ฮ่อสะพายควาย ทั้งหนุ่ม-แก่ แค่ถัง-ปี๊บ เตะลีบหมด พลังลดเติมได้ แม้แต่ควาย ก็แบกไหว

ชื่อวิทยาศาสตร์ Sphenodesme pentandra (1) Berchemia floribunda wall (2)

ชื่อวงศ์ LAMIACEAE (1) RHAMNACEAE (2)

ชื่ออื่นๆ ฮ่อสะปายควาย กำลังช้างเผือก กำขาม้า โฮมาลอง โหมะลอง ขาเปีย (เชียงใหม่) จู้ด (สงขลา) ซังสะมูล (จันทบุรี, เขมร) ย่านดูก (ปัตตานี) มือตาโน๊ะ (มลายู, นราธิวาส) สุด, หน่วยสุด (นครศรีธรรมราช)

อั๊วเป็งหนุ่มชาวจีนฮ่อ แต่อาศัยเป็นชนเผ่าแบบคนไทยทางเหนือ เช่นเดียวกับชนเผ่าไทลื้อ ตั้งรกรากต้อนวัวควายขายอยู่ทั้งภาคเหนือและถึงอีสาน จนเป็นตำนานเก่าแก่ แต่คนกลับรู้จัก “นายฮ้อยทมิฬ” มากกว่า เพราะเขาเป็นพระเอกหนัง สำหรับอั๊วมีคนรู้จักกันในชุมชนพื้นบ้าน แต่คนในเมืองชอบเรียกชื่ออั๊วผิด เป็น “ฮ่อสะพานควาย” ทั้งๆ ที่สะพานควาย อยู่ในกรุงเทพฯ

อั๊วดีใจมากที่ตอนนี้มีคนรู้จักอั๊วมากขึ้น ไม่ใช่เพราะชื่อแปลกหรอก แต่เป็นเพราะที่ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ปลูกอั๊วไว้ในสวนสมุนไพรหลังตึก และสิ่งที่อั๊วภูมิใจมากที่สุดคือ ต้องกราบขอบพระคุณ อาจารย์ ภก.ดร. สุภาภรณ์ ปิติพร กล่าวถึงอั๊วในช่อง ETV สถานีวิทยุโทรทัศน์เพื่อการศึกษา ตั้งแต่ธันวาคม 2561 แล้วยังพูดถึงที่มาของชื่ออั๊ว เป็นเรื่องเล่าต่อกันว่า วันหนึ่งชาวไทลื้อทำไร่อยู่ แล้วมีชาวจีนฮ่อต้อนวัวควายไปขาย บังเอิญมีควายตกหน้าผาลงไป จีนฮ่อก็ไปลากควายขึ้นมาได้แล้วเขาก็แบกควายโดยสะพายไปได้

คนไทลื้อสงสัยว่า ทำไมจึงแข็งแรงนัก กินอะไรมาหรือ แล้วสังเกตเห็นว่าจีนฮ่อไปตัดต้นไม้ชนิดหนึ่งมาต้มดื่มระหว่างพักซึ่งตอนนั้นยังไม่มีชื่อเรียก หลังจากนั้นเขาก็ไปตัดมาต้มดื่มบ้าง ก็แข็งแรงหายปวดเมื่อยมีพลังร่างกาย จิตใจก็คึกพิเศษกว่าปกติ จึงเรียกกันว่า “ฮ่อสะพายควาย”

เมื่อเป็นที่รู้จักกันมากขึ้น ก็มีชื่ออื่นๆ แปลกๆ อีกมาก และเนื่องจากมีหลายชนิดพรรณที่คล้ายกัน คือมีชนิดใบแหลม และใบกลม แต่ดอกเหมือนกันและมีชนิดเป็นคนละวงศ์ อีก 2-3 ชนิด ที่รู้จักกันดีในภาคอีสาน เรียกว่า กำลังช้างเผือก  หรือ กำขาม้า เพราะวิ่งทันม้าได้เลย

โดยรู้จักกันและใช้กันในชุมชนชาวบ้านมากมายส่วนงานวิจัยยังมีน้อย ที่เมืองเลย นิยมต้มดื่มและดองเหล้า หมอยาเมืองเลยรุ่นผู้เฒ่าผู้แก่ ใช้ต้นนี้เป็นยาบำรุงหลังคลอด และสำหรับผู้หญิงวัยทอง ใช้เป็นยาโป๊โด๊ปในผู้ชาย บำรุงกำหนัดชายหญิง เพราะใช้ได้ทั้งต้มเดี่ยว และต้มรวม กับ ต้นกำลังเสือโคร่ง โด่มิรู้ล้ม หรือดองเหล้าดื่ม ในเมืองเลยนิยมใช้ต้นชนิดใบกลมและเป็นที่เสาะหารู้จักดีที่อีสาน ถือเป็นทรัพย์สินภูมิปัญญาสมุนไพรไทย

 

อั๊วมีญาติหลายกลุ่ม ทั้งชนิดไม้กึ่งเถา และไม้พุ่มเรือนยอด พุ่มกลมแผ่กว้างแต่โปร่ง ชนิดใบกลม กิ่งก้านเรียงห้อย เปลือกลำต้นแตกเป็นร่องตื้นๆ สีน้ำตาล ดอกออกเป็นช่อแยกแขนงในง่ามที่ปลายกิ่ง ออกดอกขณะทิ้งใบ ผลแยกเป็น 3 เสี้ยว ออกเป็น 3 ปีก สรรพคุณเด่นรู้จักกันดีว่า บำรุงกำหนัด แก้ปวดกระดูก เอว หลังแก้เหน็บชา อัมพาต ริดสีดวง  นิ่ว มีสารยับยั้งเอนไซม์ที่มีผลต่อการหดตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ และช่วยคลายกล้ามเนื้อ แต่ช่วยการแข็งตัวของอวัยวะเพศชาย แต่เสียดายได้ข่าวว่าต่อไปนี้ทางกรมสรรพสามิตเขาไม่ให้มีขายตามซุ้มเหล้ายาดองริมทางแล้วนะ อยากมีกำลังแบกควายได้ก็ดองไว้ดื่มเองก็แล้วกันนะ…ฮ่อๆๆๆ

เฮ้อ..? ไม่อยากจะคุย ใครดื่มฮ่อสะพายควายแล้วจะกลายเป็นผู้ชายเมียหลง ยืนยงเพิ่มพลังทั้งชายหญิง ดีจริงๆ นะ สำหรับวัยทอง ลองแล้วลืมเหนื่อย