หลอดไผ่ จาก กอไผ่หลอด ภูมิปัญญาชาวบ้าน ช่วยลดโลกร้อน

เราชาวบ้านสมัยเก่าก่อนมีภูมิปัญญาหาน้อยไม่ ด้วยภูมิปัญญาดั้งเดิมนี้ ทำให้เรามีหลอดดูดน้ำมาก่อนที่จะมีหลอดพลาสติก และหลอดสแตนเลสที่ขายๆ กันอยู่ในปัจจุบัน

เคยได้ยินเพลงของ สายัณห์ สัญญา ชื่อ หนาวลมที่เรณู หรือไม่หนอ ท่อนหนึ่งเพลงบอกว่า “ดูดอุร้อยไห ไม่คลายหนาวได้หรอกหนา” คำว่า ดูดอุร้อยไห นั่นแล การดูดเราชาวไทยต้องใช้หลอด หลอดที่ใช้ดูดอุนั้นเป็นหลอดไม้ไผ่ซาง ซางเป็นไผ่ชนิดหนึ่งขึ้นตามธรรมชาติ

คุณสมบัติพิเศษของซางคือ ลำเล็ก ปล้องมีขนาดยาว ทำให้บรรพชนคนไทยเราตัดเอามาทำเป็นหลอดดูดอุ อย่าว่าแต่ 100 ไห หรือ 1,000 ไหเลย ไม่ว่าจะเป็นกี่ล้านไห เราชาวบ้านก็สามารถหาหลอดมาดูดอุได้ ผู้เขียนเคยเห็นภาพดูดอุสามัคคี นั่นคือ ใช้หลอดซางตามจำนวนคน อาจจะเป็นสามสี่คนก็ได้ แยงหลอดเข้าไปในไหอุไหเดียวกัน แล้วก็ดูดพร้อมๆ กัน ฤทธิ์ของอุแม้จะมีรสหวานนุ่ม แต่ความมึนเมาก็แรงไม่เบาเหมือนกัน คนที่ผิวหน้าสีขาว พอเอาปากออกจากหลอดอุ หน้าแดงทันทีทันใด

เราชาวบ้านยังมีหลอดจากธรรมชาติอีกชนิดหนึ่ง นั่นคือ หลอดดูดน้ำที่ทำจากไผ่ เราชาวบ้านเรียกไผ่ชนิดนี้ว่าไผ่หลอด ปัจจุบันมีขายพันธุ์และปลูกกันมากพองาม บางถิ่นปลูกไว้มาก เพื่อทำเป็นธุรกิจเล็กๆ ระดับชาวบ้าน นั่นคือตัดออกมาวางขายเป็นหลอดดูดน้ำ ท่ามกลางปัญหาพลาสติกล้นโลกอย่างปัจจุบัน ทำให้หลอดไผ่ขายได้ แม้จะยังขายไม่ดีนักก็ตาม

บางคนอาจจะยังไม่เคยเห็น “ไผ่หลอด” เป็นไผ่ที่มีลำต้นเล็กๆ ต้นหนึ่งสามารถตัดออกมาทำหลอดได้หลายอัน ไผ่ชนิดนี้เลี้ยงง่าย หากมีพื้นที่ว่างเพียงเล็กน้อย หรือแม้จะเป็นกระถางก็ตาม เราซื้อพันธุ์มาปลูกไว้ พอไผ่เจริญเติบโตดี แตกหน่อออกมาพองาม เราชาวบ้านก็เริ่มตัดเอามาทำหลอดได้

ไม่ต้องคิดอะไรมาก เพียงเรามีไผ่หลอดสัก 1 กอ ในกระถางหน้าบ้าน เราก็ไม่จำเป็นต้องไปซื้อหลอดอีกแล้ว เพราะเมื่อต้องการเราก็ตัดออกมา ตัดหัวท้ายตามความยาวที่เราต้องการ เราก็ทิ่มลงไปในแก้วน้ำ หรือภาชนะอื่นใดก็ได้ ดูดน้ำออกมาได้เลย

ดูดเสร็จแล้ว จะเอาไปเก็บเพื่อรอวันนำมาใช้ใหม่ก็ได้ เพียงแต่ต้องระวังไม่ให้ขึ้นรา ถ้ามันขึ้นราเราก็ทิ้งไปได้เลย ไผ่ไม่ทำให้โลกร้อน เราตัดเอาจากกอใหม่ได้ ไม่ต้องไปซื้อหาแต่อย่างไร

ลักษณะของไผ่หลอด จะเป็นกอไม่สูงมาก ถ้าปลูกไว้กับดินจะแตกหน่อและขยายออกไปเรื่อยๆ เราต้องคอยตัดเพื่อกันพื้นที่ไว้ แต่ถ้าปลูกไว้ในกระถาง นานไปก็จะแตกหน่อเต็มกระถาง ถ้าแน่นเกินไป เราก็อาจจะเอาน้ำรดให้ชุ่มชื้นไว้ นำไผ่เหล่านั้นออกมาทั้งกระถาง เอาดินใส่เข้าไปใหม่ แล้วแยกไผ่หลอดกลับเข้าไปปลูกใหม่ อาจจะใส่ไปเพียง 10 ต้น ก็พอ ที่เหลืออาจจะตัดไว้ทำหลอดใช้ จะขยายพันธุ์ไปกระถางอื่น แจกจ่ายให้เพื่อนบ้าน หรือจะไปทำประโยชน์อะไรก็ตามจิตเจตนา

หลอดไผ่ เราชาวบ้านสมัยก่อนเก่า น่าจะใช้กันมายาวนานแล้ว เพราะไม่มีขั้นตอนอะไรมาก แต่ตัดออกมาจากลำต้น ตัดหัวท้ายก็นำมาดูดน้ำได้เลย สมัยผู้เขียนเป็นเด็กๆ เมื่อโรงเรียนหยุดต้องไปเลี้ยงควาย

การเลี้ยงควายสมัยนั้น เราต้องห่อข้าวไปกินกลางวัน พอกลองเพลดังตึงๆ เราก็เข้าไปหาร่มไม้ดีๆ กลางทุ่งนา แก้ห่อข้าวออกมาอย่างบรรจง กับข้าวเราส่วนใหญ่ก็จะเป็นน้ำพริก ไข่ต้ม หากพอมีโชคอยู่บ้างก็มีเนื้อเค็มทอด หรือหมูทอดใส่มา มื้อกลางวันบางทีก็ไม่ได้กินข้าวคนเดียว เพื่อนๆ ที่เลี้ยงควายด้วยกันจะมาร่วมวงด้วย ทำให้บรรยากาศการกินน่าอร่อยขึ้น แต่ละคนจะมีกับข้าวของตัวเอง บางวันก็เหมือนๆ กัน บางวันเพื่อนบางคนก็มีอาหารดีๆ แปลกๆ มาร่วมวง

พอกินข้าวเสร็จแล้ว เราชาวเด็กเลี้ยงควายก็ต้องดื่มน้ำ ปกติเราจะนำน้ำใส่กระบอกสะพายไปด้วย แต่ถ้าน้ำหมดเราก็ต้องดื่มน้ำในรอยควาย

อย่าแปลกใจว่า ทำไม ต้องดื่มน้ำในรอยควาย ทำไมไม่ดื่มในหนองน้ำ คำตอบก็คือ น้ำในหนองนั้นควายลงไปนอนเล่นขุ่นคลั่กหมดแล้ว น้ำในรอยควายจะใสสะอาด เพราะเป็นน้ำที่ซึมจากบริเวณใกล้เคียงนั่นเอง ดินข้างๆ รอยควายช่วยกรองมาให้อย่างดี

การดื่มน้ำในรอยควายต้องมีศิลปะ นั่นคือ ต้องค่อยๆ ดื่ม ถ้าแรงไปดินก้นรอยควายจะกระจายขึ้นมา คราวนี้เราชาวเด็กเลี้ยงควายต้องหารอยใหม่ ด้วยเหตุนี้ หลอดไผ่เล็กๆ ที่พอหาได้ เราก็จะนำมาเป็นหลอดดูดน้ำจากรอยควาย การใช้หลอดจะทำให้น้ำไม่ขุ่นได้ง่ายๆ ยกเว้นเสียแต่ว่า เรารีบมากไป ดันจุ่มหลอดลงไปกระทบดินก้นรอยควายเท่านั้น

ปี พ.ศ. 2563 ตั้งแต่เดือนมกราคม เราชาวไทยต้องเผชิญกับฝุ่นละอองพิษ ภาษาทางราชการเรียกว่า “พีเอ็ม 2.5” เกิดมาจากภาวะฝุ่น ควัน และละอองพิษต่างๆ ทั้งจากโรงงานและการกระทำของมนุษย์ ภาครัฐและเอกชนต่างช่วยกันรณรงค์ไม่ใช้ถุงพลาสติก

การใช้หลอดไผ่ เป็นทางออกหนึ่งของเราชาวบ้านที่ช่วยลดภาวะโลกร้อน และลดฝุ่นละอองพิษ