กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรดีเด่น จังหวัดพะเยา ทอผ้า ลดต้นทุน ด้วยการย้อมเส้นด้ายด้วยสีธรรมชาติ จากวัตถุดิบในท้องถิ่นทั้งหมด

Jpeg

จากการคัดเลือกเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรดีเด่น ปี 2559 ของสำนักงานเกษตรจังหวัดพะเยา กลุ่มที่ได้รับการคัดเลือกเป็นกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรดีเด่น ได้แก่ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านทุ่งกล้วย หมู่ที่ 5 ตำบลทุ่งกล้วย อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา 

กลุ่มนี้ จัดตั้งเมื่อ วันที่ 10  มีนาคม 2520 สมาชิกเริ่มจัดตั้ง 22 คน สมาชิกปัจจุบัน 30 คน อาชีพหลักของสมาชิก คือการทำนา ทำสวนยางพารา ปลูกถั่วลิสง อาชีพเสริมของสมาชิกประกอบด้วยการทอผ้า ถักโครเชต์ เลี้ยงไก่ เลี้ยงจิ้งหรีด ปลูกพืชแซมสวนยาง ปลูกพืชผักสวนครัว ประธานกลุ่มชื่อ คุณเปลี่ยน ดีจิตร ที่ทำการกลุ่ม เลขที่ 89 หมู่ที่ 5 ตำบลทุ่งกล้วย  อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา โทรศัพท์ (086) 197-2919

มีการส่งกลุ่มนี้เข้าคัดเลือกในระดับภาคเหนือตอนบนก็ได้รับการคัดเลือกรางวัลชนะเลิศ

เมื่อไม่นานมานี้ คณะกรรมการคัดเลือกสถาบันเกษตรกรระดับประเทศได้มาประเมินผลงานของกลุ่ม เพื่อคัดเลือกผลงานเข้ารับรางวัลกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรดีเด่นระดับชาติต่อไป

สมาชิกกลุ่ม

กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร เป็นองค์กรเกษตรกรหนึ่งในความรับผิดชอบของกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นการรวมตัวของสตรีในภาคการเกษตร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งรับและถ่ายทอดความรู้ด้านการเกษตร และเคหกิจเกษตร สมาชิกได้ร่วมกันดำเนินกิจกรรมพัฒนาอาชีพการเกษตรและพัฒนาครอบครัว เพื่อนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถพึ่งพาตนเองและพึ่งพากันได้ เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งนี้ แม่บ้านเกษตรกรเป็นผู้สนับสนุนและมีส่วนร่วมอย่างสำคัญในกิจการของครอบครัว ทั้งงานอาชีพในไร่นาและงานบ้าน เป็นพลังสำคัญในการพัฒนา ทุกระดับทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม

เพื่อนำประสบการณ์ในการทำการเกษตรและภูมิปัญญาชาวบ้านของบรรพบุรุษ ให้ได้รับการสืบทอดต่อไปจนถึงรุ่นลูก รุ่นหลาน อย่างมั่นคง ยั่งยืนต่อไป จึงมีการรวมตัวของสมาชิกจัดตั้งเป็นกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านทุ่งกล้วย หมู่ที่ 5 เพื่อทำกิจกรรมเสริมรายได้ให้แก่ครอบครัวเกษตรกร ทำให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ โดยนำวัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่น มีการพัฒนาด้านอาชีพ ทำกิจกรรมร่วมกันในหมู่คณะ ทำให้เกิดความรัก ความสามัคคี มีการบริหารจัดการร่วมกันอย่างเป็นระบบ เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างความมั่นคงให้แก่สมาชิก ส่งเสริมความรู้สู่ชุมชนต่อไป

ผลงานการทอผ้าลวดลายไทลื้อของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านทุ่งกล้วย

กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านทุ่งกล้วยได้ริเริ่มการทำกิจกรรมต่างๆ จากพื้นฐานการประกอบอาชีพในชุมชน ซึ่งได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษคือ การทำการเกษตรกรรม และหัตถกรรม เช่น การทอผ้า โดยใช้ภูมิปัญญา และลวดลายจากบรรพบุรุษ ซึ่งเป็นชาวไทลื้อ

เริ่มแรกได้ทำเป็นอาชีพเสริมหลังจากการเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตร แม่บ้านเริ่มทอผ้าฝ้ายดิบทำเป็นเครื่องนุ่งห่มโดยใช้กี่พื้นเมืองที่ทำขึ้นแบบง่ายๆ หลังจากนั้น ได้พัฒนามาทอด้วยกี่กระตุก ในอดีตนั้นจะใช้ฝ้ายที่มีในท้องถิ่น โดยเริ่มจากการปลูกฝ้ายและเข้าสู่กระบวนการผลิตเป็นเส้นด้าย ด้วยภูมิปัญญาของท้องถิ่นทั้งหมด และยังมีแนวคิดในการย้อมเส้นด้ายด้วยสีธรรมชาติที่ได้จากวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่นนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ลดต้นทุนการผลิต ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เช่น สีดำ ได้มาจากน้ำคั้นของผลมะเกลือ สีแดง ได้จากครั่ง สีเหลือง ได้จากขมิ้น แก่นไม้ ขนุน สีน้ำตาล ได้จากเปลือกต้นสน เป็นต้น

 

ความสามารถในการบริหารจัดการสถาบันเกษตรกร

กลุ่มแบ่งโครงสร้างการบริหารงานของกลุ่มอย่างชัดเจน คณะกรรมการบริหารกลุ่ม จำนวน 14 คน มาจากการเลือกตั้งของสมาชิก มีวาระ 4 ปี ประธานกลุ่มมีความเสียสละ อดทน และมีความมุ่งมั่นในการพัฒนากลุ่มให้เจริญก้าวหน้า โดยได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการและสมาชิก แบ่งเป็นฝ่ายบริหาร ฝ่ายวัตถุดิบ ฝ่ายผลิต และฝ่ายตรวจสอบ และมีคณะกรรมการกลุ่มย่อยที่บริหารจัดการกลุ่มกิจกรรมต่างๆ และมีคณะกรรมการที่ปรึกษากลุ่ม มีระเบียบข้อบังคับกลุ่ม และกำหนดวัตถุประสงค์อย่างชัดเจน และสามารถดำเนินกิจกรรมบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ และเป็นที่พึงพอใจของสมาชิก ระบบเอกสาร มีความโปร่งใส ชัดเจน และสามารถตรวจสอบได้และเป็นปัจจุบัน

การจัดสรรรายได้ สมาชิกทุกคนจะมีรายได้จากการผลิตสินค้าส่งกลุ่ม โดยรายได้ของแต่ละคนจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับจำนวนสินค้าที่ทำได้ตามความสามารถส่งให้กลุ่ม จากรูปแบบหรือประเภทสินค้านั้นๆ รายได้เฉลี่ยจากการทอผ้าของสมาชิก 3,000-5,000 บาท ต่อคน ต่อเดือน โดยมีการแบ่งผลประโยชน์เฉลี่ยคืนแก่สมาชิกกลุ่ม จากการดำเนินกิจกรรมกลุ่ม ดังนี้

ผู้ทำ                  40%

เข้ากลุ่ม             20%

กรรมการ            10%

สมาชิก                          20%

สวัสดิการ           10%

การเจริญเติบโต และความมั่นคงทางฐานะการเงินของกลุ่มปัจจุบัน กลุ่มมีทรัพย์สินทั้งหมด 1,079,000 บาท เป็นเงินออมทรัพย์และเงินทุนหมุนเวียน 2,313,463 บาท รายได้เฉลี่ยของสมาชิกต่อเดือนต่อคน ประมาณ 3,000-5,000 บาท

กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านทุ่งกล้วย ได้เปิดโอกาสให้คณะกรรมการและสมาชิกทุกคนมีส่วนร่วมและมีบทบาทในการแสดงความคิดเห็น การบริหารจัดการ การทำกิจกรรมร่วมกัน

ประธานกลุ่มกำลังเตรียมการย้อมผ้าด้วยวัสดุธรรมชาติ

สมาชิกทุกคนจะต้องมีการพัฒนาตนเอง ใฝ่หาความรู้ และสามารถถ่ายทอดความรู้ต่างๆ ที่ได้รับสู่บุคคลอื่นได้ ทั้งครอบครัวและชุมชน สมาชิกมีความรู้ ความเข้าใจต่อกฎระเบียบข้อบังคับของกลุ่มและปฏิบัติตามกฎระเบียบของกลุ่มอย่างเคร่งครัด ความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการ ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของสมาชิกกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร รวบรวมปัญหาความต้องการของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรเสนอขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานส่วนราชการ สถาบันการศึกษาหรือภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เป็นที่ปรึกษากลุ่มและช่วยเหลือสนับสนุนให้เกิดการทำงานเป็นเครือข่าย เสริมสร้างการเรียนรู้ โดยนำเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ไปเผยแพร่แก่สมาชิก

 

ความมั่นคงและฐานะทางเศรษฐกิจของสถาบัน  

มีการรับสมาชิกใหม่เพิ่มขึ้นและมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้กับสมาชิกใหม่ และผู้สนใจ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อให้คนรุ่นหลังได้สืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นต่อไป มีความมั่นคงต่อเนื่องสม่ำเสมอของการดำเนินกิจกรรม กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านทุ่งกล้วย หมู่ที่ 5 มีการดำเนินกิจกรรมต่อเนื่องตลอดปี ถึงแม้จะเป็นช่วงฤดูการผลิตการเกษตร สมาชิกกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรก็ใช้เวลาว่างจากการดำเนินกิจกรรมในไร่นา มาร่วมกิจกรรมการทอผ้าในช่วงตอนเย็น มีความสามารถในการจัดหาทุนและการบริหารทุน

มีสถาบันการเงินหลายแห่งให้ข้อเสนอในการสนับสนุนด้านเงินทุน เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร กองทุนหมู่บ้านและหน่วยงานของรัฐบาล เสนอให้กลุ่มกู้ยืมเงินเพื่อเป็นแหล่งเงินทุน แต่สมาชิกกลุ่มได้คำนึงถึงความเป็นไปได้ในการชำระเงินคืน โดยสมาชิกกลุ่มมีความเห็นว่าให้กลุ่มใช้หลักอยู่อย่างพอเพียง และการพึ่งพาตนเอง เน้นการบริหารจัดการเงินทุนของกลุ่มที่มีอยู่ เพื่อสร้างความมั่นคงด้วยตนเองได้อย่างยั่งยืน มีการออมเงินเป็นทุนสำหรับการดำเนินกิจกรรม การบริหารทุนผ่านมติที่ประชุมใหญ่ของสมาชิกและข้อบังคับกลุ่ม ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งด้านวิชาการ ด้านวัสดุอุปกรณ์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการบริหารจัดการกลุ่ม

คณะกรรมการคัดเลือกกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรดีเด่น ระดับชาติ ปี 2560

ทางกลุ่มมีแผนการพัฒนากลุ่มโดยการจัดหาวัสดุอุปกรณ์เพิ่มเติมให้เพียงพอต่อการผลิต การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้รองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน มีการพัฒนาสถานที่ผลิตผลิตภัณฑ์ให้เพียงพอ และเน้นการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และขยายอัตรากำลังการผลิตเพิ่มขึ้น เพิ่มอุปกรณ์การผลิตให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ แบบครบวงจร โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นผสมผสานกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ให้ตรงกับความต้องการของตลาดมากขึ้น ส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร โฮมสเตย์ และเป็นสถานที่ศึกษาดูงาน คุณภาพชีวิตของครอบครัวเกษตรกรและชุมชน

สมาชิกแม่บ้านมีเวลาดูแลบ้านเรือนและครอบครัวมากขึ้น ทำให้ครอบครัวอบอุ่น สมาชิกมีเวลาทำความสะอาด จัดการบ้านเรือนให้เป็นสัดส่วนถูกสุขลักษณะ เนื่องจากไม่ต้องไปทำงานต่างถิ่น จึงมีเวลาดูแลบ้านเรือนได้มากขึ้น ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นได้ เนื่องจากมีการจัดทำบัญชีครัวเรือน มีเงินออมทุกครัวเรือน เนื่องจากกลุ่มมีการส่งเสริมการออมในชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและเยาวชนในชุมชนได้เกิดการเรียนรู้และรู้จักการออมเงิน เกิดความเข้มแข็งและสามัคคีในชุมชน

 

กิจกรรมสาธารณประโยชน์และการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  

กิจกรรมอยู่บนพื้นฐานการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเน้นการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การย้อมผ้า ใช้วัสดุจากธรรมชาติ เช่น เปลือกไม้ เป็นต้น มีระบบการบำบัดน้ำเสียจากการย้อมผ้า การพัฒนาศักยภาพของผู้นำกลุ่มและสมาชิกอย่างต่อเนื่อง จนสามารถเป็นวิทยากรเกษตรกรประจำแหล่งเรียนรู้ ให้แก่ผู้มาศึกษาดูงานการทอผ้า การทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพใช้เองในไร่นา การบริหารจัดการกลุ่มให้ประสบความสำเร็จ การจัดทำบัญชีครัวเรือน และการดำรงชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง เป็นต้น การใช้สถานที่ตั้งและดำเนินกิจกรรมกลุ่มเป็นแหล่งฝึกอบรม/ดูงาน และเป็นศูนย์กลางประสานงานให้ความช่วยเหลือในชุมชน เช่น สถานที่ทำกิจกรรมทอผ้า ที่ทำการออมทรัพย์ ศูนย์จำหน่ายสินค้า เป็นที่ประชุมกลุ่ม เป็นที่ศึกษาดูงาน และเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน เป็นต้น ร่วมจัดงาน/บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ เช่น เป็นพลังสำคัญในการสนับสนุนช่วยเหลือกิจกรรมการพัฒนาของชุมชน วัด และโรงเรียน บริจาคเงินสมทบทุนในการปรับปรุง บูรณะวัด โรงเรียน เป็นต้น

 

จุดเด่นของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านทุ่งกล้วย

มีกิจกรรมที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษไทลื้อ รุ่นสู่รุ่น เพื่อรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นให้สืบทอดต่อไป และมีการปรับปรุงลวดลายได้ตามความต้องการของลูกค้า และผลิตภัณฑ์ได้มาตรฐาน เพราะมีฝ่ายตรวจสอบคุณภาพเพื่อประเมินผลิตภัณฑ์ก่อนนำจำหน่ายแก่ลูกค้า และประเมินราคาซื้อขาย นอกจากนี้ ทางกลุ่มยังมีแผนกตัดเย็บในกรณีที่ลูกค้าต้องการผลิตภัณฑ์สำเร็จสำหรับสวมใส่ได้เลย

ผลงานเยี่ยมยอด

ทางกลุ่มสามารถเพิ่มรายได้ ลดรายจ่ายให้ครอบครัว และมีเงินออมในชุมชน เกิดการกระจายรายได้ในชุมชนและภายนอกชุมชน มีการสร้างงานในชุมชน ช่วยลดปัญหาการว่างงาน เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านหัตถกรรม และการย้อมผ้าจากวัสดุธรรมชาติ ส่งเสริมการดำเนินชีวิตตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและส่งเสริมการสร้างความมั่นคงด้านอาหารในครัวเรือนและชุมชน กลุ่มมีความเข้มแข็ง สร้างความเป็นเจ้าของโดยการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของสมาชิกและชุมชน ทำให้เกิดความสามัคคีในชุมชนคุณภาพชีวิตของครอบครัวเกษตรกรและชุมชนดีขึ้น

ในช่วงนี้หากใครต้องการผลิตภัณฑ์ผ้าทอ ทั้งลวดลายโบราณของพี่น้องไทลื้อ หรือลวดลายที่ทันสมัยสามารถติดต่อสั่งให้กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านทุ่งกล้วยผลิตให้ในราคาเป็นกันเอง หรือกลุ่มต่างๆ สนใจศึกษาดูงาน สามารถติดต่อได้ที่กลุ่มตามที่อยู่ข้างต้น กลุ่มยินดีแลกเปลี่ยนเรียนรู้