หมักม่อ หนุ่มดอกหอม…งาม แต่…นามไม่ไพเราะ เจาะพื้นที่อีสาน มีรายงานกว่าร้อยปี

ชื่อวิทยาศาสตร์ Rothmannia wittii (Craib) Bremek.

ชื่อวงศ์ RUBIACEAE

ชื่ออื่นๆ ต้นขี้หมู หม่อ หมากหม้อ

ผมถูกพาดพิงจากสาวสวยละอ่อนชื่อแปลก “สะแล่งหอมไก๋” แต่ผมชอบเรียกเธอว่า “พุดสุเทพ”

เพราะผมพบกับเธอบนดอยสุเทพ และเธอหอมงามเหมือนดอกพุด หอมนี้ยอมรับว่า “หอม..ไกล” จริงๆ และที่ผมพูดว่า ถูกพาดพิง ก็คือเรื่องที่เธอบอกกับใครๆ ว่า ถ้าอยากขยายพันธุ์เธอ ก็ให้ใช้วิธี “ทาบกิ่ง” โดยใช้ผมเป็นต้นตอดีที่สุด เพราะผมและเธออยู่ในสกุลเดียวกัน เรื่องใช้ผมเป็นต้นตอนี่นะ ลึกๆ ยอมรับว่าผมก็ภูมิใจ และก็ยินดียินยอมที่ได้รับการ “ถูกทาบ”

ตัวผมเองอาจจะน้อยใจบ้างสำหรับชื่อที่เรียกขานกันสุดแปลกมาก บางคนเขียนชื่อผมผิด เป็น “หมักบ่อ” ดีนะที่ไม่เรียกว่า “หมักหมม” ครั้นจะชื่ออื่นๆ ก็ไม่พ้นกลิ่นเหม็นอยู่ดี อย่างชื่อ “ต้นขี้หมู” งี้ ก็สุดทน แม้ว่ามีที่มาจากเนื้อในของผล มีสีดำ ลักษณะเป็นลอนๆ แฉะคล้ายขี้หมู ส่วนอีกชื่อที่เรียกกันว่า “หม่อ” ก็ไม่รู้ว่ามีความหมายอย่างไร ยังดีนะที่ผมก็มีดอกหอมเช่นกัน

สำหรับในแวดวงวิชาการพฤกษศาสตร์แล้ว ชื่อของผมมีความหมายความสำคัญน่าภูมิใจมากก็ตรงที่ ในวงศ์สกุลเข็มของผมมีคำระบุ ชนิด wittii นี่แหละ ที่เขาตั้งเป็นเกียรติ แก่ท่านอำมาตย์เอกพระยาวินิจวนันดร ท่านเป็นนักพฤกษศาสตร์ บรมครู

ซึ่งตัวผมก็ถูกสำรวจพบครั้งแรกของโลกในประเทศไทย ที่จังหวัดนครราชสีมา บริเวณป่าเต็งรัง  และมีรายงานตีพิมพ์ ใช้ชื่อนี้ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2454 เห็นมั๊ยหละ ตัวผมมีรายงานมามากกว่าร้อยปีแล้วนะ

สำหรับพรรณไม้สกุลเดียวกับผมมีถึง 8 ชนิด ส่วนใหญ่มีทรงพุ่มขนาดเล็กถึงกลาง เนื้อไม้แข็งและเหนียว เปลือกลำต้นสีน้ำตาลเข้ม ใบนิ่มและใหญ่ มีขนมาก ถิ่นกำเนิดผมอยู่ได้ในป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง หรือป่าผลัดใบ ผมทนหน้าแล้งได้ แต่ขออยู่ที่ดินทราย ดินร่วนตามเนินเขา จึงเป็นเหตุให้ผมโตช้าไม่สูงใหญ่ ในภาคเหนือพบผมได้บ้าง แต่ถ้าอยากพบพวกผมมากๆ ต้องพื้นที่อีสาน จังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น มหาสารคาม ชัยภูมิ สกลนคร รู้จักผมดีที่สุด

ผมอยู่ในกลุ่มสมุนไพรพื้นบ้านอีสาน ที่เขาใช้ส่วนแก่น หรือราก ต้มน้ำเดือดช่วยแก้ไข้ และใช้ลำต้นเข้าตำรับยาอื่นๆ ด้วย สำหรับเนื้อในผล ที่เขาว่าเหมือนขี้หมูตามชื่อ เพราะมีสีดำแฉะๆ เป็นลอน แต่มีรสหวานนะครับ

คนชอบกินเพราะแก้เจ็บคอ ผลอ่อนมีสีเขียว พอแก่กลายเป็นสีดำ มีเมล็ดมาก ใช้ขยายพันธุ์ได้ดี มีคนนำไปเพาะปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับแพร่หลายแล้ว เพราะมีทรงพุ่มสวยงาม ดอกดกเต็มต้น หอมกระจาย

พอพูดถึงดอกหอม ผมก็อยากอวดอีก เพราะช่วงเดือนมีนา-เมษา ออกเป็นกระจุกใกล้ปลายยอด ขาวนวลเต็มต้น รูประฆัง 5 กลีบ กลีบในมีจุดประสีม่วงแดง ออกพร้อมกันเต็มต้น บานนานถึง 7 วัน หอมอ่อนๆ ทั้งกลางวัน กลางคืน แต่น้อยกว่า “สะแล่งหอมไก๋” ค้าบ!

แม้ชื่อไม่เพราะ แต่ได้รับคัดเลือกจาก กสท (CAT) โทรคมนาคม เป็น 1 ใน 84 พรรณไม้ถวายในหลวง ในโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ วโรกาสพระชนมายุครบ 7 รอบ นับเป็นบุญและเกียรติยศสูงสุดของสกุลผม ด้วยพระบารมี ขอถวายบังคม

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ เป็นครั้งแรก เมื่อวันพฤหัสที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ.2562

Update 12/07/2021