

จุดเด่นอีกอย่างของข้าวเกรียบสมุนไพรฝีมือกลุ่มแม่บ้านไอร์กูเล็ง ก็คือ ใช้ส่วนผสมจากแป้งสาคูที่ทำจากต้นสาคูที่มีในหมู่บ้าน ซึ่งจะทำให้แป้งมีความกรอบ

สมาชิกของกลุ่ม

ปกติอาชีพหลักของสมาชิกจะทำสวนยางพารา แต่เมื่อมีเวลาว่างก็จะมารวมตัวกันทำข้าวเกรียบ ในแต่ละเดือนจะมีรายได้เสริมคนละประมาณ 2,000 บาท

ในส่วนการแบ่งปันผลกำไรของกลุ่มเมื่อครบ 2 ปี ซึ่งหากใครทำได้เยอะก็ได้รับผลตอบแทนเยอะตามไปด้วย และทางกลุ่มยังแบ่งรายได้ส่วนหนึ่งให้สมาชิกเป็นเงินสวัสดิการเวลาเจ็บป่วยไปโรงพยาบาลจะได้ 200 บาท และถ้าสมาชิกเสียชีวิตจะได้ 300 บาท และหากโรงเรียนในพื้นที่จัดกิจกรรมอะไรก็จะนำข้าวเกรียบไปแจก

โกปี๊พร้อมดื่ม

ประธานกลุ่มแม่บ้านไอร์กูเล็งแจกแจงว่า สาเหตุที่ทำข้าวเกรียบอบ เพราะลูกค้าบางคนไม่ชอบการทอดที่มีน้ำมันติด เป็นทางเลือกสำหรับคนรักสุขภาพ ซึ่งขายดีมาก อบขายมาเป็นปีแล้ว ขณะเดียวกัน การอบจะทำให้รสชาติเข้มข้น แตกต่างจากข้าวเกรียบที่ใช้ทอด

เธอว่า ข้าวเกรียบปลาของกลุ่มขายดีมาก เพราะทำจากปลาลังเขียว ซึ่งเป็นปลาทะเลตัวเล็ก ชาวประมงในพื้นที่จับได้ อีกอย่างจะใช้ปลาเป็นส่วนผสมเยอะมาก

นางแยนะ เจะวานิ และสมาชิกในกลุ่ม

ปลูกสะละอินโด เทือกเขาบูโด

นอกจากจะทำข้าวเกรียบแล้ว ทางกลุ่มแม่บ้านยังนำสะละอินโดมาขายด้วย ในราคากิโลกรัมละ 200 บาท ถ้าขายในกรุงเทพฯ แต่หากขายในพื้นที่ภาคใต้ขายกิโลกรัมละ 80 บาท

นางแยนะให้รายละเอียดเกี่ยวกับการปลูกสะละว่า ชาวบ้านในตำบลบูกิตปลูกกันเกือบทุกบ้าน เป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว บางคนปลูก 20 ต้น บางคนปลูก 50 ต้น เพราะเห็นว่าขายได้ราคาดี ซึ่งการปลูกไม่ยากอะไร นำเมล็ดมาเพาะใส่ถุงดำ ทิ้งไว้ 2-3 เดือนก็จะงอก จากนั้นนำไปลงดิน ขุดหลุมลึกประมาณ 1 ศอก กว้าง 12 นิ้ว ใช้เวลา 4 ปีจะออกลูก เมล็ดที่นำมาปลูกนั้นนำมาจากประเทศอินโดนีเซีย เพราะมีเด็กในตำบลบูกิตไปเรียนที่ประเทศอินโดนีเซียแล้วนำกลับมา

นางแยนะ บอกอีกว่า ตนเองปลูกในพื้นที่ 2 ไร่ การดูแลก็ไม่ยุ่งยาก แค่ใส่ปุ๋ยและตัดแต่งใบ โดยใส่ปุ๋ยหลังเก็บเกี่ยวเสร็จแล้ว จะใส่ปุ๋ยก่อนสะละจะออกดอกในเดือนกุมภาพันธ์ ปุ๋ยที่ใส่เป็นพวกขี้วัว ขี้ควาย ขี้แพะ ถ้าปุ๋ยเคมีใช้สูตร 15-15-15 ปกติสะละอินโดออกเยอะสุดช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม แต่ละต้นจะให้ผลผลิตประมาณ 5-10 กิโลกรัม ซึ่งสะละของบ้านไอร์กูเล็ง มีรสชาติอร่อยเพราะได้ปุ๋ยดี และปลูกในแถบเทือกเขาบูโด ที่มีอากาศบริสุทธิ์ สนใจติดต่อได้ที่โทร. 089-978-4886

ประธานกลุ่มแม่บ้านไอร์กูเล็งฝากไปยังหน่วยงานรัฐบาลว่า อยากให้มาสอนวิธีการทำปุ๋ยหมักจะได้ช่วยลดรายจ่ายไม่ต้องไปซื้อปุ๋ย และในเร็วๆ นี้ทางกลุ่มคิดจะทำทุเรียนอบกรอบและทุเรียนทอดกรอบ เพราะในพื้นที่มีทุเรียนอยู่แล้ว

 

ใช้เตาฟืนและครกตำ 

สำหรับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรกาแป๊ะกอตอใน (กลุ่มผู้ผลิตโกปี๊วังเก่า) อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ที่มี นางสาวนุช หลำทุ่ง เป็นประธานกลุ่มนั้น เป็นอีกกลุ่มที่มีสินค้าหลากหลาย แต่จะเน้นกาแฟเป็นหลัก โดยยังคงเอกลักษณ์แบบดั้งเดิม ด้วยการใช้เตาฟืนและครกตำ เพื่อให้หอม กาแฟของกลุ่มนี้ได้โอท็อป 4 ดาว และเตรียมวางแผนทำแบบทรีอินวัน

นางสาวนุช เล่าว่า ทางกลุ่มเริ่มทำกาแฟขายตั้งแต่ปี 2546 ถือเป็นุร่นที่ 2 แล้ว แต่ก่อนในพื้นที่นี้ปลูกกาแฟโรบัสต้า และชาวบ้านก็ทำโกปี๊กินกันอยู่แล้ว จึงนำมาต่อยอดทำขาย โดยในปี 2559 ได้โอท็อป 4 ดาวของจังหวัดยะลา เป็นกาแฟพร้อมดื่มใส่น้ำร้อนแล้วชงดื่มได้เลย เพราะมีรสหวานอยู่แล้ว

ที่ผ่านมาออกขายตามงานต่างๆ ในอำเภอเบตง และสั่งซื้อออนไลน์ได้ ปัจจุบันกลุ่มมีสมาชิก 19 คน ซึ่งมีการปลูกกาแฟพันธุ์โรบัสต้าในสวนยางและปลูกแซมตามสวนผลไม้ต่างๆ รวมทั้งทางโรงเรียนเทศบาล 2 (กาแป๊ะกอตอ) ก็จัดสรรพื้นที่ 5 ไร่ เพื่อปลูกกาแฟจำนวน 1,000 ต้น อย่างไรก็ตาม กาแฟในพื้นที่มีไม่เพียงพอจึงต้องสั่งเมล็ดกาแฟมาจากจังหวัดชุมพร

“เมื่อก่อนคนในพื้นที่ปลูกกันเยอะ แต่พอราคายางสูงขึ้นชาวบ้านเลยโค่นต้นกาแฟแล้วปลูกยางแทน ทำให้ไม่มีเมล็ดกาแฟเพียงพอ ต้องซื้อจากจังหวัดชุมพร ผ่านพ่อค้าคนกลางส่งผลให้ต้นทุนสูงมาก ระยะหลังชาวบ้านเริ่มหันมาปลูกกาแฟกันมากขึ้นแล้ว”

เธอบอกด้วยว่า กาแฟของกลุ่มใช้ชื่อแบรนด์ “โกปี๊วังเก่า” จุดเด่นคือ มีรสชาติหอมกลมกล่อม เข้มข้น เพราะใช้เมล็ดกาแฟ 1 กิโลกรัม น้ำตาล 1 กิโลกรัม เหมือนโอเลี้ยงหรือโกปี๊ ถ้าใครชอบนมก็เติมนมเข้าไป แต่หากไม่ชอบกินหวานก็ไม่ต้องเติมน้ำตาล เพราะหวานพอดีอยู่แล้ว ซึ่งถ้าชงแบบไม่กรองเลยจะมีกากนิดๆ หากไม่ชอบอาจใส่ถุงหรือผ่านกระดาษกรอง จะกินแบบร้อนหรือเย็นก็ได้

สำหรับราคาขาย ครึ่งกิโลกรัมราคา 180 บาท ขนาด 250 กรัม ขาย 130 บาท น้ำหนัก 50 กรัม ขาย 35 บาท ส่วนสูตรการทำโกปี๊วังเก่ายังเป็นการทำเหมือนสมัยโบราณ เริ่มจากใช้เมล็ดกาแฟที่แกะแล้วนำมาคั่วให้ข้างในดำ พอดำได้ที่แล้วนำมาผึ่งไว้

 

ทำกาแฟทูอินวัน

จากนั้นใช้น้ำตาลทรายขาว และน้ำตาลอ้อยของมาเลเซียผสมกันเพราะจะมีความเหนียว โดยเคี่ยวให้เหนียวเหมือนเป็นเส้นใย แล้วนำเมล็ดกาแฟที่คั่วเสร็จแล้ว ไปคลุกกับน้ำตาลที่เคี่ยว คลุกเสร็จนำมาผึ่งเอาไว้ให้เย็น ก่อนจะใส่ครกใหญ่ตำได้ พอตำเสร็จก็ไปร่อน แล้วมาตำอีกสลับกันประมาณ 4-5 เที่ยว ก่อนมาบรรจุใส่ขาย อย่างไรก็ตาม หากมีลูกค้าสั่งมาจำนวนมาก บางครั้งจะไม่ได้ใช้ครกตำ แต่จะใช้เครื่องปั่นให้ละเอียดเพื่อประหยัดเวลา ส่วนการคั่วกาแฟนั้นยังใช้ฟืนแบบดั้งเดิมเพื่อให้เกิดความหอม ในแต่ละครั้งสามารถผลิตได้ 8 กิโลกรัม ถ้าบดเป็นผงแล้วจะได้ 16 กิโลกรัม

ปัจจุบันกาแฟของกลุ่มมีทั้งแบบขายเป็นเมล็ดที่คั่วแล้วเพื่อไปบดเอง และขายแบบสำเร็จรูปชงดื่มได้เลย และยังมีสครัปกาแฟสำหรับพอกหน้าด้วย ในอนาคตทางกลุ่มวางแผนผลิตกาแฟให้หลากหลายมากขึ้น ในลักษณะทูอินวัน ที่ผ่านมาก็มีหลายหน่วยงานเข้ามาสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นกรมการพัฒนาชุมชน เทศบาล อบต. และมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ซึ่งมาช่วยในเรื่องวัตถุดิบ การบรรจุภัณฑ์และการตลาดด้วย อีกทั้งตอนนี้ทางกลุ่มก็รับซื้อเมล็ดกาแฟแบบกะเทาะเปลือกจากชาวบ้านครั้งละ 20-30 กิโลกรัม ในราคากิโลกรัมละ 80 บาท เพื่อให้มีเมล็ดกาแฟไว้ใช้ตลอดเวลาหากมีออเดอร์มาก็ผลิตได้เลย ผู้สนใจติดต่อได้ที่โทร. 098-742-1453

………………….

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันเสาร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562