ที่มา | หมอเกษตร ทองกวาว |
---|---|
เผยแพร่ |
เรียน คุณหมอเกษตร ทองกวาว ที่นับถือ
ผมยังติดใจสงสัยว่า เพราะเหตุใด กรุงเทพฯ เกิดน้ำท่วม (น้ำรอระบาย) จะหนักบ้าง เบาบ้าง มักบ่นกันว่า ขยะอุดตันท่อระบายน้ำบ้าง ฝนตกหนักบ้าง สุดแล้วแต่จะวิจารณ์กันไป แต่ผมคิดว่าน่าจะมีปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยอย่างแน่นอน คุณหมอเกษตรมีความเห็นเป็นอย่างไรกับปัญหาน้ำท่วมนี้ แล้วเราจะหาทางออกที่ดีมีบ้างไหม ช่วยกรุณาให้ข้อคิดเห็นกับตัวผมเอง และผู้อ่านท่านอื่นๆ ไปในโอกาสเดียวกัน ขอขอบคุณเป็นอย่างสูงครับ
ขอแสดงความนับถือ
สุรพงศ์ เจริญสุขวงศ์
กรุงเทพฯ
ตอบ คุณสุรพงศ์ เจริญสุขวงศ์
คำถามของคุณสุรพงศ์ เป็นคำถามที่ดี แม้ว่าจะผ่านเวลาภาวะน้ำท่วมกรุงเทพฯ ไปแล้วก็ตาม แต่นับว่าเป็นข้อดีที่ผู้เกี่ยวข้องจะได้มีเวลาอ่านและทบทวน แล้วนำไปปรับใช้เพื่อแก้ปัญหาได้บ้างไม่มากก็น้อย น้ำท่วมในกรุงเทพฯ นั้นเกิดจากปัจจัยหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง ตามความเข้าใจถูกต้องแล้วครับ ผมจะจัดลำดับปัจจัยที่ส่งผลให้การเกิดน้ำท่วมกรุงเทพฯ ดังนี้
สภาพภูมิอากาศ ประเทศไทย รวมทั้งกรุงเทพฯ ตั้งอยู่ในเขตมีอากาศร้อนชื้น มีพายุพัดผ่านทำให้ฝนตกชุก เฉลี่ยปีละ 2,000 มิลลิเมตร ซึ่งฤดูฝนเริ่มตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม ไปจนถึงปลายเดือนกันยายน หรืออาจต่อเนื่องถึงกลางเดือนตุลาคมในบางปี ดังนั้น กรุงเทพฯ และปริมณฑลหลายแห่งจึงเหมาะสำหรับการประกอบอาชีพทางเกษตรกรรม
ทางกายภาพ กรุงเทพฯ มีสภาพเป็นที่ลุ่ม ตั้งอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง เพียง 1 เมตรเศษๆ เท่านั้น กรุงเทพฯ มีพื้นที่ 1,569 ตารางกิโลเมตร มีแม่น้ำ คู คลอง และลำกระโดง รวม 1,161 สาย คิดเป็นระยะทางได้ 2,604 กิโลเมตร ทั้งหมดนี้เป็นผลงานของบรรพบุรุษเราสร้างไว้ให้ ดังนั้น ในอดีตมีการสัญจรของผู้คนนิยมใช้ทางน้ำ โดยกรุงเทพฯ ในอดีตได้มีการให้สมญานามว่า กรุงเวนิชตะวันออก ต่อมามีการถมคู คลอง ไปหลายแห่งในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการพัฒนาการคมนาคมให้เป็นสากล พร้อมๆ ไปกับลดแหล่งน้ำที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ที่เป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออกลง
ปรากฏการณ์ธรรมชาติ เนื่องจากกรุงเทพฯ เป็นที่ลุ่มต่ำ เกิดปรากฏการณ์น้ำหลากขึ้นในระหว่างเดือนสิงหาคม ไปจนถึงเดือนตุลาคมของทุกปี ซึ่งจะรุนแรงที่สุดในกลางเดือนตุลาคม เพราะเกิดฝนตกหนัก น้ำเหนือไหล่บ่า และน้ำทะเลหนุน แล้วระดับน้ำจะทรงอยู่ประมาณ 2 สัปดาห์ จึงลดระดับลงอย่างรวดเร็ว ตามจังหวะของน้ำทะเลที่ลดระดับลงอย่างสอดคล้องกัน ยกเว้นกรณีที่มีพายุดีเปรสชั่นหลงพัดเข้ามาซ้ำเติม ก็จะเกิดน้ำท่วมใหญ่เกิดขึ้นได้อีก
ด้านเศรษฐกิจและสังคม กรุงเทพฯ ตามสถิติปี 2561 มีประชากรทั้งขึ้นทะเบียนและไม่ขึ้นทะเบียน รวม 10 ล้านคน ประชากรจำนวนทั้งหมดนี้ได้ผลิตขยะขึ้น วันละ 9,900 ตัน หรือใน 1 ปี ผลิตได้ 3.30 ล้านตัน ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยจอร์เจีย แห่งสหรัฐอเมริกาทำการวิจัยไว้ว่า ประเทศไทยทิ้งขยะลงทะเลเป็นปริมาณสูงถึง 1.03 ล้านตัน ส่วนที่เล็ดลอดลงทะเลย่อมไปจากกรุงเทพฯ อย่างแน่นอน เมื่อทราบข้อมูลเบื้องต้นของปัญหาแล้ว เราต้องแก้ไขให้ถูกทางตามเหตุปัจจัยดังกล่าว
การขุดลอกแม่น้ำลำคลอง และลำกระโดง การทำความสะอาดลอกคู คลอง ให้น้ำไหลถ่ายเทได้สะดวกและปรับปรุง เชื่อมต่อสายน้ำให้ถึงกัน สามารถจัดการน้ำได้ทั้งระบบ เรามีแม่น้ำลำคลองทั้งสิ้น 1,161 สาย เร่งระดมปรับปรุง ปีละ 100 สาย ภายใน 10 ปี ก็ทำได้ครบสมบูรณ์ พร้อมจัดระเบียบอาคารบ้านเรือนที่รุกล้ำเข้าไปในคู คลอง ไม่ให้กีดขวางทางน้ำ หากต้องเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่ต้องมีการชดเชยให้ตามความเหมาะสม เรือดำน้ำยังซื้อได้ การจะนำงบฯ มาพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนจะทำไม่ได้เชียวหรือ
การกำจัดขยะ และสิ่งปฏิกูล การวิจัยวิธีเก็บคัดแยก รีไซเคิล การขนส่ง และการทำลาย ต้องหาให้ได้ แล้วนำไปใช้ในภาคปฏิบัติ ทุกมิติแม้แต่การออกแบบรถเก็บขยะต้องให้ดีกว่าในปัจจุบัน เจ้าพนักงานเก็บขยะต้องบังคับให้ใช้หน้ากากอนามัยพร้อมสวมถุงมือป้องกันการติดเชื้อทุกคน การผลิตเตาเผา มหาวิทยาลัยไทยมีศักยภาพที่จะทำได้ ข้าราชการผู้ใหญ่ไม่จำเป็นต้องเฮโลไปดูงานต่างประเทศให้เป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์ เศษอาหารการกินที่เหลือ หากมีพื้นที่อยู่บ้างก็ควรแนะนำให้ฝังกลบอย่างถูกวิธี พร้อมกับปลุกระดมให้เรารักกรุงเทพฯ กับเด็กๆ ได้ซึมซับความรู้สึกดีๆ อยู่เป็นประจำจนกลายเป็นนิสัย ภายใน 10 ปีนี้รัฐจะสามารถรณรงค์ไม่ให้มีขยะบนถนนทุกสาย ต้องทำให้ได้ ท่อระบายน้ำทุกชุมชนต้องลอก ล้าง ทำความสะอาดทุกปี ถนนเส้นไหนน้ำท่วมขังเป็นประจำต้องระเบิดขอบทางแล้วฝังท่อให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เชื่อมโยงถึงกันเพื่อระบายลงแม่น้ำเจ้าพระยาต่อไป
การจัดการปากแม่น้ำเจ้าพระยา เรื่องนี้ไม่เคยมีนักวิชาการไทยพูด หรือคิดมาก่อน ขอย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2520 ขณะที่ผมได้ไปร่วมสัมมนาวิชาการเรื่อง การบริหารจัดการน้ำ และพัฒนาที่ดิน ณ ประเทศญี่ปุ่น ศาสตราจารย์ ดร. ซาโตะ จากโตเกียว ยูนิเวอร์ซิตี้ พูดถึงว่า ในอนาคตประเทศไทยต้องสร้างเขื่อนกั้นที่บริเวณอ่าวไทย บริเวณที่มีรูป ก ไก่ เพื่อป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ และยังสามารถนำผืนดินใต้ทะเลบริเวณปากอ่าวมาใช้ประโยชน์ ทั้งทำที่อยู่อาศัย หรือการเกษตรกรรม ผมฟังแล้วสะดุ้งโหยง จึงรีบยกมือคัดค้านทันที พร้อมแย้งว่า อาจารย์ครับ เกิดปัญหาแน่ๆ ถ้าทำเช่นนั้น เพราะมันจะมีผลกระทบกับผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ประมง การท่องเที่ยว และวิถีชีวิตของชาวบ้านที่เขาดำรงอยู่ ผมกับท่านถกกันอยู่พักใหญ่ ท่านจึงสรุปให้ฟังว่า นี่เป็นแผนการในอนาคต อีก 50 ปี หรือ 100 ปี ข้างหน้าโน้น ความจำเป็นอาจเกิดขึ้นได้ ผมพยักหน้ายอมรับแนวคิดของท่าน โอว! ชาวต่างประเทศเขามองไปในอนาคตข้างหน้าเป็นร้อยๆ ปีกันเลยทีเดียว
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2538 ผมไปประชุมสัมมนาที่สาธารณรัฐเกาหลี เรื่อง การถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาชนบท ก็มีผู้เชี่ยวชาญชาวเกาหลี มาบรรยายเหมือนกับ ดร. ซาโตะ ทุกประการ จากนั้นทางผู้จัดพาไปดูงานการสร้างเขื่อนหินทิ้งปิดปากอ่าวหลายแห่ง แล้วนำผืนดินใต้ทะเลมาใช้ประโยชน์ เขาพาไปดู 2 แห่ง ที่โครงการพัฒนาแบบเบ็ดเสร็จ
เซมันงึม และ แตโฮ ทั้ง 2 โครงการอยู่ทางฝั่งตะวันตกของประเทศ ได้นำผืนดินมาใช้ประโยชน์ไม่น้อยกว่า 500,000 ไร่ โครงการดีๆ อย่างนี้ยังไม่เคยได้ข่าวว่ามีคนไทยไปศึกษาดูงานที่นี่มาก่อนเลย หากท่านมีโอกาสไปดูงานที่นั่นก็ควรไปเรียนรู้กันจริงจัง อย่าให้เกาหลีเขาดูถูกพวกท่านได้ เกาหลีเขาทุ่มทุนมหาศาลในการสร้างเขื่อนหินทิ้งแกนทราย สูงระดับ 30 เมตร ยาว 20 กิโลเมตร สันเขื่อนรถวิ่งได้ทางเดียว แต่มีบริเวณจอดพักหลบหลีกกันได้เป็นระยะๆ ส่วนอีกด้านหนึ่งเขาสร้างกำแพงด้านนอก ขนาดความกว้างเท่ากับเลนสำหรับรถวิ่ง ยกระดับสูงกว่าถนน ประมาณ 3-4 เมตร ใช้เป็นกำบังลมให้กับรถยนต์ที่วิ่งไปมาบนสันเขื่อน เพื่อลดอันตรายขณะเกิดพายุฝน
ดังนั้น ถ้าต้องการแก้ไขเรื่องน้ำท่วมกรุงเทพฯ ได้อย่างแท้จริง ต้องสร้างเขื่อนกั้นปากแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณอ่าวไทย เพื่อพร่องน้ำในช่องพายุฝนพัดเข้ามาผันออกสู่ทะเล หรือกักน้ำไว้ในปีที่มีน้ำน้อย อีกทั้งยังช่วยแก้ปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำเข้าไปในแม่น้ำเจ้าพระยาได้เป็นอย่างดี ประเมินแล้วการก่อสร้างเกิดประโยชน์กับกรุงเทพฯ อย่างมหาศาล สำคัญอยู่ที่ใครจะเป็นคนเริ่มต้นและชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์ กับโทษ จะสมดุลกันหรือไม่
อย่างไร ฝากให้ผู้เกี่ยวข้องนำไปพิจารณาและอย่าลืมให้เครดิตนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านด้วยนะครับ สวัสดี