ไขมันพอกตับ

บางครั้งเรียก ไขมันเกาะตับ เป็นกลุ่มของโรคที่เกิดจากการสะสมไขมันในตับมากเกินปกติ คือประมาณ 5-10% ของน้ำหนักตับ อาจมาจากอาหารร่างกายสร้างขึ้น หรือร่างกายนำไขมันไปใช้ได้น้อยลง โดยทั่วไปมักเป็นไขมันชนิดไตรกลีเซอไรด์ จากการที่ร่างกายนำคาร์โบไฮเดรต (แป้งและน้ำตาล) ไปใช้ไม่หมด เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด ที่ทำให้ผลการตรวจการทำงานของตับผิดปกติเล็กน้อย โรคนี้มักไม่ทำให้เกิดการเจ็บปวด แต่บางครั้งจะบ่งชี้ถึงปัญหาสุขภาพด้านอื่นๆ

สาเหตุของโรคไขมันพอกตับ สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

  1. จากการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ (alcoholic fatty liver disease) ความรุนแรงของโรคจะขึ้นกับประเภท ปริมาณ และระยะเวลาที่ดื่มแอลกอฮอล์
  2. ไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอล์ (non- alcoholic fatty liver disease) โดยมีผลจากโรคที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานของร่างกาย เช่น โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ไว้รัสตับอักเสบซี หรือสาเหตุอื่นๆ เช่น การติดเชื้อเอชไอวี พันธุกรรม ยาต้านไวรัสบางชนิด ยาในกลุ่มสเตอรอยด์ การใช้ยาพาราเซตามอลในปริมาณสูงต่อเนื่อง

 

กลไกการเกิดโรคไขมันพอกตับ

ตับ ทำหน้าที่เหมือนแบตเตอรี่เก็บสะสมพลังงาน การรับประทานอาหารมากเกินไป ทำให้เกิดไขมันก่อตัวขึ้นในตับ เมื่อตับไม่ได้นำไขมันไปใช้หรือไม่ย่อยสลายไขมันตามที่ควรจะเป็น ก็จะเกิดไขมันสะสมขึ้นที่ตับ ในผู้ที่มีภาวะของโรคอื่นๆ เช่น โรคอ้วน เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง รวมถึงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์มากเกินไป การลดน้ำหนักตัวอย่างรวดเร็ว และภาวะขาดสารอาหารก็อาจทำให้เกิดโรคไขมันพอกตับได้ อย่างไรก็ตาม อาจมีผู้ป่วยบางรายที่เกิดไขมันพอกตับได้ โดยไม่มีโรคเหล่านี้เลย

โรคไขมันพอกตับ แบ่งระยะการดำเนินโรคได้เป็น 4 ระยะ ดังนี้

ระยะแรก เป็นระยะที่มีไขมันสะสมอยู่ในเนื้อตับ แต่ยังไม่มีการอักเสบหรือพังผืดเกิดขึ้นในตับ

ระยะที่สอง เป็นระยะที่เริ่มมีอาการอักเสบของตับ ในระยะนี้หากไม่ควบคุมดูแลให้ดี และปล่อยให้การอักเสบดำเนินไปเรื่อยๆ เกินกว่า 6 เดือน อาจกลายเป็นตับอักเสบเรื้อรัง

ระยะที่สาม การอักเสบรุนแรง ก่อให้เกิดพังผืดในตับ เซลล์ตับค่อยๆ ถูกทำลายลง

ระยะที่สี่ เซลล์ตับถูกทำลายไปมาก ตับไม่สามารถทำงานได้ตามปกติอีกต่อไป ทำให้ตับแข็งและอาจเป็นมะเร็งตับในที่สุด

อาการ โดยทั่วไปโรคไขมันพอกตับไม่ทำให้เกิดอาการทางร่างกาย หรือหากมีอาการก็อาจเป็นอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจงมากพอที่จะบ่งบอกโรคได้ เช่น อ่อนเพลีย คลื่นไส้เล็กน้อย รู้สึกตึงบริเวณใต้ชายโครงขวา โดยส่วนใหญ่การตรวจพบโรคไขมันพอกตับจึงมักพบเมื่อผู้ป่วยเข้ารับการเจาะเลือดตรวจสุขภาพประจำปีหรือตรวจทางการแพทย์ด้วยเหตุผลอื่นๆ

แนวทางในการป้องกันและลดความเสี่ยงจากโรคไขมันพอกตับ

– หากมีน้ำหนักตัวมาก (BMI มากกว่า 23 คำนวณจาก น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม หารด้วยส่วนสูงที่วัดเป็นเมตรยกกำลังสอง) ควรลดน้ำหนักลงอย่างน้อย 15% ของน้ำหนักเดิม โดยลด 1-2 กิโลกรัม ต่อเดือน

– ออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน หากเป็นไปได้ควรออกกำลังกายทั้งแบบแอโรบิกและแบบมีแรงต้าน เช่น เดินเร็วครึ่งชั่วโมง แล้วตามด้วยการยกน้ำหนักแบบแรงกระแทกต่ำ

– รับประทานมอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารที่มีไขมันต่ำ กากใยสูง และให้พลังงานต่ำ

– หากเป็นเบาหวานหรือไขมันในเลือดสูง ควรควบคุมโรคให้ดีด้วยการรับประทานยาตามแพทย์สั่ง ควบคุมอาหาร และออกกำลังกาย

– หลีกเลี่ยงการรับประทานยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่นอกเหนือจากแพทย์สั่ง

– หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ขอบคุณข้อมูลจาก อภัยภูเบศรสาร ปีที่ 17 ฉบับประจำเดือนกันยายน-ตุลาคม 2562 คอลัมน์ คนงามเพราะแต่ง โดย ภญ.อาสาฬา เชาวน์เจริญ