คนสารคาม เลี้ยงหนูพุกขาย รายได้ เดือนละ 15,000

“หนู” เป็นสัตว์ศัตรูพืชที่สำคัญ เพราะสามารถกัดแทะทำลายพืชผลทางการเกษตรให้เกิดความเสียหายเป็นอย่างมาก ขณะเดียวกันหนูนั้นเป็นอาหารโปรตีนชั้นดี จึงมีเกษตรกรหัวใสได้ใช้ภูมิปัญญาในการจับหนูและเลี้ยงหนู ทำรายได้เลี้ยงครอบครัวได้อย่างสบาย อย่างเช่น คุณเชาวฤทธิ์ แสนปรางค์ อายุ 46 ปี ชื่อเล่นว่า “ฤทธิ์” อยู่บ้านเลขที่ 109 หมู่ที่ 2 บ้านมะค่า ตำบลมะค่า อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม โทร. (063) 016-1969

คุณฤทธิ์ แสนปรางค์ มีอาชีพหลักทำนา ได้ใช้เวลาว่างออกจับหนูขาย และเลี้ยงหนูขาย สามารถทำรายได้เลี้ยงครอบครัวมาเป็นเวลานับ 10 ปี เดือนละกว่า 15,000 บาท

คุณเชาวฤทธิ์-คุณละมัยพร แสนปรางค์ เจ้าของฟาร์มหนูพุก

คุณฤทธิ์ เล่าให้ฟังว่า มีอาชีพหลักทำนา 6 ไร่ ได้ใช้เวลาว่างออกดักจับหนูในทุ่งนาในพื้นที่หมู่บ้านของตนเองและหมู่บ้านใกล้เคียง โดยใช้ลวดดักหนู ทำเป็นวง นำมาผูกติดกับหลักที่ทำด้วยไม้ไผ่ แล้วนำไปวางไว้ตามทางเดินของหนู โดยช่วงบ่าย ประมาณ 3-6 โมงเย็น จะนำกับดักไปปัก จากนั้นช่วงเช้าตรู่จะไปเก็บกู้ แต่ละวันใช้กับดักประมาณ 100 อัน จะได้หนูพุกวันละประมาณ 10-30 ตัว ชำแหละขายตามตลาดนัดในหมู่บ้าน ไม่เพียงพอกับความต้องการ ทำมาประมาณ 10 ปีแล้ว ก่อนนั้นราคาไม่จูงใจ แต่เมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมา ราคาดีมาก ถ้าขนาดน้ำหนัก 3 ตัว/1 กิโลกรัม ตัวละ 70-80 บาท ถ้าน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม จะขายได้ถึงตัวละ 200 บาท ปัจจุบันมีรายได้ทุกวัน วันละประมาณ 500-1,200 บาท ช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวจะได้มาก วันละ 20-30 ตัว

แรงบันดาลใจในการเลี้ยง

ในการจับหนูแต่ละวัน จะได้หนูที่มีขนาดไม่เท่ากัน ถ้าขนาด 3 ขีด ขึ้นไป จะชำแหละขาย ถ้าได้ตัวเล็กมากก็ปล่อย แต่ถ้าประมาณ 2 ขีด ก็เอาไว้แถมคนที่ซื้อเยอะๆ

ต่อมามีความคิดว่า ถ้าเอาหนูที่ขนาดเล็ก ยังโตไม่ได้ขนาด มาพักในบ่อและให้อาหาร ไม่กี่วันก็สามารถทำรายได้เพิ่มตัวละ 30-50 บาท ถ้าจำนวนมากก็จะทำเงินได้มาก ดังนั้น จึงนำมาพักไว้ในบ่อซีเมนต์ที่มีอยู่แล้ว เพียง 10-20 วัน ก็โตจับขายได้

 

คอกเลี้ยง

ใช้คอกจิ้งหรีดเก่าที่เลิกเลี้ยง (ก่อด้วยอิฐบล็อก สูงประมาณ 1 เมตร) โอ่ง (โอ่งรั่วที่ไม่ใช้) วงท่อซีเมนต์วางซ้อนกัน 2 วง (ท่อละ 120 บาท) หาวัสดุปิดปากท่อป้องกันหนูกระโดดออก ภายในคอกได้หาเศษวัสดุใส่ลงไปเพื่อเป็นที่หลบซ่อน เช่น ท่อปูน ท่อพีวีซี ฟางข้าว ฯลฯ

นำมาพักในคอกและเลี้ยงจนได้ขนาดตามต้องการ

อาหาร

เป็นอาหารตามธรรมชาติ เมื่อไปเก็บกู้กับดักในช่วงเช้าก็จะเก็บหอยเชอรี่ที่อยู่ในนา ลูกข้าว (ต้นข้าวที่ออกรวง หลังเกี่ยวข้าวแล้ว) ที่เหลืออยู่ในนาเป็นจำนวนมาก ผักบุ้ง รวมทั้งหญ้าขน จะนำมาเป็นอาหารของหนู และให้น้ำ โดยไม่ได้เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด

วางกับดักตามทางเดินของหนู

“จากการดำเนินการ ได้เพิ่มปริมาณการเลี้ยงมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะนี้มีคอกเลี้ยง จำนวน 8 คอก มีหนูกว่า 100 ตัว ในจำนวนนี้มีพ่อแม่พันธุ์พร้อมที่จะผสมพันธุ์ให้ลูกต่อไป ซึ่งตนเองจะได้เลี้ยงควบคู่กับการศึกษาไปด้วย โดยมีเกษตรอำเภอกันทรวิชัยเป็นที่ปรึกษา” เจ้าของฟาร์มหนูบอก

การชำแหละ

เริ่มจากทำให้ตายแล้วลวกในน้ำเดือด จุ่มลงในน้ำเย็น แล้วถอนขน นำไปลนไฟในเตาเพื่อกำจัดขนที่ถอนออกไม่หมด จากนั้นชำแหละเอาเครื่องในออก พร้อมขายหรือประกอบอาหาร

คุณละมัยพร แสนปรางค์ ภรรยาคุณเชาวฤทธิ์ บอกว่า คุณฤทธิ์เป็นคนที่มีความสามารถพิเศษหลายอย่าง โดยเฉพาะชอบดักจับหนู มักจะได้มากกว่าคนอื่นๆ และช่วงที่มีไข่มดแดงออก คุณฤทธิ์ก็จะออกหาแหย่ไข่มดแดง และมักจะได้มากกว่าคนอื่นๆ เช่นกัน ซึ่งทำให้มีรายได้ดี ในส่วนของการหาดักจับหนูนั้น ยอมรับว่าเป็นอาชีพที่ทำรายได้หลักให้แก่ครอบครัว หาเลี้ยงครอบครัวได้อย่างไม่ขัดสน และยังยืนยันอีกว่ามีรายได้มากกว่าเดือนละ 15,000 บาท

คุณอำพน ศิริคำ เกษตรอำเภอกันทรวิชัย โทร. (043) 789-104 กล่าวว่า หนู เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เฉลียวฉลาดมากที่สุดในโลกรองจากมนุษย์ เป็นสัตว์ฟันแทะ จึงกัดแทะพืชผลทางการเกษตร ทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก หากไม่ลับฟันจะทำให้หนูมีฟันที่ยาว 6-9 นิ้ว หนูมีฟันที่แข็งมาก คือมีค่าความแข็ง 5 โมล์สเกล (เพชร มีค่าความแข็ง 10 ขณะที่เหล็กมีค่าความแข็ง 4.5 โมล์สเกล) ดังนั้น จึงกัดเหล็ก สายโทรศัพท์ สายไฟฟ้าภายในบ้าน หรือสายไฟรถยนต์ ทำให้เกิดความเสียหายได้

การขยายพันธุ์

หนูขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็วมาก หนู 1 คู่ คือตัวผู้ 1 ตัว และตัวเมีย 1 ตัว ขยายพันธุ์ได้มากกว่า 1,000 ตัว ต่อปี ในการกำจัดควรใช้หลายๆ วิธีผสมผสานกัน ได้แก่ วิธีกล เช่น กับดักชนิดต่างๆ สารเคมี ใช้เมื่อจำเป็นหรือระบาดรุนแรง แต่ต้องใช้ด้วยความระมัดระวังและประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงได้รับทราบ เพื่อหลีกเลี่ยงการนำมาประกอบอาหาร

สภาพการเลี้ยงหนูพุกภายในฟาร์ม

สำหรับหนูนั้นมีหลายชนิด และชนิดที่นิยมรับประทานคือ หนูพุกใหญ่ โตเต็มที่เมื่ออายุประมาณ 4 เดือน น้ำหนักตัว 400-600 กรัม บางตัวอาจถึง 1 กิโลกรัม ส่วนทรรศนะในการเลี้ยงหนูนั้นเห็นว่าเป็นความคิดที่ดีและมีข้อดีหลายประการ เช่น เนื่องจากหนูให้สารอาหารจำพวกโปรตีนที่คนชนบทนิยมรับประทาน เป็นสัตว์ที่ขยายพันธุ์ได้เร็ว ให้ผลผลิตเร็ว อาหารสามารถหาได้จากธรรมชาติ เป็นผลดีต่อผู้บริโภค เพราะหนูจากฟาร์มปลอดสารเคมี และที่สำคัญตลาดต้องการสูง ทำให้ขายได้ราคาดี ส่วนข้อเสียหรือข้อจำกัด เช่น ผู้เลี้ยงเสี่ยงต่อโรคไข้ฉี่หนู (ซึ่งต้องหาวิธีป้องกันและดูแลเรื่องสุขาภิบาลภายในฟาร์มด้วย) อย่างไรก็ตาม ผู้เลี้ยงจะต้องดูความพอดี ความสามารถในการเลี้ยงของตนเอง และสภาวะตลาดในพื้นที่นั้นๆ ด้วย

จะเห็นว่า หนูนั้นเป็นได้ทั้งศัตรูพืชที่สำคัญที่สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจและขณะเดียวกันยังเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่จับขายหรือนำมาเพาะเลี้ยงขาย สร้างรายได้แก่ครอบครัวได้เป็นอย่างดี และนี่จึงเป็นตัวอย่างหนึ่งในการเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาสของชาวนาอำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม คุณเชาวฤทธิ์-คุณละมัยพร แสนปรางค์ ตามที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์