โชว์นวัตกรรม งานวิจัยดีเด่น 60 ปี วช.

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นหน่วยงานหลักในการสนับสนุนให้ทุนวิจัยของประเทศ ให้เกิดความก้าวหน้าด้านสิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมงานวิจัย รวมทั้งส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากสิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมงานวิจัยเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศในมิติต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ในโอกาสคล้ายวันสถาปนา สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ครบรอบ 60 ปี เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2562 วช.ได้คัดเลือกผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีศักยภาพ ตอบโจทย์ความต้องการของสังคม เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เข้ารับรางวัลผลงานวิจัยและนวัตกรรมดีเด่น 60 ปี วช. จำนวน 12 ผลงาน ได้แก่

งานมอบรางวัลผลงานวิจัยและนวัตกรรมดีเด่น 60 ปี วช.
ศ.นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการ วช. มอบรางวัลนักวิจัย

มันสำปะหลัง “ห้วยบง 60” ของ รองศาสตราจารย์ ดร. วิจารณ์ วิชชุกิจ และคณะ ห้วยบง 60 เป็นชื่อพันธุ์มันสำปะหลัง ที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานให้เพื่อความเป็นสิริมงคล เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2546 โดย คำว่า “ห้วยบง” มาจากชื่อตำบลห้วยบง อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา และเป็นมันสำปะหลังเพื่ออุตสาหกรรมมันสำปะหลังไทย เกิดจากความร่วมมือของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และมูลนิธิสถาบันพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทย

มันสำปะหลัง “ห้วยบง 60”

มันสำปะหลัง ห้วยบง 60 เกิดจากการผสมพันธุ์ระหว่าง พันธุ์ระยอง 5 กับ พันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 โดยให้ผลผลิตหัวสดเฉลี่ย 5.7 ตัน ต่อไร่ ปริมาณแป้งในหัว เฉลี่ย 25.4 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงกว่าพันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 เล็กน้อย มีคุณสมบัติให้ผลผลิตหัวสด ผลผลิตหัวแห้งสูง และปริมาณแป้งสูงกว่าพันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 ท่อนพันธุ์งอกดี ลำต้นสูงใหญ่ วช. จึงมีมติให้นวัตกรรมชิ้นนี้ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติดีเด่น 60 ปี วช. ด้านการพัฒนาสังคม

“เครื่องปลูกมันสำปะหลังชุมชน” ของ นายโมเสส ขุริลัง สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้พิจารณาเห็นว่า “เครื่องปลูกมันสำปะหลังชุมชน” เป็นผลงานวิจัยที่ถูกพัฒนาขึ้นจากเกษตรกรผู้ใช้งานจริง โดยพัฒนาจากเครื่องต้นแบบสู่อุตสาหกรรม ผลงานเครื่องปลูกมันสำปะหลังชุมชนนี้สามารถลดการทำงานได้ 6 ขั้นตอน คือ ยกร่องโรยปุ๋ยเคมี ย่อยดิน ตัดท่อนพันธุ์ ปักท่อนพันธุ์ และฉีดพ่นสารกำจัดวัชพืชได้ โดยลากเพียงครั้งเดียว และสามารถปรับความถี่ห่างของระยะการปลูกได้

เครื่องปลูกมันสำปะหลังชุมชน

การใช้เครื่องปลูกมันลำปะหลังชุมชน ช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ทันที 400 บาท ต่อไร่ เมื่อเทียบกับการใช้แรงงานคนปลูก สามารถปลูกมันสำปะหลังได้ 15-18 ไร่ ต่อวัน และใช้แรงงานคนเพียง 3 คน เมื่อใช้เครื่องปลูกมันสำปะหลังชุมชน พบว่า มีผลผลิตเพิ่มขึ้นจาก 3-4 ตัน ต่อไร่ เป็น 8-9 ตัน ต่อไร่ โดยหลักการทำงานของเครื่องปลูกมันสำปะหลังชุมชนอาศัยหลักการหมุนของเฟื่อง ซึ่งวัดความแตกต่างระหว่างเส้นผ่านศูนย์กลางของเฟื่องแต่ละตัว คำนวณการหมุนรอบตัวเอง มีการกำหนดความเร็วเพื่อให้เหมาะสมต่อการใช้งาน การประดิษฐ์เครื่องปลูกมันสำปะหลังชุมชนสู่อุตสาหกรรมเริ่มขึ้นตั้งแต่ ปี 2554 มาจนถึงปัจจุบัน วช. จึงมีมติให้ผลงานชิ้นนี้ได้รับรางวัล ด้านการพัฒนาสังคม

“เครื่องอบแห้งถังหมุนแบบเคลื่อนย้ายได้ สำหรับผลผลิตทางการเกษตร” ของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จักรมาส เลาหวณิช และคณะ ผลงานวิจัยชิ้นนี้ตอบโจทย์การใช้งานสำหรับกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร วิสาหกิจขนาดย่อม ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจเพิ่มมูลค่าผลผลิต และสังคมฐานรากอย่างเป็นรูปธรรม

เครื่องอบแห้งแบบถังทรงกระบอกหมุนด้วยรังสีอินฟราเรดร่วมกับลมร้อนปล่อยทิ้งแบบเคลื่อนย้ายได้ มีขนาดเล็กสามารถเคลื่อนย้ายได้ง่าย ใช้ชิ้นส่วนที่สามารถจัดหาได้ภายในประเทศ และสะดวกในการซ่อมบำรุง มีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการอบแห้งต่ำ สามารถพัฒนาใช้งานได้ทั้งการอบแห้งลดความชื้นผลผลิตที่เก็บเกี่ยวใหม่มีความชื้นสูง หรือการปรับใช้ในกระบวนการแปรรูปช่วยลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานเกษตร

เครื่องอบแห้งถังหมุนแบบเคลื่อนย้ายได้ สำหรับผลผลิตทางการเกษตร

ทำให้ชาวบ้านในชุมชนมีอาชีพ ลดปัญหาที่เกิดจากการเคลื่อนย้ายแรงงานออกนอกพื้นที่ ลดความชื้นผลผลิต ช่วยรักษาคุณภาพสินค้าเกษตรเพื่อรอการจำหน่ายหรือบริโภค รวมถึงนำไปใช้งานในการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตนอกฤดูกาล ช่วยลดระยะเวลาในกิจกรรมลดความชื้นผลผลิตของเกษตรกร ช่วยให้ผลผลิตมีคุณภาพดีขึ้น ลดการแตกหักของเมล็ดพืชและลดสิ่งเจือปนได้เป็นอย่างดี วช. จึงมีมติให้ผลงานชิ้นนี้ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติผลงานวิจัย ด้านการพัฒนาสังคม

“การศึกษาพัฒนาพรมมิ เพื่อใช้เป็นสมุนไพรบำรุงความจำ” ของ รองศาสตราจารย์ ดร. กรกนก อิงคนินันท์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ศึกษาวิจัยพัฒนาพรมมิอย่างครบวงจร เพื่อเป็นต้นแบบในการวิจัยสมุนไพรไทย ตั้งแต่พัฒนาการปลูกตามหลักการเกษตรที่ดี การศึกษาทางเคมี การเตรียมสารสกัดมาตรฐาน การพัฒนาวิธีการวิเคราะห์ การพัฒนาสูตรตำรับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารพรมมิ การศึกษาประสิทธิภาพของสารสกัดพรมมิในทางเภสัชวิทยาทั้งในระดับหลอดทดลอง สัตว์ทดลอง การศึกษาพิษวิทยา รวมถึงการวิจัยทางคลินิก

สารสกัดพรมมิ ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้สูงอายุ โดยเพิ่มประสิทธิภาพการทรงตัวเพิ่มการตื่นตัวต่อสิ่งเร้า มีสมาธิมากขึ้น เพิ่มความสามารถในการเรียนรู้และความจำ คลายอาการซึมเศร้า ไม่พบอาการพิษและภาวะข้างเคียงใดๆ คณะนักวิจัยได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกการสกัดและการผลิตในรูปแบบเม็ดต่อให้กับองค์การเภสัชกรรม (GPO) ในเดือนกันยายน ปี 2554 โดยขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และนำพรมมิออกจำหน่ายสู่ผู้บริโภคในเดือนกันยายน ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน ภายใต้ชื่อ พรมมิ จีพีโอ

พรมมิ สมุนไพรบำรุงความจำ

ต่อมา มีการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์พรมมิในรูปแบบเครื่องดื่ม เข้มข้น (Brahmi essence) เพื่อให้ผู้สูงอายุหรือผู้มีปัญหาในการกลืนยาเม็ด ได้รับประทานพรมมิได้ง่ายขึ้น เหมาะกับการเป็นของฝากแก่ผู้สูงอายุ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS ในปี 2561 ขณะนี้ ได้ทำการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์และทดสอบในอาสาสมัคร สุขภาพดีสูงอายุ จำนวน 60 คน แล้ว พบว่า พรมมิ ในรูปแบบเครื่องดื่มเข้มข้น ช่วยทำให้อาสาสมัครมีความจำดีขึ้นกว่ากลุ่มที่ใช้ยาหลอก ผลิตภัณฑ์พรมมิ ได้รับการจดสิทธิบัตรแล้ว วช. จึงมีมติให้ผลงานชิ้นนี้ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติ ด้านการพัฒนาสังคม

ซิลด์ฮีละ แผ่นปิดกระตุ้นการหายของบาดแผลจากโปรตีนกาวไหม ของ รองศาสตราจารย์ ภญ.ดร. พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. นับเป็นผลงานวิจัย ที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและความเป็นอยู่ของเกษตรกร โดยแผ่นปิดแผล พัฒนาจากโปรตีนกาวไหม จัดเป็นวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรที่สามารถนำมาใช้เป็นวัสดุทางการแพทย์ครั้งแรกในโลก

แผ่นปิดแผล พัฒนาจากโปรตีนกาวไหม มีคุณสมบัติในการกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน สามารถลดการอักเสบ ระบายอากาศได้ดี ดูดซับสารคัดหลั่งอันเป็นของเหลวจากบาดแผลได้ไม่ต่ำกว่า 20 เท่า ของน้ำหนักตัว นอกจากนี้ แผ่นปิดแผลดังกล่าว ยังสามารถลอกออกจากบาดแผลได้โดยไม่ติดแผล เป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยจากการลดความเจ็บปวดขณะทำบาดแผล รวมถึงลดการทำลายเนื้อเยื่อเกิดใหม่ขณะลอกออก

ด้วยคุณสมบัติดังกล่าว ทำให้สามารถติดบาดแผลได้ติดต่อกันนานถึง 7 วัน โดยไม่ต้องลอกออก เป็นการลดค่าใช้จ่ายโดยรวมทางสาธารณสุข จากต้นทุนของแผ่นปิดแผลจากโปรตีนกาวไหมที่พัฒนาขึ้นมีราคาแผ่นละ 35 บาท เมื่อเทียบกับวัสดุปิดแผลจากต่างประทศที่มีคุณสมบัติและขนาดเท่ากัน ซึ่งมีราคาไม่ต่ำกว่า 400 บาท ต่อแผ่น ช่วยลดค่าใช้จ่ายทางสาธารณสุขได้ไม่ต่ำกว่า 10 เท่า

โปรตีนกาวไหมจากรังไหม ถูกนำไปผลิตเป็นซิลด์ฮีละ แผ่นปิดบาดแผล

ปัจจุบัน ได้มีการผลิตแผ่นปิดกระตุ้นการหายของบาดแผลจากโปรตีนกาวไหม เพื่อใช้ในการดูแลผู้ป่วยที่มีบาดแผลฉกรรจ์ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และโรงพยาบาลเชียงใหม่ อีกทั้งถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตและจำหน่ายให้แก่ บริษัท Flexx Innovation ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งได้ผลิตและกำลังวางแผนขายสินค้าไปทั่วโลก

ผู้วิจัยมีแนวคิดที่จะขยายต่อยอดองค์ความรู้นี้โดยการพัฒนาวัสดุปิดแผลในรูปแบบอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น รูปแบบไฮโดรเจล เนื่องจากบาดแผลในแต่ละระยะต้องการการดูแลที่แตกต่างกัน เพื่อเพิ่มความหลากหลายให้แก่ผลิตภัณฑ์ รวมถึงให้เกิดประโยชน์สูงสุด วช. จึงยกย่องผลงานชิ้นนี้ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติ ด้านการพัฒนาสังคม

“การออกแบบเครื่องทอผ้าแบบยกดอกพิเศษด้วยเครื่องแจ๊คการ์ด (JACQUARD) เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนเชิงนิเวศเศรษฐกิจ” ของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กิตติศักดิ์ อริยะเครือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ประเทศไทยมีการทอผ้าเป็นอาชีพจำนวนมากในพื้นที่ภาคอีสาน รองลงมาคือ ภาคหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ชาวบ้านนอกจากทอผ้าขายแล้ว ยังผลิตเครื่องทอผ้าพื้นเมืองจำหน่ายให้กับผู้ทอผ้าในท้องถิ่นอื่นๆ โดยเครื่องทอผ้าที่ผลิตขึ้น จะมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ เครื่องทอผ้ากี่ธรรมดา กับเครื่องทอผ้ากี่กระตุก

ในปัจจุบัน เครื่องทอผ้าพื้นเมืองสามารถพัฒนาได้มากสุด 30-80 ตะกอ เครื่องทอผ้าแต่ละแบบผู้ทอจะเลือกใช้ตามความถนัดของผู้ทอ ผ้าทอประเภทผ้าพื้นส่วนมากจะใช้วิธีการทอด้วยเครื่องทอกี่กระตุก ส่วนผ้าทอที่มีลักษณะของการสร้างลวดลายหรือถักลายบนพื้นผ้า จะใช้เครื่องทอผ้าแบบธรรมดา แต่ละครั้งสามารถทอได้ความยาวเพียง 3 เมตร ต่อวัน กับหน้าผ้ากว้างที่ 60 เซนติเมตร

การออกแบบเครื่องทอผ้าแบบยกดอกพิเศษด้วยเครื่องแจ๊คการ์ด

เมื่อนั่งทำงานไปนานๆ ผู้ทอจะเกิดความเมื่อยล้าของร่างกาย เนื่องจากจะต้องนั่งตัวตรง และเกร็งลำตัวเพื่อให้เกิดแรงส่งไปที่แขนและมือ รวมทั้งจะต้องออกแรงที่ขาและเท้าสำหรับเยียบตะกอ ทำให้เกิดความเมื่อยล้า หากทอผ้าที่มีลวดลายพิเศษจะต้องใช้สายตาในการทำงานอยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิดความเครียดได้ง่าย ผู้วิจัยต้องการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงได้พัฒนาเครื่องทอผ้าให้มีความสะดวกสบายต่อการทอให้มากที่สุด

โดยออกแบบให้เครื่องทอผ้าลดขั้นตอนในการทำงานในบางส่วนลง รวมทั้งออกแบบเครื่องทอแบบยกดอกพิเศษแจ๊คการ์ด มากกว่า 80 ตะกอ ขึ้นไป สามารถออกแบบลวดลายที่ซับซ้อนได้ง่ายขึ้น ช่วยให้ผู้ทอสามารถทอผ้าได้สะดวกสบายขึ้น และทอผ้าได้ปริมาณมากขึ้น ทำงานได้รวดเร็วขึ้น สามารถนำมาสร้างและผลิตขึ้นเองได้ในระดับอุตสาหกรรมชุมชนในท้องถิ่นอีกด้วย วช. จึงยกย่องผลงานชิ้นนี้ ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติ ด้านการพัฒนาชุมชนและพื้นที่