“เมืองเบี้ยซัด” หรือ เมืองปากพนัง อู่ข้าวอู่น้ำของนครศรีฯ

จากเบี้ยเสียสองเพราะต้องฆาต ฟันฟาดเบี้ยหงายกระจายป่น
ม้าก้าวยาวเรือก็เหลือทน เมื่อพี่จนแล้วจะไล่แต่รายโคน

คำรำพึงรำพันของขุนแผนแสนสะท้านในเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนข้างต้นเกิดขึ้น เมื่อครั้งที่ขุนแผนต้องถึงคราวอับจนข้นแค้น ผู้ประพันธ์ตอนนี้น่าจะเป็นล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 2 ที่กล่าวในเชิงอุปมาเปรียบเทียบเหมือนการเล่นหมากรุก ซึ่งมีตัวหมากชื่อต่างๆ ตามศักดิ์มีขุน ซึ่งเป็นแม่ทัพใหญ่ จากนั้นก็ยังมี ม้า เรือ โคน เม็ด จนถึงหอย หรือเปลือกหอยที่เรียกกันว่า หอยเบี้ย ซึ่งนำมาใช้แทนบรรดาทหารทั้งปวง หอยชนิดนี้เปรียบเสมือนทหารกล้าแนวหน้า เพื่อประจันบางกับฝ่ายข้าศึกศัตรู แต่ครั้นทหารเหล่านี้มีชัยยึดฐานที่มั่นของศัตรูได้ ก็ได้เลื่อนยศมีอำนาจหน้าที่สูงศักดิ์ขึ้นจากเบี้ยคว่ำกลายเป็น เบี้ยหงายทันที เมื่อกล่าวถึง “เบี้ย” ในกระดานหมากรุก จึงนึกถึง “เบี้ยซัด” ในสมัยอดีตที่บริเวณชายหาดจำนวนมาก ซึ่งต่อมาได้ชื่อเป็น “เมืองปากพนังในปัจจุบัน”

บ้านวงศ์เบี้ยสัจจ์ สวนอนุรักษ์ของคุณแดง หรือคุณอดิศร ที่อยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำปากพนัง

“อำเภอเบี้ยซัด” หมายถึง หอยเบี้ยที่คลื่นซัดเอาเปลือกหอย หรือเบี้ยหอยจากท้องทะเลขึ้นมาเรียงรายเป็นกองมหึมาทับถมกันตามแนวชายหาดยื่นยาว เบี้ยในสมัยโบราณนั้นได้เก็บมาใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้า เฉกเช่นเดียวกับเงินตราในสมัยนี้ จากเบี้ยที่ซัดขึ้นมาจากท้องทะเลที่แต่เดิมเป็นเพียงธรรมดาเปลือกหอย แต่มีความทนทานและสวย ซึ่งหาได้ไม่ง่ายนัก ผู้คนจึงนำไปใช้เป็นเงินตราในเวลาต่อมาและเรียกกันติดปากเป็น เบี้ยหวัด เงินเดือนเบี้ยบำเหน็จ บำนาญดอกเบี้ย บางคำก็ใช้เป็นสำนวน เบี้ยบ้ายรายทาง เบี้ยล่าง เป็นต้น

ในความเป็นจริงแล้วเมืองปากพนังมีบทบาทหน้าที่เป็นหัวเมืองท่าที่สำคัญของเมืองนครศรีธรรมราช เอื้ออำนวย ต่อการคมนาคมขนส่งทางน้ำเป็นหลัก เป็นเมืองที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเลและความอุดมสมบูรณ์ของที่ราบลุ่ม เหมาะสมแก่การทำนาข้าว เมื่อครั้งที่มีชื่อเรียกว่า “อำเภอเบี้ยซัด” นั้นได้รวมแขวงหรือหัวเมือง 4 แห่งเข้าด้วยกัน คือ เมืองปากพนัง เมืองพิเชียรที่เบี้ยซัด ตรงที่ตั้งเป็นอำเภอในปัจจุบัน เมื่อ ร.ศ. 116 หรือ พ.ศ. 2440 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เปลี่ยนชื่อจากอำเภอเบี้ยซัด มาเป็นอำเภอปากพนัง เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2445

สะพานไม้ที่ยื่นในลำน้ำปากพนัง ที่อยู่บริเวณหลังบ้านสวนของคุณแดง

เมืองปากพนังเป็นเมืองที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่อดีต เพราะสภาพภูมิศาสตร์ และท้องถิ่นอำเภอปากพนังเป็นจุดรวมอำเภอใกล้เคียง ถือเป็นแหล่งรวมในการขนส่งสินค้าทางเรือ การประมง มีเรือเดินทะเลรับ-ส่ง คนโดยสารจากปากพนังไปต่างประเทศถึงตรังกานู เคยปรากฏมีเรือเดินทะเลไปมาค้าขายระหว่างปากพนัง กับกรุงเทพมหานคร สินค้าจากอำเภอใกล้เคียงที่จะส่งไปต่างประเทศ หรือกรุงเทพมหานคร จะต้องผ่านปากพนังทั้งสิ้น

พระราชหัตถเลขา ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในคราวเสด็จประพาสปากพนัง เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2448 ความตอนหนึ่งของพระราชดำรัสมีว่า “อำเภอปากพนังนี้ได้ทราบอยู่แล้วว่า เป็นสิ่งสำคัญอย่างไร แต่เมื่อไปถึงฝั่งรู้สึกว่า ตามที่คาดคะเนนั้นผิดไปเป็นอันมาก ไม่นึกว่าจะใหญ่โตมั่งมีถึงเพียงนี้” และอีกตอนหนึ่งความว่า “เมื่อจะคิดว่า ตำบลนี้มีราคาอย่างไร เทียบกับเมืองสงขลา เงินผลประโยชน์แต่อำเภอเดียวนี้น้อยกว่าเมืองสงขลาอยู่ 20,000 บาทเท่านั้น บรรดาเมืองท่าในแหลมมลายูฝั่งตะวันออก เห็นจะไม่มีแห่งใดดีเท่าปากพนัง”

คุณแดง หรือ คุณอดิศร เจ้าของบ้านวงศ์เบี้ยสัจจ์ กำลังเล่าถึงเรื่องราวในปากพนังย้อนอดีต

อย่างไรก็ดี เมื่อได้พิจารณาถึงสภาพตัวเมืองปากพนัง ก็ได้พบเห็นว่าเป็นเมืองที่มีความเจริญเติบโตในด้านเศรษฐกิจที่มั่นคง มีคนจีนจากโพ้นทะเลมาปักหลักตั้งบ้านเรือน ทำการค้าขายและเป็นเจ้าของโรงสีจำนวนมากเมื่อครั้งที่การทำนายังรุ่งเรืองอยู่ ปัจจุบันก็มีประชากรอยู่อย่างหนาแน่น เหมาะสมกับรูปแบบการปกครองท้องถิ่นแบบ “เทศบาล” จึงมีการยกฐานะพื้นที่บางส่วนของตำบลปากพนังฝั่งตะวันออก ตำบลปากพนังฝั่งตะวันตก ตำบลบางพระ ตำบลหูล่อง ของอำเภอปากพนัง ตามสภาพพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ขึ้นเป็นเทศบาลเมือง ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเทศบาลปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราชขึ้น เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2480

อาจารย์โสพล เส้งเสน เจ้าของพื้นที่ นำผมไปเที่ยวชมพื้นที่หลากหลายแห่งในปากพนัง