ยาหอม ไม่ใช่มีดีแค่แก้ลม

ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว เขียนเรื่องนี้ไว้ในคอลัมน์ พืชใกล้ตัว ในอภัยภูเบศรสาร ปีที่ 10 ฉบับที่ 119-120 เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2556 มีเนื้อหา ดังนี้

ขึ้นต้นแบบนี้คุณผู้อ่านคงมีคำถามต่อว่า แล้วถ้าไม่แก้ลมจะให้ไปแก้อะไร ต้องเรียนอย่างนี้ค่ะว่า ยาหอมที่พวกเราพูดกันติดปากว่าแก้ลมนั้นก็เป็นเช่นนั้นแลค่ะ แล้วลมคืออะไร ก็ต้องบอกว่า ลม คือ การเปรียบเทียบกลไกการทำงานของร่างกายค่ะ ซึ่งลมมีหน้าที่ในการควบคุมการเคลื่อนไหวของสิ่งต่างๆ ในร่างกาย หากไม่มีลม ก็คงไม่มีเรา เหมือนที่ผู้ใหญ่ท่านมักพูดติดปากว่า “หมดลมหายใจ”

ในทฤษฎีการแพทย์แผนไทย อธิบายไว้ว่า ในการดำรงอยู่ของสรรพสิ่งในจักรวาล (ซึ่งก็รวมถึงมนุษย์และสัตว์ด้วย) มีตัวควบคุมความสมดุล 3 อย่างที่เรียกว่า ตรีโทษะ อันประกอบด้วย เสมหะ (น้ำ-ดิน) ปิตตะ (ไฟ) และวาตะ (ลม) อาจารย์หมอแผนไทยหลายท่านย้ำกับผู้เขียนมาว่า ในทางการแพทย์แผนไทยนั้น ให้ความสำคัญกับลมเป็นอันดับแรก เพราะลมทำให้เกิดความเคลื่อนไหวของเสมหะและปิตตะ จึงไม่แปลกที่จะมีคำพังเพยที่พูดถึงคนที่ปรับอารมณ์ยากๆ ว่าเป็นพวกเลือดจะไปลมจะมา หรือแม้กระทั่งในทางการแพทย์แผนไทยเองนั้น จะมียาแก้ลมอยู่มากมายหลายตำรับ ยาหอมก็จัดเป็นส่วนหนึ่งของยาแก้ลม

นอกจากนั้น ในทฤษฎีการแพทย์แผนไทย ยังมีความละเอียดอ่อนมากกว่านั้น โดยกล่าวไว้ว่า ในร่างกายของเราประกอบด้วย ธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ในส่วนของลมนั้นมีการพัดอยู่ทั่วร่างกาย แต่ก็จะมีชื่อเฉพาะของลมที่พัดอยู่ในตำแหน่งที่ต่างกัน แต่กล่าวโดยรวมว่า ลมมี 2 ประเภท คือ ลมกองหยาบ กับลมกองละเอียด

โดยลมกองหยาบ เราสามารถรับรู้การเปลี่ยนแปลงของลมได้ อาทิ ลมหายใจเข้า-ออก ลมจากการเรอและผายลม ส่วนลมกองละเอียด เรามักไม่สามารถรับรู้การเปลี่ยนแปลงได้ แต่เมื่อเกิดความไม่สมดุลมากๆ ก็จะแสดงอาการออกมา อาทิ ลมที่ก่อให้เกิดอาการหน้ามืด ตาลาย เวียนศีรษะ ใจสั่น อ่อนเพลีย

ดังนั้น ยาหอมที่มีอยู่ในท้องตลาดนั้น มี 2 ประเภทใหญ่ๆ คือยาหอม แก้ลมกองละเอียด ซึ่งมีรสหอมเย็น เนื่องจากมีส่วนผสมของเกสรดอกไม้ กฤษณา กะลำพักขอนดอก กับยาหอมที่ใช้แก้ลมกองหยาบ ที่จะมีรสร้อน เนื่องจากมีส่วนผสมของสมุนไพรที่มีรสร้อน อย่างขิง ดีปลี โกฐ และเทียนชนิดต่างๆ

เมื่ออ่านถึงตรงนี้ คุณผู้อ่านคงมีคำถามว่า แล้วดิฉันจะเลือกใช้ยาหอมถูกต้องได้อย่างไร จะรู้ได้อย่างไรว่า ตำรับไหนมีเกสรดอกไม้ ตำรับไหนมีโกฐ เอาแค่หน้าตาของสมุนไพรที่พูดมาก็ไม่เคยเห็น ผู้เขียนก็เลยจะขออนุญาตนำยาหอมตำรับที่อภัยภูเบศรมีจำหน่าย ได้แก่ ยาหอมทิพโอสถ ยาหอมเทพจิต ยาหอมอินทจักร์ และยาหอมนวโกฐ มาอธิบายเป็นตัวอย่าง เพื่อให้คุณผู้อ่านเข้าใจยาหอมมากขึ้น อีกทั้งใน 4 ตำรับดังกล่าวยังจัดเป็นยาสามัญประจำบ้านของกระทรวงสาธารณสุขอีกด้วย

คุณผู้อ่านคงทราบกันแล้วว่า ยาหอมช่วยปรับให้เกิดการเคลื่อนไหวของอวัยวะและของร่างกายให้เป็นปกติ เช่น อาการท้องอืดท้องเฟ้อ (ที่เกิดจากลมกองหยาบกำเริบ) อาการใจสั่น วิงเวียน (ที่เกิดจากลมกองละเอียดกำเริบ) นอกจากยาหอมที่ใช้แก้ลมแล้ว หมอแผนไทยหลายท่านยังพูดตรงกันว่า ยาหอมยังมีส่วนช่วยบำรุงร่างกาย (ในแง่ของการทำให้เกิดความสดชื่น กระปรี้กระเปร่า) และบำรุงหัวใจ ซึ่งหากเรานำส่วนประกอบในตำรับยาหอมมาพิจารณา เราก็จะพบความน่าสนใจอยู่ไม่น้อยทีเดียว

ในบรรดายาหอมสี่ตำรับที่กล่าวไปคือ ยาหอมเทพจิตร ทิพโอสถ นวโกฐ และอินทจักร์ หากดูในส่วนประกอบของตำรับ เราจะพบว่ายาหอมอินทจักร์ มีส่วนผสมของเบญจกูล (ที่ในทางการแพทย์แผนไทยกล่าวกันว่า เป็นยาบำรุงไฟธาตุ) ในสัดส่วนที่มากกว่าที่อยู่ในยาหอมอีก 3 ตำรับ ในส่วนอื่นก็จะมีตัวยาที่ค่อนไปทางบำรุง เช่น โกฐพุงหลา โกฐกักเกรา ดีสัตว์ ที่เหลือก็เป็นพวกเกสรดอกไม้ในสัดส่วนพอกัน

ยาหอมอินทจักร์จึงน่าจะใช้ได้ดีกับอาการท้องอืดท้องเฟ้อ กับการเต้นผิดปกติของหัวใจแบบที่มีการอุดตันในช่องทางการไหลเวียนของเลือด และใช้บำรุงหัวใจหรือแก้ความผิดปกติเกี่ยวกับการเต้นของหัวใจที่ไม่รุนแรง

ตำรับยาที่ร้อนน้อยลงมา (หรืออาจจะพอๆ กับยาหอมอินทจักร์) คือ ยาหอมนวโกฐ ยาหอมตำรับนี้จึงน่าจะใช้ได้ดีกับอาการท้องอืดท้องเฟ้อ กับการเต้นผิดปกติของหัวใจแบบที่มีการอุดตันในช่องทางการไหลเวียนของเลือด (คล้ายๆ กับยาหอมอินทจักร์) และใช้บำรุงหัวใจ เนื่องจากมีตัวยาจำพวกเกสร ที่มีฤทธิ์หรือสรรพคุณในการบำรุงหัวใจ (ในแง่ของการเติมเต็มหรือฟื้นคืนเนื้อเยื่อหัวใจ) ร่วมกับการมีอาการท้องผูก เนื่องจากในตำรับนี้มีส่วนผสมของตรีผลา

ยาหอมทิพโอสถ ในบรรดายาหอมทั้งสี่ตำรับ ยาหอมตำรับนี้น่าจะใช้ได้ดีกับกรณีของหัวใจเต้นผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับไฟกำเริบปานกลาง เพราะมีส่วนผสมของเกสรดอกไม้และสมุนไพรที่มีพลังเย็นในสัดส่วนที่ค่อนข้างมาก ยาหอมทิพโอสถน่าจะใช้แก้ลม และแก้เป็นลมเนื่องจากความร้อนวิงเวียนศีรษะจากภาวะความดันโลหิตสูง

ยาหอมเทพจิตร ตัวยาที่มีปริมาณมากที่สุดคือ ดอกมะลิ (เท่ากับน้ำหนักของตัวยาอื่นๆ รวมกัน) ที่มีพลังเย็น จึงน่าจะช่วยลดความร้อนได้ดี สมุนไพรที่มีสัดส่วนรองลงมาคือ ผิวของผลไม้รสเปรี้ยว ที่จะทำให้สดชื่น กระปรี้กระเปร่า การรับรู้รสดีขึ้น ยาหอมเทพจิตร จึงน่าจะใช้ได้ดีกับอาการจะเป็นลม และหัวใจสั่น ซึ่งเกิดจากความร้อน (ธาตุไฟ) กำเริบได้ดี ทำให้อารมณ์สงบ และทำให้สดชื่นกระปรี้กระเปร่า
ทว่า ยาหอมเทพจิตรและทิพโอสถ ไม่น่าจะเหมาะเท่าไรสำหรับหัวใจเต้นผิดปกติที่มีการอุดตันของทางเดินเลือดลม และไม่น่าจะเหมาะกับคนที่มีอาการท้องอืด หรือระบบย่อยอาหารผิดปกติ