ขวง กุมารน้อยเป็นหวัดไม่ขัดขืน โปะ “ขี้ขวง” ขุมขม่อม ไม่ยอมเขิน

ชื่อวิทยาศาสตร์ Glinus oppositifolius A. DC. (1) Mollugo oppositifolia Linn. (2)
ชื่อวงศ์ MOLLUGINCEAE (1) AIZOACEAE (2)
ชื่ออังกฤษ Sweetjuice
ชื่ออื่นๆ ขี้ขวง สะเดาดิน ขี้ก๋วง

หนูเป็นสาวเจียมเนื้อเจียมตัว ไม่ชอบเสนอหน้าเสมอใครๆ แต่ความจริงก็แอบโปรยเสน่ห์น้อยๆ ทั่วพื้นดินและกระถางต้นไม้ทุกๆ ที่ คนไม่รู้จักก็กำจัดหนูทิ้ง หาว่าหนูเป็น “วัชพืช” โธ่…ไม่รู้จักหนูดีแล้ว ยังตาไม่ถึงอีก ถ้าพินิจพิจารณาจริงๆ จะเห็นหนูดอกบานสวยสะพรั่ง ทั้ง 5 กลีบ แม้เป็นดอกเดี่ยว ซึ่งอยู่รวมกลุ่มราวๆ 4-5 ดอก แต่บานไม่พร้อมกัน จึงมองเห็นเหมือนเป็นตุ่มเล็กๆ และกลีบบานเต็มเถากระจายทั่วไป


ชื่อหนูไม่ไพเราะ ไม่ทราบใครตั้งชื่อให้ ทั้งชื่อเล่นและชื่อจริง เรียกกันทั่วๆ ไปว่า “ผักขวง” พอจะยอมรับได้ แม้ว่าจะ “ตะขิดตะขวง” ความรู้สึกใจบ้าง แต่ที่เรียกชื่อขึ้นต้นด้วย “ขี้” รับไม่ได้จริงๆ ครั้นเรียกชื่อว่า “สะเดาดิน” ก็ไม่สร้างสรรค์ความรู้สึกเลย เพราะทั้งขมและติดดินอีก


หนูจึงชอบชื่ออังกฤษซะแล้ว เรียกเป็นชื่อน้ำผลไม้หวาน Sweetjuice ฟังแล้วน่ารักน่ากิน   เคยเปิด dictionary พบคำว่า juice sacs หนูเอามารวมกับชื่อหนู แต่บังเอิญหนูเขียนผิด เป็น Sweetjuice sex หนูก็ไม่รู้แปลว่าอะไร พอมีคนมากระซิบแปล โอ้โฮ..? หน้าแตกไปเลย หนูจึงไม่กล้าเสนอหน้าด้วยเหตุนี้เอง

นักวิชาการจัดหนูอยู่ในกลุ่มไม้ล้มลุก พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ระบุว่าใช้ทำยาได้ และหนูก็ได้รับเกียรติจากข้อเขียนของท่าน อาจารย์ไพบูลย์ แพงเงิน จัดหนูเป็นสมุนไพรใกล้บ้าน และเป็นสมุนไพรบำรุงน้ำดี เขียนเรื่องหนูไว้มากมาย ตั้งแต่ พ.ศ. 2556 แต่หนูก็รู้สึกกลัวๆ เพราะท่านบอกว่า ตอนท่านเป็นเด็ก เคยเก็บ “ผักขวง” มาจิ้มปลาร้าป่น และปลาร้าสับบ่อยๆ ทั้งๆ ที่ยังไม่รู้จักชื่อหนู หนูก็กลัวซิคะ

แต่เดี๋ยวนี้ก็ภูมิใจมาก ที่ท่านเขียนไว้ว่า หนู เป็นพืชในตำรับยาสมุนไพรที่บันทึกไว้ในพระคัมภีร์ ถึง 3 พระคัมภีร์ ซึ่งใช้ในสูตรตำรับยาหลายโรค โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับ “เด็กทารก” หรือ “กุมาร” เช่น ยาประจำท้องกุมารอายุ 2 เดือน ยาน้ำดับไฟ ยาแก้ทรางสกอเจ้าเรือน ยาจันทรรัศมี บดทำแท่งกินตามกำลังทารก ยาแก้มูกเลือดตานโจร ยาแดงแก้ลงท้อง ยาแก้เตโชธาตุพิการ ที่เกี่ยวกับธาตุไฟทั้ง 4 และชีพจร ส่วนที่นิยมสำหรับใช้กับทารกก็คือ ที่พ่อหมอยาผสมเครื่องยาบดเป็นก้อนแฉะๆ สีเข้มๆ “โปะขุมขม่อม” ก็คือยาสุมกระหม่อมเด็ก แปะไว้บนหัวนั่นแหละ มีหนูอยู่ในสูตรยาหลายขนาน แต่สมัยนี้อาจจะเห็นตามต่างจังหวัดในชนบท


โดยธรรมชาติหนูเป็นไม้ที่ขึ้นตามพื้นที่แฉะๆ แต่ก็สู้แดดแรงตามท้องทุ่ง หรือแอบขึ้นในกระถางต้นไม้ตามสวนครัวในบ้านนี่แหละ แตกกิ่งก้านอ่อนๆ กระจายเห็นกันชินตา แต่ไม่ค่อยรู้จักชื่อหนู คนที่ชอบก็เด็ดกินเป็นผักสดจิ้มน้ำพริก แกล้มลาบ ผักลวก หรือใช้ทั้งต้นต้มน้ำดื่มแก้ไข้ แต่มีรสขมเย็นจึงเรียกว่า “สะเดาดิน” บางท้องถิ่นเขายอมให้หนูแผ่กระจายเป็นพืชคลุมดิน แล้วเด็ดหนูกินเป็นผักสด เป็นยาแก้หวัด ดับพิษไข้ ละลายเสมหะ เป็นยาระบาย บำรุงธาตุ และแก้คันได้ด้วยนะจ๊ะ

แปลกที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักชื่อหนู ทั้งๆ ที่หนูไม่ได้แปลกหน้าในกระถางต้นไม้ในบ้าน และแปลกมากๆ ที่จากดินหนูก็บินขึ้นไป “โปะกระหม่อมเด็ก” ดูแลกุมารน้อยๆ อ้อ…! ที่แปลกที่สุดคือ รสขม แต่ชื่อ Sweetjuice?